• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุ

ปัญหาการใช้ยาในผู้สูงอายุ


ถาม "เมื่อเราสูงวัยขึ้น ร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอย" ปัญหาเรื่องยาที่พบบ่อยในผู้สูงอายุมีอะไรบ้างค่ะ
เมื่ออายุมากขึ้น การทำงานของร่างกายก็เริ่มเสื่อมถอยไปตามวัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสายตา การมองเห็น เรื่องเหงือกและฟัน เรื่องการเคลื่อนไหว การลุกนั่งเดินยืน หรือการจับถือสิ่งของ รวมถึงเรื่องตับ ไต หรืออวัยวะต่างๆ ก็เริ่มเสื่อมถอยแล้วเช่นกัน เมื่อร่างกายเริ่มเสื่อม โรคก็เริ่มถามหา ดังนั้น ผู้สูงอายุส่วนใหญ่จะเป็นโรคเรื้อรังมากขึ้นๆ จากโรคเดียว ต่อมาก็เพิ่มขึ้นทีละโรคจนเป็นหลายๆ โรคพร้อมกัน ที่พบได้บ่อย ได้แก่ ความดันเลือดสูง ความจำเสื่อม นอนไม่หลับ กังวล โรคซึมเศร้า โรคเบาหวาน โรคกระดูกเสื่อม เป็นต้น ทำให้ต้องมีการใช้ยาหลายชนิด เพื่อควบคุมรักษาโรค และควรพิจารณาปรับการดำเนินชีวิตประจำอย่างไรให้อยู่กับโรคอย่างมีความสุข การที่ผู้ป่วยต้องใช้ยาหลายขนานพร้อมกัน อาจทำให้เกิดผลเสียจากการใช้ยาได้ และผลเสียที่พบได้บ่อยๆ มี   ๓ ชนิด ดังนี้

๑. อาการอันไม่พึงประสงค์ หรือผลเสียที่เกิดจากการใช้ยา

๒. ยาตีกัน (drug interaction)

๓. ความร่วมมือในการใช้ยา หรือการใช้ยาตามแพทย์สั่ง

๑. อาการอันไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ยา
ในผู้สูงอายุมักจะต้องได้รับยาหลายชนิดเพื่อรักษาโรค เมื่อมีการใช้ยาหลายชนิด โอกาสที่จะเกิดอาการอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาก็มีมากขึ้นตามจำนวนชนิดของยาที่ใช้ ยกตัวอย่างเช่น ในผู้สูงอายุที่เป็นโรคความดันเลือดสูง และใช้ยาลดความดันเลือดสูง ยากลุ่มนี้อาจทำให้เกิดอาการมึนงง วิงเวียนศีรษะ เมื่อมีการเปลี่ยนท่าจากท่านั่งหรือนอนมาเป็นท่ายืนหรือเดิน ที่เรียกว่า postural hypotension ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการปรับความดันเลือดของร่างกายจะช้าลง เมื่ออายุมากขึ้น ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่ทัน มีอาการหน้ามืด เวียนศีรษะ บางคนเป็นลม หกล้ม และเกิดอันตรายได้

ในทางปฏิบัติจึงแนะนำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ระมัดระวังในการเปลี่ยนท่าทางอย่างรวดเร็ว ในกรณีที่มีการนั่งหรือนอนมานานๆ จะต้องค่อยๆ เปลี่ยนท่าจากท่านอนมาเป็นท่านั่งสักระยะหนึ่ง พร้อมทั้งยืดแข้งยืดขา แล้วค่อยๆ ลุกขึ้นยืน โดยในขณะที่ลุกขึ้นควรใช้มือช่วยยึดเกาะกับเตียง โต๊ะ หรือเก้าอี้ และเมื่อลุกขึ้นยืนสักพัก จนแน่ใจว่าไม่มีอาการเวียนศีรษะแล้ว จึงค่อยก้าวเดินออกไป

๒. ยาตีกัน (drug interaction)
เรื่องนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุเมื่อมีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน ขอกล่าวถึงผู้ป่วยคนเดิมที่เป็นโรคความดันเลือดสูง ถ้าเกิดเป็นไข้หวัดขึ้น และไปซื้อยาแก้หวัดชนิดแผงมาใช้ด้วยตนเอง เมื่อใช้ยานี้ไปอาจทำให้เกิดการตีกันของยาลดความดันเลือดสูงกับยาแก้หวัดได้ ทั้งนี้เพราะยาแก้หวัดนอกจากออกฤทธิ์ลดน้ำมูกแก้คัดจมูก แก้จามแล้ว ยังส่งผลข้างเคียงไปกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นพร้อมกับความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ก่อให้เกิดการต้านฤทธิ์ของยาลดความดันเลือด ความดันเลือดก็จะสูงขึ้น นอกจากนี้ยาแก้หวัดชนิดแผงอาจทำให้รู้สึกง่วงนอนหรือเหนื่อย และใจสั่นในผู้สูงอายุบางคนได้ ดังนั้น ในผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว เมื่อต้องการใช้ยาเพิ่มเติม ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ทั้งนี้เพื่อให้ได้ผลดีต่อการรักษาควบคู่กับความปลอดภัยในการใช้ยา

๓. ความร่วมมือในการใช้ยา หรือการใช้ยาตามแพทย์สั่ง
เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นหลายโรคและมีการใช้ยาหลายชนิด และเป็นยาที่ต้องใช้ติดต่อกันนานๆ เมื่อใช้ไปสักระยะหนึ่งก็จะเริ่มรู้สึกเบื่อ หรือเมื่อเกิดผลข้างเคียงก็มักจะหยุดยาเอง หรือในบางคนเมื่อไม่มีอาการก็จะหยุดใช้ยา และจะใช้ยาเมื่อมีอาการเท่านั้น เพราะเข้าใจว่าไม่มีอาการหรือไม่เป็นโรคแล้วก็ไม่ต้องใช้ยา หรือในบางรายอาจปรับยาตามกิจวัตรประจำวันของตนเอง เช่น ผู้ป่วยที่ไม่ได้กินอาหารเช้าประจำ บางวันที่ไม่ได้อาหารเช้า จึงไม่กินยาหลังอาหารเช้า และอาจปรับยาด้วยตนเองมาเป็นหลังอาหารเที่ยง ทำให้ช่วงระยะเวลาที่ได้รับยาเปลี่ยนแปลงไปอาจส่งผลให้ระดับยาในเลือดผิดปกติและเป็นอันตรายได้ เป็นต้น

ในเรื่องความร่วมมือในการใช้ยา ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันทั้งผู้ใช้ยาและผู้สั่งจ่ายยา ที่จะต้องร่วมกันทำความเข้าใจกับโรคและยาที่ใช้ว่า ยาชนิดใดใช้สำหรับโรคใด และใช้อย่างไร ก่อนหรือหลังอาหาร และเมื่ออาการดีขึ้นแล้ว จะต้องใช้ยาติดต่อกันหรือควรหยุดยา เป็นต้น ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเรื่องยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ยาและโรค เพื่อให้ผู้สูงอายุได้ใช้ยาอย่างเหมาะสมเท่าที่จำเป็นตามคำสั่งของแพทย์ เพื่อให้เกิดผลการรักษาที่ดีที่สุด

ข้อมูลสื่อ

297-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด