• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย


ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หมายถึง ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคลุกลาม จนถึงขั้นรักษาไม่หาย และไม่มีแผนการรักษาใดๆ อีกต่อไป นอกจากรับการดูแลแบบประคับประคองตามอาการจนถึงระยะสุดท้าย ผู้ป่วยระยะสุดท้ายและญาติมีความต้องการอยู่ในโรงพยาบาลให้นานที่สุด โดยมีความคาดหวังว่าผู้ป่วยอาจ มีอาการดีขึ้นบ้าง หรือญาติผู้ป่วยอาจขาดความมั่นใจในการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน ไม่มีผู้รับผิดชอบในการดูแลผู้ป่วย หรือข้อจำกัดอื่นๆ ที่แต่ละคนมีแตกต่างกัน ถึงแม้ญาติของผู้ป่วยมีความต้องการให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายพักอยู่โรงพยาบาล แต่ด้วยจำนวนเตียงที่มีจำกัด ทำให้โรงพยาบาลจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายกลับไปดูแลต่อที่บ้าน โดยให้ญาติประสานงานการดูแลผู้ป่วยที่บ้านกับพยาบาลหน่วยเยี่ยมบ้าน

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะทำ แต่...ไม่ใช่เรื่องยากถ้ามีความตั้งใจและ  มุ่งมั่นที่จะทำ คุณอุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช มีอาชีพเป็นพยาบาลมานานมากกว่า ๒๖ ปี ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ใช้ทั้งศาสตร์ทางการพยาบาลและศาสตร์จากหลายสาขามาบูรณาการกับงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง ด้วยระยะเวลาการทำงานเฉพาะการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่นานถึง ๑๖ ปีแล้ว ทำให้คุณอุมาภรณ์สั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มากมาย และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้อ่านหมอชาวบ้านและรวมถึงผู้ป่วยและญาติทุกคน

  • เริ่มทำงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้อย่างไร

จบพยาบาลจากโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี ภาควิชาพยาบาลศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ทำงานได้ ๑๐ ปี ไปเรียนต่อปริญญาโท สาขาสุขศึกษาและพฤติกรรมศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ระหว่างเรียนปริญญาโทได้ไปฝึกงานที่สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้เห็นในสิ่งที่ไม่เคยเห็นในชีวิต ผู้ป่วยเกือบทั้งตึกซึ่งป่วยเป็นโรคมะเร็งมีความเครียด ความวิตกกังวล ความสับสน ความทุกข์โศก และความซึมเศร้า มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ทำให้รู้ว่า เขามีความทุกข์ทั้งร่างกายและจิตใจ เกิดความรู้สึกอยากเข้าไปช่วยเหลือเขา เนื่องจากดิฉันมีพื้นฐานด้านธรรมะจากการสอนของคุณพ่อคุณแม่ และมีโอกาสได้กราบและฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ซึ่งเป็นพระอริยสงฆ์ต่างๆ มามาก คิดว่าน่าจะลองนำธรรมะเข้าไปคุยกับผู้ป่วย ผลที่ได้คือผู้ป่วยดีขึ้น หน้าตาแจ่มใส มีความสบายใจขึ้น ทำให้ดิฉันพลอยมีความสุข มีความมั่นใจ  ในการนำธรรมะมาพูดคุยกับผู้ป่วย เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจทำให้เกิดความรู้สึกอยากจะช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มนี้ และได้มีโอกาสทำวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาตามหลักสูตรปริญญาโท ในเรื่อง "ผลการสอนสุขศึกษาร่วมกับการนำธรรมะมาประยุกต์ ในผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ที่ได้รับรังสีรักษาในด้านการลดความวิตกกังวล ลดความซึมเศร้า เพิ่มการยอมรับสภาพความเจ็บป่วยและการให้ความร่วมมือในการรักษาพยาบาล"

ผลปรากฏว่าทำวิจัยเสร็จยิ่งซาบซึ้งเพิ่มมากขึ้นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งเปรียบเหมือนยาขมหม้อใหญ่ ถ้าใครกินก็บรรเทาทุกข์ ใครไม่กินก็ทุกข์ต่อไป การป้อนยาขมก็ต้องมีลีลาในการป้อนเหมือนกัน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานไม่เท่ากัน บางคนเคยได้ยิน ได้ฟัง ได้ปฏิบัติธรรมะมาบ้าง เมื่อเกิดภาวะการเจ็บป่วยผู้ป่วยที่มีธรรมะเขาก็จะทุกข์น้อย ยอมรับความจริงได้เร็วขึ้น สามารถปรับจิตใจเผชิญภาวะความเจ็บป่วยได้ดีกว่าบุคคลที่ไม่เคยมีพื้นฐานด้านธรรมะมาก่อนเลย ลักษณะความจริงของชีวิตที่ควรเรียนรู้ ได้แก่ ความเป็นไตรลักษณ์ (อนิจจัง =  ไม่เที่ยง, ไม่แน่นอน, เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ, ทุกขัง = ความเป็นทุกข์, อนัตตา = ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง)

  • ผสมผสานธรรมะกับการทำงานอย่างไร

เรียนจบแล้วกลับมาทำงานต่อที่โรงพยาบาลรามาธิบดี โชคดีที่มีหัวหน้าหน่วยที่ก่อตั้งและสนับสนุนงานโครงการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย คือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชนิตา มณีวรรณ จากการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายยาวนานถึง ๑๖ ปี มักมีคนถามว่าเหนื่อยไหม เบื่อไหม ที่ต้องเกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่มีภาวะทรมาน และใกล้ตายตลอดเวลา คำตอบคือ ยิ่งช่วยเหลือผู้ป่วยยิ่งมีพลัง คือ พลังบุญ พลังที่เป็นกุศล ผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นสัจธรรมที่แท้จริงของชีวิตคนเราว่ามีแต่ความทุกข์กับการดับทุกข์ ตรงตามพุทธพจน์ของพระพุทธองค์ การมีโอกาสได้ช่วยเหลือผู้ป่วยนั้นเป็นมหากุศล เป็นอาชีพที่ได้ปัจจัยและได้บุญร่วมด้วย จากการทำงานสภาพร่างกายก็เหนื่อยเป็นธรรมดา เลยชดเชยด้วยการฝึกเพิ่มพลังแบบองค์รวม คือ เล่นโยคะ ว่ายน้ำ นวดแผนไทยคลายกล้ามเนื้อ และทำสมาธิ

ในขณะที่ดูแลคนอื่นก็ต้องเตรียมความพร้อมสำหรับตัวเองไปด้วย นั่นคือการเตรียมตัวตายด้วยการบริจาคร่างกายมา ๑๐ กว่าปีแล้ว รู้ตัวเสมอว่าสักวันหนึ่งจะต้องตายแน่ๆ แต่ไม่รู้ว่าวันไหน เดือนไหน ปีไหน ตายตอนอายุเท่าไร และตายอย่างไร จึงพยายามเตือนตนเองให้หมั่นสร้างกุศลทั้งกาย วาจา และใจตลอดเวลา และพิจารณามรณานุสติบ่อยๆ เพื่อความไม่ประมาทในชีวิต

  • มีทีมงานดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายกี่คน

เริ่มแรกทำงานคนเดียว ต่อมามีพยาบาลมาเพิ่มครั้งละคนสองคน หมุนเวียนกันไปตามจังหวะและช่วงเวลา ปัจจุบันมีน้องๆ มาช่วย ๒-๓ คน ผู้ป่วยส่วนใหญ่รับการส่งต่อจากแผนกศัลยกรรม หน่วยรังสีรักษา หน่วยเคมีบำบัด และหน่วยระงับปวด ฯลฯ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี นอกจากนี้ให้บริการผู้ป่วยเป็นรายเฉพาะด้วย รวมถึงการไปเยี่ยมผู้ป่วยที่บ้าน และคอยให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ให้กำลังใจ ด้วยการเปิดโทรศัพท์บริการ ๒๔ ชั่วโมง เพราะทำงานด้วยใจ ทำแล้วสบายใจ ดีใจที่ได้มีโอกาสช่วยเหลือผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยมีการเตรียมความพร้อมในการจำพราก

  • ครอบครัวผู้ป่วยระยะสุดท้ายจะรับบริการอย่างไร

ก่อนที่จะพูดถึงการรับบริการ ขอพูดถึงปัญหาก่อนว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีปัญหาอะไร เพราะปัญหามีหลายด้านด้วยกัน ปัญหาจากตัวผู้ป่วย ร่างกายผู้ป่วยแย่ลงไปเรื่อยๆ ผู้ป่วยมีความทุกข์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ปัญหาจากญาติและคนในครอบครัว มีความเครียด ความวิตกกังวลในภาระที่มีเพิ่มขึ้นทั้งด้านการดูแลผู้ป่วย ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการขาดงานของญาติผู้ดูแลที่ต้องพาผู้ป่วยมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่องและความเหนื่อยล้าที่ขาดการพักผ่อนของผู้ดูแล

การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่บ้านมีวัตถุประสงค์เพื่อ

๑. ให้ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถเผชิญกับปัญหาเรื่องความเจ็บไข้ และมีการปรับตัวปรับใจที่เหมาะสมจนถึงระยะสุดท้ายของชีวิต

๒. ให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบองค์รวม ลดภาวะความทุกข์ทรมานจากความเจ็บป่วย จากอาการปวดและความไม่สบายจากอาการข้างเคียงต่างๆ

๓. ให้ผู้ป่วยและครอบครัว สามารถดูแลตนเองได้อย่างเหมาะสมตามศักยภาพ

๔. ให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้วางแผนร่วมกัน และมีการเตรียมตัวเกี่ยวกับการสูญเสีย หรือการพลัดพรากในวาระสุดท้ายของชีวิต

ประเด็นหลักๆ ของเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายเกี่ยวข้องกับความรัก ความผูกพัน และการเตรียมตัวพลัดพราก คำสอนทางศาสนาบอกว่า การพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรักเป็นทุกข์ ยิ่งรักมากยิ่งทุกข์มาก เพราะยึดมาก แต่ไม่รักก็ไม่ได้ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีความคิด ความรู้สึกต้องการความรักและความอบอุ่น คนที่ทำงานด้านนี้ต้องเป็นคนละเอียดอ่อน มีความใฝ่รู้ที่จะเรียนรู้ความจริงของแต่ละชีวิตที่เกี่ยวข้อง เรียนรู้จากประสบการณ์และเรียนรู้ความทุกข์ที่เกิดขึ้นทุกอย่างด้วยความมีสติ และใช้ปัญญาแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันผู้ป่วยที่กำลังจะตาย ถ้าตัวเขาไม่มีธรรมะ เขาก็ต้องยึด และมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า "ทำไมต้องป่วย ถ้าฉันตายไป ใครจะดูแลลูกฉัน สามีจะดูแลลูกฉันไหม มีคำถามมากมายรุมเร้าไปหมด"

ตายก็นอนตายตาไม่หลับ ความเป็นมนุษย์ไม่มีเลย สับสน ตอนไม่ป่วยก็สับสน ป่วยยิ่งสับสนมากขึ้น ในความเชื่อของดิฉันที่ว่า ถ้าคนทำงานด้านการดูแล  ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้ศึกษาสัจธรรม จะช่วยให้การทำงานมีความสุขมากขึ้น ทำให้เรามีความเข้าใจกระบวนการเกิด และการเตรียมตัวตายโดยไม่สับสน เต็มใจทำความดีทุกขณะ เพราะเวลาตัวเราป่วยเราก็อยากให้คนมาดูแลตัวเราอย่างดี เข้าทำนอง อตฺตานํ อุปมํ กาเร คือ การเอาใจเขามาใส่ใจเรา

 หลักการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย :

๑. มุ่งประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยเป็นหลัก มิใช่ตัวโรค

๒. มุ่งบรรเทาอาการเจ็บปวด ทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ

๓. ให้การดูแลช่วยเหลือด้วยความรัก ความเมตตา ความเอื้ออาทร ครอบคลุมทุกด้านอย่างจริงใจและเน้นเฉพาะเป็นรายบุคคล

๔. เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วยและครอบครัว โดยให้การดูแลช่วยเหลือตั้งแต่เริ่มต้นที่มีอาการเจ็บป่วยจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

๕. จัดให้มีระบบการช่วยเหลือ ค้ำจุนครอบครัวผู้ป่วยทุกสภาวการณ์

๖. ไม่ควรพยายามเร่งรัด หรือเหนี่ยวรั้งความตายจนเกินกว่าเหตุ

๗. ถือว่าความตายเป็นกระบวนการปกติธรรมชาติ เป็นสัจธรรมที่ทุกชีวิตต้องสัมผัส

ที่สำคัญผู้ให้การช่วยเหลือควรยึดหลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา และพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

การช่วยเหลือผู้ป่วยจำเป็นต้องประเมินเหตุของปัญหาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ภาวะเศรษฐกิจ ความพร้อมในการดูแลผู้ป่วย เป็นต้น แล้ววางแผนร่วมกับผู้ป่วยและครอบครัวในการแก้ไขปัญหา มีการช่วยเหลือและประเมินผลเป็นระยะๆ มีการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม และอย่างต่อเนื่องจนถึงระยะสุดท้าย

