• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รสสุคนธ์ : บริสุทธิ์ หอมหวานปานสุคนธรส

รสสุคนธ์ : บริสุทธิ์ หอมหวานปานสุคนธรส


"ขนมจีนแม่วัณฬา          คู่กับน้ำยาพระอภัย
ถั่วงอกเสาวคนธ์           คู่กับพริกป่นหัสไชย..."


บทกลอนที่ยกมาข้างบนนี้ เป็นบทเปรียบเทียบสิ่งที่คู่กันของคนไทยภาคกลาง ทำนองเดียวกันกับสำนวน  "นกคู่ฟ้า ปลาคู่น้ำ" เพียงแต่ทำให้ละเอียดประณีตและซับซ้อนยิ่งขึ้นโดยนำเอาของคู่กัน ๒ ชุดมาผนวกเข้าด้วยกันอย่างมีศิลปะ และคนฟังต้องมีพื้นความรู้จากฐานทั้งสองที่นำมาประกอบกันด้วย ของคู่กันชุดแรกหรือฐานแรกมาจากความรู้ด้านอาหารของคนไทย นั่นคือ ขนมจีน ซึ่งกินร่วมกับน้ำยา และมีเครื่องเคียง คือ ถั่วงอกกับพริกป่น อันเป็นอาหารไทยยอดนิยมตำรับหนึ่งของชาวไทยมาช้านาน ของคู่กันอีกชุดหนึ่ง คือ ความรู้ที่มาจากวรรณคดีไทยยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เรื่องพระอภัยมณีของพระสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) คือ พระอภัย(มณี) คู่กับนาง (ละเวง) วัณฬา และพระหัสไชยคู่กับนางเสาวคนธ์ แม้ในวรรณคดี เสาวคนธ์จะแต่งงานกับสุดสาครก็ตาม แต่โดยความเหมาะสมของคำกลอน จึงใช้หัสไชยแทนสุดสาคร

คำกลอนที่ยกมาข้างต้นนี้ ไม่ทราบว่าผู้ใดแต่งเอาไว้ตั้งแต่เมื่อไหร่ จำได้ว่ามีเพลงลูกทุ่งนำมาใช้ขึ้นต้นเนื้อเพลง และได้รับความนิยมพอสมควรเมื่อหลายปีมาแล้ว ที่ผู้เขียนยกบทกลอนนี้มากล่าวถึงก็เพราะเช้าวันหนึ่งต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนนั่งอยู่บนระเบียงบ้านไทยของมูลนิธิฯ ลมเย็นที่พัดมาจากทิศเหนือ พากลิ่นหอมของดอกไม้จากซุ้มไม้เถาขนาดใหญ่ที่มีไม้เถานับสิบชนิดขึ้นปกคลุมอยู่หนาทึบ และมีหลายชนิดที่กำลังออกดอกอยู่ในขณะนั้น เมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จึงพบว่ากลิ่นหอมนั้น ส่วนใหญ่มาจากดอกไม้ที่เป็นช่อดก สีขาวบานสะพรั่งเป็นพิเศษมากกว่าในฤดูอื่น และต่างจากดอกไม้ชนิดอื่นๆ ที่ขึ้นอยู่ด้วยกัน ซึ่งมักออกดอกมากในฤดูฝนหรือในฤดูร้อน บางชนิดที่ออกดอกมากในฤดูหนาวก็มักไม่มีกลิ่นหอม

ดอกไม้จำพวกเถาเลื้อยที่ชอบออกดอกมากและส่งกลิ่นหอมในฤดูหนาวที่ผู้เขียนพบในวันนั้น ก็คือ รสสุคนธ์ขาว ช่อดอกสีขาวบริสุทธิ์กำลังบานสะพรั่งอยู่มากมายหลายช่อ ท่ามกลางดอกพวงครามสีม่วง และพวงชมพูสีชมพู สดตัดกับสีเขียวชอุ่มของใบ มองดูโดดเด่นเช่นเดียวกับกลิ่นหอมแรง การที่ผู้เขียนนำรสสุคนธ์ขาวมาเกี่ยวข้องกับบทกลอนข้างต้น ก็เพราะคนไทยภาคกลางเรียกรสสุคนธ์ขาวว่ารสสุคนธ์บ้าง และบางทีก็เรียกว่าเสาวคนธ์ อันเป็นชื่อตัวละครในเรื่องพระอภัยมณีนั่นเอง

รสสุคนธ์ : ความหอมและคุณค่าจากป่าไทย
รสสุคนธ์มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tetracera loureiri Pierre อยู่ในวงศ์ Dilleniaceae เป็นไม้เถายืนต้น เนื้อแข็ง เลื้อยพาดพันต้นไม้หรือนั่งร้านต่างๆ ได้ดี กิ่งเหนียว เปลือกหุ้มเถา (ลำต้น) มีสีเขียวเมื่อยังอ่อน เมื่อแก่เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเทา เปลือกบางเรียบ กิ่งอ่อนมีขุยสีน้ำตาลแก่ปกคลุม ใบเดี่ยว ออกสลับกัน ตัวใบรูปรี ใบหนาสาก ขอบมีจัก ใบค่อนข้างแน่นทึบสีเขียวเข้ม เส้นใบชัด รูปทรงคล้ายลิ้นวัว ขนาดกว้างราว ๔-๗ เซนติเมตร ยาว ๗-๑๖ เซนติเมตร ปลายใบโต โคนใบเรียว ดอกออกเป็นช่อตามซอกใบ และปลายกิ่ง ประกอบด้วยดอกย่อยสีขาว มีกลีบเลี้ยง ๕ กลีบ เป็นรูปโค้ง กลีบดอกบาง ๕ กลีบ ร่วงง่าย เกสรตัวผู้สีขาวคล้ายเส้นด้ายกระจายออกเป็นพุ่มกลม คล้ายดอกกระถิน เส้นผ่าศูนย์กลางของดอกบานราว ๐.๘ เซนติเมตร กลิ่นหอมแรงในเวลาเช้าถึงเย็น ผลสุกสีแดง รูปร่างกลมมีขนาดเล็ก มีเมล็ดอยู่ภายใน ๑-๒ เมล็ด

