• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สมุนไพร...ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย

สมุนไพร...ใช้อย่างไรให้ปลอดภัย


วันก่อนไปเดินเลือกซื้อหนังสือในห้างสรรพสินค้า เห็นนิตยสารเกี่ยวกับเศรษฐกิจฉบับหนึ่ง พาดหน้าปกตัวโตว่า "สมุนไพรธุรกิจหมื่นล้าน" แอบคิดในใจ ว่า โอ้โฮ! สมุนไพรที่เคยเป็นของเชยๆ ในความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ ทำเงินให้กับผู้ผลิตทั้งรายเล็ก รายใหญ่ รวมทั้งประเทศชาติ เป็นเงินไม่ใช่น้อย น่าดีใจที่กระแสตอบรับจากประชาชน ในเรื่องการใช้สมุนไพรเพื่อสุขภาพ และรักษาโรค เพื่อลดการนำเข้าและลดการใช้ยาจากต่างประเทศ เป็นไปในทิศทางที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เดี๋ยวนี้มีสมุนไพรทั้งสด ทั้งแห้ง ทั้งบรรจุแคปซูลวางขายทั่วไปมากมายหลายชนิด ที่ประชาชนสามารถเลือกซื้อมาใช้กันได้ตามอัธยาศัย ตั้งแต่โรคสามัญธรรมดาไปจนถึงโรคร้ายแรงอย่างมะเร็ง

ประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อ ความไว้วางใจ ว่าสมุนไพรปลอดภัยในการใช้ร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยลืมคิดไปว่าทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้ ย่อมมีทั้งด้านบวกและด้านลบ ควบคู่กันไปเสมอ สมุนไพรเองถ้าใช้อย่างขาดความรู้ ใช้ไม่ถูกต้องก็ทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้เช่นกัน สัจธรรมข้อนี้ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งเรื่องอาหารที่เรากินเข้าไปเพื่อการดำรงชีวิต อาหารหลักต่างๆ ที่มีประโยชน์อย่างข้าว แป้ง โปรตีน ไขมัน ผัก ผลไม้ ล้วนเป็นสิ่งที่ร่างกายขาดไม่ได้ แต่ถ้ากินชนิดใดชนิดหนึ่งล้นเกิน โรคภัยไข้เจ็บก็เกิดขึ้นได้ อย่างเช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับตับ ไต เป็นต้น ใครไม่อยากเจ็บป่วย ไม่อยากไปโรงพยาบาลหาหมอ ก็ต้องเรียนรู้ว่าควรกินอาหารประเภทไหน อย่างไรจึงจะทำให้สุขภาพดีและร่างกายแข็งแรง

อย่าเพิ่งงง! ว่าพูดเรื่องสมุนไพรอยู่ดีๆ แล้วมาถึงเรื่องอาหารได้อย่างไร ความจริงก็คือเรื่องเดียวกันนั่นแหละ เพราะสิ่งที่อยากจะบอกก็คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรในชีวิต สิ่งไหนที่ไม่มีความรู้มาก่อน ก็ต้องหาข้อมูล หรือไม่ก็ปรึกษาผู้รู้ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ณ วันนี้สมุนไพรกลับเข้ามามีบทบาทในชีวิตของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการรักษาโรค ซึ่งความจริงในอดีตคนทั่วไปเขาก็ใช้พืชสมุนไพรต่างๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่นนั่นแหละเป็นยาพื้นบ้าน แต่ต่อมาเมื่ออุตสาหกรรมการผลิตยาเคมีสังเคราะห์ (ยาแผนปัจจุบัน) ได้มีการพัฒนาเจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว ความนิยมในเรื่องการใช้สมุนไพรก็ค่อยๆ ลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ายาแผนปัจจุบันจะสามารถรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยาเหล่านี้ก็มีความเป็นพิษของสารเคมี และก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยาอยู่ด้วยเหมือนกัน ในที่สุดเมื่อกระแสสังคมโลกหันกลับมานิยมธรรมชาติ ทำให้แนวโน้มการใช้ยาสมุนไพรกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในบ้านเราที่มีสมุนไพรอยู่มากมายนับร้อยนับพันชนิด

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อย เพราะเวลาที่เราพูดถึงยาสมุนไพร คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเฉพาะสมุนไพรที่เป็นพืชเท่านั้น ความจริงแล้วยาสมุนไพรหมายรวมถึง ยาที่ได้จากส่วนของพืช สัตว์ และแร่ที่ยังไม่ได้ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ (ยกเว้นการทำให้แห้ง) เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ต้น ใบ ผล ซึ่งยังไม่ได้หั่น บด หรือสกัดเอาสารสำคัญออกไป นอกจากพืชสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ แล้ว พืช  ผัก ผลไม้นานาชนิดที่เรากินกันในชีวิตประจำวัน ก็จัดเป็นสมุนไพรเหมือนกัน แต่เป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์อ่อนๆ เรียกว่าเป็นอาหารสมุนไพร ที่ให้ประโยชน์ทั้งเป็นอาหารและยารักษาโรคไปด้วยขณะเดียวกัน

ในแง่เป็นยารักษาโรค อาหารสมุนไพรที่ใช้ในขนาดที่พอเหมาะจะช่วยบำบัดโรคได้ อย่างเช่น ดอกอ่อนและยอดขี้เหล็กใช้แกงเป็นอาหาร ในขณะเดียวกันแกงขี้เหล็กหม้อนี้ก็เป็นทั้งยาเจริญอาหาร และช่วยระบายท้องด้วย หรืออย่างกระเทียมที่เป็นเครื่องเทศแต่งกลิ่นอาหาร ขณะเดียวกันก็จะออกฤทธิ์เป็นยาขับลม ขับปัสสาวะ ขับเสมหะ ช่วยลดไขมันในเลือด และมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดได้ด้วย

ในปัจจุบันที่ภาครัฐมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้ใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคนั้น ส่วนใหญ่หมายถึงการรักษาโรคที่ไม่ร้ายแรง อย่างเช่น อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นจุกเสียด อาการท้องเสียชนิดไม่รุนแรง บิด พยาธิในลำไส้ อาการคลื่นไส้ อาเจียน เนื่องจากธาตุไม่ปกติ ไอ ขับเสมหะ ขัดเบา ฝี แผลพุพอง นอนไม่หลับ เคล็ดขัดยอก แพ้และอักเสบเนื่องจากแมลงสัตว์กัดต่อย แผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก หิด เหา ชันนะตุ เป็นต้น สมุนไพรที่นำมาใช้เป็นยารักษาโรคมีหลายลักษณะ เช่น ใช้แบบพื้นบ้าน เป็น ยาแผนโบราณ และยาแผนปัจจุบัน ในกรณีของยาแผนโบราณและยาแผนปัจจุบัน ไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่ากับการใช้สมุนไพรแบบยาพื้นบ้าน ที่บอกกล่าวเล่าต่อกันมา โดยมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยแต่ใช้แบบกว้างขวาง รักษาโรคได้ครอบจักรวาล แล้วชาวบ้านโดยทั่วไป (หรือแม้กระทั่งคนมีการศึกษาก็เถอะ) ก็มักจะเชื่อและชอบใช้ยาสมุนไพรในลักษณะนี้ ครั้นเมื่อเกิดผลข้างเคียงขึ้นมาครั้งใด ก็ทำให้คนที่ไม่ค่อยศรัทธาเรื่องสมุนไพร ยิ่งมีความรู้สึกต่อยาสมุนไพรในแง่ลบมากขึ้นเรื่อยๆ

