• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

น้ำผึ้ง...ความหวานที่มากคุณค่า

น้ำผึ้ง...ความหวานที่มากคุณค่า


น้ำผึ้งเป็นสารให้ความหวาน ชนิดแรกที่มนุษย์ใช้เป็นอาหาร ก่อนที่จะรู้จักน้ำตาลหรือสารให้รสหวานอื่นๆ และสรรพคุณของน้ำผึ้งก็ได้ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว เช่น ชาวกรีกจะดื่มน้ำผึ้งก่อนลงแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพราะเชื่อว่าน้ำผึ้งช่วยขจัดความเมื่อยล้าได้ หรือการที่แพทย์ชาวอียิปต์โบราณใช้น้ำผึ้งช่วยสมานแผลในการผ่าตัดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนที่เราจะรู้จักกับแบคทีเรียเสียอีก นอกจากนี้เรื่องราวของน้ำผึ้งยังปรากฏอยู่ในหลักฐานสำคัญต่างๆ ทั้งคัมภีร์ไบเบิล คัมภีร์อัลกุรอ่าน และพระไตรปิฎก พูดได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้ำผึ้งนับเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่สิ่งที่มนุษย์ทุกชาติทุกภาษา ยอมรับว่าเป็น "ยาอายุวัฒนะขนานแท้" และเมื่อมีการศึกษาวิเคราะห์ถึงคุณประโยชน์ของน้ำผึ้งอย่างละเอียดตามหลักวิทยาศาสตร์ ก็พบว่าน้ำผึ้งสามารถรักษาโรคบางโรคได้ดีเยี่ยมอย่างน่าอัศจรรย์

ลักษณะของน้ำผึ้งที่ดี
น้ำผึ้งที่ขายกันทั่วไป หากไม่มีความรู้หรือไม่ช่างสังเกต ก็จะรู้สึกว่ามันก็คือ น้ำผึ้งเหมือนกันทุกขวด แต่ความจริงแล้วน้ำผึ้งก็มีเกรดหรือคุณภาพที่แตกต่างกันอยู่ น้ำผึ้งที่ดีจะต้องมีลักษณะข้นหนืด มีความใสหรือโปร่งแสง สะอาด ไม่มีตะกอนหรือสิ่งเจือปน ไม่มีไขผึ้ง ไม่มีฟอง ไม่มีกลิ่นบูดเปรี้ยว มีกลิ่นหอมเฉพาะของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งไปดูดน้ำหวานมา เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะพบเกสรดอกไม้ปนอยู่หลายชนิด

การคัดเกรดน้ำผึ้งจะดูที่ความชื้นของน้ำผึ้ง ถ้าน้ำผึ้งมีความชื้น หรือน้ำปนอยู่น้อยกว่าร้อยละ ๒๑ แสดงว่า อยู่ในเกรดดี แต่ถ้ามีความชื้นมากกว่านี้ คุณภาพของน้ำผึ้งก็จะลดลง อย่างไรก็ตามราคาของน้ำผึ้ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความชื้นเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับชนิดของน้ำผึ้งด้วยว่ามาจากดอกไม้ชนิดใด ว่ากันว่าน้ำผึ้งที่ดีที่สุดคือ น้ำผึ้งที่ได้จากตัวผึ้งหลวง และต้องเป็นน้ำผึ้งเดือน ๕ ด้วยเหตุผลที่ว่า เดือน ๕ เป็นหน้าแล้งซึ่งฝนยังไม่ตก และเป็นช่วงที่ดอกไม้นานาชนิดกำลังบาน น้ำผึ้งที่ได้จึงเป็นน้ำผึ้งคุณภาพดี เพราะ มีความชื้นน้อย มีความเข้มข้นมาก แต่ปัจจุบันส่วนใหญ่จะเป็นน้ำผึ้งจาก ผึ้งที่เลี้ยงไว้ ไม่ใช่ผึ้งป่าตามธรรมชาติ ซึ่งบ้างก็ว่าคุณภาพสู้น้ำผึ้งจากผึ้งหลวงไม่ได้ โดยทั่วไปน้ำผึ้งจะเก็บได้นานประมาณหนึ่งปีครึ่ง หากเก็บไว้นานกว่านี้ สี กลิ่น รส ก็จะเปลี่ยนไป ที่เห็นชัดคือน้ำผึ้งจะมีสีน้ำตาลเข้ม ยังไงๆ ของใหม่ๆ ก็ย่อมดีกว่าของเก่าเก็บนานอยู่แล้ว

วิธีสังเกตน้ำผึ้งแท้
น้ำผึ้งแท้มีคุณสมบัติทางยาและมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย และด้วยเหตุที่น้ำผึ้งมีราคาแพงเมื่อเทียบกับน้ำตาล จึงมีคนหัวขี้โกงทำน้ำผึ้งปลอมออกมาหลอกขายเพื่อที่จะได้กำไรมากๆ ซึ่งสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการกินน้ำผึ้งเป็นประจำอยู่แล้ว จะสามารถพิสูจน์ได้ง่ายๆ เพียงแค่ดูลักษณะหรือ การชิม แต่สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย หากไปเจอน้ำผึ้งปลอมประโยชน์ที่จะได้จากน้ำผึ้งก็ลดลง ถ้าไม่มั่นใจก็ลองพิสูจน์ได้ตามวิธีการหลากหลายที่แนะนำต่อๆ กันมา เช่น

๑. หยดน้ำผึ้งลงบนกระดาษทิชชู ถ้าเป็นของปลอม หยดน้ำผึ้งจะขยาย ตัวเป็นวงกว้าง

๒. เติมน้ำผึ้ง ๑ ช้อนชา ลงในน้ำชาจีนครึ่งแก้ว แล้วคนให้เข้ากัน ถ้าน้ำชาเปลี่ยนเป็นสีดำคล้ำ แปลว่า เป็นน้ำผึ้งปลอม เพราะถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้ น้ำชาต้องไม่เปลี่ยนสี

๓. หยดน้ำผึ้งลงในน้ำ ถ้าเป็น น้ำผึ้งแท้จะกองเป็นก้อนก่อน แล้วจึงค่อยๆ ละลาย

๔. เมื่อใช้ไม้จิ้มน้ำผึ้งขึ้นมา น้ำผึ้งจะหยดไหลเป็นสายบางๆ ไม่ขาดสาย และจะพับกองเป็นชั้นๆ ก่อนที่จะรวมเป็นเนื้อเดียวกัน

๕. ถ้าเก็บในที่อุณหภูมิต่ำ (ตู้เย็น) น้ำผึ้งจะมีผลึกน้ำตาลกลูโคสตกเป็นเกล็ดเล็กๆ

๖. มดไม่ขึ้น

๗. เทน้ำผึ้งลงบนฝ่ามือ หากล้างออกง่ายไม่เหนียวเหนอะหนะ แสดงว่าเป็นน้ำผึ้งแท้

๘. หยดน้ำผึ้งที่นิ้วและคลึงไปมา ถ้าเป็นน้ำผึ้งแท้จะไม่แห้งและยังลื่นอยู่ตลอด แต่ถ้าเป็นน้ำผึ้งปลอมปน น้ำผึ้งจะตกผลึกและเหนียว

๙. จุ่มไม้ขีดไฟลงในน้ำผึ้ง ถ้าจุดไฟติดแสดงว่าเป็นน้ำผึ้งแท้แน่นอน

แม้น้ำผึ้งจะเก็บได้นานเป็นปี แต่ บางสภาวะน้ำผึ้งก็อาจจะเสื่อมคุณภาพได้เร็ว เช่น ถ้าหากมีการเติมน้ำหรือน้ำเชื่อมทิ้งไว้ จะเกิดการบูดและมีราขึ้น ถ้าถูกแสงก็จะเสื่อมคุณภาพเร็ว ถ้าปิดภาชนะไม่สนิทน้ำผึ้งก็จะแห้งข้น หรือถ้าเก็บไว้นานหลายๆ ปีและปิดไม่สนิท น้ำผึ้งจะเปลี่ยนสีและเสื่อมคุณภาพ

สารอาหารในน้ำผึ้ง
น้ำผึ้งได้ชื่อว่าเป็นอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารที่ครบถ้วนมากที่สุดชนิดหนึ่ง ซึ่งมนุษย์ทุกชาติทุกภาษาต่างรู้จักใช้ประโยชน์จากน้ำผึ้งมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน สารอาหารมากมายที่มีอยู่ในน้ำผึ้ง (ดูตารางที่ ๑) ที่สำคัญ เช่น

วิตามิน ในน้ำผึ้งมีวิตามินหลายชนิด ซึ่งปริมาณวิตามินในน้ำผึ้งแท้แต่ละชนิดจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับที่มาของเกสรน้ำผึ้งหรือเกสรดอกไม้นั่นเอง

เกลือแร่ การเติมน้ำผึ้งแทนน้ำตาลลงในอาหารชนิดต่างๆ ซึ่งนอกจากจะได้ความหวานที่มีกลิ่นหอมแล้ว ยังเป็นการเพิ่มปริมาณเกลือแร่ที่จำเป็นให้กับร่างกายด้วย ปริมาณเกลือแร่เหล่านี้แม้จะมีไม่มากนัก แต่ก็อยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะกับที่ร่างกายต้องการ

ความชื้นหรือน้ำ ได้แก่ ความชื้นตามธรรมชาติของน้ำผึ้งที่เหลืออยู่ ภายหลังจากที่น้ำผึ้งได้เปลี่ยนน้ำหวานจากดอกไม้ให้เป็นน้ำผึ้งแล้ว น้ำผึ้งที่มีความชื้นเหมาะสมคือ น้ำผึ้งที่เหลือน้ำปนอยู่เพียงร้อยละ ๑๗-๑๘ ซึ่งจะทำให้น้ำผึ้งสามารถเก็บไว้ได้นานโดยเปลี่ยนแปลงสภาพเพียงเล็กน้อย

น้ำตาล ส่วนประกอบประมาณร้อยละ ๘๐-๘๕ ของน้ำผึ้งจะเป็นน้ำตาลชนิดต่างๆ เช่น น้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว (คือกลูโคส และฟรักโทส) ซึ่งเป็นส่วนประกอบที่เด่นที่สุดของน้ำผึ้ง เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้น้ำผึ้งมีรสหวาน ซึ่งสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่จะใช้น้ำตาลกลุ่มนี้สร้างพลังงานให้กับร่างกาย น้ำตาลโมเลกุลคู่ (คือ มอลโทส ซูโครส และแล็กโทส) และน้ำตาลที่มีโมเลกุลซับซ้อน (เช่น เดกซ์โทรส) น้ำตาลเหล่านี้ทำให้น้ำผึ้งมีคุณสมบัติทางกายภาพหลายอย่าง เช่น ดูดซึมความชื้นจากบรรยากาศได้ หรือสามารถดูดซึมน้ำออกมาจากจุลินทรีย์จนหมด ทำให้เชื้อโรคต่างๆ ไม่สามารถ มีชีวิตอยู่ได้ภายใต้ความเข้มข้นของน้ำผึ้ง

น้ำตาลทั้งหมดข้างต้น เป็นน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมขององค์ประกอบโดยธรรมชาติ แต่ถ้านำน้ำหวานหรือน้ำเชื่อมจากน้ำตาลทราย น้ำตาลปี๊บ น้ำตาลปึก หรือน้ำตาลสังเคราะห์อื่นๆ  ไปละลายให้ผึ้งกิน จะไม่นับว่าเป็นส่วนของน้ำผึ้งโดยธรรมชาติ ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดว่า ในน้ำผึ้งแท้บริสุทธิ์จะมีน้ำตาลซูโครสได้ไม่เกินร้อยละ ๕-๘ โดยน้ำหนัก หากน้ำผึ้งมีปริมาณน้ำตาลซูโครสสูงกว่านี้ ถือว่าเป็นน้ำผึ้งผสมน้ำเชื่อม ไม่ใช่น้ำผึ้งบริสุทธิ์จากธรรมชาติ

