• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เด็กอ้วนมาแรง!!

นักวิจัยพบการระบาดในเด็กไทยมากขึ้นทุกวันและทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพอย่างน้อย ๘ ประการ

เราจะสร้างภูมิคุ้มกันได้อย่างไร?

เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ เครือข่ายวิจัยสุขภาพของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้จัด การประชุมระดมความคิดเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนในเด็ก
กิจกรรมนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) การประชุมครั้งนั้นทำให้ผู้เขียน"ตื่น" จากความเข้าใจผิด และน่าจะนำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านเข้าใจวิธีคิดแบบใหม่ในเรื่องโรคอ้วน ในประเด็นสำคัญ ๒ ประการ

ประการแรก ความอ้วนเป็นโรค เน้นคำว่า "โรค" หมายความว่าความอ้วนไม่ใช่ความเบี่ยงเบนไปจากสภาพปกติ แต่เป็นความผิดปกติเป็นโรค เรียกว่า "โรคอ้วน" 
ประการที่ ๒ "โรคอ้วน" กำลังระบาดอย่างน่าตกใจ ระบาดไปทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย

ยกเครื่องความคิดเกี่ยวกับโรคอ้วน 

ท่านผู้อ่านอย่าลืมนะครับ ว่าบทความนี้เป็นเรื่องการวิจัยเกี่ยวกับสุขภาพเพราะฉะนั้นเราจะสวมวิญญาณนักวิจัยคุยกัน วิญญาณอย่างหนึ่งของนักวิจัยก็คือไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ครับ ในกาลามสูตร (กา-ลามสูตรนะครับ ไม่ใช่กามสูตร)  พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า อย่าเชื่อเพราะเหตุผล ๑๐ ประการ คือ

เชื่อเพราะเรียนตามๆ กันมา
เชื่อเพราะถือสืบเนื่องกันมา
เชื่อโดยการเล่าลือ
เชื่อโดยอ้างตำรา
เชื่อโดยตรรกะ
เชื่อโดยการคาดคะเน
เชื่อโดยการคิดตรองตามแนว เหตุผล
เชื่อเพราะเข้ากันได้กับทฤษฎี  ของตน
เชื่อเพราะมองเห็นรูปลักษณะ น่าเชื่อถือ
เชื่อเพราะนับถือว่าเป็นครูของเรา

นักวิจัยต้องไม่เชื่อไว้ก่อน ต้องถามหาข้อมูลหลักฐาน เพราะฉะนั้นที่ว่าความอ้วนเป็น"โรค" ต้องมีหลักฐาน 

นายแพทย์จิตติวัฒน์ สุประสงค์สิน แห่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้รวบรวมองค์ความรู้และผลการวิจัยเกี่ยวกับโรคอ้วนในเด็ก บอกว่าโรคอ้วนในเด็กก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพอย่างน้อย ๘ ประการ
. ทำให้เกิดโรคเบาหวาน
เบาหวานประเภทที่ ๒ ซึ่งเป็นเบาหวานที่พบโดยทั่วไป เกิดจากร่างกายดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน คนยิ่งอ้วนร่างกายจะยิ่งดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน ทำให้เป็นเบาหวาน

อาจารย์หมอจิตติวัฒน์ ศึกษาเด็กอ้วน (เด็กไทยครับ) ๓๙ คน เอามาเจาะเลือดหลังให้กินน้ำตาล พบว่า ๗ คน เป็นเบาหวาน อีก ๑๒คน ทำท่าจะเป็นเบาหวาน

และยังศึกษาพบว่ายิ่งร่างกายมีไขมันมากเท่าไรระดับความดื้อต่อฤทธิ์อินซูลินก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้นเพียงนั้น
คนอ้วนคือคนที่เซลล์ไขมันขยายขนาดเต่งตึง ยิ่งอ้วนมากขึ้นอีกเซลล์ไขมันก็จะเพิ่มจำนวนไปอยู่ตามที่ต่างๆทั่วร่างกายเซลล์ไขมันนี่แหละครับเป็นตัวการทำให้เกิดการดื้อต่อฤทธิ์อินซูลิน และเป็นตัวการปล่อย"พิษ" อื่นๆอีกมากมาย 

๒. ไขมันผิดปกติ
ในเด็กอ้วน ๓๙ คนที่กล่าวถึงข้างบนได้ตรวจไขมันในเลือด ๒๙ คน พบว่าโคเลสเตอรอลสูง(เกิน ๒๐๐ มิลลิกรัม/เดซิลิตร) ถึง ๒๒ คน

อาจารย์หมอจิตติวัฒน์ศึกษาเด็กนักเรียน ม.๑ ในโรงเรียนแห่งหนึ่งจำนวน ๖๐๐ คน พบว่าอ้วน ๘๘ คน และเด็กที่อ้วนนี้ ๑๒ ราย ระดับโคเลสเตอรอลสูงเกิน ๒๐๐  มิลลิกรัม/เดซิลิตร 

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงลัดดา เหมาะสุวรรณ แห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลา-นครินทร์ ศึกษาเด็กปกติ ๑๒๓ คนเทียบกับเด็กอ้วน ๑๑๖ คน ที่หาดใหญ่ พบว่าเด็กอ้วนมีไขมันชนิดดีหรือเอชดีแอล (HDL : ซึ่งเป็นไขมัน ตัวดี ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัว) ในเลือดต่ำและไขมันชนิดเลวหรือแอลดีแอล (LDL : ซึ่งเป็นไขมันตัวร้าย ทำให้หลอดเลือดแข็งตัว) กับไตรกลีเซอไรด์สูง  

๓. หัวใจและระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ
คนอ้วนต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นทำให้ร่างกายมีเลือดมากขึ้นตามน้ำหนักตัวหัวใจต้องทำงานหนักเกิดการขยายตัวของหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้นเกิดโรคความดันเลือดสูงตามมา การเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อหัวใจอาจถึงกับทำให้หัวใจล้มเหลว ถึงตายได้ 

๔. หายใจผิดปกติช่วงนอนหลับ
ไขมันที่เพิ่มขึ้นในทรวงอก และ ช่วงท้องทำให้ปอดขยายตัวได้ไม่ดี ตอนนอนหลับอาจหายใจลำบาก อาจหยุดหายใจเป็นพักๆ เกิดการขาดออกซิเจนทำให้มีอาการง่วงนอนตอนกลางวันเป็นนานๆเข้าอาจถึงกับหัวใจวายตายได้

 ๕. ความผิดปกติที่ระบบสืบพันธุ์
เด็กอ้วนจะเป็นหนุ่ม-สาว เร็วกว่าปกติเด็กผู้หญิงเป็นโรคถุงน้ำในรังไข่บ่อยอาจมีหนวดหรือขนดกคือเซลล์ไขมันที่เพิ่มขึ้นไปมีผลต่อฮอร์โมนเพศได้ด้วย

๖. ความผิดปกติที่ฮอร์โมน อื่นๆ
ที่สำคัญคือฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตมักจะต่ำ

 ๗. ผลต่อจิตใจและสติปัญญา
เด็กอ้วนมักจะเครียดเพราะถูกเพื่อนล้ออาจถึงกับไม่กล้าเข้าสังคม อาจารย์หมอลัดดา เหมาะสุวรรณ ศึกษาเด็กนักเรียน ม. ๑ - ม. ๓ จำนวน ๕๘๗ คน พบว่าเด็กอ้วนสอบได้เกรดต่ำกว่าในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาไทย แต่ในเด็กชั้นประถม ๓ ประถม ๔ จำนวน ๑,๒๐๗ คน ไม่พบว่าเด็กอ้วนมีผลการเรียนต่ำกว่าเด็กปกติ

