• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รักษาความสมดุลกาย-ใจ

ยมะ และนิยมะ เป็นองค์ปฐมแห่งพฤติของจิตในโยคะ  
ในโยคะนี้มีอีกนิยามคือ กริยาโยคะ หรือการชำระล้างและจัดปรับสภาวะเสียใหม่ 
เป้าหมายของกริยาโยคะก็เพื่อช่วยให้เรารักษาความสมดุลของกาย-ใจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แม้ในขณะที่ต้องเผชิญกับสิ่งเร้าอันรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเร้าจากภายนอก หรือจากภายในก็ตาม  
ยมะ คือหลักที่เฉพาะเจาะจงของความประพฤติต่อสังคม 
นิยมะ คือหลักความประพฤติต่อสุขอนามัยของตนเองทั้งด้านกายและใจ 
     
ยมะ 5 และนิยมะ 5
ปตัญชลีได้ระบุยมะ 5 ดังนี้ 
1. อหิงสา หรือการงดจากความเกลียด ความจงใจที่จะทำร้ายผู้อื่น  
2. สัตย หรือความจริงใจ 
3. อัสเตยะ หรือการงดความคิดที่จะขโมย 
4. พรหมจรรย์ หรือการควบคุมความต้องการทางเพศ 
5. อปริเคราะห์ หรืองดการสะสม งดความโลภ และงดการถือครองทรัพย์สมบัติ แม้จะเป็นของตนเอง  
     

นิยมะ 5 ได้แก่
1. เศาจะ หรือการรักษาความสะอาดบริสุทธิ์ ของกาย-ใจ
2. สันโดษ หรือความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่
3. ตบะ หรือวินัยในตนเอง ความเคร่งครัด (ที่ไม่ฝืนจนเกินพอดี)
4. สวัสดิยายะ หรือความเพียรที่จะศึกษา ตำราที่มีคุณค่า ตลอดจนใส่ใจในกิจกรรมอันนำไปสู่การหยั่งรู้ตนเอง
5. อิศวรปณิธาน หรือยอมจำนนต่อความปรารถนาของพระเจ้า (การมีศรัทธา – ผู้แปล)

โยคะช่วยให้ผู้ฝึกสร้างบุญ หรือพฤติกรรมที่ดีได้อย่างไร จะได้ไม่เป็นเพียงการหลับหูหลับตาปฏิบัติไปตามที่บอก แต่เป็นการปฏิบัติอันเกิดจากการไตร่ตรองและเห็นชอบที่จะดำรงอยู่ เพราะมนุษย์ตกอยู่ระหว่างความขัดแย้ง ๒ ขั้ว ขั้วแรกคือ การวิวัฒน์ให้พ้นไปจากสัญชาตญาณสัตว์ เป็นการพัฒนา ขณะที่อีกขั้วคือ การหวนคืนกลับไปสู่สัญชาตญาณดิบดั้งเดิม เป็นการเสื่อมถอย

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นของปัจเจกหรือของมนุษยชาติโดยรวม ก็ไม่มีอะไรนอกเหนือไปจากเรื่องราวของความขัดแย้งที่ไม่มีวันจบสิ้นนี้ แต่ที่คนเป็นมนุษย์และรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ได้ ก็เพราะแนวโน้มที่จะ “วิวัฒน์ขึ้น” นั้น แข็งแรงกว่า แต่กระนั้น ปรากฏการณ์ที่สะท้อนถึงความเสื่อมถอยของจิต เช่น สงครามต่างๆ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ตลอดประวัติศาสตร์พัฒนาการของมนุษย์ที่มีให้เห็นดาษดื่น ได้บ่งชี้ว่าคนยังคงต้องฝ่าฟันอีกยาวไกล ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังคงบ่งชี้ว่าคนยังคงเผลอตัวกลับไปจับดาบ ทั้งๆ ที่เราได้ทิ้งดาบมานานแล้ว 
    
อีริก ฟอร์ม กล่าวว่า “ชีวิตมนุษย์กำหนดโดยทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ระหว่างการเสื่อมถอยกับความก้าวหน้า ระหว่างการหวนคืนสู่ความเป็นสัตว์กับการก้าวไปสู่ความเป็นมนุษย์ 
    
ความตั้งใจที่จะหวนคืนไปสู่ความเป็นสัตว์นั้นเจ็บปวด นำไปสู่ความทุกข์ นำไปสู่ความเจ็บป่วยทางใจ นำไปสู่ความสิ้นสูญไม่ว่าจะเป็นทางกายภาพ (ตาย) หรือทางจิต (วิกลจริต)  ขณะเดียวกัน ทุกย่างก้าวไปในทิศทางของการพัฒนานั้นก็เต็มไปด้วยความน่ากลัวและความเจ็บปวดด้วยเช่นกัน จนกว่าเราจะไปถึงจุดที่ความลังเลสงสัยหมดไปหรือน้อยลงจนไม่ส่งผล”

อิสระจากความกลัวนี้หรือ อภยา (abhaya) ต่างหาก ที่โยคะตั้งไว้เป็นเป้าหมาย เป็นแก่นแท้ของการพัฒนาความเป็นมนุษย์

