• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้" (ต่อ)

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้" (ต่อ)


ชายไทยอายุ ๖๐ ปี กำลังจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งเพื่อทำการฟอกเลือด การฟอกเลือด (hemodialysis) หรือบางครั้งชาวบ้านเรียกว่า "ฟอกไต" คือ การนำเลือดที่เต็มไปด้วยของเสียในตัวผู้ป่วยไปวิ่งผ่านเครื่องฟอกเลือด เลือดที่ถูกฟอกของเสียรวมทั้งน้ำและเกลือแร่ที่เป็นพิษออกไปแล้วจะถูกนำใส่คืนกลับไปให้ผู้ป่วยใหม่ ของเสียรวมทั้งน้ำและเกลือแร่ที่เป็นพิษเกิดขึ้นเพราะไตไม่ทำงาน หรือทำงานน้อยลงมาก(ไตล้มหรือไตวาย) ของเสียเหล่านี้จึงคั่งค้างอยู่ในเลือดและในร่างกาย ทำให้เกิดอาการไม่สบายต่างๆ เช่น บวม หอบเหนื่อย เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย สะอึก

ชายคนที่จะถูกส่งไปฟอกเลือด นอนอยู่บนเตียงเข็น แขนขาไม่กระดุกกระดิก เพราะทั้งแขนและขางอและหดเกร็งอยู่ มีแต่ศีรษะที่ส่ายไปมา ตาเบิกโพลง ลูกตากลอกไปมาอย่างไม่มีจุดหมาย และไม่สามารถสื่อสารกับใครได้ แม้แต่กับลูกเมีย (ฟังไม่รู้เรื่อง พูดไม่ได้ ใช้มือ-เท้า แขน-ขาไม่ได้) เพราะเมื่อ ๑๒ ปีก่อน หลอดเลือดในสมองซีกขวาแตก จากที่เป็นโรคความดันเลือดสูงมานาน แล้วไม่ได้กินยารักษาอย่างสม่ำเสมอ แต่ก็เคราะห์ดีที่อาการอัมพาตดีขึ้นจนเกือบเป็นปกติ อีก ๗ ปีต่อมา หลอดเลือดในสมองซีกซ้ายก็แตก และแตกมากจนต้องผ่าตัดเอาก้อนเลือดที่คั่งอยู่ในสมองออก หลังจากนั้น แขน-ขาทั้ง ๒ ข้างอ่อนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะแขน-ขา ซีกขวา และการพูดจาก็ลำบากมากขึ้น บางครั้งก็ฟังไม่รู้เรื่อง และพูดไม่ได้ อีก ๒ ปีต่อมา เกิดอาการชักและความสามารถในการช่วยตนเองลดลงไปเรื่อยๆ จนในที่สุดช่วยตนเองไม่ได้ ต้องนอนแบบอยู่กับเตียง พูดไม่ได้ ฟังไม่รู้เรื่อง และต้องให้อาหารทางสายยางผ่านทางจมูกลงไปในกระเพาะอาหาร

