• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตัวอย่างผู้ป่วยที่ต้องรักษา "คน" ให้ได้ก่อน "ไข้" (ต่อ)

ตัวอย่างผู้ป่วยรายที่ ๓๔
อุบัติเหตุจากรถมอเตอร์ไซค์คว่ำ

ในการตรวจเยี่ยมผู้ป่วยที่ห้องฉุกเฉินในเช้าวันหนึ่ง
แพทย์ประจำบ้าน:
ผู้ป่วยรายนี้เป็นหญิงไทยคู่ อายุ ๔๕ ปี ประสบอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์คว่ำ ขาขวาหัก กระดูกทิ่มออกนอกเนื้อ ตอนหัวค่ำเมื่อวานนี้ ถูกนำส่งโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งเห็นว่าผู้ป่วยไม่สามารถสู้ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลเอกชนได้ และสามีผู้ป่วยเป็นข้าราชการ จึงให้การตรวจรักษาเบื้องต้น และดามขาที่หัก แล้วส่งต่อมาที่นี่ครับ
จากการตรวจพบว่ากระดูกขาขวาทั้ง ๒ อันหักและทิ่มออกนอกเนื้อ เลือดออกไม่มากนัก อาการแสดงชีพ (ชีพจร การหายใจ ความดันเลือด และอุณหภูมิของร่างกาย) ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ มีแผลถลอกที่แขนและลำตัวหลายแห่ง แต่ไม่มีการบาดเจ็บที่ศีรษะ คอ ทรวงอก และสะโพกครับ
ผมจึงปรึกษา หมอออร์โทฯ (หมอกระดูก) ซึ่งมาดูผู้ป่วยและเห็นว่าต้องผ่าตัด แต่ "เตียงเต็ม" จึงพยายามโทรศัพท์ติดต่อโรงพยาบาลของรัฐในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ๑๕ แห่ง แต่ไม่มีโรงพยาบาลใดยอมรับผู้ป่วยไปผ่าตัด โดยอ้างว่า "เตียงเต็ม" หรือ "หมอออร์โทฯ ไม่อยู่"
เป็นต้น
อาจารย์: "เลยให้ผู้ป่วยนอนแช่อยู่ในห้องฉุกเฉินอย่างนี้หรือ"
แพทย์ประจำบ้าน: "สามีของผู้ป่วยบอกว่า เมื่อหาเตียงในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ก็จะพาผู้ป่วยไปรักษาที่โรงพยาบาลนครนายกครับ กำลังรอรถมารับผู้ป่วยไปโรงพยาบาลนครนายกในเช้าวันนี้ครับ"
อาจารย์: "รถโรงพยาบาลนครนายกจะมารับหรือ แล้วผู้ป่วยเป็นคนนครนายกหรือ"
แพทย์ประจำบ้าน: "ไม่ทราบครับ"
อาจารย์: "หมอไปตามสามีผู้ป่วยมาคุยกันหน่อย"
แพทย์ประจำบ้านไปตามสามีผู้ป่วยที่รออยู่นอกห้องฉุกเฉินเข้ามาพบอาจารย์
อาจารย์: "สวัสดีครับ คุณเป็นญาติผู้ป่วยด้านไหนครับ"
สามีผู้ป่วย: "ผมเป็นสามีผู้ป่วยครับ"
อาจารย์: "แพทย์ที่ตรวจภรรยาของคุณบอกว่า คุณจะพาภรรยาไปรักษาที่โรงพยาบาลนครนายก ภรรยาของคุณเป็นคนนครนายกหรือครับ"
สามีผู้ป่วย: "ไม่ใช่ครับ ภรรยาผมเป็นคนกรุงเทพฯ แต่ผมมีญาติที่อยู่นครนายก และเขารู้จักหมอที่นั่น เพราะเป็นคนไข้ของหมอที่นั่น เขาคิดว่าเขาสามารถคุยกับหมอที่นั่นให้รับภรรยาผมไว้รักษาได้ครับ เพราะที่กรุงเทพฯนี่ ไม่มีโรงพยาบาลของรัฐที่ไหนจะรับภรรยาผมไว้รักษาเลย ผมเห็นคุณหมออุตส่าห์โทรศัพท์ติดต่อไปถึง ๑๕ แห่ง ตั้งแต่หัวค่ำเมื่อคืนจนถึงดึกดื่น ก็ไม่มีโรงพยาบาลไหนยอมรับรักษาภรรยาของผม ผมจึงโทรศัพท์ไปหาญาติที่นครนายก ญาติผมจึงให้ผมพาภรรยาไปที่โรงพยาบาลนครนายกครับ"
อาจารย์: "แล้วโรงพยาบาลนครนายกเขารู้หรือยัง ว่าคุณจะพาภรรยาไปที่นั่น และเขามีเตียงที่จะรับภรรยาของคุณแล้วหรือ"
สามีผู้ป่วย: "ยังครับ ญาติผมบอกว่าเขาจะติดต่อคุณหมอเช้านี้ และให้ผมพาภรรยาไปก่อน"
อาจารย์: "แล้วคุณจะไปกันอย่างไร"
สามีผู้ป่วย: "ก็คงใส่รถปิ๊กอัพไปครับ"
อาจารย์: "เอาละ คงไม่ต้องไปโรงพยาบาลนครนายกหรอกครับ เดี๋ยวผมจะไปปรึกษาหมอกระดูก และหมอผ่าตัดคนอื่นๆ ดูก่อนว่า จะมีทางขยับขยายหาเตียงให้ภรรยาของคุณได้เข้าผ่าตัดที่นี่หรือไม่
คุณกรุณารออีกสักพักระหว่างที่ผมขอหารือกับหมอที่เกี่ยวข้องดูก่อนนะครับ"
หลังจากนั้น อาจารย์ได้พาแพทย์ประจำบ้านไปปรึกษาหารือกันในห้อง
อาจารย์: "มันไม่ยุติธรรมและไม่เหมาะสมที่เราจะส่งผู้ป่วยที่เกิดอุบัติเหตุที่กรุงเทพฯ ไปรับการรักษาที่ต่างจังหวัด โรงพยาบาลนครนายกคงจะ "สวด" เราเป็นแน่ และผู้ป่วยก็เป็นคนกรุงเทพฯ ด้วย

