• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด ยากตรงไหน?

ทารกเพศหญิงอายุครรภ์ ๒๕ สัปดาห์ น้ำหนักแรกเกิด ๖๔๐ กรัม แม่มีประวัติน้ำเดิน ๒ วันก่อนคลอด หลังคลอดหมอบอกว่าเป็นการแท้งลูก ทารกไม่สามารถมีชีวิตรอดได้ ญาติจึงนำทารกน้อยใส่กล่องออกจากโรงพยาบาล เตรียมการประกอบพิธีศพ  

เรื่องของเด็กหญิงกล่อง
เมื่อถึงบ้านหลังคลอดได้ ๕ ชั่วโมง ญาติพบว่าทารกร้องและยังคงหายใจอยู่ จึงนำทารกน้อยกลับไปที่โรงพยาบาลอีกครั้ง แพทย์รับไว้ดูแลรักษาจนอายุ ๑๒ วัน จึงส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลทารกแรกเกิดคลอดก่อนกำหนด
เมื่อทารกมาถึงโรงพยาบาล ชั่งได้นำหนัก ๕๔๐ กรัม ตัวเย็น หายใจหอบ เนื่องจากภาวะปอดไม่ทำงาน แพทย์ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและให้ยากระตุ้นการหายใจทันที
ทารกน้อยได้รับการรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ทีมแพทย์และพยาบาลร่วมกันแก้ไขภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แก้ไขความผิดปกติของเกลือและน้ำ ความผิดปกติของน้ำตาลในเลือด  ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะซีด เกล็ดเลือดต่ำ
ทารกได้รับการเลี้ยงดูโดยให้สารอาหารทางหลอดเลือด และเมื่อเติบโตขึ้นจึงให้นมทางท่อให้อาหารทางปาก
หลังการรักษาพยาบาล ๑๐๒ วัน ทารกมีน้ำหนักเพิ่มเป็น ๒,๐๑๐ กรัม ตรวจตาพบมีความผิดปกติของจอประสาทระดับ ๓ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงอื่นๆ แพทย์จึงส่งไปรับการดูแลต่อที่โรงพยาบาลต้นสังกัด
 
ทารกคลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงสูง
ทารกคลอดก่อนกำหนดหมายถึงทารกที่คลอดก่อนอายุครรภ์ ๓๗ สัปดาห์ ทารกที่คลอดระหว่างอายุครรภ์ ๒๔-๒๘ สัปดาห์ อาจมีน้ำหนักตัว ๕๐๐-๑,๐๐๐ กรัม การแท้งบุตรนับเมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า ๒๔ สัปดาห์ หรือทารกมีน้ำหนักน้อยกว่า ๕๐๐ กรัม
ทารกที่คลอดก่อนกำหนดมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการเกิดภาวะแทรกซ้อนสูง ยิ่งทารกมีน้ำหนักตัวน้อย ยิ่งมีโอกาสเสียชีวิตและเกิดภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อยกว่า ๑,๐๐๐ กรัม จะมีอัตราเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ ๓๐-๔๐ 
ทารกคลอดก่อนกำหนด อวัยวะต่างๆ ยังเจริญเติบโตไม่เต็มที่ ทำงานได้ไม่สมบูรณ์  โดยเฉพาะปอดที่ไม่สามารถสร้างสารลดแรงตึงผิวในถุงลมที่ช่วยทำให้ถุงลมขยายตัวออกได้ง่าย  จึงต้องใช้แรงในการหายใจเข้าสูง ซึ่งทารกไม่สามารถทำได้ ทำให้ถุงลมแฟบ เกิดภาวะหายใจลำบากและเกิดการขาดออกซิเจน
รายที่อาการรุนแรง แพทย์ต้องใส่ท่อหายใจและใช้เครื่องช่วยหายใจ เพื่อสร้างแรงดันให้ถุงลมขยายตัว ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น ลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด ปอดอักเสบติดเชื้อ   
ผลการใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง ทำให้ทารกต้องการออกซิเจนและต้องพ่นยาประจำ
การให้ออกซิเจนความเข้มข้นสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดตาเติบโตผิดปกติ  ถึงขั้นตาบอดได้  
 
