• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

Aromaterapy สดชื่นด้วยกลิ่นบำบัด

Aromaterapy สดชื่นด้วยกลิ่นบำบัด

"ไทยสัปปายะ" เป็นการดูแลสุขภาพและความงามแบบองค์รวมอย่างไทย มีการประยุกต์ภูมิปัญญาไทยและคงไว้ซึ่งศิลปวัฒนธรรม ประเพณีไทยอย่างชัดเจน โดยรวมการบริการไว้ ๔ ด้าน คือ หัตถบำบัด วารีบำบัด โภชนบำบัด และสุคนธบำบัด

ปัจจุบันความตื่นตัวเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพและ ความงาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการใช้ผลิตภัณฑ์ ซึ่งมาจากพืชสมุนไพร หรือสารที่สกัดจากธรรมชาติ เพราะมีความปลอดภัยมากกว่าการใช้สารเคมีสังเคราะห์ และมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายน้อยกว่าหรือไม่มีเลย นอกจากนี้ มีการสนับสนุนให้วิจัยประโยชน์จากพืชสมุนไพร เพื่อใช้ในการบำบัดรักษา และสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่สนับสนุนให้เกิดธุรกิจด้านสุขภาพและความงามมากขึ้น ทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน และอุตสาหกรรม น้ำมันหอมระเหยเป็นสารเคมีที่สกัดได้จากพืช ถูกนำมาประยุกต์ใช้งานด้านสุขภาพและความงามเช่นกัน โดยเฉพาะกลิ่น และสารเคมีที่เป็นองค์ประกอบมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป ขึ้นกับชนิดของพืช นำมาใช้บำบัดรักษาทั้งร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ ซึ่งเรียกกันว่า สุคนธบำบัด

สุคนธบำบัดคืออะไร
สุคนธบำบัด (Aromatherapy) เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก

"Aroma" หมายถึง ความหอม หรือกลิ่น
"therapy" หมายถึง การบำบัดรักษา
Aromatherapy มีความหมายโดยรวมว่า การบำบัดด้วยอากาศ ซึ่งรวมไปถึงการบำบัดรักษาด้วยการใช้กลิ่นหรือเครื่องหอม

สุคนธบำบัดถูกนำมาใช้ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ โดยนักเคมีชาวฝรั่งเศส เรเน่มัวริส กาเต้ฟอเซ่ (Rene Maurice Gattefosse) ซึ่งได้ค้นพบคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อของน้ำมันลาเวนเดอร์โดยบังเอิญ และได้รับฉายาว่า "บิดาแห่งสุคนธบำบัด" จากนั้น มากาเร็ต มอรี (Magaret Maury) และ มิเชอลิน อาซีเยร์ (Micheline Arcier) ได้นำศาสตร์ แห่งการบำบัดรักษาด้วยกลิ่นเข้าไปยังเกาะอังกฤษ และได้พัฒนาการใช้ผสมผสานกับการนวดในการรักษาคนไข้ จนทำให้ศาสตร์แห่งการบำบัดด้วยกลิ่นและการนวดเป็นที่นิยมมากในปัจจุบัน องค์ประกอบสำคัญที่ใช้ในสุคนธบำบัดคือน้ำมันหอมระเหย (essential oil) และต้องเป็นน้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาจากพืชเท่านั้น หากเป็นน้ำหอมที่สังเคราะห์ขึ้นจะไม่ส่งผลต่อการบำบัดรักษา หรือฆ่าเชื้อ หรือทำให้จิตใจสงบ น้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายโดยทางผิวหนังและการสูดดม หากได้รับผ่านทางผิวหนังก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดไปมีผลต่อระบบอวัยวะต่างๆ และถูกขับออกได้เช่นเดียวกับโมเลกุลของยา

การสูดดมน้ำมันหอมละเหย โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านเยื่อบุช่องจมูกหรือลงสู่ปอดและเข้าสู่กระแสเลือดได้เช่นกัน ขณะเดียวกัน โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยที่สูดดมเข้าไปจะไปจับกับตัวรับ (receptor) บนเยื่อบุช่องจมูก และแปรสัญญาณเป็นสื่อระบบประสาทหรือสัญญาณทางไฟฟ้าเคมีผ่านไปยังส่วนของสมองที่เรียกว่า ลิมบิกซิสเต็ม (Limbic system) ซึ่งเป็นส่วนที่ควบคุมการเรียนรู้ ความจำ ความรู้สึกสัมผัส เพศ อารมณ์และระบบย่อยอาหาร มีผลกระตุ้นหรือระงับระบบประสาทและสมองรวมทั้ง ระบบต่อมไร้ท่อต่างๆ แล้วแต่โครงสร้างทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นๆ โดยกลิ่นที่เข้ามากระตุ้น ลิมบิกซิสเต็มจะทำให้สมองปล่อยสารเอนดอร์ฟิน ซึ่งช่วยลดความเจ็บปวด เอนเคฟาลิน (enkephaline) ช่วยทำให้อารมณ์ดี และซีโรโทนิน (serotonin) ซึ่งช่วยให้สงบเยือกเย็นและผ่อนคลาย ดังนั้น น้ำมันหอมระเหยจึงถูกนำมาใช้บำบัดโรคที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจ ตลอดจนการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดด้วย

ชนิดของสุคนธบำบัด
การบำบัดรักษาโรคด้วยน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติ สามารถแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ คือ

๑.  สุคนธบำบัดเพื่อการรักษาโรค (therapeutic หรือ clinical aromatherapy)
การใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อช่วยรักษาหรือบำบัดโรค เพื่อทำให้สุขภาพแข็งแรง โดยเลือกใช้น้ำมันหอมระเหยที่ถูกต้องถูกวิธี โดยต้องอาศัยผู้มีความรู้ความชำนาญเรียกว่า "clinical aromatherapist" นอกจากนี้ สุคนธบำบัดเพื่อการรักษาโรค ยังสามารถแบ่งได้ ดังนี้

  • จิตบำบัด (psychoaromatherapy หรือ aromachology) เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อความสมดุลของจิตใจ ทำให้รู้สึกสงบ ช่วยผ่อนคลายหรือกระตุ้นการทำงานของสมอง ผ่อนคลายความเครียดและกังวล แก้โรคซึมเศร้า และอาการป่วยทางจิตต่างๆ ให้พลัง รู้สึกสดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  • สุขภาพองค์รวม (holistic aromatherapy) เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหยโดยผสมผสานในการบำบัดโรคทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ
  • การแพทย์ (medical aromatherapy) เป็นการใช้น้ำมันหอมระเหย เพื่อส่งเสริมหรือรักษาความสมดุลทางเคมีและฟิสิกส์ของเหลวในร่างกายเพื่อบำบัดอาการของโรค

๒. สุคนธบำบัดเพื่อความงาม (beauty and aesthetic aromatherapy)
การนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้กับร่างกายภายนอกเช่น ผิวหนัง เส้นผม มักใช้การนวดร่วมด้วย ซึ่งจะให้ผลในการผ่อนคลายและเสริมพลัง และนำมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเพื่อความสวยงาม ตามคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้นๆ เช่น บำรุงผิว ชะลอความเหี่ยวย่น เป็นต้น

น้ำมันหอมระเหย
น้ำมันหอมระเหย เป็นน้ำมันที่พืชผลิตขึ้นตามธรรมชาติ เก็บไว้ตามส่วนต่างๆ เช่น กลีบดอก ใบ ผิวของผล เกสร รากหรือเปลือกของลำต้น เวลาที่ได้รับความร้อนอนุภาคเล็กๆ จะระเหยออกมาเป็นกลุ่มไอรอบๆ ทำให้เราได้กลิ่นหอม ช่วยดึงดูดแมลงให้มาผสมเกสรดอกไม้ ปกป้องการรุกรานจากศัตรู และรักษาความชุ่มชื้นแก่พืช สำหรับประโยชน์ต่อมนุษย์นั้น น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการอักเสบหรือลดบวม คลายเครียด หรือกระตุ้นให้สดชื่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด 

 


 

ประเภทของน้ำมันหอมระเหย
อาจจัดแบ่งตามคุณสมบัติของการระเหยเป็น ๓ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มที่ระเหยง่าย (top note)
มีกลิ่นหอมแหลม ในการสูดดมจะได้รับกลิ่นก่อนน้ำมันชนิดอื่นๆ มีลักษณะกระตุ้นมาก แทรกซึมดี มักให้ความรู้สึกร้อนหรือเย็น ทำให้จิตใจเบิกบาน มักใช้ร้อยละ ๕-๒๐ ในตำรับของน้ำมันหอมระเหยทั้งหมด เช่น น้ำมันโหระพา เบอร์กามอต ยูคาลิปตัส เกรฟฟรุต มะนาว ตะไคร้  เปปเปอร์มินต์  โรสแมรี่ ซินนามอน ลาเวนเดอร์ ที-ทรี เป็นต้น