กรด ถึงแม้น้ำผึ้งจะมีรสหวานนำ แต่ก็ซ่อนความเปรี้ยวของกรดต่างๆ เอาไว้หลายชนิด แต่ที่สำคัญคือ กรดกลูโคนิก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของน้ำตาลกลูโคส รวมทั้งกรดอะมิโนที่สำคัญกลุ่มนี้ได้แก่ ไอโซลูซีน ลูซีน ไลซีน โพรลีน เมไทโอนีน เป็นต้น

เอนไซม์ คือ สารอินทรีย์ประเภทโปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์สิ่งมีชีวิต ทำหน้าที่เร่งปฏิกิริยาต่างๆ ภายในเซลล์นั้นๆ เช่น เอนไซม์ที่ช่วยย่อยอาหาร เอนไซม์ที่สำคัญที่สุดที่พบในน้ำผึ้ง คือ เอนไซม์อินเวอร์เทส ซึ่งทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลซูโครสในน้ำหวานของดอกไม้ ให้เป็นน้ำตาลกลูโคสและฟรักโทส และเอนไซม์กลูโคออกซิเดส จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสให้เป็น กรดกลูโคนิก ซึ่งเป็นส่วนประกอบของ น้ำตาลกลูโคส นอกจากนี้ยังมีเอนไซม์ อื่นๆ ที่ทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโต และทำลายเชื้อโรคได้

เดกซ์โทรส คือสารประกอบที่มีโมเลกุลของกลูโคสต่อกันเป็นโซ่ยาว สารตัวนี้เป็นส่วนที่ทำให้ชุ่มคอ และให้ความชุ่มชื้นแก่เยื่อบุผิวต่างๆ

อินฮิบิน คือ ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ที่มีคุณสมบัติในการต่อต้านเชื้อโรค การที่คนโบราณใช้น้ำผึ้งรักษาแผลสดและแก้อักเสบได้ผล ก็เพราะสารสำคัญตัวนี้นี่เอง

นอกจากวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ แล้ว น้ำผึ้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ (เช่น สารฟลาโวนอยด์ คาทาเลส อัลคาลอยด์) และสารอื่นๆ อีกหลายชนิดที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาทดลอง เพราะเชื่อว่าสารเหล่านี้มีส่วนในการกระตุ้นปฏิกิริยาทางชีวภาพ  เช่น ช่วยในการเจริญเติบโตของยีน เร่งน้ำย่อย ช่วยให้เจริญอาหาร และช่วยเสริมสุขภาพทั้งในยามปกติและยามเจ็บป่วย เป็นต้น

ข้อควรระวังในการใช้น้ำผึ้ง
แม้น้ำผึ้งจะมีประโยชน์มากมาย แต่ก็ใช่ว่าจะใช้ได้กับทุกคน บุคคลที่มีปัญหาสุขภาพต่อไปนี้ ไม่ควรดื่มน้ำผึ้ง

๑. คนที่เป็นโรคเบาหวาน

๒. คนที่มักมีอาการอาหารไม่ย่อย และอาเจียนบ่อยๆ

๓. ไม่ควรให้เด็กอายุน้อยกว่า  ๑ ขวบดื่มน้ำผึ้ง เพราะในน้ำผึ้งอาจมี สปอร์ของเชื้อคลอสตริเดียมโบทูลินัม ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อนี้จะเจริญเติบโตได้ ในทางเดินอาหารของเด็กเล็ก ทำให้เกิดสารพิษที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กรณีดังกล่าวนี้แม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่ระมัดระวังป้องกันไว้ก่อนย่อมปลอดภัยกว่า

๔. บางครั้งน้ำผึ้งอาจจะได้มาจากน้ำหวานของเกสรดอกไม้ที่เป็นพิษ เช่น น้ำหวานจากดอกของต้นตาตุ่มทะเล ซึ่งเป็นไม้ชายเลนที่มีพิษ เมื่อกินเข้าไปจะทำให้ท้องเดิน ดังนั้นก่อนซื้อน้ำผึ้งที่หาบเร่ขาย หรือขายอยู่ริมทาง ควรสอบถามถึงที่มาของน้ำผึ้งให้ละเอียด เพื่อหลีกเลี่ยงพิษภัยที่อาจเกิดขึ้นได้

คุณค่าทางอาหาร

ให้พลังงาน น้ำผึ้งเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่ดี เนื่องจากในน้ำผึ้งมีน้ำตาลที่ย่อยง่ายอยู่ถึงร้อยละ ๗๐ เช่น น้ำตาลกลูโคส และน้ำตาลฟรักโทส ที่ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ เป็นพลังงานได้อย่างรวดเร็ว เหมาะสำหรับผู้ที่ใช้กำลังมาก เช่น นักกีฬา ถ้าได้ดื่มน้ำผึ้งหลังออกกำลังกายจะรู้สึกสดชื่น หายเหนื่อยง่าย และฟื้นคืนกำลังได้อย่างรวดเร็ว หรือผู้มีปัญหาเกี่ยวกับระบบการย่อยอาหาร หรือเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ถ้าดื่มน้ำผึ้งเป็นประจำก็จะช่วยเพิ่มพลังงานที่ดีให้กับร่างกายได้อีกทางหนึ่ง

ให้โปรตีนและไขมัน แม้ว่าน้ำผึ้งจะมีโปรตีนและไขมันจำนวนน้อย แต่ก็มีคุณค่าทางอาหารสูงสุด เพราะอยู่ในรูปของโมเลกุลที่เล็กที่สุด คือ กรดอะมิโน และกรดไขมัน ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้ได้ทันที

บำรุงสุขภาพ เนื่องจากในน้ำผึ้งมีสารกระตุ้นปฏิกิริยาทางชีวภาพหลายชนิด เช่น เอนไซม์ วิตามิน และเกลือแร่ต่างๆ ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการ ควบคุมการทำงานของระบบประสาทในร่างกายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นถ้าเรากินน้ำผึ้งเป็นประจำก็จะได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์เหล่านี้ด้วย