ลูกเมียของผู้ป่วยได้ดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี แม้จะมีแผลกดทับเป็นบางครั้ง แต่ก็สามารถประคับประคอง ผู้ป่วยมาได้เรื่อยๆ โดยผู้ป่วยไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ๒ ปีต่อมา ผู้ป่วยสำรอกและสำลักอาหารที่ให้ทางสายยาง ทำให้ปอดอักเสบและเลือดเป็นพิษ จนช็อกต้องเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลาเดือนเศษ ต้องเจาะคอ ช่วยหายใจ ฟอกไต และอื่นๆ หลังออกจากโรงพยาบาล ผู้ป่วยก็ทรุดลงเรื่อยๆ มีอาการติดเชื้อที่ปอดบ้าง (เพราะต้องคาท่อไว้ในหลอดลมตรงที่เจาะคอไว้เพื่อให้เสมหะออก) ที่ทางเดินปัสสาวะบ้าง (เพราะต้องคาสายยางไว้ในท่อปัสสาวะ ให้ปัสสาวะออกได้สะดวก) ที่แผลกดทับบ้าง ที่จมูกและคอบ้าง (เพราะต้องใส่สายยางให้อาหารทางจมูก) และอื่นๆ ไม่กี่เดือนต่อมา ผู้ป่วยก็กลับเข้าโรงพยาบาลอีกด้วยอาการไข้ หอบ ลึกและบวม ตรวจพบว่ามีของเสียคั่งมากในเลือด เพราะไตที่ทำงานน้อยลงตั้งแต่หลอดเลือดในสมองแตกเมื่อ ๑๒ ปีก่อน ได้ทำงานน้อยลงเรื่อยๆ จนเมื่อไม่กี่เดือนก่อนตอน ที่อยู่โรงพยาบาลเพราะการติดเชื้อ และเลือดเป็นพิษจนช็อก ไตก็เสื่อมลงอย่างรวดเร็ว และครั้งนี้ได้เสื่อมลงมากจนหมอโรคไตสั่งให้ "ฟอกเลือด"

ผู้ป่วยถูกนำไปเจาะหลอดเลือดดำใต้กระดูกไหปลาร้าขวาเพื่อวางสาย สำหรับการฟอกเลือด แต่เมื่อทำการฟอกเลือดได้ไม่นาน ปรากฏว่าสายติดเชื้อ จึงต้องทำการเจาะวางสายใหม่ใต้กระดูกไหปลาร้าซ้าย และจะส่งไปทำการฟอกเลือดใหม่

หมอ : "สวัสดีครับ คุณเป็นญาติ คนไข้หรือครับ"
ญาติ : "ครับ ผมเป็นลูกครับ"

หมอ : "คุณมีพี่น้องหลายคนไหมครับ"
ญาติ : "มี ๔ คนครับ รวมทั้งผมด้วย"

หมอ : "ทุกคนอยู่ที่นี่พร้อมกันหมดหรือเปล่าครับ"
ญาติ : "อยู่ ๓ คนครับ อีกคนอยู่ต่างจังหวัดครับ"

หมอ : "แล้วคุณแม่ละครับ"
ญาติ : "คุณแม่อยู่ที่บ้านครับ"

หมอ : "หมอขอคุยกับลูกๆ ทั้ง ๓ คนก่อนก็แล้วกัน ขอเชิญทางนี้ครับ"

หมอเชิญลูกทั้ง ๓ คนไปคุยกันในอีกห้องหนึ่ง
หมอ : "หมอขอโทษที่รบกวนเวลา ของคุณทั้ง ๓ คน เพราะหมอไม่ใช่เจ้าของไข้ที่ตรวจรักษาคุณพ่อคุณ หมอเพิ่งเห็นคุณพ่อของคุณวันนี้ รู้สึกสงสารท่าน จึงอยากถามและอยากคุยกับญาติที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนไข้ เพราะคุณทุกคนคงรู้เรื่องโรคที่คุณพ่อเป็นอยู่แล้วใช่ไหมครับ"
ญาติ : "ครับ เรารู้ว่าคุณพ่อมีหลอดเลือดแตกในสมอง ๒ ครั้ง เคยสำลักอาหารจนปอดอักเสบและช็อก ต้องเจาะคอช่วยหายใจและไตวาย จึงต้องทำการฟอกเลือดครับ"
หมอ : "คุณคิดว่า หลายเดือนที่ผ่านมานี้ คุณพ่อมีความสุขไหมครับ"

