• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโรคซาร์ส

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโรคซาร์ส


๑. เชื้อไวรัสซาร์ส มีการกลายพันธุ์ได้เร็ว ปัจจุบันพบว่ามีอย่างน้อย ๑๙ สายพันธุ์ เชื้อที่กลายพันธุ์อาจมีการก่ออันตรายรุนแรงขึ้น หรืออาจอ่อนตัวลง แต่สามารถอยู่ในคนเราได้ยาวนาน โดยก่อให้เกิดอาการรุนแรงน้อยลงก็ได้

๒. ระยะฟักตัว (นับแต่เริ่มติดเชื้อจนมีอาการเจ็บป่วย) การศึกษาในฮ่องกง พบว่ามีระยะฟักตัว ๒-๑๖ วัน (เฉลี่ย ๖ วัน) องค์การอนามัยโลกกำหนดระยะฟักตัว ๒-๗ วัน (ไม่เกิน ๑๐ วัน) ดังนั้นการกักบริเวณผู้ติดเชื้อเพื่อเฝ้าดูอาการจึงกำหนดเป็น ๑๐-๑๔ วัน

๓. อาการ จากการศึกษาในฮ่องกงและแคนาดา พบอาการสำคัญของผู้ป่วยโรคซาร์ส ได้แก่ ไข้ ตัวร้อน (ร้อยละ ๙๙-๑๐๐), หนาวสั่น (ร้อยละ ๗๓.๒), ปวด เมื่อยกล้ามเนื้อ (ร้อยละ ๔๙.๓-๖๐.๙), ไอ (ร้อยละ ๕๗.๓-๖๙.๔), ปวดศีรษะ (ร้อยละ ๓๕.๔-๕๕.๘), เวียนศีรษะ (ร้อยละ ๔๒.๘) และหายใจลำบาก ส่วนอาการอื่นที่อาจพบได้ มีท้องเดิน, ไอมีเสมหะ, น้ำมูกไหล, คลื่นไส้ อาเจียน

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ พบมีเม็ดเลือดขาวต่ำ, เกล็ดเลือดต่ำ, เอนไซม์ตับ (AST, ALT) สูงผิด ปกติ, ภาพถ่ายรังสี (เอกซเรย์) ทรวงอกมีความผิดปกติ ร้อยละ ๗๘.๓

๔. การวินิจฉัย องค์การอนามัยโลกได้ทบทวนปรับปรุงวิธีวินิจฉัยโรคซาร์ส ดังนี้
ผู้ป่วยที่น่าสงสัย (suspect case) ว่าจะเป็นโรคนี้ หมายถึง

๑. ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วยอาการต่อไปนี้

ก. ไข้สูงมากกว่า ๓๘ องศาเซลเซียส และ

ข. ไอ หรือหายใจลำบาก และ

ค. มีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่ง (หรือมากกว่า) ในการสัมผัสโรคภายใน ๑๐ วัน ดังนี้

- มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีผลการวินิจฉัยจากโรงพยาบาลว่าน่าสงสัย หรือน่าจะเป็นโรคซาร์สในช่วง ๑๐ วันก่อนเริ่มป่วย (การสัมผัสใกล้ชิด หมายถึง การดูแลรักษาผู้ป่วย การอยู่อาศัยด้วยกัน หรือสัมผัสโดยตรงกับน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย การไอ หรือจาม)

- มีประวัติการเดินทางไปในประเทศ หรือพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของโรคในช่วง ๑๐ วันก่อนเริ่มป่วย

๒. ผู้ป่วยที่เสียชีวิตหลังจากวันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖ ด้วยโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุ และไม่ได้ผ่าศพพิสูจน์ โดยมีประวัติอย่างใดอย่างหนึ่งตามข้อ ค. ผู้ป่วยที่น่าจะเป็น (probable case) หมายถึง

- ผู้ป่วยที่น่าสงสัย ซึ่งมีผลการเอกซเรย์ปอดพบว่ามีลักษณะเข้าได้กับปอดบวม หรือภาวะหายใจล้มเหลว (respiratory distress syndrome)

- ผู้ป่วยที่น่าสงสัย ซึ่งเสียชีวิตและได้รับการผ่าพิสูจน์ศพเข้าได้กับพยาธิสภาพของภาวะหายใจล้มเหลว ที่ไม่ทราบสาเหตุชัดเจน

การยืนยันผลการวินิจฉัย
ในปัจจุบัน การวินิจฉัยยืนยันการเป็นโรคนี้สามารถทำได้โดยการตรวจหาไวรัสซาร์สด้วยวิธีการต่างๆ ได้แก่ การตรวจหาไวรัสซาร์ส (ไวรัสโคโรนา) ด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน หรือการเพาะหาเชื้อในหลอดทดลอง, การตรวจหาภูมิต้านทาน (แอนติบอดี) ต่อไวรัสซาร์ส โดยวิธี IFA และ ELISA, การตรวจวินิจฉัยทางโมเลกุลโดยการเพิ่มจำนวนรหัสพันธุกรรม ที่เรียกว่า  Real time PCR (ช่วยให้ความแม่นยำ และใช้เวลาเพียง ๒ ชั่วโมง)

๕. การรักษา ส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาตามอาการ และใช้อุปกรณ์ช่วยการหายใจ (ในรายที่มีภาวะหายใจล้มเหลว) ในปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการรักษาจำเพาะ มีการทดลองใช้เซรุ่มจากผู้ที่หายจากโรค ซึ่งพบว่าได้ผลถ้าให้ระยะสัปดาห์แรกของโรค ในขณะนี้มีการพยายามทดลองหายาต้านไวรัสซาร์สโดยจำเพาะ ซึ่งคาดว่าอาจนำมาใช้ในอนาคต

๖. อัตราตายของโรคซาร์ส แต่เดิมรายงานว่ามีอัตราเสียชีวิตร้อยละ ๓-๕ ของผู้ที่เป็นโรคนี้ (ซึ่งไม่แตกต่างจากโรคปอดบวมทั่วไป) และอัตราเสียชีวิตจะสูงขึ้นตามอายุ (ส่วนใหญ่มีอายุเกิน ๔๐ ปี)

ในปัจจุบันมีข้อมูลชัดเจนขึ้นว่า อัตราตายของโรคนี้น่าจะอยู่ระหว่างร้อยละ ๙.๙-๑๖.๖ และอัตราตายจะเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ในเด็กไม่มีการเสียชีวิตเลย ผู้ป่วยอายุ ๑๕-๓๔ ปี เสียชีวิตเพียงร้อยละ ๐.๗ และจะสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ สำหรับกลุ่มอายุเกิน ๗๕ ปี จะเสียชีวิตถึงร้อยละ ๖๒.๖

๗. การป้องกัน โรคนี้สามารถติดต่อโดยการสัมผัสละอองน้ำลาย เสมหะ เข้าทางปากและจมูก แต่เดิมเชื่อว่าเชื้อไวรัสโคโรนาจะมีชีวิตอยู่นอกร่างกายมนุษย์ได้ไม่เกิน ๓ ชั่วโมง แต่จากข้อมูลการศึกษาใหม่ๆ พบว่าอยู่ได้นานกว่า ๑ วัน โดยเฉพาะในอุจจาระและปัสสาวะจะอยู่ได้นานหลายวัน

การแพร่กระจายเชื้อซาร์ส เดิมเชื่อว่าติดต่อทางระบบหายใจ แต่จากการศึกษาในฮ่องกงพบว่า เชื้อนี้มีอยู่ในน้ำเหลือง อุจจาระ และปัสสาวะของผู้ป่วยเมื่อย่างเข้าสัปดาห์ที่ ๓ ของการป่วย ทำให้น่าเป็นห่วงว่า นอกจากติดต่อทางเดินหายใจแล้ว เชื้อซาร์สยังอาจติดต่อทางอาหารการกิน (เช่น เชื้อบิด อหิวาต์) ได้อีกด้วย

การป้องกันที่ดีที่สุด ได้แก่ การล้างมือ, การเข้มงวดในเรื่องสุขอนามัย, การใส่หน้ากากอนามัย