ผสมในอาหาร อาหารหลายชนิดถ้าใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบจะช่วยแต่งกลิ่นหรือปรุงรสของอาหารให้น่ากินมากขึ้น เช่น ผสมกับนมสดหรือนมเปรี้ยว ลูกกวาด เค้ก แยม ขนมปัง ไอศกรีม หรือราดบนผลไม้ต่างๆ เป็นต้น

ช่วยถนอมอาหาร น้ำผึ้งถูกนำไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมอาหารกระป๋อง หรืออาหารหมักดองต่างๆ เพื่อให้เก็บอาหารชนิดนั้นๆ ไว้ได้นานวันขึ้น

ผสมในอาหารสัตว์ มีการนำน้ำผึ้งมาผสมในอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างโค  ซึ่งช่วยให้โคโตเร็ว มีน้ำนมมาก และน้ำหนักดี หรือผสมในอาหารไก่ ทำให้ไก่มีไข่ดก และลูกเจี๊ยบเติบโตเร็ว

คุณค่าทางยา
คุณค่าทางยาของน้ำผึ้งเป็นที่ประจักษ์กันมาตั้งแต่ครั้งโบราณแล้ว ยิ่งปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับข้อดีของน้ำผึ้งออกมาเรื่อยๆ ก็ยิ่งทำให้มีผู้หันมาสนใจบริโภคน้ำผึ้งหรือใช้น้ำผึ้งเป็นยารักษาอาการเจ็บป่วยกันมากขึ้น ประโยชน์ของน้ำผึ้งในการสร้างเสริมสุขภาพ และรักษาโรคต่างๆ มีหลายสูตรหลายขนาน สามารถใช้ได้กับคนทุกเพศทุกวัย และไม่แสลงต่อโรคใดๆ ทั้งสิ้น (ดูตารางที่ ๒) เมื่อปีที่แล้วองค์การอาหารและยาของออสเตรเลีย ก็อนุมัติให้น้ำผึ้งเป็นยาที่ใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้ว

คุณค่าด้านความงาม
ประโยชน์ของน้ำผึ้งในการนำมา บำรุงผิวพรรณ หรือผสมในเครื่องสำอางชนิดต่างๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ เพราะผู้หญิงที่สวยที่สุดในประวัติศาสตร์อย่างพระนางคลีโอพัตรา หรืออีกหลายๆ คน ก็ใช้น้ำผึ้งเป็นเครื่องประทินโฉมมาตั้งนานแล้ว คุณสมบัติที่โดดเด่นของน้ำผึ้งอยู่ที่ความสามารถในการต่อต้านแบคทีเรีย โดยสารที่ชื่อว่า "ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์" ซึ่งเป็นสารต่อต้านแบคทีเรียที่ดีเยี่ยม และที่พิเศษกว่านั้นก็คือ สารชนิดนี้กำจัดเชื้อโรคได้โดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อ นี่เองเป็นเหตุผลที่ทำให้น้ำผึ้งถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคผิวหนัง รวมถึงเรื่องความสวยความงาม

นอกจากคุณสมบัติในการต่อต้านแบคทีเรียแล้ว น้ำผึ้งยังมีสารที่ให้ความชุ่มชื้นที่ทำให้ผิวพรรณอ่อนนุ่ม และมีคุณสมบัติในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกันผิวจากการทำลายของรังสียูวี และช่วยเสริมสร้างเซลล์ใหม่ให้แก่ผิวหนังด้วย วิธีที่ง่ายที่สุดในการใช้น้ำผึ้งบำรุงผิวที่แนะนำกันมาตั้งแต่สมัยคุณย่าคุณยายก็คือ ใช้น้ำผึ้งแท้ทาผิวหน้า ทิ้งไว้ประมาณ ๑๕-๓๐ นาที แล้วล้างด้วยน้ำ หรืออาจจะใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นเช็ดออกจะรู้สึกได้ทันทีถึงผิวที่นุ่มเนียนขึ้น เครื่องสำอางที่มักใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนประกอบ คือ ครีมพอกหน้า ครีมขัดหน้า สบู่ล้างหน้า หรือเจลล้างหน้า  

ชี วิ ต ม หั ศ จ ร ร ย์ ข อ ง ผึ้ ง
ในโลกนี้มีผึ้งอยู่หลายชนิด และแต่ละประเทศก็มีพันธุ์ผึ้งที่แตกต่างกัน ในประเทศไทยมีผึ้งอยู่ ๓ ชนิด คือ ผึ้งหลวง ผึ้งโพรง และผึ้งมิ้ม

ผึ้งหลวง เป็นผึ้งที่มีขนาดตัวโตมาก ชอบทำรังอยู่บนต้นไม้สูง เช่น ต้นยาง ต้นตะเคียน หรือหากไม่ทำรังบนต้นไม้ ก็จะทำรังบนหน้าผาสูง ผึ้งหลวงจะดุร้าย ผู้ใดที่ถูกผึ้งหลวงต่อยอาจเป็นไข้หรือเสียชีวิตได้ ผึ้งหลวงบินไปได้ไกล หากินเก่ง จึงผลิตน้ำผึ้งได้มาก น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งหลวงยอมรับกันว่าเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูง รสเข้มข้น

ผึ้งโพรงหรือผึ้งรวง เป็นผึ้งขนาดกลาง ชอบทำรังอยู่ในโพรงไม้หรือในโพรงหิน

ผึ้งมิ้ม เป็นผึ้งที่มีขนาดเล็ก (เท่าแมลงวัน) ไม่ดุร้าย ชอบทำรังตามพุ่มไม้เตี้ยๆ ผึ้งชนิดนี้มีมากในภาคกลาง น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งมิ้มจะใสและมีรสหวานแหลม