๒. กลุ่มที่ระเหยได้เร็วปานกลาง (middle note)
มีกลิ่นหอมนุ่มนวล ให้ความรู้สึกอบอุ่น มีผลต่อการเผาผลาญพลังงานและการทำงานของร่างกาย มักใช้ในปริมาณสูงตั้งแต่ร้อยละ ๕๐-๘๐ ของตำรับ เช่น คาโมไมล์ เจอราเนียม โรสแมรี่ จูนิเปอร์ ลาเวนเดอร์ ส้ม สน กุหลาบ กระดังงา ไธม์ เป็นต้น

๓.  กลุ่มที่ระเหยได้ช้า (basic note)
มีกลิ่นจะมีลักษณะหนัก ทึบ ติดทน และดูดซึมสู่ผิวหนังได้ดี เป็นน้ำมันที่ระงับความวุ่นวายและช่วยผ่อนคลาย ใช้ในปริมาณไม่เกินร้อยละ ๕  ของตำรับ เช่น ซีดาร์วูด มะลิ มาร์จอแรม เนโรลี ไม้จันทน์ เป็นต้น

การใช้น้ำมันหอมระเหยในสุคนธบำบัด
ปัจจุบันมีน้ำมันหอมระเหยที่ใช้และเป็นที่นิยม มีอยู่ไม่ต่ำกว่า ๖๐-๗๐ ชนิด เราสามารถประยุกต์ใช้ในสุคนธบำบัดได้หลายรูปแบบ การใช้น้ำมันหอมระเหยห้ามใช้โดยตรงหรือสูดดมโดยตรงจะใช้ในความเข้มข้นที่ต่ำมาก และควรนำมาทำให้เจือจางก่อน รูปแบบในการนำมาใช้สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้

๑. การผสมน้ำอาบ (bathing)
การผสมน้ำมันหอมระเหยในน้ำอาบเป็นวิธีการที่ได้ทั้งการสูดดมและสัมผัสทางผิวหนัง โดยหยดน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำอุ่น ปิดประตูหรือผ้าม่านแล้วแช่ตัวลงในอ่างอาบน้ำประมาณ ๑๐ นาที พร้อมกับการสูดดมกลิ่นเข้าไป หากต้องการให้ซึมผ่านผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น ก็ให้นำน้ำมันหอมระเหยผสมกับน้ำมันตัวพา (carrier oil) ก่อนแล้วจึงนำไปหยดลงในอ่างอาบน้ำ หรืออาจใช้เวลาอาบน้ำโดยการตักอาบหรืออาบจากฝักบัวโดยหยดน้ำมันหอมระเหยลงบนผ้าหรือฟองน้ำ หรือลูกบวบที่ใช้ถูตัวที่เปียกน้ำหมาดๆ แล้วถูตัวหลังจากที่อาบน้ำสะอาดแล้ว

๒. การนวดตัว (body massage)
การนำน้ำมันหอมระเหยที่ผสมกับน้ำมันตัวพา (carrier oil) แล้ว นำมานวดเพื่อช่วยกระตุ้นกล้ามเนื้อ ระบบประสาท เนื้อเยื่อ และผิวหนัง ลดอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น โดยน้ำมันตัวพาสามารถใช้น้ำมันพืชซึ่งแต่ละชนิดก็มีคุณสมบัติในการบำรุงผิวแตกต่างกันไป จึงควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพผิวด้วย

๓. การประคบ (compress)
การผสมน้ำมันหอมระเหยลงในน้ำสะอาด น้ำดอกไม้ที่แช่เย็น หรือน้ำชาสมุนไพร แล้วใช้ผ้าจุ่มลงไปแช่แล้วบิดพอหมาด ถ้าใช้น้ำร้อนเรียกประคบร้อน หากใช้น้ำเย็นเรียกประคบเย็น จากนั้นนำไปประคบบริเวณที่ต้องการ เช่น ศีรษะ รอยฟกช้ำ บริเวณเคล็ดขัดยอก ปวดบวม ประคบนาน ๒๐-๓๐ นาที นั้นจึงก้มหน้าลงไปอังและสูดดมกลิ่นหอม สามารถใช้ในการบำบัดโรคหวัด ไซนัส และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

๔.  การสูดดม (Inhalation)
การนำน้ำมันหอมระเหยมาผสมให้เจือจางก่อน แล้วหยดลงบนกระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้า หรือหยดลงบนหมอน (pillow talk) แล้วสูดดม หรือนำน้ำร้อนมาใส่ลงในภาชนะแล้วหยดน้ำมันหอมระเหยลงไป จากนั้นจึงก้มหน้าลงไปอังและสูดดมกลิ่นหอม สามารถใช้ในการบำบัดโรคหวัด ไซนัส และโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ

๕. การฉีดพ่นละอองฝอย (room spray)
การนำน้ำมันหอมระเหยมาผสมกับน้ำอุ่นไม่เกิน ๔๕ องศาเซลเซียส เขย่าให้เข้ากัน แล้วบรรจุในภาชนะที่มีหัวฉีดพ่นละออง แล้วนำไปฉีดพ่นตามห้องหรือสถานที่ต่างๆ

๖. การผสมในเครื่องสำอาง (cosmetics) เป็น การนำน้ำมันหอมระเหยไปผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางซึ่งไม่มีการแต่งกลิ่น โดยใช้น้ำมันหอมระเหยไม่เกินร้อยละ ๒ สำหรับใบหน้า และใช้น้ำมันหอมระเหยไม่เกินร้อยละ ๓ สำหรับผิวกาย

๗. การใช้เตาระเหย (fragrancers)
การนำน้ำมันหอมระเหยหยดลงในน้ำที่อยู่ในฝาหรือถ้วยเหนือเตาหรือตะเกียง ซึ่งมีอุณหภูมิไม่เกิน  ๖๐ องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดไอระเหยและส่งกลิ่นหอม ช่วยสร้างบรรยากาศทำให้ผู้ได้รับกลิ่นได้รับการบำบัดอาการที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจตามคุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด หรือใช้เตาระเหยไฟฟ้า (electric diffuser) ซึ่งเหมาะสำหรับใช้ตอนกลางคืน โดยเฉพาะห้องนอนของเด็กและยังสามารถปรับตั้งค่าการกระจายกลิ่นได้หลายระดับ

๘. การแช่มือหรือเท้า (foot bath) 
การใช้น้ำมันหอมระเหยหยดลงในน้ำอุ่นในกะละมังแล้วแช่มือหรือเท้า ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที เพื่อช่วยผ่อนคลายความเมื่อยล้าที่มือและเท้า และช่วยลดอาการปวดศีรษะ ปวดไมเกรน

๙. การกลั้วคอหรือบ้วนปาก
การใช้น้ำมันหอมระเหย ๒-๓ หยดผสมในน้ำ ๑ ส่วน ๔ แก้ว คนให้ทั่วแล้วกลั้วคอหรือบ้วนปาก เพื่อบำบัดโรคในช่องปาก ช่องคอ เช่น ลดความเจ็บปวด ลดการอักเสบ หรือฆ่าเชื้อโรค

๑๐. การจุดเทียนหอม (scented candles)
การผสมน้ำมันหอมระเหยลงในเทียน เมื่อเวลาจุดเทียนจะได้กลิ่นของน้ำมันหอมระเหย คล้ายกันกับการใช้เตาระเหย นอกจากนี้ อาจใส่ลงในบุหงารำไป  (potpourri) หรือกลีบดอกไม้แห้ง ใบไม้แห้ง เมล็ดพันธุ์บางชนิดที่อบแห้งแล้วนำมาพรมด้วยกลิ่นน้ำมันหอมระเหยตามที่ต้องการ

แหล่งข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันหอมระเหยและสุคนธบำบัดบนอินเทอร์เน็ต

บรรณานุกรม

  • จำรัส เซ็นนิล. และพิสสม มะลิสุวรรณ. หอมระเหย...ศาสตร์แห่งการบำบัด. กรุงเทพฯ : มรดกสยาม, 2546.
  • นวลปราง ฉ่องใจ. สุวคนธบำบัดและเครื่องหอมจากสารสกัดธรรมชาติ (Aromatherapy & Fragrances). กรุงเทพฯ : กำแก้ว, 2537.
  • พิมพร ลีลาพรพิสิฐ. สุคนธบำบัด. เชียงใหม่ : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2545.  
  • ฟรียา เอ็ม. อโรมาเธอราพี : ศาสตร์และศิลป์ของกลิ่นหอมธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : อีกหนึ่งสำนักพิมพ์, 2546.   
  • ศศวรรณ มงคลภาพ. สุคนธบำบัดและคุณประโยชน์จากเครื่องหอม. กรุงเทพฯ : มายิก, [2547?].
  • กองบรรณาธิการ. มหัศจรรย์น้ำมันหอมระเหย (essential oils). เกษตรกรรมธรรมชาติ. 2546, ฉบับที่ 3, หน้า 19-23.

ข้อมูลสื่อ

328-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 328
สิงหาคม 2549
อุดมลักษณ์ เวียนงาม