  • จริงๆ แล้ว งานนี้ใช้วิทยาศาสตร์อย่างเดียว พอมั้ย

บอกได้เลยว่า ใช้วิทยาศาสตร์อย่างเดียวไม่พอ จะต้องเอาศาสนาเข้าไปจับด้วย นั่นคือเราต้องมีเมตตา อยากให้เขาเป็นสุข ถ้าผู้ป่วยและญาติเป็นทุกข์ เราจะต้องเข้าไปหาเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักอริยสัจ ๔ ที่ประกอบด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และนำมาประยุกต์ใช้ จะทำอย่างไรให้พ้นทุกข์ ทุกข์กายเห็นง่าย ทุกข์ใจเห็นยาก
ถ้าทุกข์ทั้งกาย ทั้งใจ เรียกว่าทุกข์ทวีคูณ ป่วยกายรักษายาก ป่วยใจรักษายากกว่า

  • จะทำอย่างไร ช่วยเขาแล้วเราจะต้องไม่ทุกข์

การช่วยเขาแล้วเราไม่ทุกข์ ก็คือ เราจะต้องไม่ไปนำทุกข์ของเขามาเป็นทุกข์ของเรา เรื่องแบบนี้ต้องอาศัยหลักการ วิธีการ แล้วก็ทำให้พอดี ถ้าทำเกินพอดีก็จะเกิดทุกข์ ต้องใช้หลักทางสายกลางและพรหมวิหาร ๔  ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กำลังจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดระบบการดูแลผู้ป่วย ที่เรียกว่า การดูแลแบบประคับประคอง (palliative care) ซึ่งเป็นการดูแลผู้ป่วยเป็นโรคที่รักษาไม่หาย แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการดูแล แบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพชีวิตจนถึงวาระสุดท้าย

โรคบางโรครักษาแล้วหาย
บางโรครักษาแล้วไม่หาย
บางโรคไม่รักษาก็หาย
บางโรครักษาจึงหาย ไม่รักษาจึงตาย

สำหรับโรคที่รักษาก็ไม่หาย ตายอย่างเดียว แต่ว่าจะตายแบบเร็วหรือช้า เรียกว่า การยืดเวลา ถ้ายืดเวลาออกไปแล้วทรมาน สุดท้ายก็ต้องตายอยู่ดี แต่ถ้าไม่ยืดเวลาตาย ช่วงเวลาทรมานก็จะสั้น แล้วควรจะเลือกแบบไหน ผู้ป่วยควรมีสิทธิรับรู้ความจริงเกี่ยวกับสภาพความเจ็บป่วย เพื่อเตรียมความพร้อมในวาระสุดท้ายของชีวิต แต่ในสภาพปัจจุบันผู้ป่วยมักถูกลิดรอนสิทธิจากญาติ/ครอบครัวของผู้ป่วย โดยมักจะให้เหตุผลว่า กลัวผู้ป่วยจะมีอาการทรุดหนักเมื่อรู้ความจริง แต่จากประสบการณ์ มีผู้ป่วยส่วนหนึ่งที่อยากรู้ แต่ไม่ได้รับการสนองตอบ ทำให้ผู้ป่วยมีเวลาน้อยไปในการเตรียมตัวเตรียมใจเผชิญภาวะสุดท้ายของชีวิต

  • มองผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างไร

มองว่าเขาน่าเห็นใจ และเป็นเพื่อนมนุษย์ ร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตาย เช่นเดียวกับเรา ถ้าผู้ป่วยก่อนป่วยได้ศึกษาธรรมะมา เมื่อเวลาป่วยน่าจะมีโอกาสนำธรรมะมาประยุกต์ใช้ ความทุกข์คงจะลดน้อยลง ยอมรับฟัง รับรู้ และยอมรับได้ง่ายขึ้น ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น เข้าใจลักษณะของสรรพสิ่งในโลกนี้ซึ่งมีเหตุและผล มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อยอมรับความจริงจิตก็ไม่ดิ้นรน มีความสงบ และเตรียมเผชิญความตายอย่างมีสติท่ามกลางอาการป่วยไข้ ผู้ป่วยที่เขามีพื้นฐานธรรมะ เวลาสอนให้เขาฝึกสติ จะได้ผลเร็ว เพราะสติมาปัญญาเกิด ไม่ใช่ว่าผู้ป่วย ๑๐๐ คน จะฝึกได้ทุกคน ตรงนี้อยู่ที่พื้นฐานของแต่ละคนด้วย บางคนไม่รับรู้เรื่องธรรมะเลย ทำให้เจ็บป่วยทั้งร่างกาย และจิตใจ เพราะไม่เคยฝึกธรรมะมาก่อน ไม่ยอมปล่อยวาง ปล่อยไม่เป็น และยึดตัวตนตลอดมา ๓๐-๔๐ ปี บุคลากรทางสุขภาพเที่ยวคอยบอกผู้ป่วยระยะสุดท้ายเรื่องการปล่อยวาง  การปลดทุกข์ คิดว่าเป็นเรื่องง่ายนักหรือ เปรียบเสมือนการว่ายน้ำ บอกว่า เอ้า! นั่นสระน้ำ คลอง หรือแม่น้ำ คุณลงไปเลยนะ... ลงไปว่ายน้ำเล่น ตรงนี้มันจะต้อง มีลีลา มีขั้นมีตอนในการสอน เพราะการสอนให้คนว่ายน้ำในขณะที่เขากำลังตกน้ำ ทำไม่ได้ และควรจะสอนตั้งแต่ยังไม่ตกน้ำ เช่น เดินลงไปในน้ำ จะลอยตัวอย่างไร หายใจอย่างไร ร่างกายจะปรับตัวอย่างไร ฉันใดก็ฉันนั้น เปรียบเช่นเดียวกับการสอนให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายฝึกจิตใจให้สงบ ระงับความวิตกกังวลใดๆ ก็มีความยากเช่นเดียวกัน