ผึ้งพันธุ์หรือผึ้งเลี้ยง เมื่อความต้องการในการบริโภคน้ำผึ้งมีมากขึ้น น้ำผึ้งจากผึ้งป่าตามธรรมชาติจึงมีจำนวนลดน้อยลง ต่อมาได้มีการส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งอย่างจริงจังทางภาคเหนือ เพราะมีแหล่งเกษตรกรรมที่เหมาะสม แต่ผึ้งหลวงและผึ้งมิ้มมีธรรมชาติเป็นผึ้งป่า ไม่เหมาะกับการนำมาเพาะเลี้ยง ส่วนผึ้งโพรงแม้จะสามารถเลี้ยงได้ แต่ก็ไม่ดีเท่าผึ้งพันธุ์ จึงมีการนำผึ้งพันธุ์มาจากหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา เนื่องจากผึ้งพันธุ์มีลักษณะดีหลายประการ คือ ตัวใหญ่ แข็งแรง ขยัน มีความสามารถในการบินไปหา อาหารได้ดีกว่าผึ้งไทย มีจำนวนประชากรในรังมากกว่า ลักษณะนิสัยไม่ดุร้าย ดูแลและเลี้ยงง่าย

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นผึ้งป่าหรือ ผึ้งเลี้ยง มักมีแบบแผนพฤติกรรมพื้นฐานเหมือนๆ กันคือ เป็นสัตว์สังคม อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ผึ้งเป็นสัตว์โลกตัวเล็กๆ ที่มีวงจรชีวิตแสนจะน่าทึ่ง มีการแบ่งงานและจัดระเบียบในสังคมอย่างน่าสนใจ นั่นคือรู้จักหน้าที่ มีความขยันขันแข็ง กล้าหาญ กล้าต่อสู้ปกป้องรวงรังจนตัวตาย
ในสังคมผึ้ง จะแบ่งผึ้งเป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่

๑. ผึ้งนางพญา ซึ่งเป็นหนึ่งเดียวในรังที่มีอำนาจสูงสุด ปกครองประชากรนับแสนตัว มีหน้าที่สำคัญคือ ดูแลประชากรผึ้ง และวางไข่

๒. ผึ้งตัวผู้ เป็นผึ้งที่ไร้พิษสงเพราะไม่มีเหล็กใน มีอายุเฉลี่ยประมาณ ๑-๒ เดือน หน้าที่หลักคือ ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้ง เมื่อผสมพันธุ์เสร็จ ผึ้งตัวผู้จะตายทันที

๓. ผึ้งงาน คือผึ้งตัวเมียที่ไม่ได้เจริญเป็นนางพญา ผึ้งงานเป็นประชากรหมู่มากในรัง มีหน้าที่ทำงานทุกชนิดในรัง เช่น ดูแลรังผึ้ง เป็นภารโรง เป็นสถาปนิกต่อเติมรัง หาอาหารมาเลี้ยงตัวอ่อน เป็นต้น มันทำทุกอย่างรวมทั้งการเป็นทหารป้องกันการบุกรุกจากศัตรู ผึ้งงานมีอายุเฉลี่ยประมาณ ๒-๓ เดือน

ก ว่ า จ ะ ม า เ ป็ น นํ้ า ผึ้ ง
น้ำผึ้งเป็นผลิตผลจากน้ำหวานที่ผึ้งงานดูดมาจากดอกไม้ และจากแหล่งน้ำหวานอื่นๆ เช่น น้ำหวานที่ผลิตออกมาโดยแมลงจำพวกเพลี้ย การหาน้ำหวานดูจะเป็นงานหนักที่สุดของผึ้งงาน เพราะผึ้งอาจต้องบินไกลเป็นกิโลเมตรกว่าจะพบดอกไม้แหล่งน้ำหวาน ประมาณกันว่าผึ้งต้องบินหาน้ำหวาน ๒๐,๐๐๐ ถึง ๑๐๐,๐๐๐ เที่ยว กว่าจะได้น้ำหวานกลับรังสัก ๑ ลิตร เมื่อพบแหล่งอาหาร ผึ้งจะดูดน้ำหวานที่มีอยู่ตามโคนกลีบดอกไม้แล้วเก็บไว้ในกระเพาะ (น้ำหวานเมื่อผสมกับน้ำย่อยหรือเอนไซม์ในตัวของผึ้ง ก็จะแปรสภาพเป็นน้ำผึ้ง) และกวาดเรณูเกสรมาเก็บในตะกร้าที่ขาทั้งสอง จากนั้นมันจะบินกลับรังโดยใช้เส้นทางที่ใกล้ที่สุด ในระหว่างที่ผึ้งบินกลับรัง ความร้อนในตัวผึ้งที่เกิดจากการกระพือปีกขณะบิน (๑๑,๔๐๐ ครั้งต่อนาที) จะทำให้ส่วนที่เป็นน้ำระเหยไป ปริมาณความชื้นลดลง ทำให้น้ำผึ้งมีความข้น

เมื่อถึงรังผึ้งก็จะคายน้ำหวานแปรรูปนี้แบบปากต่อปาก ให้กับผึ้งงานประจำรังรับไปเก็บในหลอดรวงน้ำผึ้ง ถ้าหากขณะบินกลับรัง ผึ้งยังแปรสภาพน้ำหวานเป็นน้ำผึ้งยังไม่ได้ที่ ผึ้งงานที่รับช่วงน้ำหวานมาก็จะทำหน้าที่ย่อยต่อ หากความชื้นยังสูงเกิน เหล่าผึ้งงานก็จะช่วยกันกระพือปีกเพื่อระบายอากาศและขับไล่ความชื้น จนกว่าจะได้น้ำผึ้งตามที่ต้องการ แล้วนำไปเก็บในหลอดรวงน้ำผึ้ง โดยใช้ไขผึ้งปิดปากรวงแล้วเก็บน้ำผึ้งไว้ใช้เป็นอาหารของพวกมัน

การเก็บรังผึ้งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ส่วนใหญ่มักใช้คบไฟไล่ตัวผึ้งออกไปแล้วนำรังผึ้งมาคั้น ซึ่งก็จะได้น้ำผึ้ง รวมถึงตัวผึ้งอ่อน และเกสรดอกไม้ปนมาด้วย แต่น้ำผึ้งที่ได้จากผึ้งที่เลี้ยงไว้ จะมีกรรมวิธีการแยกตัวอ่อนออกไปก่อน ทำให้น้ำผึ้งสะอาดและเก็บได้นานกว่าวิธีดั้งเดิม น้ำผึ้งที่ดีจะต้องเป็นน้ำผึ้งที่ผ่านกรรมวิธีการเก็บจากรังอย่างถูกต้อง ผ่านกระบวนการเก็บที่สะอาด ปราศจากกากและสิ่งเจือปนต่างๆ มีสีเข้มและข้น อย่างไรก็ตาม สีของน้ำผึ้งจะมีระดับแตกต่างกันระหว่างสีเหลืองอ่อน น้ำตาลอ่อนถึงน้ำตาลไหม้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของเกสรดอกไม้ที่ผึ้งไปดูดความหวานมา เช่น น้ำผึ้งที่ได้จากดอกลำไยจะมีสีเข้มกว่าน้ำผึ้งที่ได้จากดอกลิ้นจี่ ดอกเงาะ และดอกทุเรียน ซึ่งน้ำหวานที่ได้จากดอกไม้แต่ละชนิดนี้จะมีสี มีกลิ่น และรสชาติแตกต่างกันไป รวมถึงองค์ประกอบและโครงสร้างของน้ำตาลก็จะแตกต่างกันด้วย น้ำผึ้งที่ได้จากน้ำหวานและเกสรดอกไม้บางชนิด เมื่อเก็บไว้ระยะเวลาหนึ่ง น้ำตาลกลูโคสจะตกผลึกได้

ฤทธิ์ทางยา
มีงานวิจัยในหลายประเทศ ยืนยันว่าน้ำผึ้งมีฤทธิ์ทางยา ดังนี้ :

๑. ต้านจุลชีพ (ฆ่าเชื้อโรค) เนื่องจากความเข้มข้นของน้ำผึ้ง จะมีแรงดันออสโมซิส (osmotic pressure) ดูดน้ำจากเซลล์เชื้อโรค ทำให้เชื้อโรคฝ่อตาย นอกจากนี้สภาพความเป็นกรด และสารบางชนิด (เช่น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์) สามารถฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ได้

๒. แก้ท้องเดิน จากฤทธิ์ต้านจุลชีพ ประกอบกับสารน้ำตาลซึ่งสามารถใช้แทนน้ำตาล (เป็นส่วนประกอบสำคัญของสารละลายน้ำตาล เกลือแร่ หรือโออาร์เอส ในการทดแทนสารน้ำในผู้ป่วยที่มีอาการท้องเดิน) นอกจากนี้น้ำผึ้งยังช่วยเร่งให้ลำไส้ที่อักเสบมีการฟื้นตัวเร็วขึ้น

๓. แก้ช่องคลอดอักเสบจากเชื้อรา (เชื้อแคนดิดา) ได้ใกล้เคียงกับยาฆ่าเชื้อราแผนปัจจุบัน

๔. แก้โรคกลาก และฮ่องกงฟุต จากฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา

๕. แก้ตาอักเสบจากการติดเชื้อ เช่น เยื่อตาขาวอักเสบ กระจกตาดำอักเสบ

๖. รักษาบาดแผล จากฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค และสรรพคุณในการลดอักเสบ และเร่งการสร้างเนื้อเยื่อใหม่

น้ำผึ้งจึงใช้สมานบาดแผลชนิดต่างๆ เช่น แผลสด แผลถลอก แผลผ่าตัด ฝี แผล ไฟไหม้น้ำร้อนลวก แผลเบาหวาน แผลกดทับ (จากการนอนนานๆ) แผลเรื้อรังต่างๆ เป็นต้น

๗. บำรุงร่างกายนักกีฬา ให้พลังงานจากสารคาร์โบไฮเดรตที่ดีแก่นักกีฬา ทั้งก่อนเล่น ขณะเล่น และหลังเล่นกีฬา

น้ำผึ้ง ในศาสตร์แพทย์จีน   : นพ.ภาสกิจ (วิทวัส) วัณนาวิบูล

คัมภีร์ "เสินหนงเปิ่นเฉ่าจิง" เมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีก่อน ได้บันทึกเกี่ยวกับคุณค่าของน้ำผึ้งต่อการป้องกันและชะลอความแก่ไว้ว่า "กินสม่ำเสมอจะเสริมสมอง ร่างกายจะเบาสบาย ไม่เหี่ยวย่น ไม่แก่ง่าย" ชาวอินเดียโบราณเชื่อว่า น้ำผึ้งมีคุณสมบัติในการรักษาและบำรุงร่างกายทำให้ไม่แก่ โดยเฉพาะการดื่มนมและกินน้ำผึ้งจะทำให้อายุยืนยาว ฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์เชื่อว่า การใช้น้ำผึ้งในการบริโภคกับอาหารมีส่วนสำคัญต่อการบำรุงสุขภาพให้แข็งแรง ท่านมีอายุยืนยาวถึง ๑๐๗ ปี อย่างไรก็ตาม ในศาสตร์แพทย์จีนปัจจุบัน น้ำผึ้งถูกนำมาใช้เป็นยาในฐานะตัว ประกอบร่วมกับยาบำรุงอื่นๆ หรือเป็นตัวผสมประกอบการปรุงเป็นยาเม็ดสำเร็จรูปแบบต่างๆ ส่วนบทบาทเดี่ยวๆ ที่นำมาใช้กินเป็นอาหารหรือเป็นตัวหลักล้วนๆ ไม่ค่อยได้มีการพูดถึงนัก

คุณสมบัติของน้ำผึ้งในทางเภสัชวิทยา

ส่วนประกอบ :
น้ำตาล กลูโคส ฟรักโทส ประมาณร้อยละ ๗๐ ละอองเกสรปริมาณน้อย วิตามินบี วิตามินดี วิตามินอี วิตามิน เค วิตามินพี สารอนินทรีย์ โปรตีน เป็นต้น