ภควัทคีตา เรียงลำดับคุณลักษณะของเทพผู้ประเสริฐ โดยจัดอหิงสา ไว้ในลำดับที่ 10  อีริก ฟอร์ม อธิบายไว้ในจิตวิเคราะห์ มนุษย์รู้สึกว่า “ถูกฉีกออกจากธรรมชาติ (ซึ่งเป็นสัญชาตญาณสัตว์) โดยมีเหตุผลและจินตนาการมาทดแทน มนุษย์จึงตระหนักถึงความโดดเดี่ยว ความรู้สึกแปลกแยก ท่ามกลางความอ่อนแอและอวิชชา เมื่อเป็นเช่นนี้ มนุษย์จะรับมือกับสถานการณ์แบบนี้ได้ ก็ด้วยการแสวงหาพันธะใหม่ คือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ที่ใช้แทนที่พันธะเดิม อันได้แก่สัญชาตญาณดิบ” 
    
อุดมคติ
มนุษย์ใช้ “อุดมคติ” ในการเอาชนะความกลัว 
อุดมคติในที่นี้ ฟอร์มหมายถึง ความพยายามที่จะบรรลุความปรารถนาซึ่งมีแต่ในมนุษย์เท่านั้น 
อุดมคติในที่นี้ ฟอร์มหมายถึงความพยายามที่จะบรรลุความปรารถนาที่ทำให้มนุษย์ยกระดับความต้องการให้สูงขึ้นกว่าแค่ความต้องการทางด้านกายภาพ  
อุดมคติทำให้เกิดทางออกที่เหมาะสมและเพียงพอ 

สิ่งที่ตรงกันข้ามกับอุดมคติก็คือ ความไม่เหมาะสมและนำไปสู่ความเสื่อม 
ฟอร์มอธิบายหนทางอันหลากหลายที่มนุษย์แสวงและหาทางบรรลุเพื่อที่จะ “หลอมรวมเข้ากับต้นกำเนิดเดิม” โดยสรุปสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม การยอมจำนน การมีอำนาจเหนือกว่า (เอาชนะ) และความรัก  
การยอมจำนน อาจจะเป็นในระดับบุคคล กลุ่ม หรือสถาบันฯ แม้กระทั่งพระเจ้า  
การมีอำนาจเหนือกว่า คือพยายามมีอำนาจเหนือกว่า สูงกว่าส่วนใดส่วนหนึ่งของโลก (ในขอบเขตที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่แค่ไหน) โดยการทำให้ผู้อื่นเป็นส่วนหนึ่งของตน

ทั้ง 2 อย่างนี้ ฟอร์มถือว่าเป็นลักษณะของสัญลักษณ์ของพันธะ แม้มนุษย์จะพอใจในการสร้างความใกล้ชิด มนุษย์ก็ยังคงเป็นทุกข์จากการขาดความเข้มแข็งภายใน เป็นทุกข์จากการไม่สามารถพึ่งตนเองได้ เป็นทุกข์จากความรู้สึกเป็นศัตรูไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม

การยอมจำนนหรือการมีอำนาจเหนือใดๆ ไม่มีทางเพียงพอที่จะทำให้มนุษย์หยั่งรู้ถึงตนเอง หรือนำตัวเองเข้าหลอมรวมถึงสภาวะสูงสุดได้ ในทางตรงข้าม กลับจะมีแต่ต้องเพิ่มมากขึ้นๆ อันนำไปสู่ความพ่ายแพ้และความแตกแยก 
ความรักเพียงอย่างเดียวเท่านั้นที่สามารถนำมนุษย์ไปบรรลุเป้าหมาย 

ความรักคือการหลอมรวมกับใครสักคนหรืออะไรสักอย่าง โดยยังคงความเป็นตัวเองไปพร้อมๆ กับการรวมเป็นหนึ่งเดียว ในความรักมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความสัมพันธ์ ซึ่งอนุญาตให้เกิดการคลี่คลายภายในตนเองได้อย่างเต็มที่ สิ่งสำคัญในความรัก คือคุณภาพของความรัก ไม่ใช่ที่ตัววัตถุ ลักษณะสำคัญของความรักคือเป็นประโยชน์ สร้างสรรค์ กระตือรือร้น ความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับเพื่อนมนุษย์ มนุษย์กับธรรมชาติ
    
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา นักบุญ นักปราชญ์ ผู้นำทางศาสนาล้วนขับขานบทเพลงแห่งความรัก ความเมตตา เป็นยาเพื่อสมานความทุกข์ของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ นักบุญแห่งเมืองนาซาเร็ธ ผู้กล่าวว่า “จงรักเพื่อนบ้านของท่านดั่งเช่นที่ท่านรักตนเอง” แต่โชคไม่ดี ความรักไม่สามารถสร้างกันได้ในชั่วข้ามคืน ความรักเป็นสิ่งที่ต้องบ่มเพาะจนเกิดขึ้นเอง ดังนั้น โยคะจึงนำ อหิงสา มาวางไว้เป็นองค์ปฐม เพื่อให้มนุษย์ได้ฝึกปฏิบัติ เป็นก้าวแรกไปสู่ความรัก
     
    

 

ข้อมูลสื่อ

321-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 321
มกราคม 2549
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์