การรักษาพยาบาลที่ใช้ความเชี่ยวชาญและความเอื้ออาทร
การรักษาพยาบาลทารกคลอดก่อนกำหนด ต้องใช้ความรู้ ทักษะ ความตั้งใจและความละเอียดอ่อน ของทีมแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพ ที่ต้องบริบาลและเฝ้าระวังทารกน้อยอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา ๒๔ ชั่วโมงติดต่อกันหลายสัปดาห์ 
การดูแลระบบการหายใจ การดูแลระบบหายใจและหลอดเลือด การติดตามความเข้มข้นออกซิเจนในกระแสเลือด การให้สารน้ำ การให้ยาปฏิชีวนะควบคุมการติดเชื้อ การให้สารอาหารทางหลอดเลือด การให้นมทางท่อให้อาหาร ถ้าเป็นนมแม่ยิ่งดีสำหรับทารก
การวัดการเจริญเติบโต ชั่งน้ำหนักทุกวัน วัดเส้นรอบศีรษะและความยาวทารกทุกสัปดาห์ การตรวจการมองเห็น การตรวจการได้ยิน และพัฒนาการ อย่างสม่ำเสมอตามเกณฑ์  
 
การดูแลแบบองค์รวม
โรงพยาบาลจังหวัดแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บูรณาการการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนดแบบองค์รวม โดยพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาล ทั้งสมรรถนะของทีมรักษาพยาบาล อุปกรณ์เครื่องมือเทคโนโลยีทันสมัย ส่งผลให้ทารกคลอดก่อนกำหนดได้รับการรักษาพยาบาลที่ดี อัตรารอดชีวิตสูง และมีภาวะแทรกซ้อนน้อย
เมื่อทารกเติบโตจนกลับบ้านได้ ทีมจากโรงพยาบาลจะนำทารกไปส่งเองที่บ้าน โดยประสานชุมชนและเครือข่าย ให้ร่วมกันดูแลทารกและครอบครัว
เครือข่ายประกอบด้วยทีมจากโรงพยาบาล ชุมชน สถานีอนามัย องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) 
อาสาสมัครสาธารณสุขจะช่วยดูแลทารก องค์การบริหารส่วนตำบลช่วยเหลือในเรื่องยานพาหนะ พาทารกมาติดตามผลการรักษา โรงพยาบาลชุมชนช่วยเหลือสนับสนุนอุปกรณ์ เช่น ออกซิเจน อุปกรณ์ให้นม
 
ชมรมผู้ปกครองทารกป่วย
เพื่อให้ครอบครัวที่มีทารกคลอดก่อนกำหนดได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงบุตร ตั้งแต่อยู่ในโรงพยาบาล เมื่อกลับไปบ้าน การกระตุ้นพัฒนาการทารก   และเสริมสร้างพลังใจซึ่งกันและกัน  
ได้มีการจัดตั้งชมรมผู้ปกครองทารกป่วยขึ้น พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งมีจำนวนสมาชิก ๓๖ ครอบครัว และ พ.ศ.๒๕๕๓ เพิ่มเป็น ๑๐๗ ครอบครัว มีการจัดกิจกรรมใหญ่ร่วมกันปีละครั้ง และมีกิจกรรมจิตอาสาของสมาชิกชมรมที่ช่วยให้กำลังใจมารดา ที่มีบุตรคลอดก่อนกำหนดที่กำลังรักษาในโรงพยาบาล การไปเยี่ยมสมาชิกที่เจ็บป่วย
 
พลังความรักจากครอบครัว
ทุกวันนี้การแพทย์ไทยเจริญก้าวหน้า แพทย์ พยาบาล และทีมสหวิชาชีพ มีศักยภาพในการรักษาพยาบาลทารกคลอดก่อนกำหนด ทารกที่มีน้ำหนักตัวน้อย ได้ดีระดับแนวหน้า
อย่างไรก็ดี การรักษาพยาบาลต้องใช้ทรัพยากรมาก ยังพบอัตราการเสียชีวิตสูงร้อยละ ๒๐-๓๐ และอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ เช่น โรคปอดเรื้อรัง ตาบอด หูหนวก และเด็กมีพัฒนาการช้า
สิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในการดูแลทารกคลอดก่อนกำหนด คือ ความรัก ความเอาใจใส่ และความร่วมมือของแม่ พ่อ และครอบครัว ซึ่งจะส่งผลให้ทารกเจริญเติบโตและมีพัฒนาการที่ดี เทียบเท่าทารกที่คลอดตามอายุครรภ์ปกติ
 

ข้อมูลสื่อ

397-044
นิตยสารหมอชาวบ้าน 397
พฤษภาคม 2555
นพ.สุรชัย ปัญญาพฤทธิ์พงศ์