ลักษณะ : เป็นของเหลวข้น เหลืองอ่อน เหลืองเข้ม หรือออกสีส้ม ในฤดูร้อนสีจะใสและเป็นประกาย ในฤดูหนาวจะมีการตกผนึกคล้ายขี้ผึ้งข้น

รสและคุณสมบัติ : รสหวาน คุณสมบัติกลาง (ไม่ร้อน-เย็น)

ทางแพทย์แผนจีน วิ่งเส้นลมปราณ ม้าม ปอด ลำไส้ใหญ่
สรรพคุณ - บำรุงส่วนกลางจงเจียว ระงับปวด  (บริเวณกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก)
  - บำรุงปอด แก้ไอ (เสริมธาตุน้ำให้ปอด)
  - เสริมน้ำให้ลำไส้ ช่วยระบาย

๑. บำรุงกระเพาะอาหารและม้ามพร่อง และอาการปวดเกร็งในท้อง ปวดชายโครง ในความหมายแพทย์แผนปัจจุบัน คือ แผลในกระเพาะอาหาร ตับอักเสบเรื้อรัง โรคเครียด ปวดหัวใจ เป็นต้น โดยใช้ร่วมกับสมุนไพรจีนตัวอื่นๆ เช่น ปวดจากการบิดเกร็งของกระเพาะอาหาร ลำไส้ มักใช้ร่วมกับชะเอม และไป๋สาว ปวดเนื่องจากความเย็น ใช้ร่วมกับ ฝู่จือ อูโถว

๒. รักษาปอดแห้ง โดยเฉพาะการไอแห้งๆ เรื้อรังทีเกิดจากยินของปอดพร่อง มักใช้ร่วมกับโสมคน และเซินตี้

๓. รักษาท้องผูก เนื่องจากลำไส้ใหญ่มีความแห้ง ในคนสูงอายุ ผู้ป่วยหลังฟื้นจากการเจ็บป่วย หลังคลอดที่ทำให้เกิดภาวะยินพร่อง อาจใช้สวนทวาร หรือกินมักใช้ร่วมกับยาอื่น เช่น โกฐเชียง ตังกุย และงาดำ

๔. ทำลายพิษ ภายนอกใช้ทาพอก แก้การติดเชื้อของผิวหนัง แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แผลผิวหนังอักเสบ ภายในใช้แก้พิษของยาสมุนไพรจีนบางตัว

สรรพคุณทางเภสัชวิทยา 

 ๑. ขับเสมหะ

 ๒. ช่วยกระตุ้นให้แผลหายเร็วขึ้น บาดแผลสมานตัวดีขึ้น

 ๓. เป็นยาระบายอ่อนๆ

 ๔. ใช้เป็นตัวทำลายพิษสมุนไพรบางตัว

ตำรับยาจีนผสมน้ำผึ้งอย่างง่าย
๑. ไอเรื้อรัง ไม่ว่าไอเรื้อรัง ไอกรน หรือ เพิ่งไอ ไอจากความเย็น ไอจากความร้อน
 หนอนตายหยาก ๑๐ กรัม ต้มน้ำ ๒ ถ้วย ให้เหลือ ๘ ส่วน ผสมน้ำผึ้ง  ๑ ช้อนโต๊ะ ดื่มวันละ ๒ ครั้ง

๒. แก้ใจสั่น นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม
เม็ดซวนเจ่าเหยิน ๑๕ กรัม นำมาผัด ต้มน้ำ ๒ ถ้วย เหลือ ๘ ส่วน ผสมน้ำผึ้ง ๑ ช้อนโต๊ะ ดื่มก่อนนอน

๓. ท้องผูก
 น้ำนมสดร้อน ๑ ถ้วยแก้ว เทใส่งาดำผง ๑๕ กรัม ผสมน้ำผึ้ง ๑ ช้อนโต๊ะ ดื่มได้ทันที เหมาะสำหรับคนสูงอายุ หญิงหลังคลอด คนที่ผิวหนังหรือผม  บนศีรษะแห้ง ไม่มีน้ำมีนวล

๔. ช่วยย่อยอาหาร ลดความอึดอัดแน่นในกระเพาะอาหาร
 ใช้ซานจา ๑๕ กรัม ต้มด้วยน้ำ ๒ ถ้วย ให้เหลือ ๘ ส่วน ผสมน้ำผึ้ง ๑ ช้อนโต๊ะ ดื่มทันที

การใช้น้ำผึ้งในการรักษาโรค บทบาทของน้ำผึ้งมักไปทางบำรุง ระบบม้าม กระเพาะอาหาร และเสริมยินของปอด จึงมักใช้กับผู้ป่วยในสภาพร่างกายอ่อนแอ และพร่องเป็นหลักการพิจารณาใช้นำผึ้งจึงต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะส่วนประกอบของน้ำตาลฟรักโทสและกลูโคสปริมาณมาก กินมากเกินไปจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ไม่เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นเบาหวาน หรือผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง การใช้น้ำผึ้งเป็นยาหรือส่วนประกอบของยาต้องให้สอดคล้องกับผู้ป่วยแต่ละราย ไม่ควรจะกินอย่างพร่ำเพรื่อ เพราะอาจเกิดโทษได้

การใช้น้ำผึ้งรักษาแผลผ่าตัดในโรงพยาบาลรามาธิบดี
คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยกับน้ำผึ้งในฐานะน้ำตาลจากธรรมชาติที่มีวิตามินและเกลือแร่ต่างๆ หลายชนิด และในฐานะของสมุนไพรที่ใช้เป็นส่วนประกอบในยารักษาโรคแผนโบราณหลายตำรับ รวมทั้งเป็นเครื่องสำอางที่ใช้บำรุงผิวพรรณได้ดี น้อยคนนักที่จะรู้ว่าน้ำผึ้งสามารถใช้รักษาแผลได้ผลดี และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ในโรงเรียนแแพทย์ชื่อดังอย่างโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งได้ใช้น้ำผึ้งรักษาแผลผ่าตัดมานานกว่า ๑๐ ปีแล้ว