  • สภาพผู้ป่วยระยะสุดท้ายใกล้เสียชีวิตเป็นอย่างไร

ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่ใกล้หมดลมหายใจ ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะระบบต่างๆ พยายามปรับสภาพให้สมดุล หัวใจ ปอด ตับ ไต ทำงานชุลมุน ตัวโรคก็ลุกลามไป ร่างกายก็ปรับตัวไป โรคเดินทางลุกลามไปมากแล้ว ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริง ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ พยาบาล ผู้ป่วย ญาติพี่น้องของผู้ป่วย จากประสบการณ์ที่ผ่านมา พบว่า การยอมรับความจริงเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะมีหลายปัจจัยเกี่ยวข้องกัน นั่นคือ ตัวผู้ป่วยต้องยอมรับก่อน ถ้าตัวผู้ป่วยไม่ยอมรับจะดิ้นสุดชีวิตเลย คำว่า "ดิ้นสุดชีวิต" คือ ตะกายไปหาที่ไหนก็ได้ ผู้ป่วย ๑ คน ตระเวนไปรับบริการโรงพยาบาลหลายแห่ง เพื่อที่จะได้รับบริการที่ดีที่สุด แต่สุดท้ายก็ไม่รอด เพราะเหตุแห่งการไม่ยอมรับความจริง การยอมรับความจริงไม่ใช่ให้งอมืองอเท้า ให้ยอมรับความจริงที่ว่า อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เกิดแล้วจะได้มีสติปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ เพื่อให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีคุณภาพชีวิตที่ดีและเหมาะสมที่สุด ทุกคนอยากเกิด ทุกคนอยากโต แต่ไม่อยากแก่ แต่ไม่อยากตาย แต่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นของที่คู่กัน

  • กระบวนการเกิด และการตาย

เมื่อสตรีมีครรภ์ ได้มีการเตรียมแผนการดูแลตั้งแต่ระยะเริ่มแรกจนกระทั่งคลอด มีการสอน มีการถ่ายทอดความรู้ให้กับบุคลากรทางการแพทย์ตรงกันข้ามกระบวนการแก่ กระบวนการตาย ไม่สอนกันเป็นเรื่องเป็นราว เพียงแต่พูดกันเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น

  • คาดหวังกระบวนการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายอย่างไร

น่าจะได้มีการดำเนินการที่เป็นระบบชัดเจน เหมาะสม และมีคุณภาพมากกว่านี้ ขณะนี้ลักษณะการดูแลผู้ป่วยยังเป็นแบบต่างคนต่างทำ ให้การดูแลผู้ป่วยเป็นระบบตามอวัยวะของร่างกาย ไม่ได้มีการวางแผนการทำงานกันเป็นทีม ยังไม่ได้เอาผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ถ้านำผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง จะเห็นการเปลี่ยนแปลง และเกิดผลดีกับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์

การฟื้นฟูทางร่างกายของผู้ป่วยว่ายากแล้ว การฟื้นฟู ทางจิตวิญญาณ (spiritual healing) ยิ่งยากกว่า นี่คือหนึ่งในตัวอย่างของบุคลากรที่ทำงานดูแลผู้ป่วย ระยะสุดท้ายด้วยใจ เป็นองค์รวม และผสมผสานศาสตร์หลายศาสตร์เข้าด้วยกัน

ข้อมูลสื่อ

296-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 296
ธันวาคม 2546
ธนนท์ ศุข