• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซาร์ส-ปอดบวมมรณะ น่ากลัวจริงหรือ?

ซาร์ส-ปอดบวมมรณะ น่ากลัวจริงหรือ?


เมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โรงพยาบาลบำราศนราดูร ได้รับผู้ป่วยที่สงสัยเป็นโรคซาร์ส หรือปอดบวมมรณะไว้รักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยรายนี้เป็นแพทย์ ชาวอิตาลี วัย ๔๖ ปี ชื่อนายแพทย์คาร์โล เออร์บานี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อแห่งองค์การอนามัยโลก และเป็นคนแรกที่ชี้ว่าโลกกำลังเผชิญกับโรคระบาดชนิดใหม่ เขาเดินทางไปที่ฮานอย เพื่อค้นหาสาเหตุของการระบาดของโรคลึกลับนี้ในกรุงฮานอย (ซึ่งปรากฏเป็นข่าวขึ้นเป็นครั้งแรกต่อชาวโลกในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์) ได้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคซาร์สรายแรกของเวียดนาม ซึ่งเป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันเชื้อสายจีน (ติดโรคจากฮ่องกงแพร่เชื้อให้หมอและพยาบาลที่ดูแลถึง ๖๑ คน) แล้วเกิดอาการเจ็บป่วยระหว่างเดินทางมาแวะที่กรุงเทพฯ

นายแพทย์คาร์โล เออร์บานี เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้ เมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม หลังจากนั้นอีก ๓ วัน (๑ เม.ย.) ก็มีข่าวการตายจากโรคซาร์สรายที่ ๒ ของไทย ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ (หาดใหญ่) ผู้ป่วยรายนี้ เป็นชาวฮ่องกง อายุ ๗๘ ปี ชื่อนายหลำอิงเชียง ได้เดินทางจากฮ่องกงมาเยี่ยมญาติที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ระหว่างทางได้แวะที่กรุงเทพฯ และโพธาราม มีอาการไม่สบายอยู่ ๖-๗ วัน ก็เสียชีวิตแพทย์ได้ทำการเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้รายนี้เป็นเวลา ๑๔ วัน โชคดีที่ไม่พบว่ามีใครเป็นโรคนี้ตามมา ในช่วงปลายเดือนมีนาคม กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการเข้มในการป้องกันการระบาดของโรคนี้ และสื่อมวลชนมีการเผยแพร่ข่าวการระบาดของโรคนี้ในประเทศต่างๆ อยู่ทุกวัน ได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้คนทั่วไป จนนายกรัฐมนตรีต้องออกปราศรัยทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันที่ ๘ เมษายน เพื่อสร้างความมั่นใจว่ายังไม่มีการระบาดของโรคนี้ในเมืองไทย และขอให้ดำเนินชีวิตตามปกติ รวมทั้งเที่ยวสงกรานต์ได้อย่างสบายใจ (แถมจะให้เงิน ๑ ล้านบาทแก่ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคนี้ถ้าพบว่า ติดโรคในบ้านเรา และให้เงิน ๒ ล้านบาทแก่ผู้ที่เสียชีวิตเนื่องจากติดโรคระหว่างเที่ยวสงกรานต์)

โรคนี้น่ากลัวจริงหรือ?
คำตอบ ก็มีได้ทั้ง ๒ แง่ คือทั้งน่ากลัว และไม่น่ากลัว

ที่น่ากลัว ก็เพราะ

(๑) ซาร์ส หรือโรคทางเดินหายใจเฉียบพลัน  รุนแรงเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสตัวใหม่ (เชื้อไวรัสซาร์ส) และระบาดได้รวดเร็ว แบบเดียวกับไข้หวัด ซึ่งแพร่ง่ายกว่าโรคเอดส์ เริ่มจากเมืองกวางตุ้งไปที่ฮ่องกง แล้วแพร่กระจายออกไปทั่วโลก (ดูภาพและตารางข้อมูลประกอบ) ที่กวางตุ้งและฮ่องกงมีการระบาดรุนแรง ที่ฮ่องกง พบมีคนที่พักอยู่อพาร์ตเมนต์เดียวกัน (ชื่อ Amoy Garden) ป่วยเป็นโรคนี้พร้อมกันมากกว่า ๓๐๐ คน จนทางการต้องอพยพผู้คนไปพักอยู่ที่รีสอร์ตนอกเมือง

(๒) โรคนี้ยังไม่มีวิธีการรักษาที่ได้ผล มีโอกาสตายประมาณร้อยละ ๕ ของคนที่เป็นโรคนี้เนื่องจากมีโรคปอดอักเสบรุนแรงแทรกซ้อนจนเกิดภาวะที่เรียกว่า "กุล่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน" ภายใน ๑-๒ สัปดาห์ หลังมีอาการไม่สบาย

ขอให้อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคนี้ในคอลัมน์ "สารานุกรมทันโรค"