ลูกๆ นิ่งอึ้งไปพักหนึ่ง ลูกสาวเริ่มตาแดงและมีน้ำตาคลอ
ญาติ : "คุณพ่อคงไม่มีความสุขหรอกค่ะ เพราะท่านดิ้นรนกระสับกระส่าย ไม่ค่อยหลับ ตาชอบเบิกโพลงอยู่ตลอดเวลา เราพยายามปลอบประโลม และให้กำลังใจคุณพ่อ และดูแลคุณพ่ออย่างดี แต่ท่านก็ยังเป็นแบบนี้ค่ะ"
หมอ : "ครับ หมอเห็นคุณพ่อกระสับกระส่ายดิ้นรน แต่หมอก็ไม่ทราบว่าท่านกระสับกระส่ายดิ้นรนเพราะอะไร เนื่องจากท่านพูดไม่ได้ สื่อสารกับเราด้วยวิธีอื่นก็ไม่ได้ ท่าน คงจะฟังเราไม่รู้เรื่อง เวลาคุณปลอบประโลมคุณพ่อท่านก็คงฟังไม่รู้เรื่องเช่นกัน สภาพที่สื่อสารกับคนอื่นไม่ได้ หิวก็บอกไม่ได้ เจ็บก็บอกไม่ได้ ปวด เมื่อยก็บอกไม่ได้ ย่อมเป็นภาวะที่ทุกข์ทรมานมาก และคุณพ่อคงจะทุกข์ทรมานมาหลายเดือนแล้ว คุณคิดว่าหมอควรจะช่วยคุณพ่ออย่างไรบ้าง ท่านจึงจะพ้นจากความทุกข์ทรมานนี้ได้"

ลูกๆ มองหน้ากัน ลูกสาวเริ่มร้องไห้สะอึกสะอื้น ลูกชายเริ่มตาแดงๆ และมีน้ำตาคลอ
ญาติ : "หนูก็ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ คุณหมอช่วยให้เต็มที่ก็แล้วกันนะคะ"
หมอ : "ครับ คุณหมอเจ้าของไข้ เขาพยายามช่วยอย่างเต็มที่เลย ทั้งเจาะคอ ให้ยา ฟอกเลือด และอื่นๆ เท่าที่เขาคิดว่าเขาทำอะไรได้ เขาก็ทำให้คุณพ่อหมด แล้วคุณคิดว่าสิ่งที่เขาทำให้คุณพ่อทั้งหมดนั้นทำให้คุณพ่อมีความสุขขึ้นไหมครับ"

ญาติ : "ถึงคุณพ่อไม่มีความสุข แต่ก็ยังมีชีวิตอยู่รอดมาถึงวันนี้นะคะ"
หมอ : "ครับ นั่นคือสิ่งสำคัญที่คุณคิดว่าจำเป็นมาก แต่หมอขอให้คุณลองคิดว่า ถ้าคุณตกอยู่ในสภาพอย่างคุณพ่อที่ได้รับความทุกข์ทรมาน ต่างๆ นานา โดยไม่มีทางที่จะสื่อสารให้ใครช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานนั้นได้ คุณจะรู้สึกอย่างไร และต้องการจะอยู่ในสภาพเช่นนั้นไปนานเท่าไร"

ญาติ : 
"หนูไม่อยากให้คุณพ่อทรมานค่ะ แต่หนูก็อยากให้คุณพ่ออยู่กับหนูนานๆ ค่ะ"
หมอ : "ครับ หมอเข้าใจความต้องการของหนูในเรื่องคุณพ่อ แต่หมอกำลังขอให้หนูลองคิดว่า ถ้าหนูอยู่ในสภาพของคุณพ่อ หนูอยากให้หมอช่วยหนูอย่างไรบ้าง"

ญาติ : "หมอคิดว่า เราควรทำอย่างไรล่ะครับ"
หมอ : "ความคิดของหมอกับของคุณอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าหมออยู่ในสภาพเช่นเดียวกับคุณพ่อของคุณ หมอคงจะไม่อยากให้ใครมายืดชีวิตหมอ ให้หมอต้องทนทุกข์ทรมานไป เรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด คนเราทุกคนเกิดมาแล้วก็ต้องตาย ไม่มีใครหนีรอดความตายไปได้ หมอเองก็ต้องตาย แต่เวลาที่หมอจะตาย หมอต้องการตายสบายๆ ไม่ตายอย่างลำบาก ไม่ตายอย่างทรมาน ถ้าต้องทรมาน ก็ขอให้ทรมานสั้นที่สุดและตายโดยเร็วที่สุด และหมอก็สั่งลูกเมียของหมอไว้เช่นนั้น เผื่อว่า ถ้าหมอประสบอุบัติเหตุ หรือเกิดเจ็บป่วยกะทันหันจนหมดสติสัมปชัญญะ และต้องทุกข์ทรมานคล้ายกับสภาพของคุณพ่อคุณในขณะนี้ เขาจะได้ดูแลหมอที่บ้าน ให้หมอได้หลับอย่างมีความสุข ไม่ต้องถูกเจาะเลือด ใส่สายยางให้อาหาร ถูกเจาะคอ และ อื่นๆ ให้หมอต้องทุกข์ทรมานโดยไม่มีวันสิ้นสุด"

ญาติ : "ก็หมอที่รักษาคุณพ่อ เขาบอกว่า เจาะคอแล้วจะดีขึ้น ฟอกเลือดแล้วจะดีขึ้นนี่คะ เราถึงยอมให้เขาทำ แต่ทำแล้วก็ไม่เห็นดีขึ้น คุณพ่อกลับทุกข์ทรมานมากขึ้น"
หมอ : "ที่จริง ที่คุณหมอเจ้าของไข้เขาพูดเช่นนั้น ก็ถูกต้องในระดับหนึ่งนะครับ เพราะตอนที่คุณพ่อปอดอักเสบรุนแรงจนช็อก และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่นาน มันก็จำเป็นต้องเจาะคอ มิฉะนั้นคุณพ่ออาจจะเสียชีวิตตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว ที่คุณหมอเขาบอกว่า ดีขึ้นคือ ดีขึ้นจากโรคปอดอักเสบที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของการให้อาหารทางสาย ยางผ่านจากจมูกลงสู่กระเพาะและ การฟอกเลือด ก็ทำให้อาการที่เกิดจากของเสียคั่งในเลือดดีขึ้น แต่จะไม่สามารถทำให้อาการไม่รู้เรื่องที่เกิดจากหลอดเลือดในสมองแตกครั้งหลังสุดดีขึ้นได้ครับ เพราะอาการไม่รู้เรื่องจากหลอดเลือดในสมองแตกยังไม่มีวิธีรักษาครับ"
 
ญาติ :
 "ก็คุณหมอเขาบอกว่าจะดีขึ้น เราก็คิดว่าจะดีขึ้นทั้งหมด เราจึงยอมให้เจาะคอ และแทงเส้นที่ใต้ไหปลาร้าค่ะ"
หมอ : "ครับ คงมีการเข้าใจผิดกัน จึงทำให้คุณพ่อต้องทุกข์ทรมานมากขึ้น และนานขึ้น หมอจึงเชิญพวกคุณมาคุยกัน เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมด แล้วถ้าคุณยังต้องการฟอกเลือด หรือทำอะไรอื่นๆ ย่อมเป็นสิทธิของลูกๆ และของภรรยาคนไข้ เพราะในขณะที่คนไข้ไม่สามารถบอกหมอว่าเขาต้องการเช่นไร ได้แล้ว ถ้าคุณและคุณแม่ต้องการให้หมอยืดชีวิตคุณพ่อไปเรื่อยๆ โดย ไม่สนใจว่าคุณพ่อจะต้องทุกข์ทรมานเพียงใด หมอเขาก็ต้องยืดชีวิตคุณพ่อไปเรื่อยๆ เช่นนี้"
 
ญาติ : 
"แล้วคุณหมอจะให้เราทำอย่างไรคะ"
หมอ : "คุณต้องปรึกษากันและปรึกษากับคุณแม่ว่า คุณทั้งหมดต้องการให้หมอยืดชีวิตคุณพ่อไปเรื่อยๆ แบบที่คุณพ่อได้รับอยู่จนถึงปัจจุบัน หรือคุณต้องการให้คุณพ่อ มีความสุขมากที่สุดและทุกข์ทรมานน้อยที่สุด"
 