 ๘. ผลต่อความแข็งแรงของร่างกาย
 อาจารย์หมอลัดดา (เจ้าเก่า) กับอาจารย์หมอสุขจันทร์ พงษ์ประไพศึกษาเด็กนักเรียน ๒๕๙ คน เพื่อจะดูว่าเด็กอ้วนกับเด็กปกติใครจะมีร่างกายแข็งแรงกว่ากัน พบว่าเด็กอ้วนร่างกายฟิตน้อยกว่าทั้งเด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชาย 
  
แต่อาจารย์หมอลัดดากับอาจารย์หมอสุขจันทร์ เป็น "นักวิจัยขนานแท้" คือไม่ด่วนสรุปความเป็นเหตุเป็นผล ท่านบอกว่าศึกษาง่ายๆ แค่นี้ยังสรุปว่าความไม่ฟิตของร่างกายเป็นเพราะความอ้วนไม่ได้หรอกภาษานักวิจัยบอกว่าสรุปได้เพียงว่าความอ้วนกับไม่ฟิตของร่างกายมีความสัมพันธ์กัน แต่จะยังสรุปความเป็นเหตุเป็นผลยังไม่ได้ "โรคอ้วน" กำลังระบาดและคุกคามความสุขในสังคมไทยเพิ่มขึ้น ทุกๆ วัน ที่จริงไม่ได้คุกคามเฉพาะสังคมไทยนะครับ โดนคุกคามกันทั้งโลกนั่นแหละ ยิ่งประเทศรวยๆ ยิ่งโดนคุกคามหนัก

ไหนครับ ขอทราบหลักฐานหรือครับ เอ้า! อ้างอิงอาจารย์หมอลัดดา เจ้าเก่า (แต่ยังสาว) ก็แล้วกันอาจารย์หมอลัดดาติดตามศึกษาเด็กนักเรียน ๒,๒๕๒ คน ที่หาดใหญ่ เป็นเวลา ๕ ปี พบว่าเด็กกลุ่มนี้ใน  ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีคนอ้วนร้อยละ ๑๒.๔ พอถึงปี พ.ศ. ๒๕๔๐ มีคนอ้วนร้อยละ ๒๑ เพิ่มขึ้นเกือบ ๒  เท่าตัว การศึกษาแบบนี้ภาษานักวิจัย เขาเรียกว่า การศึกษาแบบโคฮอร์ต คือศึกษาคนกลุ่มหนึ่ง ศึกษาหลายๆ เรื่อง และติดตามไประยะหนึ่งหรือติดตามไปนานๆ

นักวิจัยที่จะศึกษาโคฮอร์ตได้ต้องมีวิญญาณ"ทรหด" มากนะครับ เพราะพอทำไประยะหนึ่งจำนวนคนใน"โคฮอร์ต" ก็จะ"หด" ลงเรื่อยๆเพราะเด็กย้ายโรงเรียนบ้าง
ผู้ปกครอง พาย้ายไปอยู่ที่อื่นบ้าง หรือโดนเจาะเลือดบ่อยๆเด็กขอลาออกจากโคฮอร์ต บ้าง โรงเรียนที่นักเรียน ๑ ใน ๕ คนเป็นโรคอ้วนน่าตกใจนะครับและจะน่าตกใจยิ่งกว่าสำหรับบ้านที่คนเป็นโรคอ้วนกันทั้งบ้าน

โรคอ้วนระบาดได้จริงหรือ

ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า"โรคอ้วน"ระบาดได้ด้วยหรือ แล้วจะติดโรคกันได้ไหม เราคุ้นเคยกับความคิดว่า โรคระบาดเพราะมีเชื้อโรคแพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว เพราะเป็นโรคติดต่อติดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งโดยการติดโดยตรงหรือผ่านพาหะนำโรค เช่น การระบาดของโรคอหิวาต์การระบาดของโรคไข้เลือดออก 