 

 

ที่ไม่น่ากลัว ก็เพราะ

(๑) โรคนี้จะติดต่อได้กับผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้ ได้แก่ ญาติคนไข้ หมอและพยาบาลที่ดูแลคนไข้ โดยไม่ได้มีมาตรการป้องกันตนเอง ทั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงแรกๆ ของการระบาดของโรคนี้ เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ทราบลักษณะของการแพร่เชื้อ จึงขาดมาตรการการป้องกัน ภายหลังเมื่อรู้จักหาวิธีป้องกัน ได้แก่ การสวมหน้ากากอนามัย และการล้างมือบ่อยๆ ผู้ที่ดูแลคนไข้ก็รอดพ้นจากการติดเชื้อ (ดังเช่น กรณีเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลในบ้านเราที่รับคนไข้ไว้รักษา ก็ไม่ปรากฏว่ามีใครเจ็บป่วยตามมา)

(๒) โรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยวิธีง่ายๆ คือ อย่าคลุกคลี ใกล้ชิดกับคนไข้ หากจำเป็นต้องเข้าไปในที่ที่อาจสัมผัสกับผู้ที่ป่วยไข้ การสวมหน้ากากอนามัย และการล้างมือด้วยน้ำกับสบู่ สามารถลดการติดเชื้อได้เป็นอย่างดี

(๓) หากพบคนที่เป็นโรคนี้ การแยกคนไข้ (เช่น รับตัวไว้ในห้องแยกเฉพาะของโรงพยาบาล) ก็สามารถตัดวงจรการแพร่กระจายโรคได้ ดังนั้น มาตรการที่สำคัญ ก็คือ รีบค้นหาผู้ที่มีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นโรคนี้ ได้แก่ การตรวจดูอาการไข้ในหมู่คนที่เดินทางจากเขตที่มีการระบาด (เช่น จีน ฮ่องกง เวียดนาม ไต้หวัน สิงค์โปร์ แคนาดา) แล้วทำการแยกตัวให้ห่างจากคนอื่น

(๔) กระทรวงสาธารณสุขได้ออกมาตรการเข้มในการป้องกันการระบาดของโรคนี้ มีการตรวจกรองดูอาการในหมู่คนที่เดินทางจากเขตระบาดของโรคก่อนจะอนุญาตให้ออกจากสนามบิน และมีการเฝ้าระวังผู้สัมผัสใกล้ชิดกับคนไข้เป็นเวลา ๑๔ วัน (นับตั้งแต่ช่วงหลังสงกรานต์เป็นต้นไปลดเหลือ ๑๐ วัน) เหล่านี้นับว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ควบคุมไม่ให้มีการระบาดของโรคในบ้านเราขณะนี้ ต่างจากเวียดนาม แคนาดา และสิงคโปร์ ที่เมื่อมีคนไข้ติดเชื้อจากฮ่องกงเพียง ๑ ราย ก็นำไปแพร่กระจายให้คนในประเทศอย่างรวดเร็ว (เนื่องเพราะในขณะนั้นยังไม่ทราบถึงพิษสงของโรคนี้จึงขาดมาตรการป้องกัน) ในขณะนี้ (นับถึง ๒๑ เมษายน) ในบ้านเรามีรายงานผู้ที่เป็นโรคนี้เพียง ๗ ราย (เป็นคนไทย ๓ ราย) ทั้งหมดล้วนติดเชื้อมาจากประเทศอื่น ๗ รายนี้มีตาย ๒ ราย ส่วนที่เหลือรักษาหายดี

ในขณะนี้ จึงถือว่าไทยเรายังปลอดภัยจากเชื้อซาร์ส แต่อย่างไรก็ตาม ทางการยังต้องดำเนินมาตรการเข้มในการป้องกันโรคนี้ต่อไปจนกว่าการระบาดในประเทศต่างๆ จะยุติลง ก่อนจบ ขอฝากข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่ ๓ ประการ ได้แก่

ประการแรก โรคนี้จัดว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรงระดับโลก เนื่องเพราะปัจจัยด้านชีววิทยา (เชื้อไวรัสมีการกลายพันธุ์ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในโลกเราเป็นระยะๆ) ร่วมกับปัจจัยด้านสังคม วัฒนธรรม (การเดินทางไปมาหาสู่กันระหว่างเมืองกับเมือง ประเทศกับประเทศแห่งยุคโลกาภิวัตน์ การเติบโตของเมืองที่มีผู้คนอยู่กันแออัด) ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ อย่างกว้างขวาง

ประการที่ ๒ ทั่วโลกได้ร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวในการค้นหาสาเหตุ วิธีตรวจรักษา และการป้องกันโรคนี้จนมีความก้าวหน้าและมองเห็นทางควบคุมโรคนี้ ภายในระยะเวลาอีกไม่นานนัก

