• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นลม

คำว่า "เป็นลม" ในที่นี้หมายถึงอาการอยู่ๆก็หมดสติทรุดลงกับพื้น ซึ่งเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน และเป็นอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียว ก็ฟื้นคืนสติได้เป็นปกติ มีสาเหตุได้ต่างๆ ถ้าพบในคนอายุต่ำกว่า ๓๐ ปี มักเกิดจากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรง แต่พบในคนสูงอายุ อาจจะเกิดจากสาเหตุร้ายแรง เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น

ชื่อภาษาไทย เป็นลม
ชื่อภาษาอังกฤษ Syncope, Fainting
สาเหตุ อาการเป็นลมเกิดจากเซลล์สมองมีเลือดไปเลี้ยงน้อยลงชั่วขณะ มีสาเหตุได้หลายประการ ขึ้นกับชนิดของอาการเป็นลมดังนี้

๑. เป็นลมธรรมดา
เป็นชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือ พบได้ประมาณครึ่งหนึ่งของอาการเป็นลมทั้งหมด เป็นภาวะที่ไม่รุนแรง มักเกิดกับคนหนุ่มสาว (แต่คนวัยอื่นก็พบได้) ผู้ป่วยจะเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวอะไร ขณะเกิดอาการเป็นลมผู้ป่วยมักจะอยู่ในท่ายืน อาจมีประวัติว่าอยู่ในที่ที่มีคนแออัด อากาศร้อนอบอ้าว หรืออยู่กลางแดด บางคนอาจมีประวัติว่าอดนอน หิวข้าว ร่างกายเหนื่อยล้า หรือยืนนานๆ บางคนอาจมีอารมณ์เครียด กลัว ตกใจ กลัวเจ็บ (เช่นถูกเจาะเลือด) หรือกลัวเห็นเลือด เป็นต้น อาการเป็นลมชนิดนี้เป็นผลมาจากร่างกายมีปฏิกิริยาทำให้เลือดขึ้นไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง

๒. เป็นลม เนื่องจากกิริยาบางอย่าง
เช่น ขณะกลืนอาหาร ไอรุนแรง เบ่งถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระ หลังกินอาหาร หันคอ โกนหนวด (ด้วยเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า) ใส่เสื้อคอคับ เป็นต้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง

๓. เป็นลมเนื่องจากความดันต่ำในท่ายืน
ผู้ป่วยขณะอยู่ในท่านอนจะรู้สึกเป็นปกติดี แต่เมื่อลุกขึ้นยืนจะมีอาการหน้ามืดเป็นลมทันที เนื่องจากความดันเลือดจะลดต่ำลงเมื่ออยู่ในท่ายืน สมองจึงขาดเลือดไปเลี้ยง มักพบในคนสูงอายุ ผู้ที่เป็นเบาหวานหรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ผู้ที่กินยารักษาโรคความดันเลือดสูงหรือโรคหัวใจ ผู้ที่มีภาวะตกเลือด (มีเลือดออก ถ่ายอุจจาระดำ ประจำเดือนออกมาก) หรือมีภาวะขาดน้ำ (เช่น ท้องเดิน อาเจียน มีไข้สูง)

๔. เป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจ
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน โรคลิ้นหัวใจตีบ โรคหัวใจล้มเหลว (ทำหน้าที่สูบฉีดได้น้อยลง) โรคกล้ามเนื้อหัวใจพิการ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เป็นต้น บางครั้งบางคราวทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้น้อยลง เกิดอาการเป็นลมได้ ซึ่งจัดว่าเป็นภาวะที่ร้ายแรง และมักพบในคนอายุมาก

๕. เป็นลมเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง เช่น หลอดเลือดสมองตีบ เลือดออกในสมอง ก็อาจทำให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เกิดอาการเป็นลมได้
ผู้ป่วยอาจมีอาการเป็นลมจากสาเหตุข้อใดข้อหนึ่ง หรือมีหลายสาเหตุร่วมกันก็ได้ และบางคนอาจไม่พบสาเหตุชัดเจนก็ได้
อาการ ผู้ที่เป็นลมธรรมดา มักจะมีอาการเป็นลมอยู่ในท่ายืน คืออยู่ดีๆ รู้สึกใจหวิว แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ไหว ทรุดลงนอนกับพื้น และหมดสติอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียว อาจนานเพียงไม่กี่วินาที ถึง ๑-๒ นาที แล้วก็ฟื้นคืนสติได้เอง บางคนก่อนจะเป็นลม อาจมีอาการเตือนล่วงหน้า (เช่น หนักศีรษะ ตัวโคลงเคลง มองเห็นภาพเป็นจุดดำหรือตามัวลง มีเสียงดังในหู คลื่นไส้) อยู่นาน ๒-๓ นาที แล้วก็เป็นลมฟุบ ขณะเป็นลมจะมีอาการหน้าซีด มีเหงื่อออกเป็นเม็ดทั่วใบหน้าและลำตัว มือเท้าเย็น ชีพจรอาจเต้นช้า (ต่ำกว่า ๖๐ ครั้งต่อนาที)

ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากกิริยาบางอย่าง จะมีอาการคล้ายกับเป็นลมธรรมดา แต่จะมีเหตุกระตุ้นชัดเจน เช่น ขณะกลืนอาหาร เบ่งถ่าย หันคอ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากความดันต่ำในท่ายืน จะมีอาการหน้ามืดเป็นลมทันทีที่ลุกขึ้นยืน ในขณะที่อยู่ในท่านอนราบจะรู้สึกสบายดี อาจมีอาการกำเริบซ้ำได้บ่อย
ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจ มักจะมีอาการเป็นลมโดยไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หรือเป็นลมขณะใช้แรง (เช่น ยกของ ทำงานหนัก) ผู้ป่วยมักมีอาการใจสั่น เจ็บหน้าอกหรือหายใจหอบเหนื่อยร่วมด้วย
ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง มักจะมีอาการปวดศีรษะ วิงเวียน (เห็นบ้านหมุน) ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ แขนขาชาหรืออ่อนแรงร่วมด้วย
 
การแยกโรค อาการเป็นลมหมดสติ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ได้แก่
๑. หมดสติหรือโคม่า (coma) ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง ไม่สามารถฟื้นสติได้เอง มักมีสาเหตุที่ร้ายแรง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วน
๒. ช็อก ผู้ป่วยจะมีอาการใจหวิวใจสั่น เหงื่อออกตามตัว มือเท้าเย็น กระสับกระส่ายลุกขึ้นนั่งไม่ไหว เนื่องจากจะมีอาการหน้ามืดคล้ายจะเป็นลม โดยที่ยังพอรู้สึกตัว ไม่หลับสนิทแบบเป็นลมหรือหมดสติ มักมีสาเหตุที่ร้ายแรง จัดเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยด่วนเช่นเดียวกัน
๓. โรคลมชัก ผู้ป่วยจะมีอาการหมดสติชั่วคราวร่วมกับอาการแขนขาชักเกร็ง กระตุก น้ำลายฟูมปาก ตาค้าง อาจมีอาการปัสสาวะราด แต่จะมีอาการปวดมึนศีรษะ ง่วงนอน มึนงง ต่อมาอีกหลายชั่วโมง
๔. ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ พบในผู้ที่อดข้าว หรือใช้ยารักษาเบาหวานอยู่ ผู้ป่วยจะมีอาการใจหวิวใจสั่น รู้สึกหิวข้าว เหงื่อออก แล้วมีอาการเป็นลมหรือหมดสติ
๕. โรคทางจิตประสาท เช่น โรควิตกกังวล กลุ่มอาการระบายลมหายใจเกิน (hyperventilation syndrome) บางครั้งจะมีอาการหมดสติแน่นิ่งชั่วขณะ คล้ายอาการเป็นลมได้ ผู้ป่วยมักมีอาการคิดมาก กังวล นอนไม่หลับ หรือมีอาการหายใจหอบลึก มือจีบเกร็ง หลังมีเรื่องขัดใจ

การวินิจฉัยโรค เบื้องต้นแพทย์จะซักถามประวัติอาการเจ็บป่วย (เช่น จะซักถามลักษณะอาการที่เป็นเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการ ประวัติโรคประจำตัวและการใช้ยา เป็นต้น) และทำการตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน โดยเฉพาะอาการทางโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อแยกแยะชนิดของอาการเป็นลม
ถ้าสงสัยว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง แพทย์จะทำการตรวจพิเศษเพิ่มเติม เช่น ตรวจคลื่นหัวใจ เอกซเรย์ ถ่ายภาพสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ตรวจเลือด เป็นต้น