นี่ละครับ ที่อารัมภบทมาตั้งแต่ต้นว่าโรคอ้วนจะทำให้เราเข้าใจวิธีคิดแบบใหม่เกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บในลักษณะที่เป็นการ "ยกเครื่อง" ความคิดที่นักวิชาการเรียกว่าเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ภาษาอังกฤษว่าเป็น "Paradigm shift"   งงใช่ไหมครับ ไม่เป็นไรครับ งงไปเรื่อยๆแล้วจะหายงงไปเอง ถ้าไม่งงก็ไม่สงสัย เมื่อไม่สงสัยก็เป็นนักวิจัยไม่ได้ คนที่คิดว่าตัวเองรู้ เป็นนักวิจัยที่ดีไม่ได้นักวิจัยต้องคิดว่าตัวเองไม่รู้ หรือรู้ก็รู้ไม่หมด หรือที่รู้ก็อาจจะรู้ผิดๆ ก็ได้ นี่แหละครับวิญญาณนักวิจัยที่ดี 

กลับมาเรื่องโรคอ้วนกันดีกว่าโรคอ้วนเป็นโรคระบาดติดต่อได้"เชื้อโรค" อยู่ภายในตัวเราเอง คนเรามีภูมิคุ้มกันต่อโรคอ้วนไม่เท่ากันและมีวัคซีนป้องกันโรคอ้วนได้ อย่าลืมนะครับ เรากำลังคุยกันด้วย "กระบวนทัศน์" หรือชุดความคิดชุดใหม่ ต้องใช้จินตนาการช่วยนิดหน่อยก็จะเข้าใจง่ายขึ้น หรือคิดร่วมกันไปก็จะสนุกขึ้น ช้สมองซีกขวาให้มากหน่อย หรืออย่างน้อยก็ให้สมดุลกับสมองซีกซ้ายก็จะสนุกกับ"ความคิดชุดใหม่" มากขึ้น 

อะไรนะครับ ไม่เข้าใจเรื่องสมองซีกขวาซีกซ้ายหรือครับ 
สมองซีกซ้าย-ขวาของคนทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน สมองซีกซ้ายทำหน้าที่เน้นเรื่องเหตุผล ถ้อยคำ จำนวน คณิตศาสตร์ และการเรียงลำดับ ส่วนสมองซีกขวาทำหน้าที่เน้นเรื่องจินตนาการ รูปภาพ ดนตรี จังหวะ บทกวีหรือเสียงสัมผัส การคิดอะไรแผลงๆ ไปจากความคิดเดิมๆ ต้องใช้สมองซีกขวาครับ 

การ"ระบาด" อย่างรุนแรงของ โรคอ้วน เป็นปัญหาในระดับคุกคามความอยู่รอดทางอารยธรรมสมัยใหม่ ของมนุษย์ เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน 
๑. มนุษย์ฉลาดเกินไป แต่ก็อ่อนแอเกินไป 
๒. สัญชาตญาณของมนุษย์ทำให้มนุษย์เห็นกงจักรเป็นดอกบัว
๓. ความสำเร็จในการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทำให้"ลีลาชีวิต" เปลี่ยน ทำให้เส้นทางชีวิตมนุษย์เดินไปจ๊ะเอ๋กับโรคอ้วน 
๔. ร่างกายมนุษย์สร้างมาสำหรับให้ต้องออกกำลังเพื่อการดำรงชีวิตหรือความอยู่รอดเมื่อความอยู่รอดไม่เรียกร้องการออกกำลังมนุษย์ย่อมเกิดอาการ"มันจุกอกตาย"  ๕. ความเปลี่ยนแปลงในวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แต่ร่างกายของมนุษย์เปลี่ยนแปลงช้ามากช้ากว่าการเปลี่ยนวิถีชีวิตเป็นล้านล้านเท่า ร่างกายมนุษย์จึงเกิดอาการ "ปรับตัวไม่ได้" กับสภาพแวดล้อมหรือการเป็นอยู่ เมื่อเข้ากันไม่ได้อย่างรุนแรง ก็ต้องตายไปข้างหนึ่ง มนุษย์จึงเป็นฝ่ายตาย ตายเพราะความเก่งของตนเองในการเปลี่ยนแปลงสภาพ แวดล้อมและวิถีชีวิต 
๖. ร่างกายของมนุษย์ไม่ได้มีไว้สำหรับคนโลภ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจในเรื่องการกินอยู่และเสพสุข 

