• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อุบัติเหตุ

เมื่อเดือนก่อนเดินทางไปโคราช วันแรกที่ไปถึงช่วงหัวค่ำ ได้เข้าพักโรงแรมแห่งหนึ่ง ขณะก้าวเดินลงบันไดไปที่โรงอาหาร มัวแต่พูดคุยกับ ผู้มาต้อนรับ ไม่ได้สังเกตดูขั้นบันไดที่ก้าวลง ก็ลื่นล้ม เพราะพื้นเป็นหินแกรนิตและขอบบันไดไม่ได้มีแถบกั้นกันลื่นเหมือนที่อื่น ก็ถลาไป ๔_๕ ขั้น ลงไปหยุดตรงขั้นบันไดกว้างที่เป็นชานพัก รู้สึกเจ็บปวดที่ข้อเท้าขวาทันที ถึงกับเดินกะเผลกอยู่พักใหญ่ หลังจากนั่งพักกินอาหาร แล้ว ก็เริ่มรู้สึกทุเลา แต่เวลาเดินลงน้ำหนักก็ยังรู้สึกเจ็บ คิดว่าข้อเท้าคงจะเคล็ด ก็ได้แต่ภาวนาว่าอย่าให้ขาเดี้ยง เพราะจะต้องยืนบรรยายในที่ประชุมในวันรุ่งขึ้นทั้งวัน

เมื่อกลับเข้าห้องพัก ก็รีบโทรศัพท์ให้ทางโรงแรมจัดน้ำแข็งมาให้เหยือกหนึ่ง แล้วนำก้อนน้ำแข็งใส่ถุงพลาสติกทำการประคบรอบๆ ข้อเท้าที่ปวดอยู่นานครึ่งชั่วโมง ตอนเข้านอนก็ใช้หมอนรองเท้าที่ปวดให้สูงขึ้น (สูงกว่าระดับหัวใจ) ทั้งหมดนี้เป็นการปฐมพยาบาลตนเองเพื่อลดอาการปวดบวมอักเสบ
รุ่งขึ้นอาการปวดทุเลาไปมาก และมีอาการบวมเพียงเล็กน้อยมาก แต่เวลาเดินลงน้ำหนักก็ยังรู้สึกเจ็บอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขณะก้าวขึ้นลงบันไดจะเจ็บมากขึ้น
ผมยังคงใช้น้ำแข็งประคบข้อเท้าข้างนั้น ทั้งตอนเช้าและเย็น (ตามหลักจะต้องประคบเย็นประมาณ ๔๘ ชั่วโมงหลังบาดเจ็บ หลังจากนั้นถ้ายังมีอาการอักเสบ ก็ให้ใช้น้ำร้อนประคบแทน)

วันนั้น ผมเพียรเดินด้วยสติ คือใส่ใจในทุกก้าวที่ย่างไป โดยเฉพาะเวลาขึ้นบันได จะมองดูขั้นบันไดแต่ละขั้นและคอยเกาะราวบันไดไว้ เผื่อกันพลาด
วันนั้น (และต่อๆ มาอีก ๒ วัน) ผมสามารถยืนบรรยายได้ตลอดทั้งวัน แต่เวลาพักจะพยายาม ยกเท้าข้างนั้นให้สูงไว้ ตกค่ำก็จะพักเท้าโดยการใช้หมอนรอง และเดินให้น้อยที่สุด จนกระทั่งเข้านอน

ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งก็คือ ผมงดเดินออกกำลังกาย (ที่เคยทำเป็นนิสัยทุกครั้งที่เดินทางไปต่างจังหวัด) เพื่อให้เท้าได้พักเต็มที่ แน่นอนว่าก็ต้องอดสนุกไป
พอย่างเข้าวันที่ ๓ ก็สามารถเดินลงน้ำหนักโดยไม่รู้สึกเจ็บอีกต่อไป
นับว่าอาการข้อเคล็ดที่เกิดขึ้นเป็นเพียงขั้นเล็กน้อย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะวันนั้นผมใส่รองเท้าหนังที่หุ้มข้อสูง จึงลดความรุนแรงของการบาดเจ็บไปได้ และเมื่อมีการปฐมพยาบาลที่ถูกต้อง อาการก็ทุเลาไปได้เร็วกว่าที่คาดคิด
เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ก็ให้บทเรียนเตือนสติผมว่า "อุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน แต่รากเหง้าของมันย่อมเกิดจากความเผลอสติ หรือความประมาทเสมอ"Ž

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดถึงว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนเพิ่งไปเยี่ยมเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งกระดูกข้อศอกหักเพราะตกบันไดสะพานลอยข้ามถนนในกรุงเทพฯ เพื่อนคนนี้เป็นแบบอย่างของคนประหยัด เรียบง่าย นิยมขึ้นรถประจำทาง ทั้งๆ ที่มีรถขับส่วนตัว วันเกิดเหตุ เขาเดินข้ามสะพานลอยเพื่อไปต่อรถประจำทาง แต่ด้วยความเร่งรีบ เขาวิ่งลงสะพานลอย ก็สะดุดกลิ้งลงบันได ๑๐ กว่าขั้น ข้อศอกข้างหนึ่งแตกหักเพราะกระแทกถูกขอบปูน จนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล และต้องหยุดงานไปนาน
เมื่อเกือบ ๒๐ ปีมาแล้ว ผมก็เคยเกิดอุบัติอยู่ครั้งหนึ่ง ตอนนั้นไปร่วมประชุมสัมมนาที่ปากช่อง ตกเย็นมีงานเลี้ยงรับรอง พอดีเหลือบเห็นแขกฝรั่งที่รับเชิญมาเป็นวิทยากร ไม่มีน้ำดื่ม ผมเลยวิ่งไปในครัวเพื่อหาแก้วใส่น้ำมาให้ดื่ม ไม่ทันสังเกต ก็สะดุดขอบปูนล้มลง หน้าแข้งกระแทกถูกขอบปูน เจาะเป็นแผลทั้ง ๒ ข้าง จนต้องไปเย็บที่โรงพยาบาล เสียเวลารักษาแผลอยู่นานเป็นเดือน
ตรงนี้ ถ้าคิดถึง "กฎแห่งกรรม" ก็ต้องน้อยใจว่า "ทำไม! ทำดีแล้วกับได้ไม่ดี"
ที่ว่าทำดี ก็คือ อย่างเพื่อนผมมีความประหยัดเรียบง่าย อย่างผมมีน้ำใจต่อแขกฝรั่ง
แต่ผลที่ได้รับกลับเป็นการบาดเจ็บของร่างกาย (ไม่ดี)

เมื่อใคร่ครวญอีกชั้นหนึ่ง ก็จะพบว่า เราไปจับกฎแห่งกรรมผิดคู่ผิดฝานั่นเอง
ความจริง อุบัติเหตุทั้ง ๒ กรณีดังกล่าว ล้วนเกิดจากความประมาทพลั้งเผลอ (เพราะความเร่งรีบ ตาลีตาลาน ขาดความระมัดระวัง)
ส่วนการประหยัดของเพื่อนผม และการมีน้ำใจของผม ก็ได้ดีในตัวมันเองคือ ความภูมิใจในตนเอง และความสุขใจนั่นเอง

ความเผลอสติและความประมาทเป็นบ่อเกิดของอุบัติเหตุ

อุบัติเหตุย่อมนำมาซึ่งความเสียหาย ทั้งทางร่างกายและทรัพย์สิน ถ้ารุนแรงก็ถึงขั้นสูญเสียชีวิต (เช่น เมาแล้วขับ)

ปีใหม่นี้ ขอให้เราจงเจริญสติ และไม่ประมาทในการดำเนินชีวิตในทุกที่ทุกเวลา จะได้แคล้วคลาดจากอุบัติภัย และมีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป!

ข้อมูลสื่อ

309-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 309
มกราคม 2548
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