การดูแลตนเอง
๑. ขณะมีอาการเป็นลม
ควรให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วยดังนี้
(๑) จับผู้ป่วยนอนศีรษะต่ำ ปลดเสื้อผ้าและเข็มขัดให้หลวม เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้เร็วและพอเพียง
(๒) ห้ามคนมุงดู เพื่อให้อากาศถ่ายเทสะดวก
(๓) ใช้ผ้าเย็นๆเช็ดตามหน้า คอและแขนขา
(๔) ขณะที่ยังไม่ฟื้นห้ามให้น้ำและอาหารทางปาก
(๕) เมื่อเริ่มรู้สึกตัว อย่าให้ผู้ป่วยลุกขึ้นนั่งทันที ควรให้พักต่ออีกสัก ๑๕-๒๐ นาที
(๖) เมื่อผู้ป่วยฟื้นคืนสติดีแล้ว และเริ่มกลืนได้ อาจให้ผู้ป่วยดื่มน้ำ (ถ้ารู้สึกกระหายน้ำ) หรือให้ดื่มน้ำหวาน (ถ้ารู้สึกหิว)
(๗) ควรนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล ถ้ามีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผู้ป่วยไม่ฟื้นภายใน ๑๕ นาที
- ผู้ป่วยมีอายุมากกว่า ๓๐ ปี
- มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันเลือดสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น
- มีอาการเจ็บหน้าอก ใจสั่น หายใจหอบเหนื่อย ปวดท้อง ปวดหลัง ปวดศีรษะ วิงเวียน ตาเห็นภาพซ้อน พูดอ้อแอ้ กลืนลำบาก เดินเซ หรือแขนขนชา หรืออ่อนแรง
- มีอาการตกเลือด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ถ่ายอุจจาระดำ มีบาดแผลเลือดออก เป็นต้น
- มีภาวะขาดน้ำ อาเจียนรุนแรง ท้องเดินรุนแรงหรือไข้สูง

๒. เมื่อแพทย์ตรวจพบว่ามีสาเหตุจากโรคหัวใจ หรือโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ กินยาตามแพทย์สั่ง และติดตามการรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง

๓. ผู้ที่เป็นลมบ่อย ควรหลีกเลี่ยงการขับรถ การทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร และการปีนขึ้นที่สูง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุขณะเป็นลม

การรักษา แพทย์จะให้การรักษาสาเหตุของอาการเป็นลม
ถ้าเป็นลมธรรมดา ซึ่งพบในคนที่สุขภาพแข็งแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนหนุ่มสาว และมีเหตุกระตุ้นชัดเจน (เช่น อดนอน หิวข้าว ตกใจ กลัว อยู่ในที่แออัด หรือกลางแดด เป็นต้น) ก็ไม่จำเป็นต้องให้ยารักษา แนะนำให้หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้นต่างๆ ยกเว้นในรายที่มีอาการกำเริบซ้ำซาก ก็ควรจะกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัดอีกครั้ง

ถ้าเป็นลมเนื่องจากกิริยาบางอย่าง ก็ให้หลีกเลี่ยงกิริยากระตุ้นให้กำเริบ เช่น (อย่าหันคอเร็วๆ ใช้มีดโกนหนวดแทนเครื่องโกนหนวดไฟฟ้า อย่าใส่เสื้อคอคับ กินยาระงับการไอ เป็นต้น) และให้ดื่มน้ำให้มากพออย่าให้ร่างกายขาดน้ำ

ถ้าเป็นลมเนื่องจากความดันต่ำในท่ายืน ก็ให้การรักษาตามสาเหตุ (เช่น ถ้าเกิดจากยา ก็จะปรับเปลี่ยนยาให้เหมาะสม ถ้าเกิดจากภาวะขาดน้ำ ก็ให้สารน้ำหรือน้ำเกลือทางปากหรือทางหลอดเลือดดำ เป็นต้น) แนะนำให้ผู้ป่วยลุกขึ้นจากท่านอนอย่างช้าๆและนั่งบนเตียงสักพักหนึ่งก่อนจะลุกขึ้นยืน ในบางรายแพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยสวมถุงน่องรัดขา (compression stocking) หรือให้ยา เช่น ฟลูโดคอร์ติโซน (fludocortisone) เพื่อเพิ่มปริมาตรของเลือดในหลอดเลือด

