• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แพ้ยาลดความดันเลือด

แพ้ยาลดความดันเลือด


หญิงไทยอายุ ๘๘ ปี ถูกพามาห้องฉุกเฉินด้วยอาการเวียนศีรษะหน้ามืด และล้มลงมา ๑ ชั่วโมง

 ลูกผู้ป่วย : "สวัสดีครับคุณหมอ คุณแม่เป็นอะไรไม่รู้ หลังกินข้าวเที่ยงเสร็จ ลุกจากโต๊ะอาหารเดินไปที่โซฟาหน้าทีวี แล้ววูบล้มลง ดีที่ผมอยู่ใกล้ๆ จึงคว้าตัวคุณแม่ไว้ทัน แล้วอุ้มคุณแม่นอนลงที่โซฟา สักพักคุณแม่ก็ดีขึ้น แต่พอลุกขึ้นนั่ง ก็เวียนหัว และรู้สึกจะวูบอีก พอให้คุณแม่นอนลงก็ดีขึ้น ผมจึงพามาตรวจครับ"
แพทย์ : "คุณแม่เคยเป็นอย่างนี้มาก่อนไหมครับ"
 ลูกผู้ป่วย : "ไม่เคยครับ ปกติคุณแม่แข็งแรงดีตามอายุของท่าน ท่านยังเดินได้เองแต่ต้องมีคนคอยพยุงกันล้ม บางครั้งก็เดินเซบ้างโดยเฉพาะถ้านั่งอยู่นานๆ แล้วลุกขึ้นเดิน แต่ไม่เคยวูบหรือล้มเลยครับ"
แพทย์ : "แล้วช่วงก่อนหน้านี้ มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยน ไปบ้างไหม จึงทำให้คุณแม่เกิดอาการไม่สบายในวันนี้"
ลูกผู้ป่วย : "ก็ไม่มีอะไรนี่ครับ คุณแม่ก็กินอาหารได้ตามปกติ อุจจาระ ปัสสาวะก็เหมือนเดิม แล้วก็หลับได้ แม้จะหลับได้น้อยตอนกลางคืน แต่กลางวันคุณแม่ก็งีบหลับบ่อยๆ ที่บ้านก็ไม่มีใครทำให้คุณแม่กลุ้มใจหรือเครียด ลูกหลานต่างก็เอาใจใส่คุณแม่เป็นอย่างดี"
แพทย์ : "คุณแม่มีโรคประจำตัวอะไรบ้างหรือเปล่า และใช้ยาอะไรบ้างหรือเปล่า"
 ลูกผู้ป่วย : "คุณแม่เป็นโรคความดันเลือดสูงมานานแล้วครับ แต่ไม่ได้สูงมากและก็กินยาสม่ำเสมอมาตลอด อ้อ เมื่อสัปดาห์ก่อน คุณแม่ก็ไปตรวจกับคุณหมอตามนัด แล้วคุณหมอบอกว่าความดันคุณแม่สูงขึ้น จึงเปลี่ยนยาให้คุณแม่ใหม่ จะเป็นเพราะยาตัวใหม่ได้ไหมครับ"
แพทย์ : "อาจจะเป็นได้ครับ เดี๋ยวขอหมอตรวจคุณแม่ก่อน"

แพทย์หันไปหาผู้ป่วย
 แพทย์ : "สวัสดีครับ ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ"
 ผู้ป่วย : "ก็ไม่เป็นไรหรอกหมอ ถ้านอนอยู่มันก็รู้สึกปกติดี แต่พอลุกขึ้นนั่งหรือยืน มันจะรู้สึกเวียนหัว หน้ามืด แล้วจะวูบและล้ม ที่จริงมันก็เป็นมา ๓-๔ วันแล้ว เรื่องเวียนหัวเวลาลุกขึ้นเร็วๆ แต่วันนี้มันเป็นมากจนวูบและล้ม มันเกิดจากอะไรล่ะหมอ"
 แพทย์ : "เดี๋ยวผมขอตรวจร่างกายดูก่อนนะครับ"

แพทย์ตรวจร่างกายผู้ป่วย และพบว่าผู้ป่วยเป็นหญิงชราที่ดูแลรักษาตนเองดีมาก สุขภาพกายและจิตดีมากสำหรับอายุ และยังมีกำลังวังชาพอสมควรตามอัตภาพ แต่สิ่งที่ผิดปกติคือ ความดันเลือดในท่านอน ๑๘๔/๘๐ ท่านั่ง ๑๖๒/๗๔ และท่ายืน ๑๑๐/๗๐ นั่นคือ ความดันเลือดตกมาก เมื่อเปลี่ยนจากท่านอนหรือท่านั่งเป็นท่ายืน ที่เรียกกันว่า "ความดันเลือดตกเมื่อลุกขึ้น" (orthostatic lypotension) นี่คือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยเวียนศีรษะ หน้ามืดและวูบ เมื่อลุกขึ้นจากท่านอนหรือท่านั่งเป็นท่ายืน เพราะความดันเลือดที่ตกลง ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ จึงทำให้เกิดอาการเช่นนั้น

แพทย์จึงหันไปพูดกับผู้ป่วยและลูก
 แพทย์ : "ที่ตรวจร่างกายนี่ พบว่าร่างกายคุณยังแข็งแรงดีสำหรับอายุขนาดนี้นะครับ แต่ที่ผิดปกติไปคือเวลา คุณลุกขึ้นนั่งหรือยืน เลือดซึ่งเป็นน้ำหรือของเหลวมันจะไหลลงไปที่ท้องและเท้าของคุณมาก ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองของคุณไม่พอ คุณจึงเวียนหัวหน้ามืดและวูบแล้วล้มลงได้ เนื่องจากคุณเพิ่งมีอาการหลังจากหมอของคุณเปลี่ยนยาลดความดันเลือดให้คุณเมื่อสัปดาห์ก่อน ผมจึงคิดว่าน่าจะเกิดจากผลของยาใหม่ที่คุณเพิ่งใช้ในระยะนี้ ดังนั้น คุณหยุดยาลดความดันเลือดที่คุณกินอยู่ทั้งหมดไว้ก่อน และในระยะ ๓-๔ วันนี้ กินอาหารรสเค็มมากขึ้นสักหน่อย และเวลาจะลุกขึ้นหลังจากนอนหรือนั่งอยู่นานๆ ให้เกร็งขาหรือออกกำลังขาทั้ง ๒ ข้างสัก ๑ นาที ก่อนลุกขึ้นและเวลาจะลุกขึ้น ควรใช้มือจับโต๊ะ หรือสิ่งของที่มั่นคงที่จะพยุงตัวไว้ได้ ถ้าเกิดรู้สึกเวียนหัว หน้ามืด และเวลารู้สึกเวียนหัวหรือหน้ามืด ให้รีบนั่งลงหรือนอนลงทันที อย่าพยายามฝืนยืนหรือนั่งตัวตรงไว้ เพราะอาจทำให้วูบและล้มฟาดได้ หลังคุณหยุดยาแล้ว ๒-๓ วัน อาการคงจะดีขึ้น แล้วคุณค่อยกลับไปหาหมอของคุณ เพื่อให้เขาปรับเปลี่ยนยาให้ใหม่ หรือเขาอาจกลับไปใช้ยาตัวเดิมที่คุณเคยใช้อยู่นาน แล้วไม่เกิดอาการข้างเคียง (อาการเป็นพิษ) อะไรเลยก็ได้"
ลูกผู้ป่วย : "หยุดยาลดความดัน แล้วไม่เป็นอันตรายหรือครับ"
 แพทย์ : "ไม่น่าจะมีอันตรายอะไร เพราะในขณะนี้คุณแม่น่าจะเกิดอาการข้างเคียงจากยาลดความดัน ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ จึงจำเป็นต้องหยุดยาไว้ก่อน มิฉะนั้นจะเป็นอันตรายได้ แต่ถ้าคุณไม่สบายใจ ลองติดต่อกับคุณหมอเจ้าของไข้ที่รักษาคุณแม่อยู่ แล้วขอคำแนะนำจากคุณหมอเจ้าของไข้ก็ได้ครับ"

อันที่จริง คำพังเพยโบราณของไทยยังใช้ได้เสมอ นั่นคือ "ลางเนื้อชอบลางยา" ยาที่ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยบางคน อาจใช้ไม่ได้ผลกับผู้ป่วยอีกคนหนึ่ง หรืออีกหลายคน
หรือยาที่ใช้ในผู้ป่วยหลายคนแล้วไม่แพ้ หรือไม่เป็นพิษ ไม่ได้หมายความว่า เมื่อนำมาใช้กับผู้ป่วยอีกคนหนึ่งแล้วจะไม่แพ้หรือไม่เป็นพิษ ดังนั้น ถ้าใช้ยาแล้วเกิดอาการไม่สบาย ควรจะหยุดยาไว้ก่อนเสมอ แล้วขอคำแนะนำจากหมอเจ้าของไข้ หรือหมอที่อยู่ใกล้ทันทีถ้าทำได้

ผู้ป่วยรายนี้ เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่บางครั้งในการรักษาผู้ป่วย แพทย์อาจจะเน้นที่การควบคุมความดันเลือดในด้านตัวเลข (ตัวเลขความดัน) มากเกินไป จนลืมไปว่าการลดความดันเลือดมากเกินไป โดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือคนชราอาจจะเป็นอันตราย (ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตจากหลอดเลือดสมองตีบตันเพราะความดันเลือดตก) มากกว่าการยอมให้ความดันเลือดสูงนิดๆ แต่ผู้ป่วยมีชีวิตอย่างสุขสบาย และไม่เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาลดความดันเลือดที่แรงเกินไปเหล่านั้น

ข้อมูลสื่อ

330-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 330
ตุลาคม 2549
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์