• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การปรับสภาพกลไก กาย-ใจ อาสนะ (6)

การปรับสภาพกลไก กาย-ใจ อาสนะ (6)


จากที่ได้อธิบายก่อนหน้า เราสามารถสรุป ดังนี้

1. จุดประสงค์หลักของอาสนะคือ เอาชนะ "อังกเมจยตวา" ซึ่งเป็นสภาวะที่จังหวะธรรมชาติของเราถูกรบกวน เป็นสภาวะที่การดำเนินอิริยาบถพื้นฐานของเราถูกรบกวน  อาสนะเป็นการฟื้นฟูระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานอย่างสอดประสานกัน

2. อาสนะไม่ใช่แค่เพียงท่าอะไรสักท่า แต่เป็นอิริยาบถเฉพาะเจาะจง ในแง่หนึ่งอาสนะเป็นวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยรวม ขณะที่ในอีกแง่หนึ่ง มันเป็นการพัฒนาที่เฉพาะเจาะจงแบบปัจเจกของชีวิตแต่ละชีวิต ด้วยเหตุนี้เอง อาสนะจึงดูชอบกล ดูแปลกๆ อาสนะมีท่าทางตามสัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์สี่เท้า ซึ่งเราพยายามเลียนแบบมัน อาสนะบางท่าเป็นการหวนคืนไปสู่สภาวะเบื้องต้นตั้งแต่ตอนที่เราเป็นตัวอ่อนในครรภ์มารดา

3. รูปแบบเฉพาะเจาะจงในอาสนะมีเป้าหมาย เพื่อให้สมองส่วนล่างทำงานอย่างเป็นอิสระมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ มีจุดมุ่งหมายให้สมองส่วนล่างสามารถรักษาสมดุล ตามธรรมชาติดั้งเดิมของร่างกาย ดังนั้นจากผลที่จะได้รับนี้เอง ลักษณะท่าทางของอาสนะจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

4. ด้วยเป้าหมายที่กล่าวข้างต้น เราจึงแนะนำให้ทำท่าอาสนะโดยใช้แรงให้น้อย กล่าวคือ คงตัวอยู่ในท่าอย่างผ่อนคลาย ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือ ไม่ใส่ใจไปที่ท่าทาง แต่ใส่ใจไปยังจุดอื่นแทน ซึ่งปตัญชลีแนะนำให้ไปกำหนดรู้อยู่กับสภาวะอนันต์  อีกวิธีที่จะให้บรรลุเป้าหมาย ดังที่กล่าวไว้แล้วก่อนหน้าคือ นำจิตไปอยู่กับความรู้สึก "ดั่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมุทร" ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่เพียงแต่เป็นการผ่อนคลายทั้งกายและใจ ยังเป็นการค่อยๆ เอาชนะความรู้สึก "มีตัวมีตน" ของตนเองลงด้วย

วิธีที่ 3 ตามธรรมเนียมโบราณ ในการฝึกอาสนะ เรายังสามารถนำจิตไปกำหนดไว้กับลมหายใจเข้าออก เรียกว่า ปราณาธารณะ คือรู้ลมหายใจที่บริเวณจมูก โดยเฉพาะที่ปลายจมูก รับรู้ลมหายใจเข้าที่เย็น ณ ปลายจมูก รับรู้ลมหายใจออกที่อุ่น ณ ปลายจมูก ตลอดช่วงเวลา เราจะหายใจเป็นจังหวะสม่ำเสมอ หายใจลึกกว่าปกติ ซึ่งช่วยในการผ่อนคลาย และปล่อยให้สัญญาณประสาทตามธรรมชาติของสมองส่วนล่างเป็นผู้กำกับดูแลท่าอาสนะ

