• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กรณีสูโดเอฟีดรีน กับการรักษาหวัดด้วยตนเอง

ยา “สูโดเอฟีดรีน” ตกเป็นข่าวหน้า ๑ หนังสือพิมพ์รายวันทุกฉบับ และโทรทัศน์หลายช่อง นำเสนออย่างต่อเนื่อง และพูดถึงกรณีมีการนำยาสูโดเอฟีดรีนไปเป็นสารตั้งต้นผลิตยาเสพติดที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 

ล่าสุด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕ ให้สารสูโดเอฟีดรีน (pseudoephedrine) และยาสูตรตำรับที่มีสูโดเอฟีดรีนเป็นส่วนประกอบของวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทประเภท ๒ มีผลตั้งแต่วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๕
เกิดอะไรขึ้นกับ “สูโดเอฟีดรีน” ผู้ป่วยสามารถใช้ยาชนิดใดแทนสูโดเอฟีดรีน เมื่อเกิดอาการหวัดภูมิแพ้ และถ้ามีอาการหวัดจากเชื้อไวรัสสามารถใช้ยาชนิดใด และ/หรือการดูแลตนเองจากอาการหวัดได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
 
๑.สูโดเอฟีดรีนคือยาอะไร
ยาสูโดเอฟีดรีนใช้บรรเทาอาการคัดจมูกที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ และไข้หวัด
ยาชนิดนี้ต้องกินตามแพทย์สั่งเท่านั้น
ผลข้างเคียงจากการใช้ยาสูโดเอฟีดรีนคือ ใจสั่น นอนไม่หลับ วิงเวียน มึนงง คลื่นไส้ อาเจียน ตื่นเต้น กระสับกระส่าย หงุดหงิด ความดันเลือดสูง น้ำตาลในเลือดสูง
ยาสูโดเอฟีดรีนมีสรรพคุณบรรเทาอาการคัดจมูกเท่านั้น เพราะผู้ที่มีอาการหวัดภูมิแพ้มักจะทำให้เยื่อบุจมูกบวมแดง จึงนิยมกินยาสูโดเอฟีดรีนสูตรผสมที่มียาต้านฮิสตามีน
ยานี้ตัวมันเองไม่ทำให้เสพติด แต่เป็นสารตั้งต้นผลิตเป็นยาบ้า (แอมเฟตามีน) ทำให้เสพติดได้
ดังนั้น ต้องเข้าใจ “หวัดภูมิแพ้” และหวัดจากเชื้อไวรัส จะได้เลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับอาการ
 
๓.หวัดภูมิแพ้คืออะไร
บางครั้งเรียกหวัดจากอาการแพ้ โรคแพ้อากาศ จมูกอักเสบจากภูมิแพ้
หวัดภูมิแพ้ หมายถึง เยื่อจมูกอักเสบที่เกิดจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ของร่างกาย จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง
ผู้ป่วยมักมีประวัติโรคภูมิแพ้ในครอบครัว เช่น หืด ลมพิษ ผื่นคัน น้ำมูกมีลักษณะใสๆ คันในจมูก
อาการมักเกิดเวลาถูกอากาศเย็น ควัน ฝุ่นละออง สารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นอื่นๆ
โรคนี้มักเป็นเรื้อรัง ไม่ค่อยหายขาด ถ้าอาการมากพอทนได้ก็ไม่จำเป็นต้องกินยาอะไรทั้งสิ้น ถ้าจำเป็นต้องกินยา เบื้องต้นให้กินยาแก้แพ้ คือ ยาคลอร์เฟนิรามีน (chlorpheniramine) 
สิ่งสำคัญคือ การหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อภูมิแพ้ (เช่น ไรฝุ่นบ้าน เชื้อรา สัตว์เลี้ยง ละอองเกสร) และหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ อาจช่วยให้โรคทุเลาลงได้โดยไม่ต้องพึ่งยา
 