ตัวอย่างล่าสุดที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ และเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์  คือ กรณีของหญ้าปักกิ่งที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งนิยมซื้อมากินกันเอง โดยไม่มีความรู้ใดๆ เกี่ยวกับพืชชนิดนี้มาก่อนเลย เมื่อกินหญ้าปักกิ่งไปนานๆ ก็เกิดอาการเหน็บชา กล้ามเนื้อลีบ บางรายถึงกับเดินไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น เอกสารแผ่นปลิวที่ทำแจกกันเองก็ยังระบุว่า หากกินหญ้าปักกิ่งไปแล้ว เกิดอาการไข้ หรือ มีเลือดออกมากับปัสสาวะ ไม่ต้องตกใจ เพราะหญ้าปักกิ่งกำลังออกฤทธิ์ โรคร้ายกำลังถูกทำลาย ข้อความดังกล่าวเป็น ความเชื่อที่ผิด เพราะการมีเลือดออกมาลักษณะนี้ หมายถึงมีการระคายเคืองต่ออวัยวะภายใน เกิดขึ้นจากฤทธิ์ของสมุนไพรที่กินเข้าไป ความจริงมีผลการวิจัยระบุว่า หญ้า ปักกิ่งอาจช่วยปรับระดับภูมิคุ้มกันให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง และหญ้าปักกิ่งมีผู้ป่วยใช้รักษาตนเองมานานกว่า ๒๐ ปีแล้ว ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว ในยุคที่มะเร็งครองแชมป์การตายอันดับ ๑ หญ้า ปักกิ่งได้รับการพิสูจน์ชื่อทางวิทยาศาสตร์ โดยคุณลีนา ผู้พัฒน์พงศ์ หอพรรณไม้ กรมป่าไม้ ท่านได้ตั้งชื่อภาษาไทยซึ่งแปลมาจากภาษาจีนว่า หญ้าเทวดา หรือ ที่ชาวบ้านรู้จักในชื่อหญ้าปักกิ่ง หญ้าเทวดามีลักษณะสำคัญ คือ ใบกว้าง ๑-๑.๕ เซนติเมตร ยาว ๑๐-๑๒ เซนติเมตร ดอกสีม่วงน้ำเงิน วิธีกินหญ้าปักกิ่ง ที่ถูกต้องคือ กินวันละ ๖ ต้น โดยเลือกเอาเฉพาะส่วนเหนือดินหรือใบมาสับหรือปั่นหรือตำคั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำได้ ๒-๔ ช้อนโต๊ะ กรองผ่านผ้าขาวบาง น้ำคั้นที่ได้ แบ่งครึ่ง ดื่มวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น ไม่ควรกินใบสดๆ เพราะจะทำลายไต ที่สำคัญต้องกิน ๗ วัน แล้วหยุด ๔ วัน เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เกินขนาดซึ่งมีผลเสีย ต่อระบบภูมิคุ้มกัน และหากดื่มแล้วเกิดอาการแพ้ เช่น มีผื่นคัน ต้องหยุดทันที แต่ที่แนะนำกันอย่างผิดๆจนเกิดเรื่อง คือ ให้ดื่มน้ำคั้นจากหญ้าปักกิ่งทุกวัน วันละ ๒ แก้ว เพื่อบำรุงร่างกาย และบางครั้งหญ้าปักกิ่งที่ขายกันดาดดื่นนั้น ก็ยังมีหญ้าปักกิ่งของปลอมด้วยอีกต่างหาก

ข้อควรระวังในการใช้สมุนไพรบำบัดโรค
สมุนไพรแม้จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีอันตรายร้ายแรงเกิดขึ้น เพราะที่สุดแล้วหากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้ไม่ถูกกับอาการ ไม่ถูกกับโรค ปริมาณขนาดที่ใช้ไม่เหมาะสม หรือใช้กับผู้ที่แพ้สมุนไพรบางชนิด ก็อาจเกิดอันตรายที่คาดไม่ถึงได้เช่นกัน ดังนั้นจึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่ง สำหรับผู้ที่ต้องการใช้สมุนไพรบำบัดโรค จะต้องศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับพืชสมุนไพรนั้นๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากนั้น การนำสมุนไพรมาใช้เป็นยา ยังต้องคำนึงถึงรายละเอียดอื่นๆ อีกด้วย เช่น ธรรมชาติของสมุนไพรแต่ละชนิด สายพันธุ์ สภาวะแวดล้อมในการปลูก ฤดูกาล และช่วงเวลาเก็บ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญต่อการออกฤทธิ์ในการรักษาโรค ซึ่งหากทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ คุณภาพของยาสมุนไพรนั้นๆ ก็จะด้อยประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าต้องการใช้สมุนไพรอย่างให้ได้ผลดีที่สุด ก็ต้องใช้อย่างมีความรู้ โดยยึดหลักดังต่อไปนี้ คือ

๑. ใช้ให้ถูกต้น สมุนไพรส่วนใหญ่มีชื่อพ้องหรือซ้ำกันมากแล้ว แต่ละท้องถิ่นก็อาจเรียกชื่อแตกต่างกัน ทั้งๆ ที่เป็นพืชชนิดเดียวกัน หรือบางครั้งชื่อเหมือนกัน แต่เป็นพืชคนละชนิด เพราะฉะนั้นจะใช้สมุนไพรอะไรก็ต้องใช้ให้ถูกต้นจริงๆ ดังเช่นกรณีของหญ้าปักกิ่งที่ยกตัวอย่างข้างต้นที่นำหญ้าชนิดอื่นมาขายคนที่ไม่รู้จัก 

๒. ใช้ถูกส่วน พืชสมุนไพรไม่ว่าราก ดอก ใบ เปลือก ผล หรือเมล็ด จะมีฤทธิ์ในการรักษาหรือบำบัดโรคไม่เท่ากัน แม้กระทั่งผลอ่อน หรือผลแก่ก็มีฤทธิ์แตกต่างกัน ดังนั้น การนำมาใช้ก็ต้องมีความรู้จริงๆ

๓. ใช้ให้ถูกขนาด ธรรมชาติของยาสมุนไพร คือ หากใช้น้อยไป ก็จะรักษาไม่ได้ผล แต่ถ้าใช้มากไปก็อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่นกัน

๔. ต้องใช้ให้ถูกวิธี สมุนไพรที่จะนำมาใช้ บางชนิดต้องใช้ต้นสด บางชนิดต้องผสมกับเหล้า บางชนิดใช้ต้มหรือชง ซึ่งหากใช้ไม่ถูกต้องก็ไม่เกิดผลในการรักษา

๕. ใช้ให้ถูกกับโรค เช่น มีอาการท้องผูก ก็ต้องใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เป็นยาระบาย ถ้าไปใช้สมุนไพรที่มีรสฝาด จะทำให้ท้องยิ่งผูกมากขึ้น

อาการแพ้ยาสมุนไพร
ในบางครั้งถึงแม้จะใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องตามที่แนะนำกันแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดอาการแพ้ เพราะโดยธรรมชาติร่างกายของแต่ละคนจะมีภูมิต้านทานที่ไม่เท่ากัน บางคนให้ยาสมุนไพรแล้วได้ผลดี แต่พอแนะนำให้ผู้อื่นใช้ตาม บางกรณีนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังเกิดอาการแพ้อีกด้วย ดังนั้นหากใช้ยาแล้วเกิดอาการผิดปกติ ควรหยุดใช้ ถ้าหยุดใช้ยาแล้วอาการหายไป อาจลองใช้ยานั้นดูอีกครั้งด้วยความระมัดระวังเพิ่มขึ้น หากมีอาการเช่นเดิมก็พอจะสรุปได้ว่าเกิดจากพิษของ ยาสมุนไพร อาการที่น่าสงสัยว่าจะเกิดจากการแพ้สมุนไพร อาจมีเพียงอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือมีหลายอาการร่วมกัน เช่น มีผื่นขึ้นตามผิวหนัง ซึ่งอาจเป็นตุ่มเล็กๆ หรือตุ่มโตเป็นปื้น หรือเป็นเม็ดแบบคล้ายลมพิษ ตาอาจบวมปิด ริมฝีปากเจ่อ หรือผิวหนังเป็นดวงสีแดงๆ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง หูอื้อ ตามัว ชาที่ลิ้น ชาที่ผิวหนัง ประสาทรับรู้ความรู้สึกทำงานผิดปกติ เช่น เพียงแตะผิวหนังก็เสียว รู้สึกเจ็บ ลูบผมก็มีอาการเสียวศีรษะ มีอาการใจสั่น ใจเต้น หรือรู้สึกวูบวาบคล้ายหัวใจจะหยุดเต้นและเป็นบ่อยๆ หรือหากมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะเหลืองร่วมด้วย แสดงว่ามีภาวะตับอักเสบแทรกซ้อน ถ้ากินยาสมุนไพรแล้วมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ก็ควรจะหยุดกิน และปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

อาการและโรคที่ไม่ควรใช้สมุนไพร
เนื่องจากยาสมุนไพรเป็นยาที่ออกฤทธิ์แบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องใช้เวลาพอสมควร ดังนั้นหากเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง (เช่น มะเร็ง โรคเอดส์ บาดทะยัก ดีซ่าน) โรคเรื้อรัง (เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง โรคหัวใจ) โรคติดเชื้อต่างๆ (เช่น ปอดบวม ไข้ไทฟอยด์ มาลาเรีย วัณโรค กามโรค) เป็นโรคบางอย่างที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าสามารถรักษาได้ด้วยสมุนไพรอย่างชัดเจน ก็ไม่ควรที่จะเลือกใช้ยาสมุนไพร นอกจากนี้ หากมีอาการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ปวดศีรษะรุนแรง ปวดท้องรุนแรง อาเจียนรุนแรง ไอ เป็นเลือด ถ่ายเป็น มูกเลือด ชัก หอบ ตกเลือด ถูกงูพิษกัด เป็นต้น อาการเหล่านี้ไม่ควรใช้ยาสมุนไพร แต่ควรจะไปพบแพทย์ โดยเร็วที่สุด

ข้อดีของยาสมุนไพร
๑. ปลอดภัย สมุนไพรส่วนใหญ่จะออกฤทธิ์อ่อนๆ จึงไม่ค่อยเป็นพิษ หรือมีผลข้างเคียงมาก ต่างกับยาแผนปัจจุบันที่เป็นเคมีสังเคราะห์ ที่มักจะออกฤทธิ์ฉับพลัน บางชนิดหากกินเกินขนาดเพียงเล็กน้อย อาจมีอันตรายถึงกับเสียชีวิตได้

๒. ประหยัด ยาสมุนไพรโดยทั่วไปมีราคาถูกกว่ายาแผนปัจจุบันมาก แล้วสมุนไพรหลายชนิดก็สามารถปลูกใช้เองได้ในครอบครัว ทำให้ช่วยประหยัดรายจ่ายไปได้อีกทางหนึ่ง

๓. ช่วยบรรเทาอาการในขั้นต้น ผู้ป่วยที่อยู่ในชนบทห่างไกล บางครั้งไม่สามารถมารับบริการทางการแพทย์แผนปัจจุบันได้ ก็อาจจะใช้สมุนไพรซึ่งเป็นยาแผนโบราณหลายชนิด และบางชนิดก็เป็นทั้งอาหารและยาอยู่ในตัว บำบัดอาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ ไปก่อนได้

๔. ช่วยทดแทนยาจากต่างประเทศ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการนำเข้ายาจากต่างประเทศเป็นมูลค่านับหมื่นล้าน ในขณะที่เรามีสมุนไพรมากมาย ที่สามารถทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันได้ หากมีการวิจัยและพัฒนาอย่างเป็นระบบตามมาตรฐานสากล ก็จะช่วยลดการสูญเสียเงินตราออกนอกประเทศได้อย่างมหาศาล

ข้อเสียของการใช้สมุนไพร
๑. ใช้ไม่สะดวก บางครั้งการใช้ยาสมุนไพรในรูปยาตำรับรักษาโรคบางอย่าง อาจเสียเวลาในการเตรียม เช่น ยาหม้อ ที่จะต้องอุ่นทุกเช้าและเย็น ทำให้ไม่สะดวกที่จะกิน อีกทั้งยังยุ่งยากและเสียเวลา (สำหรับคนที่ต้องทำงานนอกบ้าน)

๒. ฤทธิ์ยาไม่แน่นอน อย่างที่ทราบกันแล้วว่ายาสมุนไพรมักมีรสอ่อน ออกฤทธิ์ช้า ต้องกินเป็นเวลานาน และเป็นจำนวนมาก ขณะเดียวกันสมุนไพรแต่ละอย่างก็จะมีสารสำคัญหลายตัว บางครั้งจึงทำให้ฤทธิ์ที่ต้านกันเองได้

ส่วนสมุนไพรที่ใช้ในรูปยาเดี่ยวเป็นตัวๆ ปัจจุบันสามารถใช้ได้สะดวกมากขึ้น เพราะมีการนำมาแปรรูปโดยการทำให้แห้ง บดเป็นผง แล้วบรรจุแคปซูลจำหน่าย

เลือกใช้อย่างไรให้ปลอดภัย
จากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนในเรื่องการใช้สมุนไพรให้มากขึ้น ปัจจุบันเราจึงได้เห็นยาสมุนไพรหลายรูปแบบ วางจำหน่ายทั่วไปทุกหนทุกแห่ง ส่วนของ ประชาชนเองก็ให้ความสนใจ และหันมานิยมการใช้สมุนไพรอย่างกว้างขวาง ดังนั้นการจะซื้อยาสมุนไพรมาใช้จึงต้องรู้จักเลือก ไม่เช่นนั้นหากไปเจอสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ก็อาจจะเกิดอันตรายได้ ข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกซื้อ คือ ดูว่ายานั้นมีการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ นอกจากนั้นก็ต้อง ดูวัน/เดือน/ปีที่ผลิต วันหมดอายุ การบรรจุหีบห่อว่าได้มาตรฐานหรือไม่ นั่นคือ จะต้องไม่รั่วหรือมีรอยบุบ หรือมีการเปิดหีบห่อ ซึ่งจะมีผลทำให้ยาเสื่อมคุณภาพ แล้วหากนำไปใช้ก็อาจเกิดโทษได้ นอกจากยาสมุนไพรและยาไทยที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ยาที่ผลิตจากองค์การเภสัชกรรม จากโรงพยาบาลที่มีเภสัชกรควบคุมมาตรฐาน ตลอดจนยาที่มีการปรุงโดยใช้ในคลินิก หรือสถานพยาบาลแผนไทย ที่มีผู้ประกอบโรคศิลปะเภสัชกรรมแผนไทยดูแลอยู่ ก็สามารถใช้ยาสมุนไพร และยาไทยนั้นได้

ข้อมูลสมุนไพรได้จากที่ไหน
สำหรับผู้ที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสมุนไพร หรือต้องการทราบข้อมูลการใช้สมุนไพรอย่างถูกวิธี สามารถติดต่อไปยังหน่วยงาน สถาบันการศึกษา หรือองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ คือ

๑. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  กระทรวงสาธารณสุข โทร.๐-๒๕๙๐-๗๐๐๐ หรือสายด่วนผู้บริโภคกับ อย. โทร.๑๕๕๖

๒. สถาบันการแพทย์แผนไทย กระทรวงสาธารณสุข โทร.๐-๒๕๙๑-๑๐๙๕, ๐-๒๕๙๑-๗๖๘๖

๓. สถาบันวิจัยสมุนไพร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์  ตู้ ป.ณ.๒๒๔ ปณจ.นนทบุรี ๑๑๐๐๐  โทร.๐-๒๕๙๑-๑๗๐๗

๔. สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๔๔๗ ถนนศรีอยุธยา เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐ โทร.๐-๒๒๔๘-๒๑๔๓, ๐-๒๖๔๔-๔๓๓๘,
 ๐-๒๖๔๔-๘๖๗๗-๙๑ หรือคณะเภสัชศาสตร์ทุกมหาวิทยาลัย

ข้อมูล : ๑. รศ.ดร.วีณา จิรัจฉริยากูล ภาควิชาเภสัชวินิจฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ๒. นิตยสารสมุนไพร พ.ย.๒๕๔๔

ข้อมูลสื่อ

289-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 289
พฤษภาคม 2546
เรื่องน่ารู้
ธารดาว ทองแก้ว