เราอาจไม่สามารถทำอาสนะเชิงอุดมคติตามที่อธิบายไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ที่แน่ๆ คือ เราไม่ฝืนทำ เราทำอาสนะ ด้วยความเข้าใจ คือให้ใกล้เคียงกับสภาวะแห่งการใช้แรงแต่น้อย ให้มากที่สุด ให้สบาย ให้ผ่อนคลายมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ ร่างกายจะค่อยๆ ตอบสนอง และจัดปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป ความรู้สึกที่เกิดขึ้น จะเป็นความรู้สึกตึงพอดีๆ ไม่ใช่ความรู้สึกปวด ซึ่งเมื่อฝึกไปเรื่อยๆ แม้ความรู้สึกตึงก็ไม่อยู่ในความรับรู้ของเรา เราจะนั่ง ยืน นอนในท่าทางเฉพาะเจาะจงโดยใช้ความพยายามน้อยลงๆ ทำเหมือนกับที่เรานั่ง ยืน นอน ในชีวิต ประจำวัน ซึ่งเป็นไปอย่างผ่อนคลาย และเราไม่ได้ไปจงใจหรือจดจ่ออยู่กับอิริยาบถเหล่านั้น คือทำท่าอาสนะ ให้ได้อย่างการดำเนินอิริยาบถทั่วไปในชีวิตประจำวัน วิธีการที่เราจะไม่ใส่ใจกับท่าอาสนะก็ได้อธิบายไปแล้ว ซึ่งการไม่จงใจนี้ ไม่ใช่ทำแบบลบ ฝืน เครียด แต่เป็นไปในเชิงบวก คือเต็มไปด้วยความผ่อนคลายของกายและใจ

ทุกวันนี้ คนทั่วไปไม่ได้ฝึกอาสนะตามคำอธิบายที่กล่าวข้างต้น กระทั่งตำรา "อาสนะ" ที่พิมพ์โดยสถาบันไกวัลยธรรมเอง ก็ไม่สามารถอธิบายให้คนเข้าใจ จนสามารถปฏิบัติได้อย่างที่ตั้งใจ ตำรา "โยคะบำบัด" เล่มนี้ พยายามที่จะปรับปรุง นำเสนอประเด็นนี้ให้เป็นที่รับรู้ เข้าใจ และปฏิบัติให้ได้ตรงตามหลักการมากขึ้น เพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่จะเรียนรู้ เราเรียนรู้ความผิดพลาด เพื่อพัฒนาไปสู่สิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมยิ่งๆ ขึ้นไป ลองคิดดูขนาดเราปฏิบัติอาสนะโดยไม่ถูกต้องตามหลักการเป๊ะ ยังได้ประโยชน์มากมาย หากเราปฏิบัติอาสนะด้วยความเข้าใจได้อย่างอุดมคติ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจะต้องอเนกอนันต์ทีเดียว

เวลาเริ่มทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง เราควรรู้ว่าจะได้รับผลใดจากการทำกิจกรรมนั้น และการที่เราจะได้รับผลนั้น เราต้องเข้าใจกลไกของมัน เข้าใจว่ามันเกิดผลที่ว่าได้อย่างไร  ทั้งหมดที่เราพยายามอธิบายก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า หากเราทำอะไรสักอย่างโดยไม่มีความรู้ ไม่มีการเตรียมตัว ผลที่เกิดขึ้นก็เพียงเป็นไปตามยถากรรม  ซึ่งส่วนใหญ่มักจะตกหลุมเกิดอันตราย ไม่ได้ดังหวัง ซึ่งเป็นเพราะขาดความเข้าใจ หรือเข้าใจผิดๆ ผู้เขียนเองมักได้ยินบ่อยๆ ไม่ใช่จากผู้ปฏิบัติทั่วไปเท่านั้น จากคนในวงการแพทย์ด้วย ถึงปัญหาที่ได้รับจากการฝึกท่าอาสนะ ไม่ว่าจะเป็นอาการเคล็ด เส้นใยที่หุ้มกล้ามเนื้ออักเสบ รวมไปถึงอาการกระดูกร้าว ดังนั้น แทนที่จะได้ประโยชน์จากอาสนะ เป็นเพราะขาด"ความรู้ วิธีการ" จึงนำไปสู่ปัญหาอย่างไม่ได้ตั้งใจ ทำให้ต้องเสียทรัพย์ เสียเวลาในการตามแก้ปัญหาอีก ทั้งนี้ทั้งนั้น เพียงเพราะเราไม่รู้จริง ปฏิบัติโดยประมาท และไปคาดหวังผลจากเพียงเปลือกนอกที่เรามองเห็น

ข้อมูลสื่อ

330-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 330
ตุลาคม 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์