ญาติ : 
"ที่จริงคุณแม่ก็ไม่อยากให้เจาะคอคุณพ่อ ไม่อยากให้ฟอกเลือดคุณพ่อ แต่เราเห็นว่าคุณหมอ บอกว่าทำแล้วคุณพ่อจะดีขึ้น เราจึงยอมให้ทำค่ะ ถ้าคุณหมอคิดว่า ทำ แล้วคุณพ่อจะต้องทนทุกข์ทรมานนานขึ้น เราก็จะไม่ทำแล้วค่ะ แล้วคุณหมอจะให้ทำอย่างไรคะ"
หมอ : "ก็เหมือนที่หมอพูดเมื่อครู่นี้ว่า ถ้าหมอเป็นคุณพ่อ หมอก็อยากให้ลูกเมียพาหมอกลับไปอยู่ที่บ้านที่หมอรักได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่หมอรัก แล้วหมอก็จะหลับอย่างสบาย และหลับไปอย่างมีความสุข ไม่ต้องถูกหมอถูกพยาบาลมาคอยวัดไข้ วัดความดัน รบกวนการหลับ ครั้งสุดท้ายของหมอ หมอจะได้จากความทุกข์ทรมานต่างๆ ไปด้วยความสุขสงบในวาระสุดท้าย"
 
ญาติ : 
"แล้วเรื่องยาและอาหารล่ะคะ"
หมอ : "คุณพ่อคงต้องการยาเพื่อระงับความกระสับกระส่ายดิ้นรนเท่านั้น และยานั้นก็จะช่วยให้คุณพ่อพักและหลับได้ด้วย หมอจะให้ยานั้นไป ถ้าให้เม็ดหนึ่งแล้ว คุณพ่อ ยังไม่หายกระสับกระส่ายดิ้นรนใน ๑ ชั่วโมง ก็ให้ซ้ำได้ทุกชั่วโมง จนคุณพ่อหายกระสับกระส่ายดิ้นรนหรือหลับ และถ้าคุณพ่อตื่นแล้วกระสับกระส่ายดิ้นรนอีก ก็ให้ยาอีกได้ เพื่อลดความทุกข์ทรมานของคุณพ่อลง ส่วนอาหารนั้นเป็นเพียงการยืดชีวิตของคุณพ่อเท่านั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณคิดว่าควรจะหยุดให้อาหารหรือไม่ เพราะการให้อาหารทางสายยางนั้น ถ้ากระเพาะลำไส้มันไม่ค่อยทำงานย่อยอาหารเหมือนปกติ อาหารก็อาจจะบูดเน่าในกระเพาะ หรือเกิดการสำรอก/อาเจียนออกมา แล้วสำลักเข้าไปในปอด เกิดปอดอักเสบได้ดังที่เคยเป็นมาแล้ว ซึ่งจะทำให้คุณพ่อต้องทุกข์ทรมานมากขึ้น"

ญาติ :
 "ถ้าอย่างนั้น คุณหมอช่วยสั่งยาแก้อาการกระสับกระส่ายให้คุณพ่อ และให้คุณพ่อพักหลับได้ เราจะได้นำคุณพ่อกลับบ้าน ที่จริงถ้าคุณหมอเจ้าของไข้เขาอธิบายให้เราฟังแบบนี้ตั้งแต่แรก เราคงไม่ยอมให้เขาทำอย่างนี้ครับ"

ผู้ป่วยรายนี้เป็นตัวอย่างผู้ป่วยที่พบบ่อยในปัจจุบัน ที่เทคโนโลยีการยืดชีวิตด้วยวิธีการต่างๆ ถูกนำมา ใช้โดยปราศจากการพินิจพิจารณาถึงความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย ญาติ และสังคม การยืดชีวิตที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานย่อมเป็นการทรมานผู้ป่วย และไม่ก่อประโยชน์ใดๆ ให้ผู้ป่วยเลย ผู้ป่วยจึงถูกเลี้ยงไว้เพื่อให้ทน ทุกข์ทรมานไปเรื่อยๆ จะ "ตายก็ตายไม่ได้ จะเป็นก็เป็นไม่ได้" หรือ "ฟื้นไม่ได้ ตายไม่ลง" เพราะแพทย์ และ/หรือญาติไม่ยอมให้ผู้ป่วยตายโดยสงบ และตายตามธรรมชาติ ผู้ป่วยจึงต้องตายโดยมีสายระโยงระยางต่างๆ เต็มไปหมด เช่น สายน้ำเกลือ สายยางให้อาหารทางจมูก สายหรือท่อช่วยหายใจ สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น

