• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บาดแผลเล็กน้อย

บาดแผลเล็กน้อย ได้แก่ บาดแผลที่เกิดจากมีดบาด แผลสดจากกิ่งไม้หรือถูกก้อนหินแหลม บาดแผลมีรอยถลอกหรือหนังเปิด อาจมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย ห้ามเลือดโดยใช้นิ้วหรือมือกด หรือพันผ้าก๊อซ เลือดหยุดและแผลหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาหรือเข็มเย็บใดๆ

แผลเหล่านี้เป็นแผลเล็กน้อย เกิดขึ้นได้กับทุกคนตามร่างกาย ตั้งแต่มือ-เท้า หรือ แขน-ขา โดยไม่ต้องรักษาหรือดูแลเป็นพิเศษ แผลสามารถหายไปเองโดยเจ้าตัวที่มีแผลก็ไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำว่าแผลหายไปตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็ไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคนเสมอไป

ปรากฏว่ามีหลายคนที่แผลควรหายไปเองหลายวันแล้ว แต่แผลไม่หาย มีหนองอักเสบ เกิดเป็นเรื่องใหญ่โตขึ้นมา ทั้งหมดนี้มักจะเกิดจากความประมาทและละเลยของผู้เป็นแผลนั้นเอง

ดูแลบาดแผลอย่างไร
สิ่งที่ควรปฏิบัติง่ายๆ ของผู้มีบาดแผล และไม่เสียเวลาอะไร แต่จะบรรเทาความเดือดร้อนของผู้มีบาดแผลไปได้มาก ซึ่งเจ้าตัวและคนใกล้ชิดไม่ควรละเลย
ผู้ที่ควรระวังดูแลบาดแผลเป็นพิเศษ เพราะมักจะเกิดการติดเชื้อและอักเสบลุกลามได้ง่าย คือผู้ป่วยโรคเบาหวาน

พบว่าเมืองไทยของเรามีผู้ป่วยโรคเบาหวานเพิ่มจำนวนมากขึ้น ทั้งที่รู้และไม่รู้ บางคนไม่ได้เป็นโรคเบาหวานเต็มรูปแบบแต่มีน้ำตาลในเลือดมากเพราะถ้ากินของหวานหรือผลไม้ที่มีรสหวานมากๆ ก็จะมีน้ำตาลสูงในเลือดได้ ขณะนั้นจะมีลักษณะคล้ายคนเป็นเบาหวาน กล่าวคือมีบาดแผลเพียงเล็กน้อย ก็มีโอกาสที่จะอักเสบเป็นหนองหรือลุกลามได้ง่าย

คนที่เป็นโรคเบาหวานทุกคนแพทย์ที่ดูแลรักษามักจะตักเตือนว่าควรระมัดระวังการเป็นบาดแผลอักเสบได้มากกว่าคนปกติธรรมดา
คนที่เป็นโรคเบาหวานอาจมีอาการชาปลายมือปลายเท้า หรือมีความรู้สึกน้อยกว่าคนปกติธรรมดา ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานต้องระมัดระวังการติดเชื้ออักเสบและการลุกลามของบาดแผลเป็นพิเศษ
มีข้อแนะนำง่ายๆ ว่าควรจะรักษามือ-เท้า ให้สะอาดอยู่เป็นนิตย์ หมั่นสังเกตบ่อยๆ ว่ามีแผลถลอกเกิดขึ้นกับมือและเท้าบ้างหรือไม่ เพราะอาจเกิดได้โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
หมั่นตัดเล็บหรือถ้าให้คนอื่นตัดให้ก็ควรบอกให้เขาระมัดระวัง อย่าไปตัดเอาเนื้อเข้า เพราะแผลอาจอักเสบและหายช้ากว่าปกติ

มีข้อปฏิบัติง่ายๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและรวมถึงคนที่ยังไม่ได้เป็น เกี่ยวกับบาดแผลเล็กน้อย แผลถลอก ดังนี้
ทำความสะอาดบาดแผลด้วยน้ำธรรมดา (ทั้งน้ำประปา น้ำต้มสุก หรือน้ำฝนที่สะอาด ฯลฯ) และสบู่ ใช้ผ้าสะอาดซับบาดแผลให้แห้ง และทาด้วยน้ำยาโพรวิโดนไอโอดีนบางๆ เพียงครั้งเดียว

น้ำยาโพรวิโดนไอโอดี มีชื่อทางการค้าหลายชื่อ เช่น ไอโปดีน เบตาดีน โพวาดีน  มีสรรพคุณใช้ใส่แผลถลอก แผลสดขนาดเล็ก
ถ้าแผลมีอาการอักเสบ ติดเชื้อ หรือเป็นหนอง ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อป้องกันไม่ให้แผลลุกลามมากขึ้น
หลักการรักษาแผลชนิดนี้คือ การทำความสะอาด และไม่ต้องทำบ่อย พอให้หนังงอกมาปิดเนื้อให้หมดก็เพียงพอแล้ว

แผลที่มีเสี้ยนหรือหนามปักค้าง ก็จะต้องพยายามนำเสี้ยนหรือหนามออก ถ้านำออกเองไม่ได้ก็ควรให้แพทย์หรือบุคลากรทางแพทย์ช่วยนำออกให้แล้วทำความสะอาดซ้ำ และอย่าทำจนเนื้อช้ำ

บางรายที่บาดแผลติดเชื้อแพทย์อาจให้กินยาหรือฉีดยาตามความจำเป็นเท่านั้น

แผลชนิดอื่นที่อาจพบได้
การเกิดบาดแผลของคนเรามีมีหลายชนิด เช่น แผลมีดบาด แผลผิวไม้ขีดข่วน ทำให้หนังฉีกขาด ที่สำคัญคือ ทำความสะอาดโดยใช้น้ำสะอาดหรืออาจใช้สบู่ฟอกถ้าสกปรกมาก ไม่ต้องใช้ยาพิเศษอะไรใส่

สำหรับการใช้ยา ถ้าไม่เข้าใจก็อาจทำให้แผลหายช้าเข้าไปอีก หรือเกิดการอักเสบได้ อย่าลืมว่าข้อสำคัญคือการทำความสะอาดโดยการล้างน้ำสะอาด เช่น น้ำต้มสุก และทำให้เย็นลงจนล้างแผลได้สะดวก

การเกิดแผลแผลธรรมดาไม่ควรเย็บแผล แต่ถ้าจำเป็นต้องเย็บควรเปิดปากแผลไว้ให้ระบายน้ำยาได้สะดวก มีน้อยรายที่อาจใช้ท่อละลาย แต่ก็ควรเอาออกเมื่อไม่มีอะไรออกตามท่อระบาย หรือน้ำเหลืองไหลออกหมดแล้ว

การใช้ยากันบาดทะยักและยาปฏิชีวนะ ควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา
มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่เป็นแผลแล้วแผลเกิดอักเสบได้ง่าย คือผู้ป่วยที่มีโรคของหลอดเลือดฝอย และโรคหลอดเลือดขอด แต่ไม่ค่อยพบในคนไทย อย่างหลังผู้ป่วยก็ได้รับการรักษาจากแพทย์อยู่แล้ว
 

ข้อมูลสื่อ

394-038
นิตยสารหมอชาวบ้าน 394
กุมภาพันธ์ 2555
เรื่องน่ารู้
นพ.เกษียร ภังคานนท์