ถ้าเป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมอง ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้การรักษาตามสาเหตุ โดยใช้ยา เช่น ยาควบคุมเบาหวาน ความดันเลือด ไขมันในเลือด ยาต้านภาวะหัวใจล้มเหลว ยาขยายหลอดเลือดหัวใจ ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (เช่น แอสไพริน) เป็นต้น บางราย (เช่น ผู้ป่วยลิ้นหัวใจตีบ หลอดเลือดหัวใจตีบ) อาจต้องผ่าตัดผู้ป่วยกลุ่มนี้ ในช่วงแรกอาจต้องรับตัวรักษาไว้ในโรงพยาบาล เพื่อสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด
- ภาวะแทรกซ้อน ขณะเป็นลมหมดสติ อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับรถหรือตกจากที่สูง ได้รับบาดเจ็บ เช่น บาดแผล กระดูกหัก ศีรษะได้รับบาดเจ็บ (อาจถึงขั้นมีเลือดออกในสมองได้)

- การดำเนินโรค ในรายที่เป็นลมธรรมดา มักจะไม่มีอันตรายหรือโรคแทรกซ้อนรุนแรง (ยกเว้นเกิดอุบัติเหตุขณะเป็นลม) และมักจะไม่มีอาการกำเริบซ้ำ
ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากกิริยาบางอย่างหรือความดันต่ำในท่ายืน มีโอกาสกำเริบซ้ำได้บ่อย ถ้ายังไม่ได้หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้นหรือแก้ไขสาเหตุของโรค แต่มักไม่มีอันตรายร้ายแรง ยกเว้น การเกิดอุบัติเหตุขณะเป็นลม

ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากโรคหัวใจ มักมีอันตรายร้ายแรง มีอัตราตายภายใน ๑ ปีสูงถึงร้อยละ ๒๐-๓๐ แต่ถ้าเป็นผู้ป่วยระยะที่รุนแรงไม่มาก และได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็มีโอกาสชีวิตยืนยาวได้

ผู้ที่เป็นลมเนื่องจากโรคหลอดเลือดสมอง ถ้าเป็นโรคระยะรุนแรง ก็อาจเกิดอาการอัมพาต หรือเสียชีวิตได้ แต่ถ้าเป็นโรคระยะที่รุนแรงไม่มาก ถ้าได้รับการรักษาอย่างจริงจังก็มักจะมีชีวิตยืนยาวได้

การป้องกัน
การป้องกันไม่ให้มีอาการเป็นลมซ้ำ ผู้ป่วยควรปฏิบัติดังนี้
๑. หลีกเลี่ยงเหตุกระตุ้น เช่น อดนอน อดข้าว อยู่ในที่ที่แออัดหรือร้อนอบอ้าว การใส่เสื้อคอคับ เป็นต้น
๒. ดื่มน้ำให้มากๆ อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
๓. ลุกจากท่านอนอย่างช้าๆ ควรลุกนั่งพักสักครู่ก่อนจะลุกขึ้นยืน
๔. ถ้าเกิดจากโรคหัวใจหรือโรคหลอดเลือดสมองควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์
กินยาและติดตามรักษากับแพทย์อย่างต่อเนื่อง
การป้องกันอาจได้ผลดีในรายที่มีสาเหตุไม่รุนแรง แต่ถ้าเป็นโรคในระยะรุนแรง ก็อาจมีอาการเป็นลมซ้ำซากได้

ความชุก
อาการเป็นลมเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในคนทุกวัยและจะพบได้บ่อยมากขึ้นตามอายุที่มากขึ้น
ในสหรัฐอเมริกาพบว่า ผู้ที่มีอายุ ๓๐-๖๒ ปี จะมีประวัติเป็นลมร้อยละ ๓ ในรายผู้ที่มีอายุมากกว่า ๗๕ ปีจะมีประวัติเป็นลมร้อยละ ๖ ผู้ป่วยที่มาตรวจห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจะมาหาด้วยอาการเป็นลมประมาณร้อยละ ๑-๓ ของผู้ป่วยทั้งหมด และผู้ป่วยที่รับไว้รักษาในโรงพยาบาลจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการเป็นลมถึงร้อยละ ๖

"ผู้ที่เป็นลมธรรมดา มักจะมีอาการเป็นลมอยู่ในท่ายืน คืออยู่ดีๆ รู้สึกใจหวิว แขนขาอ่อนแรง ทรงตัวไม่ไหว ทรุดลงนอนกับพื้น และหมดสติอยู่ชั่วประเดี๋ยวเดียว อาจนานเพียงไม่กี่วินาที ถึง ๑-๒ นาที แล้วก็ฟื้นคืนสติได้เอง"
 

ข้อมูลสื่อ

320-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