• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แสงกับอาการเมื่อยล้าของตาเมื่อทำงานกับคอมพิวเตอร์

ปัจจุบันคอมพิวเตอร์ถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งที่ทำงาน โรงเรียน และบ้าน ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก

ในการใช้คอมพิวเตอร์ จะคำนึงถึงขนาดของโต๊ะ เก้าอี้ และการจัดวาง คอมพิวเตอร์กับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากขนาดและการจัดวางที่ไม่เหมาะสมเป็นสาเหตุของการบาดเจ็บของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่ส่งผลทำให้เกิดอาการปวด ตึง และการลดลงของประสิทธิภาพของการทำงาน

แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญอีก และต้องจัดให้เหมาะสม แต่หลายๆ คนมักลืมและไม่ได้คำนึงถึง นั่นคือ การจัดสภาพแสงของจอคอมพิวเตอร์ และแสงจากรอบๆ ตัว ให้เหมาะสมด้วย เนื่องจากผู้ที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ จำเป็นต้องใช้ตาในการมองจอ หรือเอกสารที่ต้องพิมพ์ตลอดเวลา ดังนั้น แสงที่มืดหรือจ้าเกินไป หรือมีแสงรบกวนสายตาขณะที่ทำงาน อาจทำให้ตาต้องทำงานหนักซึ่งอาจส่งผลทำให้เกิดการเมื่อยล้าของตาได้ 

อาการเมื่อยล้าของตา เป็นอาการหลักที่พบได้บ่อยกับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์
ซึ่งมีอาการดังต่อไปนี้-  ปวด ล้า ระคายเคือง แดง  แสบ และตาแห้ง
- ปวดศีรษะ
- ต้องเพ่งดูเอกสารและจอด้วยความยากลำบาก 
- ภาพซ้อน เบลอ 
- สู้แสงจ้าไม่ได้

สาเหตุของอาการเมื่อยล้าของตา
พฤติกรรมการใช้สายตาเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่ง ที่ทำให้เกิดอาการเมื่อยล้าตา สำหรับผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ มักมีอาการเมื่อยล้าตาที่เกิดจากการมองอยู่ที่จอนานๆ มองด้วยระยะที่ใกล้เกินไป โดยเฉพาะที่จุดใดจุดหนึ่ง โดยไม่เปลี่ยนระยะการมอง ทำให้ไม่มีการปรับระยะโฟกัสของตาไปสู่ระยะอื่นๆ และเมื่อเปลี่ยนไปมองวัตถุอื่นๆ อาจมีอาการภาพเบลอชั่วขณะได้  นอกจากนั้นการมองอยู่นานๆ ทำให้การกะพริบตาลดลง อาจเหลือแค่ ๑ ครั้งต่อนาที ซึ่งปกติแล้วควรจะประมาณ ๑ ครั้งต่อทุก ๕ วินาที ซึ่งลักษณะดังนี้ จะทำให้น้ำตาไปเลี้ยงได้ไม่ทั่วตา ส่งผลทำให้เกิดอาการตาแห้ง ระคายเคืองและแสบตาได้
 
สาเหตุหลักอีกอย่างคือ การจัดแสงในห้องทำงาน และปรับแสงจากจอคอมพิวเตอร์ได้ไม่สมดุลกับงานและผู้ใช้ โดยภาวะแสงสว่างน้อยเกินไปหรือสว่างเกินไป ทำให้ตาทำงานหนักมากขึ้น นอกจากนั้นอาจเป็นแสงจ้า แสงสะท้อนรบกวนสายตา มีต้นกำเนิดจากแสงจากภายนอก เช่น จากหน้าต่าง ประตู แสงจากหลอดไฟ แสงจากเครื่องฉายแผ่นใส เครื่องถ่ายเอกสาร แสงเหล่านี้มีผลรบกวนการทำงาน ทำให้ทำงานผิดพลาด ประสิทธิภาพการทำงานลดลง และผลต่ออาการปวด เมื่อยล้าตา

อย่างไรถึงเรียกว่าเป็นแสงที่ดี
งานออฟฟิศเป็นงานที่ต้องอาศัยการมอง ดังนั้น จึงต้องการแสงที่ดี เพื่อให้เกิดความสบายกับสายตาและเกิดผลผลิตมากที่สุด ความหมายของแสงที่ดีคือ
แสงที่ให้ความส่องสว่างเพียงพอที่ทำให้มองเห็นงานพิมพ์ ลายเขียน โดยที่แสงนั้นไม่มากเกินไปจนตาพร่า มองไม่เห็น จอคอมพิวเตอร์เป็นแหล่งกำเนิดแสงอย่างหนึ่งที่สามารถทำให้เกิดแสงจ้าเกินไป เป็นแสงที่มาจากหลอดไฟ หรือแหล่งกำเนิดที่ดี ให้แสงที่มีสีที่เหมาะกับการอ่านและเขียน เช่น แสงจากหลอดไฟฟลูออเรสเซน หลอดตะเกียบ ที่มีแสงสีขาวนวล ขณะที่แสงจากหลอดกลม หรือแสงจากไฟตามท้องถนนจะมีสีส้มซึ่งไม่เหมาะสมกับการอ่าน
เป็นแสงที่มีคุณภาพ ไม่กะพริบ และคุณภาพของ ความสว่างและสีสม่ำเสมอ เป็นแสงที่มีการกระจัด-กระจาย ไม่พุ่งมาทิศทางเดียว ดังตัวอย่างของการถ่ายภาพที่ถ้าใช้แสงไฟส่องตรงไปยังผู้ถูกถ่าย คุณภาพของภาพจะดูแข็ง ไม่อ่อนนุ่มเหมือนภาพที่เกิดจากการสะท้อน เช่นแสงที่สะท้อนแผ่นสะท้อนแสง หรือแสงสะท้อนจากกำแพงสีขาว หรืออีกตัวอย่างที่ดีคือแสงจันทร์กับแสงจากไฟฉาย
มีระดับความสว่างตามคำแนะนำสำหรับสำนักงาน ประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ Lux ซึ่งทำการวัดโดยใช้     เครื่องมือและผู้รู้ ผู้ชำนาญ

วิธีการจัดการและแก้ไข
ทำได้โดยใช้ต้นกำเนิด แสง ที่มีคุณภาพแสงที่ดี เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซน หลอดตะเกียบประหยัดพลังงาน
แสงจากภายนอกที่จ้าเกินไป อาจลดได้โดยใช้ม่าน มู่ลี่บังแสงนั้น ขณะเดียวกันกำแพงห้องควรใช้สีแบบด้านทา ไม่ควรเป็นสีน้ำมัน หรือวัสดุที่สะท้อนแสงได้
ปรับจอภาพไม่ให้รับแสงสะท้อนจากหลอดไฟหรือ แสงจากภายนอก ขณะเดียวกันอาจใช้แผ่นกั้น ไม่ให้แสงส่องมากระทบที่จอ หรือใช้แผ่นกั้นแสงแบบขุ่นเพื่อให้แสงจากหลอดไฟจ้าลดลง หากไม่สามารถจัดการกับแสงจ้าภายนอกได้ อาจใช้วิธีการเพิ่มแสงภายในให้มากขึ้น อย่าให้ห้องที่ทำงานมืดเกินไป เพราะจะรู้สึกผลของแสงภายนอกจ้ารบกวนตามากกว่าปกติ

ปรับระดับความเข้มของแสงและความแตกต่างระหว่างตัวหนังสือในจอกับพื้นที่ของจอ (contrast) ให้เหมาะสมตามความรู้สึกที่สบายของตนเอง อย่างไรก็ตาม แนะนำให้พื้นที่จอควรเป็นสีอ่อน

ขนาดตัวหนังสือและไอคอน (icon) ที่ใช้ในคอมพิวเตอร์ไม่ควรมีขนาดเล็ก เพราะทำให้ต้องเพ่งและใช้สายตามากเกินไป
แผ่นกรองแสงที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดแสงสะท้อนได้ อย่างไรก็ตาม การควบคุมที่ต้นกำเนิดแสงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

เมื่อต้องมีการอ่านเอกสาร จะทำให้ความต้องการ ปริมาณแสงมากขึ้นกว่าการอ่านจากจอคอมพิวเตอร์ ปริมาณแสงที่มากขึ้นมีผลรบกวนสายตาเมื่อใช้คอมพิวเตอร์ ดังนั้น ควรใช้โคมไฟชนิดที่ให้แสงอ่อนนุ่มช่วยก็ได้  ขณะเดียวกันเพื่อลดปริมาณแสงที่เกิดจากความต้องการในการอ่านเอกสารได้ โดยให้ใช้กระดาษและตัวหนังสือที่มีความแตกต่างกันสูง เช่น ตัวหนังสือสีดำและพื้นสีขาว

ควรจำกัดระยะเวลาการใช้งานกับคอมพิวเตอร์ และควรพักบ่อยๆ เช่น ทำงาน ๑ ชั่วโมง ต้องพักด้วยการละสายตาไปมองอย่างอื่นที่เย็นตา ที่มีระยะห่างออกไป เช่นต้นไม้ภายนอกบ้าง หรือดีที่สุดคือ ลุกจากที่นั่งไปเปลี่ยนอิริยาบถบ้าง และเมื่อถึงเวลาพักควรได้พักจริง ไม่ใช่ยังทำงานอื่นกับคอมพิวเตอร์ เช่น ตอบจดหมาย เล่นอินเทอร์เน็ต หรือเกม

อาจกะพริบตาให้บ่อยขึ้น โดยเฉพาะเมื่อนึกได้ หรือเมื่อรู้สึกระคายเคือง แสบตา เพราะจะทำให้น้ำตามาอาบลูกตามากขึ้น
หมั่นสังเกตคุณภาพของแสงจากหลอดไฟ เพราะหลอดไฟมีอายุการใช้งาน เมื่อเวลาผ่านไปแสงจะลดลง ฝาครอบมีแมลงไปเกาะตายหรือมีฝุ่นเกาะ ทำให้ปริมาณแสงที่ส่องลงมาลดลง

ควรทำความสะอาดหน้าจอ ไม่ให้มีฝุ่นและคราบรอยนิ้วมือ เพราะทำให้มีผลต่อการอ่านและแยกแยะตัวหนังสือ
ตรวจสอบความสูงและการจัดวางจอคอมพิวเตอร์ ว่าเหมาะสมกับผู้ใช้ไหม เช่น จอคอมพิวเตอร์ที่สูงหรือต่ำเกินไป มีผลต่อลักษณะท่าทางของคอและศีรษะ ทำให้ศีรษะอยู่ในท่าก้มหรือเงยเกินไป กล้ามเนื้อคอและบ่าทำงานหนัก และมุมมองของสายตาแคบลงส่งผลให้การขยับมองไปในทิศทางอื่นได้ยาก ซึ่งปกติแล้วการจัดวางที่ดีต้องทำให้ผู้ใช้สามารถขยับตัวเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถหรือทำสิ่งต่างๆ ได้

ผู้ที่มีปัญหาเรื่องสายตาควรพบแพทย์ และตัดแว่นหรือใส่คอนแทคเลนส์แก้ไขให้ถูกต้อง
เมื่อท่านสามารถทำได้ตามที่กล่าวมา ท่านจะห่างไกลจากการเมื่อยล้าตา และอาจทำให้ท่านทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งมีความสนุกกับการทำงานมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากท่านยังมีอาการดังกล่าวอยู่ ขออย่านิ่งนอนใจ ให้รีบไปปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่อไป

ข้อมูลสื่อ

308-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 308
ธันวาคม 2547
คนกับงาน
ดร.คีรินท์ เมฆโหรา