• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ (4) ในโลกนี้ ไม่มีใครหายใจผิด

ปราณยามะ (4) ในโลกนี้ ไม่มีใครหายใจผิด


ช่วงหลังนี้ ผมเริ่มสอนเรื่องลมหายใจ คำถามที่เจอทุกครั้งก็คือ "ดิฉัน/ผมหายใจผิด ทำอย่างไรดี" ก่อนที่บทความเรื่องปราณยามะนี้จะว่ายาวต่อไป ฉบับนี้ขออนุญาตทำความเข้าใจประเด็น "การหายใจผิด" เสียก่อน ในโยคะเบื้องต้นเวลาสอนการหายใจ ครูมักแนะนำให้นักเรียนรู้จักลมหายใจโดยอัตโนมัติของตนเอง การหายใจโดยอัตโนมัตินี้ ถ้าพูดตามทฤษฎี ร่างกายทำการหายใจเอง โดยใช้ทั้งกล้ามเนื้อซี่โครงและกล้ามเนื้อกะบังลมทำการหายใจ เมื่อไรที่เราเฝ้าดูลมหายใจอัตโนมัติของตนเอง เราก็จะรู้สึกทรวงอกกระเพื่อมเบาๆ ช่องท้องพอง-ยุบน้อยๆ ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม นักเรียนบางคนขณะเฝ้าดูตัวเองที่กำลังหายใจโดยอัตโนมัติ อาจรู้สึกเพียงส่วนเดียว เช่น รู้สึกชัดเฉพาะทรวงอกกระเพื่อม หรือรู้สึกชัดเฉพาะช่องท้องพอง-ยุบ กล่าวคือ ร่างกายกำลังใช้กล้ามเนื้อส่วนใด ส่วนเดียวในการหายใจก็เป็นกังวลว่า ตัวเองหายใจผิด

เรามาทำความเข้าใจกันตรงนี้ก่อน คือ การหายใจผิดไม่มี ถ้ามีจริงคนที่หายใจผิดก็จะเสียชีวิตไปแล้ว ทรรศนะของคำว่า "ผิด" นั้นไม่ดีเลย เพราะนอกจากไม่เป็นความจริงแล้ว ยังบั่นทอนความรู้สึกของตนเองด้วย จำได้ไหมว่าโยคะแนะให้เรามองในเชิงบวก การที่ระบบอัตโนมัติของเราใช้กล้ามเนื้อเพียงส่วนเดียวในการหายใจ ขึ้นกับปัจจัยตั้งหลายอย่าง ปัจจัยที่เห็นได้ง่ายคือ อารมณ์ เช่น ถ้าขณะนั้นเรากำลังผ่อนคลาย เราอาจรู้สึกท้องพอง-ยุบค่อนข้างชัด ถ้าขณะนั้นเรากำลังตื่นเต้น เราอาจรู้สึกทรวงอกกระเพื่อมชัดกว่า เป็นต้น ซึ่งเมื่ออารมณ์เราเปลี่ยนไป รูปแบบของการหายใจอัตโนมัติเราก็จะเปลี่ยนไปด้วย (ไปลองสังเกตดู) ดังนั้น แทนที่จะมัวกังวลว่าตนเองหายใจถูกหรือผิด เราน่าจะหมั่นสังเกตลมหายใจของเรา ทำความรู้จักลมหายใจของเรา และศึกษาทำความเข้าใจลมหายใจของเราจะดีกว่า (หมั่นศึกษาก็เป็นคุณสมบัติของโยคีด้วยเช่นกัน) เมื่อเรารู้จักลมหายใจของตนเองดีพอ เวลาใครมาแนะนำเกี่ยวกับเรื่องลมหายใจ เราก็จะสามารถไตร่ตรองวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นได้ดีขึ้น (ขอย้ำว่าให้ศึกษาโยคะตามหลักกาลามสูตร คือ ไตร่ตรองเสียก่อนแล้วจึงเชื่อ)

ส่วนอีกประเภทหนึ่ง นักเรียนบางคนแทบจะไม่รับรู้ความรู้สึกการหายใจอัตโนมัติของตนเองเลย(แล้วก็กังวลว่าตนหายใจผิด) ข้อมูลอีกประการที่เราควรรู้ คือ การหายใจโดยอัตโนมัติของมนุษย์นั้นเบา เพราะว่าโดยปกติเราก็ไม่ได้ต้องการอากาศมากมายแต่อย่างใด ปริมาตรลมหายใจตามอัตโนมัตินี้ เป็นเพียง ๑ ใน ๖ เท่านั้นเอง คือประมาณ ๕๐๐ ซีซี (เรียกว่า ไทดอล -วอลุ่ม) เมื่อเทียบกับตอนสูดหายใจเต็มที่ ซึ่งจะได้อากาศ ประมาณ ๓,๐๐๐-๓,๕๐๐ ซีซี

โดยสรุป ก่อนที่เราจะเรียนรู้เทคนิคปราณยามะ เราควรจะเริ่มจากการมีทัศนคติที่เหมาะสม  คือ การมีทัศนคติต่อตนเองว่า มนุษย์นั้นมีศักยภาพที่จะจัดปรับระบบหายใจตนเองให้เป็นปกติสมดุล  ทุกวันนี้โลกเราเต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ซึ่งก็คอยให้คำแนะนำให้ข้อมูลมากมาย จนบางทีเล่นเอาเราคนรับข้อมูลถึงกับเขว ถึงกับดูแคลนสัญชาตญาณของชีวิตของตนเองลง ซึ่งตรงกันข้ามกับหลักแห่งโยคะ ที่เชื่อมั่นในศักยภาพภายในตนเองของมนุษย์เป็นสำคัญ คราวนี้เรามาดูเรื่องการควบคุมลมหายใจ หรือปราณยามะ  หลังจากครูแนะนำให้นักเรียนรู้จักระบบหายใจอัตโนมัติแล้ว ครูก็จะให้นักเรียนลองควบคุมลมหายใจของตน เช่น เทคนิคการหายใจด้วยหน้าท้อง อันเป็นการที่เราตั้งใจใช้กล้ามเนื้อกะบังลมเป็นหลัก นักเรียนบางคน พอได้ฝึกหายใจด้วยหน้าท้อง เกิดความรู้สึกดี (การหายใจด้วยหน้าท้องทำให้ผู้ฝึกเกิดความรู้สึกผ่อนคลายได้ทันที) เกิดความชอบ แล้วก็คิดเลยเถิดไปว่า ที่ผ่านมาตนหายใจผิดมาโดยตลอด ในกรณีนี้ผู้เขียนมองว่าความคิดแบบนี้เป็นความสับสน เอาเรื่อง ๒ เรื่องมาปนกัน

การหายใจโดยอัตโนมัติกับการควบคุมลมหายใจ มีบทบาทที่ต่างกัน มีวัตถุประสงค์ที่ต่างกัน กลไกการหายใจอัตโนมัตินั้นคอยทำหน้าที่หายใจให้กับเราตลอดเวลา โดยเฉพาะตลอดช่วงเวลาที่เราไม่ได้ใส่ใจกับการหายใจ และระบบอัตโนมัตินี้ทำงานไปตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆตามธรรมชาติไม่ได้ขึ้นกับเรา สิ่งที่เราทำได้เป็นเพียงการเฝ้าสังเกต ส่วนการควบคุมลมหายใจ เป็นการที่เราตั้งใจหายใจในรูปแบบที่กำหนดไว้ เช่น จะต้องใช้กล้ามเนื้อชิ้นไหน จะต้องฝึกในท่าใด จะต้องฝึกในเวลาใด รวมถึงการ คาดหวังผลอย่างเจาะจง ในอีกกรณีหนึ่ง นักเรียนบางคนอาจควบคุมการหายใจตามที่กำหนดไม่ได้ หรือทำได้ไม่ถนัด เช่น ในเทคนิคการหายใจด้วยหน้าท้อง บางคนรู้สึกอึดอัดเมื่อต้องหายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องแฟบ บ้างถึงกับทำตรงกันข้ามเลย หายใจเข้าท้องแฟบ หายใจออกท้องพอง  นักเรียนกลุ่มนี้ก็กังวลว่าตนหายใจผิด ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้น

คนที่ฝึกหายใจด้วยหน้าท้องไม่ได้ อาจเกิดเพราะ กล้ามเนื้อกะบังลมของตนเองไม่แข็งแรง พอให้มาฝึกจึงทำไม่ได้ แต่เราควรสรุปว่า กล้ามเนื้อกะบังลมไม่แข็งแรง เป็นความผิดหรือ สำหรับคนกลุ่มนี้ก็เพียงแต่หมั่นฝึก (เพราะโยคะเป็นศาสตร์แห่งการปฏิบัติฝึกฝน) และเมื่อฝึกกล้ามเนื้อกะบังลมก็จะพัฒนาขึ้นเอง บางคนหายใจด้วยหน้าท้องไม่ได้ เพราะเคยชินอยู่กับการใช้กล้ามเนื้อซี่โครงหายใจเช่นกัน ก็หาใช่เรื่องของการหายใจผิดไม่  ครั้นเมื่อเรียนรู้เรื่องการใช้กล้ามเนื้อกะบังลมหายใจ เราก็ฝึกเพิ่ม ก็เพียงเท่านั้น โยคะเป็นศาสตร์แห่งการเรียนรู้ตนเอง ฝึกฝนตนเอง อันนำมาซึ่งการเปล่งศักยภาพที่มีอยู่ภายใน ยิ่งรู้จักโยคะ จะยิ่งเข้าใจตนเอง ยิ่งรักตนเองมากขึ้น

ข้อมูลสื่อ

292-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 292
สิงหาคม 2546
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์