ศาสตราจารย์นายแพทย์วินิต พัวประดิษฐ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี และในฐานะสูติแพทย์ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ เล่าถึงความเป็นมาให้ฟังว่า เริ่มแรก ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงวิไล เบญจกาญจน์ และศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิงดวงเดือน คงศักดิ์ ท่านเป็นผู้ใช้น้ำผึ้งรักษาแผลมะเร็งปากช่องคลอด ซึ่งผ่าตัดแล้วแผลอักเสบติดเชื้อ แผลแยก ท่านไม่รู้จะทำยังไง เลยลองใช้น้ำผึ้งรักษาก็ได้ผลดี ต่อมาผมก็ได้พัฒนา โดยนำน้ำผึ้งมารักษาแผลที่หน้าท้อง ไม่ว่าจะแผลเนื้องอก มดลูก ผ่าตัดมดลูกแล้วเกิดการติดเชื้อ แผลแยก โดยพัฒนาในเรื่องอุปกรณ์ยึดตรึงแผล ซึ่งเราได้จดสิทธิบัตรเรียบร้อยแล้ว เป็นอุปกรณ์ง่ายๆ เหมือนกิ๊บที่ใช้ตรึงสายไฟ ทำจากพลาสติก อุปกรณ์นี้ทำให้แผลติดกันเร็วขึ้น โดยไม่ต้องเย็บ ซึ่งได้ผลดีมาก คนไข้หายแล้วก็บอกกันปากต่อปาก ทำให้มีการยอมรับกันมากขึ้น

ในอดีตแพทย์มักนิยมแก้ไขภาวะนี้โดยการทำความสะอาดแผลด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เช่น ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ หรือน้ำยาเดกิ้น แล้วตัดเนื้อเยื่อที่มีการติดเชื้อบริเวณขอบแผลออก หรือ อาจใส่ผ้ากอซค้างไว้บริเวณช่องแผล โดยทำอย่างนี้ทุกวันจนกว่าแผลจะสะอาด และถ้าแผลมีขนาดใหญ่ก็จะทำการเย็บแผลใหม่อีกครั้ง ซึ่งต้องใช้วิธีดมยาสลบเพื่อไม่ให้ผู้ป่วย เจ็บปวดมาก วิธีนี้ผู้ป่วยต้องเจ็บตัวมาก แผลใช้เวลานานกว่าจะหาย ค่าใช้จ่ายก็เยอะ บางทีมีการติดเชื้อซ้ำซ้อน

การใช้น้ำผึ้งรักษาแผล ในระยะแรก ถ้าเนื้อเยื่อบริเวณแผลยังมีการติดเชื้อมาก ก็จะทำแผลวันละ ๑-๒ ครั้ง ๒-๓ วันจะพบว่าบริเวณแผลมีการอักเสบลดลง เนื้อเยื่อแดงขึ้น การบวมของแผลลดลง กลิ่นที่เกิดจากการติดเชื้อจะหายไป เนื้อเยื่อบริเวณแผลจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียของน้ำผึ้ง คุณสมบัติดูดน้ำเหลืองออกจากแผลทำให้การบวมยุบลงมาก คุณสมบัติกระตุ้นการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อ เนื่องจากน้ำผึ้งมีแหล่งพลังงานให้กับเซลล์เนื่อเยื่อบริเวณแผล โดยทั่วไปเมื่อแผลสะอาดแล้ว ก็จะใส่น้ำผึ้งในแผลและยึดปิดขอบแผลด้วยปลาสเตอร์ ไม่เปิดแผลเป็นเวลา ๓-๔ วัน ซึ่งภายใน ๒ สัปดาห์ เนื้อเยื่อก็จะติดกันตลอดแนวของแผล

การใช้น้ำผึ้งรักษาแม้จะเป็นการแพทย์ทางเลือก แต่ให้ผลดีกว่าวิธีที่เคยใช้กันมา น้ำผึ้งที่เราใช้ก็เป็นน้ำผึ้งไทยที่ได้มาตรฐาน มอก. แล้นำมาผ่านกระบวนการแกมมาเรย์ เพื่อทำให้น้ำผึ้งมีความปลอดภัยมากขึ้น โดยไม่เสียคุณสมบัติใดๆ ที่น้ำผึ้งมี เพราะบางครั้งอาจมีเชื้อครอสตริเดียมหลงเหลืออยู่ การนำน้ำผึ้งมาใช้ก็ไม่ใช่ว่าใส่น้ำผึ้งลงไปพรวดๆ แต่ต้องใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ ต้องคำนึงว่าใช้อย่างไรไม่ให้เหนอะหนะ เปรอะเปื้อน ทำยังไงให้แผลติดเร็วขึ้น ไม่ใช่อาศัยแต่ธรรมชาติอย่างเดียว อย่างอุปกรณ์ที่เราประดิษฐ์ทำให้แผลติดกันดีขึ้น แล้วจากน้ำผึ้งเป็นขวดเรามาบรรจุหลอด มีการฆ่าเชื้อ ถ้าใครสนใจก็ติดต่อมาที่แผนกสูติฯ ได้ หรือเข้าไปที่เว็บไซต์http://www.mahidol.ac.th/mahidol/ra/raog คลิกไปที่ Honey and Wound Healing และ Honey Video

ในต่างประเทศนอกจากออสเตรเลียแล้ว ก็มีเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ที่นำน้ำผึ้งมารักษาแผล แต่นั่นเขาจะแปรรูปเป็นครีมเพื่อให้สะดวกในการใช้ ในบ้านเรายังไม่แพร่หลายมากนัก มีโรงพยาบาลไม่กี่แห่งที่ใช้น้ำผึ้งรักษาแผล สาเหตุอาจเพราะแพทย์ไม่มีประสบการณ์ แล้วโรงเรียนแพทย์ก็ไม่ได้สอน แต่ที่รามาฯ เราจะสอนนักศึกษาแพทย์ด้วย

ข้อมูลสื่อ

290-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 290
มิถุนายน 2546