รสสุคนธ์เป็นพืชพื้นบ้านดั้งเดิมของไทย พบขึ้นอยู่ในป่าตามธรรมชาติ ทั้งในป่าละเมาะ ป่าผลัดใบ ป่าชื้นในภาคใต้ และตามชายฝั่งทะเล รสสุคนธ์ขึ้นได้ดีทั้งในที่ร่ม แสงรำไร และที่โล่งแจ้ง สามารถออกดอกได้ปีละหลายครั้ง หากสภาพแวดล้อมเหมาะสม ทนความแห้งแล้งได้ ออกดอกมากเป็นพิเศษในฤดูหนาว (ธันวาคม-กุมภาพันธ์) รสสุคนธ์มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น รสสุคนธ์ขาว มะตาดเครือ เสาวรส เสาวคนธ์ (กรุงเทพฯ) ลิ้นแรด (อุบลราชธานี)) ย่านป๊อด ป๊ด กะป๊ด (ภาคใต้) ปดคาย ปดเลื่อม (สุราษฎร์ธานี) เถากะปดใบเลื่อม (ประจวบคีรีขันธ์) บอระคน อรคน เถาอรคน (ตรัง) ปดน้ำมัน (ปัตตานี) เป็นต้น

ประโยชน์ของรสสุคนธ์
ตำรายาไทยที่ถ่ายทอดกันมาจากอดีต ระบุสรรพคุณทางยาของรสสุคนธ์ไว้ด้วย คือ

  • รากและใบ ตำเป็นยารักษาโรคหืด
  • ดอก ผสมเป็นยาหอม แก้ลม บำรุงหัวใจ

ประโยชน์ด้านหลักของรสสุคนธ์ที่คนไทยรู้จักดี คือ เป็นไม้ดอกไม้ประดับที่ให้ทั้งความสวยงามและกลิ่นหอม เนื่องจากรสสุคนธ์เป็นไม้เถาที่ปลูกง่าย แข็งแรง ทนทาน ต้องการความชื้นน้อย ขึ้นได้ดีทั้งในที่ร่มและกลางแดด จึงนิยมปลูกประดับเป็นไม้เลื้อยคลุมซุ้ม เป็นร่มเงาหรือพันรั้วให้งดงาม เนื่องจากมีคุณสมบัติใบเขียวเข้มหนาทึบ เถาเหนียวแข็งแรง และออกดอกกลิ่นหอมได้ตลอดปี โดยเฉพาะในฤดูหนาวที่หาดอกไม้กลิ่นหอม ได้ยาก รวมทั้งให้กลิ่นหอมแรงในเวลากลางวัน

รสสุคนธ์เป็นพันธุ์ไม้ไทยที่คนไทยนิยมและรู้จักดีมานาน เช่นปรากฏในวรรณคดียุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์หลายเรื่อง โดยเฉพาะของสุนทรภู่ที่นอกจากนำมาตั้งชื่อตัวละครในเรื่องพระอภัยมณี (เสาวคนธ์) แล้ว ยังบรรยายอย่างไพเราะในเรื่องสิงหไกรภพอีกด้วย ดังนี้

"รสสุคนธ์ เหมือนสุคนธ์ปนแป้งสด มาร้างรสสุคนธ์น้องให้หมองหมาง..."

ความหมายของสุนทรภู่ในบทกลอนนี้มี ๒ ความหมาย คือ ความหมายของรสสุคนธ์ในฐานะไม้ดอกหอม และความหมายของรสสุคนธ์ในฐานะของศัพท์เฉพาะที่แปลว่ากลิ่นหอม ดังในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ.๒๔๑๖ ว่า

"รสสุคนธ์ : แปลว่า รสกลิ่นอันดีเป็นที่ชื่นใจ คือรสกลิ่นอันหอมนั้น" เนื่องจากรสสุคนธ์มีความหมายดีทั้ง ๒ ความหมายดังกล่าว คนไทยจึงนิยมนำมาตั้งเป็นชื่อผู้หญิง ตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน (รวมทั้งคำว่า เสาวคนธ์) เพราะนอกจากความหมายดีแล้ว ยังเป็นคำที่ไพเราะอีกด้วย

หากบริเวณบ้านของผู้อ่านท่านใด มีรั้ว ซุ้มที่นั่งหรือนั่งร้าน และต้องการไม้เถาเพื่อเลื้อยคลุม ก็ขอให้นึกถึงรสสุคนธ์ด้วย รับรองว่าท่านจะได้รับสิ่งดีๆ จากไม้เถาชื่อเพราะชนิดนี้ไปแสนนาน

ขอขอบคุณสำหรับภาพจาก : ไม้ต้นประดับ, คู่มือคนรักต้นไม้

ข้อมูลสื่อ

297-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 297
มกราคม 2547
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร