• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคภัยร้อน

โรคภัยร้อน

ในช่วง ๔๐ ปีที่ผ่านมา สภาพอากาศในประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยเฉพาะอุณหภูมิที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆสาเหตุส่วนหนึ่งอาจสืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลก เช่นกับในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ ที่คาดว่าจะเป็นอีกปีหนึ่งที่โลกต้องเผชิญกับปรากฏการณ์นี้รวมทั้งประเทศไทยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน

การเจ็บป่วยจากความร้อน

การเผชิญกับสภาพอากาศร้อนสามารถก่อให้เกิดการเจ็บป่วยได้ โดยเฉพาะในเด็กและผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ทำงานที่ต้องมีการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาซึ่งไม่ได้มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญสภาพอากาศร้อน ความร้อนก่อให้เกิดการเจ็บป่วยซึ่งมีความรุนแรงตั้งแต่น้อยไปถึงมาก จนกระทั่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ ได้แก่ โรคอุณหพาตหรือโรคลมเหตุร้อน

โรคอุณหพาตหรือโรคลมเหตุร้อน มีอาการแสดงที่สำคัญได้แก่ อุณหภูมิร่างกายสูงเกิน ๔๐.๕ องศาเซลเซียส การทำงานของระบบประสาทกลางเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะความรู้สึกตัวผิดปกติ เช่น ซึมลง พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีเหงื่อออกตามร่างกาย ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้เป็นภาวะที่มีความรุนแรงมากสามารถทำให้เสียชีวิตหรือมีความพิการทางสมองได้ 
 
นอกจากนี้ นพ.สุรจิต สุนทรธรรม จากโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าเสริมว่า"โรคนี้เกิดจากการสูญเสียน้ำในร่างกายไปอย่างรวดเร็ว จนทำให้อวัยวะภายในหยุดการ ทำงานและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุดซึ่งทุกคนมีโอกาสเป็นโรคนี้โดยเฉพาะคนที่ต้องออกไปเผชิญกับอากาศร้อนๆ ในช่วงนี้ 

"โดยปกติ ร่างกายจะใช้เหงื่อและปัสสาวะเป็นตัวปรับอุณหภูมิในร่างกายให้อยู่ในสมดุล โดยในช่วงที่อากาศร้อนมากๆ ร่างกายจะเกิดการคายความร้อนออกมาพร้อมกับน้ำในรูปของเหงื่อ ซึ่งพร้อมกับการสูญเสียน้ำออกไปก็จะชดเชยด้วยการที่สมองจะสั่งให้เกิดความรู้สึกหิวน้ำขึ้นมา ซึ่งกลไกสั่งการนี้จะใช้ระดับความเข้มข้นของเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นจากการเสียน้ำเป็นตัวส่งสัญญาณไปยังสมองเพื่อสร้างความรู้สึกหิวน้ำให้เกิดขึ้น 

"แต่สำหรับคนที่เกิดอาการของโรคนี้ ร่างกายไม่เพียงแต่ขับน้ำออกไปพร้อมกับเหงื่อเท่านั้นยังสูญเสียเกลือแร่ออกไปพร้อมกับน้ำด้วย เพราะฉะนั้นสมองจะไม่มีทางรู้เลยว่าร่างกายเกิดการขาดน้ำ (เนื่องจากระดับความเข้มข้นของเลือดไม่เปลี่ยนแปลง) ซึ่งกว่าจะรู้สึกตัวก็สายเกินไปแล้ว"

 สายเกินไป ในความหมายนี้ก็คือ เมื่อร่างกายมีการเสียน้ำมากเกินไปปริมาณเลือดจะลดลงจนไม่อาจไหลเวียนไปเลี้ยงร่างกายได้อย่างทั่วถึง (โดยเฉพาะสมอง) ร่างกายจะไม่ยอมให้เกิดการสูญเสียน้ำอีก โดยต่อมเหงื่อจะหยุดทำงานทันทีซึ่งแม้จะหยุดการเสียน้ำได้แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ความร้อนที่ไม่สามารถระบายออกไปได้ จะทำให้อุณหภูมิภายในสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผลก็คือ อวัยวะภายในต่างๆ ตั้งแต่หัวใจ ปอด ตับ ม้าม แม้กระทั่งสมอง จะเกิดอาการสุกจากความร้อนและหยุดการทำงานหรือทำงานผิดปกติ ซึ่งเมื่อถึงจุดนั้นการรักษาจะทำได้ยากมากและส่วนใหญ่จะเสียชีวิต 

สำหรับคนที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการแบบนี้นั้น นพ.สุรจิตผู้ซึ่งวิจัยถึงความเสี่ยงจากการทำงานในภาคอุตสาหกรรมนอกระบบ(SMEs) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กลับบอกว่าไม่ใช่คนกลุ่มที่ต้องเผชิญกับความร้อนและการสูญเสียน้ำเป็นประจำ เช่น ผู้ใช้แรงงาน หรือเกษตรกรหากเป็น "คนเมือง" ที่ต้องมาเจอ สภาพเสี่ยงต่อโรคอย่างกะทันหัน 

"ในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน หรือผู้ที่ต้องเจอแดดแรงๆ อยู่เป็นประจำ ร่างกายจะเกิดการปรับตัวจนสามารถรักษาเกลือแร่ไม่ให้สูญเสียไปพร้อมกับเหงื่อได้ ขณะที่พวกคนในห้องแอร์ ตั้งแต่สาวห้าง ผู้จัดการ ไปจนถึงคนแก่และเด็กเล็กๆ ที่ต้องออกไปเจอแดดแรงๆ โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อน กับคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่มากคือ "ทหารเกณฑ์รุ่นใหม่" ที่ต้องรับสภาพการฝึกกลางแดด ล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ได้ตลอดเวลา เนื่องจากร่างกายไม่เคยปรับตัวกับสภาพที่ต้องเสียน้ำมากๆ มาก่อน"

ดังนั้น เมื่อพบผู้ที่มีอาการดังกล่าว การรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้แก่ การรีบพาออกจากแหล่งความร้อนโดยเร็วที่สุด ถอดเสื้อผ้าและพยายามลดอุณหภูมิร่างกาย โดยใช้น้ำพ่นให้ทั่วร่างกายและเป่าด้วยพัดลมก่อนและระหว่างนำส่งโรงพยาบาล

นอกจากนี้ยังมีอาการและโรคอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดการเจ็บป่วยจากความร้อนอีกหลายอย่าง คือ 

ผดหรือโรคผื่นร้อน เป็นการอักเสบของท่อเหงื่ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งเกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อจากเศษขี้ไคลทำให้ท่อเหงื่อขยายตัวภายใต้แรงดันจนระทั่งแตกในที่สุดทำให้เกิดตุ่มแดงที่ผิวหนัง มักมีอาการคันซึ่งสามารถบรรเทาได้ด้วยยาแอนติฮิสตามีน (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) แต่การใช้แป้งฝุ่นหรือแป้งโรยตัวเด็กมักไม่ค่อยได้ผลนัก เราสามารถป้องกันการเกิดผดได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าที่สะอาด เบา และหลวม รวมทั้งหลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้เกิดเหงื่อจำนวนมาก 

การบวมจากความร้อน มีอาการบวมหรือรู้สึกตึงบริเวณมือและเท้า ซึ่งมักเกิดภายใน ๑-๒ วันแรกของการสัมผัสความร้อน มักไม่มีอาการบวมลุกลามไปยังบริเวณอื่น เช่น หน้าแข้ง ข้อเท้าหรือเปลือกตา อาการบวม   ดังกล่าวนี้สามารถหายเองได้ภายใน ๑-๒ วัน  

โรคลมแดด ผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ มักเกิดกับผู้ที่ไม่เคยชินกับสภาพความร้อนในช่วงแรกของการสัมผัสความร้อน แก้ไขโดยการออกจากแหล่งความร้อน ทดแทนสารน้ำและนอนพักผ่อน 