ว่ากันเบาะๆ ๖ ข้อก่อน ถ้าอนุญาตให้เรียงข้อต่อไปเรื่อยๆ อาจเกินสิบ และท่านผู้อ่านอย่าเอาตำราว่าด้วยโรคอ้วนมาเทียบนะครับ มันจะไม่เหมือนกัน เพราะในตำราเขาเขียนโดยใช้สมองซีกซ้ายทำหน้าที่เด่นครับ ส่วนฉบับของ ว. ณ สกว. เป็นฉบับซีกขวาเด่น 

ประดิษฐ์กรรมธรรมชาติในโลกนี้ไม่มีสิ่งใดฉลาดและซับซ้อนเท่ามนุษย์ ความฉลาดทำให้มนุษย์เรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่สร้างความสุขความพึงพอใจและความสะดวกสบายให้แก่มนุษย์ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและเกือบจะไม่มีข้อจำกัด อยากมีความสุขจากการกิน (รสหวาน มัน) ก็ได้กิน อยากอยู่สบายๆ ทำงานสบายโดยไม่ต้องออกแรงก็ได้สิ่งที่ล่อใจมนุษย์มักจะเป็นตัวการทำให้เกิดโรคอ้วนทั้งสิ้น และทั้งๆที่รู้ว่าสิ่งเหล่านั้น วิถีชีวิตแบบนั้นทำให้อ้วนและร่างกายอ่อนแอ แต่จิตใจของมนุษย์ก็มักอ่อนแอเกินไปที่จะเอาชนะความต้องการขอตนได้ ความอ่อนแอที่กล่าวถึงนี้เป็น ความอ่อนแอทางใจนะครับ

ท่านผู้อ่านเคยคิดไหมครับ ว่า"ยาเสพติด" ที่แพร่หลายและเสพติดรุนแรงที่สุดของมนุษย์คืออะไรคือความหวานครับ มนุษย์เราถูกสร้างมาให้ติดความหวาน เราติดความหวานถึงขนาดกำหนดถ้อยคำที่แสดง ความพึงพอใจจากสัมผัสอื่นๆเป็นความหวานด้วย เช่น หวานใจ ตาหวาน คืนวันอันหวานชื่น หน้าหวานเสียงหวาน หอมหวาน 
เราเสพติดความหวานเพราะธรรมชาติกำหนดมา มนุษย์เกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณที่จะต้องเสพติดความหวานในลักษณะที่โปรแกรมอยู่ในสมอง ทำให้เรามีความสุขความพอใจที่จะได้ลิ้มรสหวานซึ่งสารหวานที่เราใช้กันมากที่สุดในขณะนี้คือน้ำตาล ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคอ้วน เข้าทำนองมนุษย์เห็นกงจักรเป็นดอกบัวสิ่งที่มนุษย์เสพติดโดยสัญชาตญาณอีกอย่างหนึ่งคือ"ความมัน" ครับ รสมันเป็นรสที่มนุษย์เราติดพอๆ กับรสหวาน เราจึงมีคำคู่ว่า"หวานมัน" รสมันก็เป็นสาเหตุของโรคอ้วนพอๆกับรสหวานนั่นเอง 

ความฉลาดทำให้มนุษย์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อความสะดวกสบายของตนเอง เครื่องอำนวยความสะดวกสบายเหล่านี้ทำให้ลีลาชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นนั่งๆ นอนๆ ดูทีวี ขึ้นลิฟต์ลงลิฟต์ นั่งโต๊ะหรือ  นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์เกือบทั้งวัน อัตราการใช้พลังงานน้อย โรคอ้วนจึงถามหา 

เวลานี้กล่าวได้ว่า มนุษย์เกือบทั้งโลกมีเส้นทางชีวิตแนวเดียวกัน คือเส้นทางที่เดินไปสู่โรคอ้วน เพราะว่าธรรมชาติได้สร้างร่างกายมนุษย์ไว้สำหรับการดำรงชีวิตแบบต้องหนีภัยจาก "ผู้ล่า" และต้องออกกำลังในการหาอาหาร และปัจจัยอื่นๆ เพื่อ การดำรงชีวิต 