๔.หวัดจากเชื้อไวรัส
ไข้หวัด เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ บางคนอาจเป็นปีละหลายครั้ง โดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กที่เพิ่งเข้าโรงเรียนในปีแรกๆ ทั้งนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของไข้หวัดมีอยู่มากกว่า ๒๐๐ ชนิด
อาการไข้หวัดที่พบคือ มีไข้เป็นพักๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว อ่อนเพลีย เป็นหวัด คัดจมูก น้ำมูกใส จาม ไอ มีเสมหะเล็กน้อย
เนื่องจากไข้หวัดเกิดจากเชื้อไวรัส จึงไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่รักษาไปตามอาการที่พบเท่านั้น 
ปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาและป้องกันไข้หวัดอย่างได้ผล การรักษาอยู่ที่การพักผ่อนและการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเป็นสำคัญ ยาที่ใช้ก็เป็นเพียงยาที่รักษาตามอาการเท่านั้น
การรักษาที่สำคัญอยู่ที่ตัวผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยทั่วไปอาการตัวร้อนมักจะเป็นอยู่ประมาณ ๓-๔ วัน ถ้าเป็นเกิน ๔ วัน มักจะแสดงว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรืออาจเกิดจากโรคอื่นๆ 
ผู้ป่วยบางรายถึงแม้จะหายตัวร้อนแล้ว แต่ก็อาจมีน้ำมูกและไอต่อไปได้ บางรายอาจไอโครกๆ อยู่เรื่อย อาจนานถึง ๗-๘ สัปดาห์ เนื่องจากเยื่อบุทางเดินหายใจถูกทำลายชั่วคราว ทำให้ไวต่อสิ่งระคายเคือง (เช่น ฝุ่น ควัน) มักจะเป็นลักษณะไอแห้งๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อยเป็นสีขาว ถ้าพบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วยก็ไม่ต้องให้ยาอะไรทั้งสิ้น ให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ (ควรงดดื่มน้ำเย็น) 
ไม่จำเป็นต้องให้ยาปฏิชีวนะแก่ผู้ป่วยที่เป็นไข้หวัดทุกราย ยกเว้นรายที่สงสัยจะมีภาวะแทรกซ้อนเท่านั้น
ผู้ที่ป่วยเป็นไข้หวัด ควรปฏิบัติตัวดังนี้
พักผ่อนมากๆ ห้ามตรากตรำงานหนักหรือออกกำลังกายมากเกินไป
สวมใส่เสื้อผ้าให้ร่างกายอบอุ่น อย่าถูกฝน หรือถูกอากาศเย็นจัด และอย่าอาบน้ำเย็น
ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยลดไข้ และทดแทนน้ำที่เสียไปเนื่องจากไข้สูง
ควรกินอาหารอ่อน น้ำข้าว น้ำหวาน น้ำส้ม น้ำผลไม้ หรือเครื่องดื่มร้อนๆ
ใช้ผ้าชุบน้ำ (ควรใช้น้ำอุ่น หรือน้ำก๊อกธรรมดา อย่าใช้น้ำเย็นจัดหรือน้ำแข็ง) เช็ดตัวเวลามีไข้สูง
 
การใช้ยารักษาตามอาการ ดังนี้
๑. สำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต (อายุมากกว่า ๕ ขวบ)
ถ้ามีไข้สูง ให้พาราเซตามอล (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า ๑๙ ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้แอสไพริน เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรย์ซินโดรม ซึ่งมีอันตรายร้ายแรงได้) ควรให้ยาลดไข้เป็นครั้งคราวเฉพาะเวลามีไข้สูง ถ้ามีไข้ต่ำๆ หรือไข้พอทนได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกิน
ถ้ามีอาการน้ำมูกไหลมากจนสร้างความรำคาญ ให้ยาแก้แพ้ เช่น คลอร์เฟนิรามีน ใน ๒-๓ วันแรก เมื่อทุเลาแล้วควรหยุดยา หรือกรณีที่มีอาการไม่มาก ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยานี้
ถ้ามีอาการไอ จิบน้ำอุ่นมากๆ หรือจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง ๔ ส่วน น้ำมะนาว ๑ ส่วน) ถ้าไอมากลักษณะไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ ให้ยาระงับการไอ
๒. สำหรับเด็กเล็กและทารก
ถ้ามีไข้ให้พาราเซตามอลชนิดน้ำเชื่อม
ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้ลูกยางเบอร์ ๒ ดูดน้ำมูกออกบ่อยๆ (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรใช้น้ำเกลือหยอดในจมูกก่อน) หรือใช้กระดาษทิชชูพันเป็นแท่งสอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก (ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุกหรือน้ำเกลือพอชุ่มก่อน)
ถ้ามีอาการไอจิบน้ำอุ่นมากๆ ถ้ามีอาการอาเจียนเวลาไอ ไม่จำเป็นต้องให้ยาแก้อาเจียน ควรแนะนำให้ป้อนนมและอาหารทีละน้อยแต่บ่อยครั้งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนจะเข้านอน
๓. ยาปฏิชีวนะไม่จำเป็นต้องให้ เพราะไม่ได้ผลต่อการฆ่าเชื้อหวัดซึ่งเป็นไวรัส (อาการที่สังเกตได้คือ มีน้ำมูกใสๆ หรือสีขาว) ยกเว้นในรายที่สงสัยว่าจะมีอาการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำเติม เช่น มีไข้ทุกวันติดต่อกันเกิน ๔ วัน มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง หรือปวดหู หูอื้อ
๔. ถ้าไอมีเสมหะเหนียว ให้งดยาแก้แพ้ และยาระงับการไอ และให้ดื่มน้ำอุ่นมากๆ วันละ ๑๐-๑๕ แก้ว
๕. ถ้ามีอาการหอบ หรือนับการหายใจได้เร็วกว่าปกติ (เด็กอายุ ๐-๒ เดือนหายใจมากกว่า ๖๐ ครั้ง/นาที อายุ ๒ เดือนถึง ๑ ขวบหายใจมากกว่า ๕๐ ครั้ง/นาที อายุ ๑-๕ ขวบหายใจมากกว่า ๔๐ ครั้ง/นาที) หรือมีไข้นานเกิน ๗ วัน ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว อาจเป็นปอดอักเสบหรือภาวะรุนแรงอื่นๆ ได้ อาจต้องเอกซเรย์ ตรวจเลือด ตรวจเสมหะ เป็นต้น
“สูโดเอฟีดรีน” ไม่ใช่ยาแก้หวัดจากการติดเชื้อไวรัส 
การดูแลและป้องกันตนเอง คือการรักษา “หวัด” ดีที่สุด 
 

ข้อมูลสื่อ

397-055
นิตยสารหมอชาวบ้าน 397
พฤษภาคม 2555
กองบรรณาธิการ