การกักกันผู้สัมผัสโรคนาน ๑๐-๑๔ วัน เป็นมาตรการจำเป็นสำหรับตัดวงจรการระบาด (จนถึงวันที่ ๗ พฤษภาคม ในจีนมีการ กักกันผู้สัมผัสโรคมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คน)
การพัฒนาวัคซีน คาดว่าน่าจะมีวัคซีนใช้ป้องกันโรคนี้ได้ภายใน ๑-๒ ปีข้างหน้า
(รายละเอียดเกี่ยวกับโรคซาร์ส สามารถอ่านได้จากบทความเรื่อง "Sever acute respiratory syndrome (SARS)" ของ นฤมล จิรพนากร และ ยง ภู่วรวรรณ ในวารสารคลินิก ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๖)

โรคซาร์สยังไม่ซา
จนถึงเดือนพฤษภาคม ทั่วโลกพบการแพร่กระจายของโรคซาร์สมากขึ้น และมีผู้ที่ตายจากโรคนี้เพิ่มมากขึ้น (ดูตาราง) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีน ฮ่องกง และไต้หวัน ในประเทศจีน แต่เดิมทางการจีนมีการปิดข่าว จนโรคได้ลุกลามจากกวางตุ้งไปยังปักกิ่ง และมณฑลต่างๆ รวมทั้งแพร่ต่อไปยังประเทศต่างๆ วันที่ ๒๐ เมษายน รัฐบาลได้สั่งปลดรัฐมนตรีสาธารณสุข และนายกเทศมนตรีนครปักกิ่ง ที่ไม่สามารถสกัดการระบาดของโรคนี้ หลังจากนั้นทางการได้ดำเนินการควบคุมโรคอย่างเข้มงวด และมีการรายงานสถานการณ์โรคอย่างเปิดเผยทางสื่อมวลชนทุกวัน รวมทั้งได้ให้ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ และเสนอแนะในการควบคุมโรคอย่างโปร่งใส

การระบาดของโรคหนักหน่วงที่สุดในนครหลวงปักกิ่ง มีการสั่งปิดโรงเรียนและมหาวิทยาลัย นานนับเดือน (ใช้วิธีเรียนทางไกลที่บ้านแทน) โรงพยาบาลหลายแแห่งถูกสั่งปิด และมีการกักกันผู้สัมผัสโรคมากกว่า ๒๐,๐๐๐ คน ทั้งนี้เพื่อสกัดกั้นไม่ให้มีโรคลุกลาม ในปัจจุบันจีนได้ทำการรณรงค์ใหญ่ "ทำสงครามกับโรคซาร์ส" ทั่วทั้งประเทศ เพราะถือเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อชีวิตและความมั่นคง (จนมีชาวตะวันตกเปรียบเปรยว่าเป็นเหมือนกรณี ๑๑ กันยายน ตึกเวิร์ลเทรดในสหรัฐอเมริกาถูกผู้ก่อการร้ายถล่ม)

ในไต้หวัน เริ่มมีการระบาดรุนแรง จนรัฐมนตรีสาธารณสุขต้องประกาศลาออก เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ทั่วโลกถือว่า โรคซาร์ส-วายร้ายตัวใหม่ เป็นภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ นักวิทยาศาสตร์และแพทย์ทั่วโลกได้ร่วมมือกันหาทางป้องกันและควบคุมโรคนี้อย่างไม่เคยมีมาก่อน และมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างไม่ปิดบัง รวมทั้งมีการสร้างเครือข่ายการทำงานและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน ตัวอย่างแห่งความสำเร็จเบื้องแรกก็คือการใช้เวลาเพียงเดือนเศษในการค้นหาจนพบสาเหตุของโรค (พบเชื้อไวรัสโคโรนา หรือไวรัสซาร์สตัวใหม่) ในขณะที่โรคเอดส์ใช้เวลาเกือบ ๒ ปีกว่าจะทราบว่าเชื้อเอชไอวีเป็นสาเหตุ

ข้อมูลสื่อ

290-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 290
มิถุนายน 2546
อื่น ๆ