แต่เวลานี้ความอยู่รอดของมนุษย์ ไม่เรียกร้องการออกกำลังกายของมนุษย์เองมีเครื่องจักร (อันเป็นประดิษฐกรรมจากสมองมนุษย์) มาทำหน้าที่แทนวิถีชีวิตของมนุษย์ปัจจุบันจึงไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของร่างกายจึงทำให้คนจำนวนมากเป็นโรคอ้วน มันจุกอกตาย 

ที่จริงร่างกายมนุษย์ก็ยังคงมีการปรับตัว มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่วิวัฒนาการและการปรับตัวเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในขณะที่วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โรคอ้วนจึงอาจมองได้ว่าเป็นผลจากการที่ร่างกายมนุษย์กับสภาพสิ่งแวด-ล้อมเข้ากันไม่ได้ก็จะต้องตายกันไปข้างหนึ่ง ที่จริงในหลายเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นฝ่ายตาย (เช่นเรื่อง ลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง โลกร้อน ) แต่ในเรื่องโรคอ้วน มนุษย์เป็นฝ่ายตาย

มองอีกมุมหนึ่ง โรคอ้วนเป็นโรคของคนไม่รู้จักพอ คือไม่รู้จักกินให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ปล่อยให้ปากกินตามความอยาก ความอร่อยเป็นผลของวัฒนธรรมกามสุขาลิกานุโยค ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ ถ้ามองแบบนี้โรคอ้วนก็ระบาดโดยมีวัฒนธรรมบริโภคเกินพอดีเป็นพาหะ

วางแผนต่อสู้โรคอ้วนด้วยการวิจัย
เป็นครั้งแรกที่มีการประชุมวางแผนตั้งโจทย์วิจัยต่อสู้โรคอ้วนในเด็กในประเทศไทย เมื่อวันที่ ๒๒กุมภาพันธ์ ๒๕๔๕ นับเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของวงการโรคอ้วน  คำถามแรก ซึ่งฟังดูเหมือนเรื่องหมูๆแต่เอาเข้าจริงๆกลายเป็นเรื่องหมูป่าเขี้ยวตัน ก็คือ"รู้ได้อย่างไรว่าเด็กเป็นโรคอ้วน" ภาษาวิชาการก็คือ"เกณฑ์ในการนิจฉัยโรคอ้วนในเด็ก"

ที่จริงก็เป็นที่รู้กันทั่วไปนะครับว่า วิธีวัดคนอ้วนหรือไม่อ้วนแบบง่ายๆ มี ๓ วิธี คือ 

วิธีแรก ชั่งน้ำหนักกับวัดส่วนสูงเอามาเทียบกัน เทียบกับมาตรฐานของเด็กไทย 

วิธีที่สอง คำนวณ "ดัชนีมวลกาย" จากน้ำหนักและส่วนสูง โดยเอาความสูงเป็นเมตรมายกกำลังสอง แล้วเอาไปหารค่าน้ำหนักเป็นกิโลกรัม 
                                                 คือ    น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม 
                                                             (ส่วนสูงเป็นเมตร)๒ 

ตามตำราบอกว่า ถ้าค่าดัชนีมวลกายหรือ BMI ซึ่งย่อมาจากคำว่า body mass index เกิน ๒๕ สำหรับคนเอเชียหรือเกิน ๓๐ สำหรับคนต่างชาติ ถือว่าเป็นโรคอ้วน 
แต่อาจารย์หมอสุรัตน์ โคมินทร์ แห่งคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่าในคนไทย ควรใช้ตัวเลข ๒๗ ถ้าบีเอ็มไอเกิน ๒๗ ถือว่าเป็นโรคอ้วน เห็นไหมครับ ความเห็นไม่ตรงกันก็ต้องเรียกหาหลักฐานยืนยันหลักฐานไม่มี หรือมีแต่ยังไม่แน่ชัดก็ต้องทำวิจัยได้โจทย์วิจัยข้อหนึ่งละครับ ว่าค่าบีเอ็มไอในเด็กไทยสูงเท่าไรขึ้นไปจึงจะถือว่าเป็นโรคอ้วน

วิธีที่ ๓ คือ การวัดความหนาของไขมันใต้ผิวหนัง

 วิธีวัดความอ้วน ๓ วิธี ข้างบนเป็นวิธีง่ายๆ นะครับ ถ้าจะเอาวิธีที่ใช้เครื่องมือละเอียดพิสดารยังมีอีกมากมายหลายวิธี เช่น วิธีหาสัดส่วนของไขมันในร่างกาย ไม่ว่าวิธีไหนเรายังไม่มีค่ามาตรฐานในคนไทยทั้งสิ้น นี่ก็น่าจะเป็นอีกหนึ่งโจทย์วิจัย

โจทย์วิจัยที่ฮิตที่สุดก็คือ ทำอย่างไรสังคมไทยจะต่อสู้กับโรคอ้วน ในเด็กได้ ภาษาวิชาการเราเรียกว่า วิธีควบคุมและป้องกันโรคอ้วนในเด็ก 

ผู้เขียนเสนอว่า ต้องจับที่ข้อตกลงว่าปัญหาความอ้วนเป็นโรควงการสาธารณสุข วงการแพทย์ต้องตกลงกันให้ได้ว่า เป็นโรคไม่ใช่ความเบี่ยงเบนจากปกติในเรื่องน้ำหนักเล็กๆ น้อยๆ เมื่อเป็นโรค แพทย์ต้องวินิจฉัยโรคและต้อง"รักษา" หรือบำบัดโรค ถ้าแพทย์ละเลยในการวินิจฉัยโรคอ้วน และไม่ดำเนินการบำบัดโรคอ้วนก็ต้องถือว่าให้บริการวิชาชีพไม่ครบถ้วน หรือละเลยถ้ามีการฟ้องร้องอาจมีความผิดได้ ถ้าตกลงกันได้จริง การต่อสู้กับโรคอ้วนในเด็กไทยก็จะเข้มข้นเอาจริง เอาจังขึ้นมาทันที
นักวิชาการบอกว่าข้อเสนอของผู้เขียนเป็น"มาตรการเชิงโยบาย" และน่าจะเป็นประเด็นวิจัยได้อีกประเด็นหนึ่ง เพราะข้อเสนอนี้ ถ้านำไปปฏิบัติกันจริงๆ ก็จะมีปัญหา เกิดขึ้นได้หลายด้าน ต้องหาทางอุดช่องโหว่ไว้ก่อน

การต่อสู้กับการระบาดของโรคอ้วนนี่ต่างกันโดยสิ้นเชิงกับการต่อสู้กับโรคระบาดที่เราเคยชิน เช่นโรคฝีดาษ อหิวาตกโรค มาลาเรีย ไข้เลือดออก ซึ่งเราใช้วิธี"ฆ่า" เชื้อโรค หรือกำจัดพาหะนำโรค หรือฉีดวัคซีนป้องกันโรค  
แต่โรคอ้วนนี่"เชื้อ" มันอยู่ภายในตัวเราเอง หรือเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราฆ่าไม่ได้ กำจัดไม่ได้และไม่มีวัคซีนให้ฉีด เราสร้างภูมิคุ้มกันต่อโรคอ้วนได้ แต่ไม่ใช่โดยการฉีดวัคซีน

 "วัคซีน" ป้องกันโรคอ้วน ก็คือ "ใจ" หรือ"นิสัย" ครับ คนสำคัญที่สุดในการสร้างวัคซีนป้องกันโรคอ้วนให้เด็ก คือ พ่อแม่ พี่เลี้ยง และ ครู

 ต้องสร้างนิสัยกินเป็นเวลา ไม่กินจุบจิบ ไม่กินอาหารมันจำพวก "แดกด่วน"ซึ่งระบาดเข้ามาในประ เทศไทย และสร้างนิสัยชอบออกกำลัง พักผ่อนหย่อนใจด้วยการเล่นกีฬา ทำกิจกรรม ไม่ใช่นั่งๆ นอนๆ ดูทีวี หรือเล่นเกมคอมพิวเตอร์ ดง่ายนะครับ แต่ทำยากจะให้ได้ผลจริงระดับประเทศจะต้องมีการวิจัยเพื่อสร้างนิสัยและพฤติกรรมที่เหมาะสม การวิจัยแบบนี้เป็นการวิจัยเชิงสังคม เพื่อสร้างรูปแบบพฤติกรรมที่เป็น"วัคซีน" ป้อง กันโรคอ้วน นี่ก็เป็นโจทย์วิจัยชิ้นใหญ่มโหฬารเลยนะครับ

เวลานี้แนวโน้มหรือการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ในสังคม เป็นไปในทางส่งเสริมโรคอ้วนทั้งสิ้น ส่งเสริมความสะดวกสบาย ทำให้คนไม่ค่อยเดินไม่ค่อยเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายในชีวิตประจำวัน ท่านเชื่อไหมครับ อาคาร เอส เอ็ม ที่ สกว. อยู่ไม่มีบันไดให้เดินจากชั้นหนึ่งไปอีกชั้นหนึ่ง ห้องทำงานผู้เขียนอยู่ชั้น๑๕ เวลาจะลงไปที่สำนักงานใหญ่ของ สกว. ที่ชั้น ๑๔  ต้องใช้ลิฟต์ครับ ไม่มีบันได บันไดที่มีอยู่ล็อกกุญแจ เอาไว้ใช้หนีไฟอย่างเดียว

เห็นไหมครับ การออกแบบอาคารก็มีส่วนทำให้โรคอ้วนระบาด เพราะฉะนั้น สถาปนิกก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโรคอ้วนด้วย
การโฆษณาก็ด้วย พวกขนมถุงกรอบแกรบ ของกินเล่นทั้งหลายนี่ก็ตัวการทำให้เกิดโรคอ้วน
ชุมชนที่ไม่มีสนามเด็กเล่น  สนามกีฬา เด็กก็หันมาพักผ่อนโดยการดูทีวี หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ จนติด ทีวีก็ชอบเพราะเรตติ้งขึ้น แต่เด็กเป็นโรคอ้วน

เพราะฉะนั้นโจทย์วิจัยต่อสู้โรคอ้วนจะกว้างขวางมากเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องของสังคมจึงต้องคิดโจทย์วิจัยให้แยบคาย ถ้าตั้งโจทย์มั่วๆ จะมีโครงการเป็นร้อยเป็นพัน ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง เสียเงินค่าวิจัยแล้วได้ผลไม่คุ้มค่า นอกจากจะเป็นการสูญเสียเงินทองของแผ่นดินแล้วยังทำให้นักวิจัยและวงการวิจัยเสียชื่ออีกด้วย
ก็คงต้องจบเรื่องเด็กอ้วนที่เล่ามาทั้งหมด ไม่ได้หวังจะให้ได้สาระครบถ้วนเป็นวิชาการ แต่ก็หวังว่าท่านผู้อ่านที่มีบุตรหลาน หรือเกี่ยวข้องกับเด็ก พอจะได้แนวทางนำไปคิดปฏิบัติป้องกันเด็กของท่านไม่ให้เป็นโรคอ้วนนะครับ

โรคอ้วนในเด็กนี่ ไม่ใช่ก่อผลเสียต่อสุขภาพตอนเป็นเด็กเท่านั้นนะครับ แต่จะมีผลระยะยาวตอนอายุมาก จะมีความไม่แข็งแรงของร่างกายในรายละเอียดมากมาย เรื่องสุขภาพของคนนี่ มันมีผลต่อ เนื่องกันไปเรื่อยๆ ตลอดชีวิตครับ

ข้อมูลสื่อ

277-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 277
พฤษภาคม 2545
สกว