โรคตะคริวแดด จะมีอาการปวดเกร็งบริเวณกล้ามเนื้อน่องหรืออาจมีอาการที่ต้นขาและไหล่ได้ มักเกิดในผู้ที่เสียเหงื่อเป็นปริมาณมากและได้รับการทดแทนด้วยน้ำเปล่าหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีเกลือแร่ อาการดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้โดยการออกจากแหล่งความร้อน นอนพักในร่มและให้เครื่องดื่มเกลือแร่ทดแทน 

โรคเพลียแดด มีอาการอ่อนเพลีย วิงเวียน มึนงงปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ แต่ยังรู้สึกตัวตามปกติ เกิดจากการขาดสารน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรง ภาวะดังกล่าวนี้สามารถให้การรักษาด้วยการออกจากแหล่งความร้อน แล้วนอนพักพร้อมให้สารน้ำทดแทนทั้งโดยการดื่มและการให้ทางหลอดเลือดดำ

สาเหตุของการเกิด

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากความร้อนทั่วๆไป มีหลายสาเหตุด้วยกันอาทิ จากภาวะการขาดน้ำ มีไข้ มักเกิดในเด็กเล็กและคนชรา การอยู่ในบริเวณที่อากาศไม่ถ่ายเท ผู้ทำงานหรือสัมผัสกับสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน เช่น นักกีฬา ทหาร คนงานเหมืองแร่ และพนักงานดับเพลิง

นอกจากนี้ ยังเกิดขึ้นได้จากการที่ร่างกายอ่อนแอ ขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ขาดการเตรียมสภาพร่างกายให้เคยชินต่อความร้อน หรือสวมใส่เสื้อผ้าที่หนาและระบายความร้อนได้ไม่ดี หรือเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ติดสุรา ผู้เสพสารเสพติดหรือใช้ยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาทางจิตเวช ยาเม็ดแอสไพรินและยาขับปัสสาวะ

นอกจากนี้ อาจจะเกิดในผู้ที่มีความผิดปกติทางผิวหนัง เช่น โรค เรื้อนกวาง โรคหนังแข็ง หรือมีความผิดปกติของต่อมเหงื่อ เป็นต้น

ป้องกันได้หากเตรียมตัวให้พร้อม

ดังนั้น เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากความร้อนจึงควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญสภาพอากาศร้อน โดยการออกกำลังกายกลางแจ้งอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยสัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ครั้งละอย่างน้อย ๓๐ นาที และดื่มน้ำ ๑-๒ แก้ว (ประมาณ ๓๐๐ มิลลิลิตร) ก่อนออกจากบ้านในวันที่มีอากาศร้อนจัด และหากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อน หรือออกกำลังควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละประมาณ ๑ ลิตร คือประมาณ ๔-๖ แก้วต่อชั่วโมง แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม 

ทั้งนี้ถ้าหากจำเป็นจะต้องออก กลางแจ้ง ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อนไม่หนา น้ำหนักเบาและสามารถระบายความร้อนได้ดี ใช้ครีมกันแดดที่มีค่าเอสพีเอฟ (SPF) ตั้งแต่ ๑๕ ขึ้นไป หรือไม่เช่นนั้นก็ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะช่วงเวลา ๑๐-๑๕ นาฬิกา ควรหลีกเลี่ยงการกินยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรือต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรืออยู่กลางแดดเป็นเวลานานๆ และควรหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และยาเสพติดทุกชนิด

สำหรับในเด็กเล็กและคนชราที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยพยายามจัดให้อยู่ในสภาพแวดล้อม หรือห้องที่มีอากาศระบายได้ดี ในเด็กอาจต้องกำหนดให้มีระยะพักระหว่างการเล่นทุกครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมง และให้ดื่มน้ำครึ่งแก้วถึงหนึ่งแก้วในระหว่างพัก ทั้งนี้อย่าเพิกเฉยต่อความรู้สึกร้อนหรือเหนื่อยเกินไปของ เด็กและคนชรา และอย่าปล่อยให้เด็กหรือคนชราอยู่ในรถที่ปิดสนิทตามลำพังโดยเด็ดขาด


 

ข้อมูลสื่อ

277-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 277
พฤษภาคม 2545
บทความพิเศษ