ประการที่ ๓
การเรียกชื่อโรคนี้ในบ้านเราว่า "ไข้หวัดมรณะ"และ "ปอดบวมมรณะ" อาจสร้างความตระหนกจนเกินเหตุในประเทศจีนและสื่อมวลชนต่างประเทศนิยมเรียกว่า "โรคปอดอักเสบผิดแบบฉบับ (atypical pneumonia)" นักวิชาการนิยม เรียกว่า "ซาร์ส" (SARS) หรือ "โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง" ในระยะหลังๆ นี้ สื่อมวลชนได้ใช้ คำเรียกแบบนักวิชาการ ซึ่งน่าจะให้ภาพลักษณ์ของโรคนี้ในแนวกลางๆ มากกว่าชื่อเรียกที่ลงท้ายด้วย "มรณะ" เพราะจริงๆ แล้ว ประมาณร้อยละ ๙๕ ของผู้ที่เป็นโรคนี้จะสามารถหายขาดได้ โดยไม่กลับมาเป็นซ้ำ หรือมีผลแทรกซ้อนอะไรตามมา

คำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข
ในการป้องกันการระบาดของโรคปอดบวมมรณะประชาชนทั่วไป
 ๑. รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ พยายามลดความเครียดและลดการสูบบุหรี่
 ๒. ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูกทุกครั้งเมื่อไอหรือจาม ขณะที่มีอาการเป็นหวัดควรใช้หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออยู่กับผู้อื่น
 ๓. รักษาความสะอาดของมืออยู่เสมอ ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่โดยเฉพาะหลังจากไอ จาม เช็ดน้ำมูก
 ๔. ไม่ควรใช้มือขยี้ตา แคะจมูกหรือปาก หากมีความจำเป็นต้องล้างมือให้สะอาดเสียก่อน
 ๕. อย่าใช้ผ้าเช็ดตัวหรือผ้าเช็ดหน้าร่วมกับผู้อื่น ถ้าใช้กระดาษเช็ดน้ำมูก ควรทิ้งในถังขยะมีฝาปิด
 ๖. ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น
 ๗. รักษาบ้านเรือนให้สะอาด เช็ดเครื่องเรือนและของใช้ในบ้าน โดยเฉพาะโทรศัพท์เป็นประจำอย่างน้อยวันละครั้งด้วยผ้าชุบน้ำสบู่หรือผงซักฟอกเจือจางและเช็ดซ้ำด้วยน้ำสะอาด
 ๘. เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศภายในบ้านถ่ายเทโดยสะดวก โดยเฉพาะถ้ามีผู้ป่วย
 ๙. ในระยะนี้ควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่นและการระบายอากาศไม่ดี เช่น โรงภาพยนตร์ สถานบันเทิง ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
 ๑๐. ในขณะเดินทางในรถโดยสารสาธารณะหรือยานพาหนะที่อาจมีผู้ป่วยหรือผู้เดินทางมาจากประเทศที่มีการระบาด ควรใช้หน้ากากอนามัย
 ๑๑. พบแพทย์ทันทีที่มีอาการหวัด มีไข้ ไอหรือจาม

ผู้เดินทางไปต่างประเทศ
 ๑. หากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศที่มีการระบาด ควรป้องกันตนเองเพื่อลดความเสี่ยงจากโรค โดยหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีคนหนาแน่น หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วย ควรใช้หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่ที่มีความเสี่ยง เช่น ในเครื่องบิน สนามบิน รถยนต์โดยสาร สาธารณะ สถานที่สาธารณะ ที่ประชุม
 ๒. เมื่อเดินทางกลับจากประเทศที่มีการระบาดควรหยุดงาน หยุดเรียนหนังสือ ลดการเดินทางและการติดต่อกับบุคคลอื่นเป็นเวลา ๑๐ วัน เพื่อสังเกตอาการตนเองอยู่ที่บ้าน ในระหว่างนี้ควรพักอยู่ในห้องแยกต่างหาก ใช้หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือบ่อยๆ งดใช้ของใช้ ส่วนตัวและภาชนะร่วมกับผู้อื่น หลีกเลี่ยงการคลุกคลีใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัว เพื่อลดความเสี่ยงที่บุคคลในครอบครับและบุคคลอื่นจะติดเชื้อ
 ๓. หากมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงให้ใช้หน้ากากอนามัยและรีบไปพบแพทย์ พร้อมแจ้งประวัติการเดินทางให้แพทย์ทราบด้วย
 ๔. ให้เจ้าหน้าที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองทุกแห่งประสานกับแพทย์ตรวจคนเข้าเมือง และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอย่างใกล้ชิด หากพบผู้ป่วยให้ผลักดันกลับประเทศต้นทาง ถ้าเป็นคนไทยให้ส่งตัวให้สาธารณสุขจังหวัดควบคุม

ข้อมูลสื่อ

289-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
อื่น ๆ