ร่าง "พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ" จึงกำหนดไว้ในมาตราที่ ๒๔ ว่า "บุคคลมีสิทธิแสดงความจำนงเกี่ยวกับวิธีการรักษาพยาบาล หรือปฏิเสธการรักษาพยาบาลที่เป็นไปเพื่อการยืดชีวิตในวาระสุดท้ายของชีวิตของตนเอง เพื่อการตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์" โดยมีคำชี้แจงดังนี้ "เพื่อให้บุคคลมีสิทธิเลือกตายอย่างสงบและมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ในบั้นปลายของชีวิต โดยไม่ถูกยืดชีวิตหรือถูกแทรกแซงการตายเกินความจำเป็น และเพื่อไม่ให้เป็นภาระในทุกๆ ด้าน โดยให้มีสิทธิแสดงความจำนงล่วงหน้า (living will)" ซึ่งมีผู้ไปตีความว่า เป็น "สิทธิที่จะฆ่าตัวตาย"  หรือ "สิทธิที่จะขอให้แพทย์ช่วยให้ตาย" หรืออื่นๆ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายไปหมด ที่จริงแล้ว ร่างพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติได้เน้นย้ำสิทธิของคนไทยทุกคนที่มีมาแต่เดิม และมีมานมนานแล้ว นั่นคือ

๑. สิทธิที่จะกำหนดการรักษาพยาบาลสำหรับตนเอง เช่น ถ้าหมอบอกว่าต้องผ่าตัด แต่คนไข้ไม่ยอมให้ผ่าหมอจะไปผ่าคนไข้ไม่ได้ เป็นต้น ในวาระสุดท้ายของชีวิตก็เช่นกัน ถ้าคนไข้ไม่ยอมให้หมอรักษาและขอกลับบ้าน หมอก็จำเป็นต้องให้คนไข้กลับบ้าน จะไปหน่วงเหนี่ยวไว้ไม่ได้ เพราะอาจถูกฟ้องร้องด้วยข้อหาหน่วงเหนี่ยวกักขังได้ ในกรณีที่คนไข้แสดงเจตจำนงเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลสำหรับตนเองไว้ล่วงหน้า เผื่อว่าถ้าตนหมดสติสัมปชัญญะหรือไม่รู้เรื่องแล้ว แพทย์และ/หรือญาติจะได้ปฏิบัติตามความปรารถนาของตน ซึ่งเจตจำนงเช่นนี้ แพทย์และญาติผู้ป่วยก็ควรจะปฏิบัติตาม เพราะเป็นความปรารถนาของผู้ป่วย จึงมีผู้เรียกหนังสือแสดงความเจตจำนงเช่นนี้ว่า "พินัยกรรมชีวิต" (Living Will)

๒. สิทธิที่จะตายเมื่อถึงกาลเวลาที่สมควรแล้ว ในทางศาสนาพุทธ เรียกว่าการ "ปลงอายุสังขาร" หรือ "ปลงสังขาร" เพื่อไม่ให้ผู้อื่นมารบกวนหรือยุ่งเกี่ยว และปล่อยให้ตนสามารถ "ละสังขาร" ได้โดยสงบตามธรรมชาติแห่งตน

การรักษาคนไข้ จึงต้องคิดถึง "คน" ก่อน "ไข้" เสมอ ถ้ารักษาแต่ "ไข้" คนก็จะต้องทนทุกข์ทรมานดังผู้ป่วยรายนี้

ข้อมูลสื่อ

289-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์