การอ้างว่า "เตียงเต็ม" แล้วให้ผู้ป่วยและญาติระหกระเหินไปหา "เตียง" เอาดาบหน้า เป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ที่หมอพยายามโทรศัพท์หา "เตียง" ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในกรุงเทพฯ นั้นถูกต้องแล้ว แต่เมื่อไม่มี "เตียง" ในที่อื่น ก็ต้องหาทางขยับขยายเตียงในโรงพยาบาลของเราให้ได้ ถ้าหมอหาไม่ได้ ก็ต้องปรึกษาอาจารย์ ไม่ใช่ให้ญาติไปติดต่อหาเตียงเอง และให้นำผู้ป่วยใส่รถปิ๊กอัพไป "หาเตียงเอาดาบหน้า" เอง
ถ้าหมอเป็นผู้ป่วยคนนี้ หมอจะรู้สึกอย่างไรถ้าถูก "โบ้ย" ไปเช่นนี้

หลังการปรึกษาหารือกับอาจารย์ทางออร์โทปิดิกส์และทางศัลยกรรม ในที่สุดก็สามารถขยับขยายให้เตียงแก่ผู้ป่วย และผู้ป่วยก็ได้รับการผ่าตัดเชื่อมต่อกระดูกที่หักในเช้าวันนั้น และให้นอนพักในหอผู้ป่วยศัลยกรรมไปก่อน เพราะเตียงในหอผู้ป่วยออร์โทปิดิกส์เต็ม และไม่สามารถขยับขยายให้ผู้ป่วยที่พักรักษาตัวอยู่กลับบ้านได้

การบริหารจัดการเตียงในโรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ ยังเป็นปัญหามาก เพราะโรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ มักเป็นโรงพยาบาลใหญ่ มีการแบ่งแผนก แบ่งหน่วยเป็นจำนวนมาก เตียงทั้งหมดในโรงพยาบาลก็ถูกแบ่งให้เป็นของแผนกและหน่วยต่างๆ บางครั้งแผนกหรือหน่วยต่างๆ อยู่กันคนละตึกก็มี

บุคลากร (แพทย์ พยาบาล) ในแต่ละแผนก แต่ละหน่วย และ/หรือแต่ละตึก จะมีความชำนาญต่างกัน ทำให้ไม่อยากรับผู้ป่วยที่ตนไม่ถนัดเข้าไว้รักษาในหน่วยหรือแผนกของตน เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยหรือกลัวว่า ถ้าให้แผนกอื่นหน่วยอื่นยืมเตียงไปใช้แล้ว ตนก็จะไม่มีเตียงไว้รับผู้ป่วยของตนได้

อนึ่ง โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ มักจะเป็นที่เชื่อถือจากประชาชนในต่างจังหวัดว่า ดีกว่า เก่งกว่า มีเครื่องมือมากกว่าในต่างจังหวัด จึงมักจะ "แห่" กันเข้ากรุงเทพฯ ทำให้โรงพยาบาลของรัฐในกรุงเทพฯ ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยจากทั่วประเทศได้ โรงพยาบาลส่วนใหญ่จึง "หวง" เตียงและสำรองเตียงไว้สำหรับผู้ป่วยของตนมากกว่าผู้ป่วยจากที่อื่น การส่งต่อผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ จึงมักประสบปัญหาเสมอ (ดังเช่นในกรณีนี้ ที่โรงพยาบาลของรัฐถึง ๑๕ แห่งปฏิเสธที่จะรับผู้ป่วย)

ในกรุงเทพฯ หมอและพยาบาลจึงพยายามรักษา "เตียง" มากกว่า "ผู้ป่วย" เพราะการยืมเตียงเพื่อรับผู้ป่วยมักเป็นเรื่องใหญ่โตและมีขั้นตอนมากมาย จนแพทย์อ่อนอาวุโส (เช่น แพทย์ฝึกหัด แพทย์ประจำบ้าน) มักจะไม่ค่อยกล้าปรึกษาอาจารย์ หรือหาทางยืมเตียงแผนกอื่นหรือหน่วยอื่นให้ผู้ป่วย ผู้ป่วยจึงต้องนอนแช่อยู่ในห้องฉุกเฉินหรือถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลอื่นในกรณีที่โรงพยาบาลอื่นยอมรับการส่งต่อนั้น

ผู้บริหารโรงพยาบาลของรัฐต่างๆ น่าที่จะประชุมกันและตกลงกันวางกฎระเบียบที่ปฏิบัติได้ เพื่อให้ผู้ป่วยทุกคนที่จำเป็นต้องรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยเฉพาะในกรณีอุบัติเหตุหรือฉุกเฉิน ต้องสามารถเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลได้ และสามารถส่งต่อผู้ป่วยระหว่างกันได้โดยสมควร

แต่เป็นที่น่าเสียใจ ที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่ของรัฐในกรุงเทพฯ ยังคงรักษา "เตียง" มากกว่าผู้ป่วย และยังโฆษณาประชาสัมพันธ์ตนเองบ่อยๆ จนผู้ป่วยจากต่างจังหวัดต้อง "แห่" ไปยังกรุงเทพฯ ทำให้เกิดปัญหาสะสมทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ


 

 

ข้อมูลสื่อ

320-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 320
ธันวาคม 2548
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์