• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งาน...เหลียวมองสักนิด พิชิตปัญหาปวด

งาน...เหลียวมองสักนิด พิชิตปัญหาปวด


งานกับโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ

งานคือสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราต้องทำงาน ต้องอยู่กับงาน ใช้เวลาส่วนใหญ่ของเรากับงาน ไม่เฉพาะงานที่ทำงานเท่านั้น ยังมีงานพิเศษหรือที่ใช้คำว่ารับ job หรือแม้กระทั่งงานบ้าน งานต่างๆ ที่กล่าวมานี้ถ้าไม่เหมาะสมกับผู้ทำ ก็จะเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ อาทิ โรคปวดคอ ปวดหลัง ปวดเข่าได้ ปัญหานี้แม้แต่องค์การอนามัยโรคเอง ยังได้บัญญัติคำว่า Work-related musculoskeletal disordes ซึ่งหมายถึง โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานนั้นเอง

อาการและการพัฒนาของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานสามารถแบ่งตามการเกิดได้เป็น ๒ กลุ่ม คือ

๑. กลุ่มที่เกิดทันทีทันใด เฉียบพลัน อาการไม่มาก(เช่น กล้ามเนื้อเกร็ง อักเสบ เอ็นฉีก) และที่มีความรุนแรง (เช่น กระดูกหัก หมอนรองกระดูกสันหลังทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังเคลื่อน) สาเหตุของกลุ่มนี้ มักเกิดจากอุบัติเหตุขณะยกของ เคลื่อนย้ายของผิดวิธี อาการมักจะเกิดทันทีหรือหลังจากเกิดเหตุ ๑-๒ วัน

๒. กลุ่มที่ค่อยๆ เกิด ไม่มีสาเหตุแน่ชัด อาจเกิดขึ้นเมื่อทำงานนั้นอย่างต่อเนื่องไปแล้วนานเป็นเดือน เป็นปี หรือหลายๆปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของงานและความแข็งแรงของแต่ละคน

ในที่นี้จะกล่าวถึงกลุ่มที่ ๒ เพราะเป็นกลุ่มที่มักจะถูกละเลย เนื่องจากไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนในกลุ่มนี้ สามารถแบ่งอาการได้เป็น ๓ ระยะ คือ

ระยะที่ ๑ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อย ล้า ช่วงเวลาที่ทำงาน อาการจะหายไปเมื่อเลิกงาน หรือได้นอนพักข้ามคืน
ตัวอย่างในกลุ่มนี้ พบได้ทั่วไป แต่ผู้ป่วยมักจะไม่มาพบแพทย์ หรือ นักกายภาพบำบัด เพราะอาการต่างๆมักหายเองได้ แต่ผู้ป่วยมักชอบการถูกบีบนวด หรือใช้ความร้อนหรือความเย็นประคบ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีพัฒนาการไปสู่ระยะที่ ๒ ได้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือการจัดการที่ถูกต้อง

ระยะที่ ๒ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อย ล้ามากขึ้นช่วงเวลาที่ทำงาน และอาการจะไม่หายไปเมื่อเลิกงาน หรือแม้นอนพักข้ามคืน ถ้าตรวจอาจพบความผิดปกติบางอย่าง เช่น กล้ามเนื้อเกร็งแข็งเป็นลำ มีจุดกดเจ็บหรือถ้าเกี่ยวข้องกับระบบประสาทก็อาจจะมีอาการชา หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ มักเริ่มแสวงหาการรักษา เช่น ไปหาหมอนวด หรือแพทย์แผนปัจจุบัน ในช่วงนี้อาการของโรคสามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องควบคู่กับการจัดการเรื่องการทำงาน

ระยะที่ ๓ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเมื่อย ล้า อ่อนแรง ช่วงเวลาที่ทำงานและอาการไม่หายแม้ได้พักข้ามคืน อาการอาจส่งผลความรุนแรง ทำให้มีความลำบากในการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งสามารถตรวจพบความผิดปกติ เช่น กล้ามเนื้อเกร็งแข็งหรือฝ่อลีบ อาจมีอาการชา หรืออ่อนแรงร่วม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเสาะแสวงหาการรักษา เพราะอาการที่เกิดขึ้นทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงหรือแม้กระทั่งมีความยากลำบากในชีวิตประจำวัน ตัวอย่างผู้ป่วยในระยะที่ ๓ บางคนบอกว่า กินข้าวไม่อิ่ม ที่เขากินข้าวไม่อิ่มไม่ใช่เพราะไม่มีข้าวกิน แต่เป็นเพราะเมื่อยกช้อนเข้าปากหลายๆครั้ง ทำให้เกิดอาการเจ็บจนทนยกช้อนตักข้าวต่อไม่ได้ หรืบางคนบอกว่า ยืนโหนรถประจำทางได้แค่แป๊บเดียว ไม่ใช่เพราะมีคนใจดีลุกให้นั่ง แต่เป็นเพราะเจ็บจนต้องเอามือลง หรือต้องเปลี่ยนแขน

การเกิดของโรคกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน

มีการกล่าวว่า fitting the task to the man นั่นคือ การจัดงานให้เข้ากับผู้ทำ แต่ทุกวันนี้เราพยายามที่จะทำให้คนทำชินกับงาน ดังนั้นจึงเป็นเหตุให้คนหลายคนมี อาการเจ็บปวดเกิดขึ้น เนื่องจากความไม่เหมาะสมระหว่างตัวของเขากับงานที่ทำอยู่ ความเหมาะสมระหว่างงานกับคนมีหลายจุดขึ้นอยู่กับปัจจัยของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับงาน เช่น ความเหมาะสมของสายตากับระยะห่างของเอกสารที่อ่าน ขนาด สี และการเรียงของตัวหนังสือ ปริมาณและคุณภาพของแสงไฟที่ใช้อ่าน โต๊ะ เก้าอี้ และสภาพแวดล้อมอื่นๆ เช่น อุณหภูมิ ความชื้น เสียง ความสั่นสะเทือน นอกจากนี้ถ้าพิจารณาถึงระบบงาน ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีก เช่น การพักดื่มน้ำชาหรือกาแฟ พักเที่ยง การเพลงฟังขณะทำงาน

จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายอย่างที่เราอาจมองข้ามไป ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเมื่อเราต้องทำงานนั้นซ้ำๆเป็นเวลานาน ทำให้กล้ามเนื้อ เอ็น และกระดูก หรืออวัยวะอื่นๆที่เกี่ยวข้องทำงานหนักโดยไม่ได้พัก ทำให้มีการสะสมของของเสีย หรือมีการบาดเจ็บเล็กๆน้อยๆเกิดขึ้น แล้วไม่ได้รับการรักษาหรือร่างกายไม่มีเวลาปรับตัว ไม่มีช่วงเวลาพักที่พอเหมาะให้ร่างกายได้รักษาตัวเอง ทำให้มีการสะสมจนทำให้เกิดอาการมากขึ้นเรื่อยๆ

การแก้ไข เป็นเรื่องที่ยากพอควรที่จะปรับสภาพแวดล้อมทุกอย่างให้เหมาะสมกับผู้ใช้ อย่างน้อยที่สุดถ้าเรารู้ตัวว่า เริ่มมีอาการของโรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะในระยะที่ ๑ ซึ่งเป้นตัวบ่งบอกถึงปัญหาเรื่องของความไม่เหมาะสมระหว่างตัวของคนกับงาน เมื่อทราบแล้วก็ต้องปรับปรุง แก้ไข การทำงานนั้นๆให้เหมาะสม ถ้าหากพบว่ามีอาการอยู่ในขั้นที่ ๒ หรือ ๓ ก็ต้องแสวงหาการรักษาทั้งพบแพทย์หรือนักกายภาพบำบัด พร้อมทั้งทำการปรับเปลี่ยน ปรับปรุง งานให้เหมาะสมเพื่อกันไม่ให้อาการรุนแรงหรือเกิดซ้ำได้อีก ซึ่งทางคอลัมน์นี้จะได้ให้ข้อมูลต่อๆไป เพื่อให้ท่านสามารถนำไปใช้และปฏิบัติต่อไป

ข้อมูลสื่อ

297-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา