• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรคภูมิแพ้

ถาม เพราะเหตุใด ทุกครั้งที่อากาศเปลี่ยน อาการภูมิแพ้จะเป็นมากขึ้น ควรใช้ยาและปฏิบัติตัวอย่างไร
การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทำให้อาการของโรคภูมิแพ้รุนแรงขึ้น

อากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่กระตุ้นให้ร่างกายตอบสนองกับสิ่งที่เราแพ้แล้วทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ได้รุนแรงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอากาศร้อนหรืออากาศเย็น อุณหภูมิที่ต่ำหรือสูงกว่าปกติจะไปกระตุ้นให้อาการโรคภูมิแพ้กำเริบมากยิ่งขึ้น
ไม่เฉพาะโรคภูมิแพ้เท่านั้นที่พบบ่อยหรือกำเริบรุนแรงมากขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง แต่ยังพบโรคหืด โรคไข้หวัด และโรคผิวหนังแห้งแตกได้บ่อยขึ้นหรือรุนแรง มากขึ้นเมื่ออากาศเปลี่ยนแปลง
ดังนั้น เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว จึงพบโรคภูมิแพ้ในโพรงจมูก โรคหืด ไข้หวัด และโรคผิวหนังอักเสบแห้งแตกได้บ่อยและรุนแรงยิ่งขึ้น

เมื่อย่างเข้าฤดูหนาว ควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ควรรักษาร่างกายให้อบอุ่น โดยการสวมใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสม เพื่อช่วยไม่ให้อากาศหนาวเย็นหรืออุณหภูมิต่ำมากระทบกับร่างกาย พร้อมทั้งรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้อยู่ในสภาวะปกติ
นอกจากนี้ ควรรักษาสุขภาวะของร่างกายเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์และแข็งแรงด้วย
-การพักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ
วันละอย่างน้อย ๖_๘ ชั่วโมง ไม่นอนดึกๆ หรืออดนอน ในกรณีที่นอนดึก ก็ไม่ควรตื่นนอนแต่เช้า ควรนอนต่อเป็นระยะเวลาที่นานเพียงพอ โดยอาจจะตื่นนอนสายหน่อย เพื่อให้เกิดการพักผ่อนที่เพียงพอ
-ในเรื่องการกินอาหาร ควรเลือกกินทั้งชนิดและปริมาณอาหารที่เพียงพอเหมาะสมไม่มากหรือน้อยเกินไป เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้พลังงานและซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกายในแต่ละวัน และบังเอิญถูก สุขอนามัยที่ดีต่อร่างกาย 
-ในด้านการออกกำลังกาย ควรออกกำลังให้เหมาะสมกับวัย จะเป็นการวิ่ง การเดิน หรือการทำงานในกิจวัตรประจำวันที่ออกเหงื่อก็ได้ เช่น การกวาดบ้าน ล้างรถ เป็นต้น ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละประมาณ ๓๐ นาที หรือครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ ๓ ครั้ง ถ้าออกกำลังกายได้นานหรือบ่อยกว่านี้ได้ก็จะยิ่งดี จะส่งผลต่อสุขภาวะของทั้งทางร่างกาย (ซึ่งรวมถึงระบบภูมิคุ้มกัน) และจิตใจ การออกกำลังกายนอกจากช่วยให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดความเครียดให้แก่จิตใจได้อย่างดี
-รักษาสภาวะจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ไม่เคร่งเครียด หรือเศร้าหมอง ซึ่งมีกลวิธีต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย เล่นโยคะ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เป็นต้น ทั้งนี้เพราะเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ความเครียดที่มากและนานเกินไปส่งผลเสียอย่างมหาศาลต่อร่างกายและจิตใจ ซึ่งรวมถึงประสิทธิภาพการทำงานของภูมิต้านทานของเราด้วย

ดังนั้น การรักษาสุขภาวะของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญ ที่สุด ตามประเด็นต่างๆ ที่ได้กล่าวไปแล้วนี้จะช่วยส่งเสริม สุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์ และจะช่วยป้องกันต้านทานมลพิษ สารก่อภูมิแพ้ หรือจุลชีพจากภายนอก เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของร่างกาย ซึ่งรวมถึงระบบ ภูมิคุ้มกันของเราให้สมบูรณ์พร้อมต่อการเผชิญของการเปลี่ยนแปลงอากาศทั้งหนาว เย็น และแห้งในฤดูหนาว

ควรเลือกยารักษาโรคภูมิแพ้อย่างไร
การดูแลรักษาโรคภูมิแพ้มีหลักการใหญ่ๆ ๓ ด้าน ดังนี้
๑. การค้นหาสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้
๒. การใช้ยารักษา
๓. การรักษาด้วยวัคซีนสารก่อภูมิแพ้

๑. การค้นหาสารก่อภูมิแพ้โรค หรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้

เมื่อรักษาร่างกายให้แข็งแรงแล้ว ควรค้นหาสารก่อภูมิแพ้ หรือสิ่งกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ ซึ่งถ้าพบว่า แพ้สารก่อภูมิแพ้ใด และสามารถหลีกเลี่ยงได้ ก็จะปลอดอาการแพ้ ไม่มีอาการอีกเลย
สารก่อภูมิแพ้ที่พบได้บ่อยในประเทศไทยคือ ไรฝุ่น แมลงสาบ เชื้อรา และเกสรดอกไม้ ซึ่งแตกต่างกับในประเทศตะวันตกที่พบ การแพ้เกสรดอกไม้ได้บ่อยกว่า นอกจากนี้ ยังมีสารอีกเป็นจำนวนมากที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้ แต่ไม่ได้กล่าวในที่นี้ ซึ่งรวมถึงยาต่างๆ ที่เราใช้ในการรักษาโรคด้วย
วิธีในการค้นหาสารภูมิแพ้นี้ เริ่มต้นด้วยการสังเกต และซักประวัติของผู้ที่แพ้ว่า มีประวัติเด่นชัดว่าสารใดที่ไปสัมผัสแล้วทำให้เกิดอาการแพ้ขึ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายจะแพ้แมลงสาบ ดังนั้นเมื่อทราบว่าแพ้แมลงสาบ ก็ควรขจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้กับแมลงสาบ ด้วยการกำจัดเศษอาหารที่เหลือทิ้งไว้ให้เกลี้ยง แล้วใส่ลงในขยะที่มีภาชนะปิดสนิท ที่ป้องกันไม่ให้แมลงสาบเข้าไปค้นหาและกินเป็นอาหารได้
ในบางครั้งถึงแม้จะซักประวัติอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้วก็หาสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้ ในกรณีเช่นนี้ก็มี ๒ ทางเลือก คือ ใช้ยาเพื่อควบคุมอาการแพ้ไม่ให้รุนแรงและรบกวนการทำงานตามปกติ หรือไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการทดสอบสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนังของเรา ซึ่งเป็นวิธีการที่หาสาเหตุโดยผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งถ้าโชคดีพบสารก่อภูมิแพ้ และหลีกเลี่ยงได้ ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยปลอดอาการแพ้ได้ตลอดไป

๒. การใช้ยารักษา

ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยา เช่น หาสาเหตุและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ไม่ได้ ยาที่ใช้เพื่อควบคุมอาการแพ้ แบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ คือ ยาต้านฮิสตามีน และยา คอร์ติโคสตีรอยด์
ยาต้านฮิสตามีน ที่เป็นที่รู้จักกัน คือ คลอร์เฟ-นิรามีน ซึ่งเป็นเม็ดเล็กๆ สีเหลือง หรือไฮดรอกไซซีน ซึ่งเป็นเม็ดเล็กสีขาว ยาทั้ง ๒ ชนิดนี้เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีในการรักษาโรคภูมิแพ้ และราคาย่อมเยา แต่มีข้อเสียคือทำให้ง่วง ปากแห้ง คอแห้ง ในรายที่ต้องทำงานที่เสี่ยงอันตราย เช่น ขับรถ ทำงานเครื่องจักร เป็นต้น ก็ควรหลีกเลี่ยงยาชนิดนี้ โดยไม่ใช้ยาในกลุ่มใหม่ เช่น ลอราทาดีน เซทิริซีน เฟกโซเฟนาดีน เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่เกิดอาการ ง่วงนอนได้น้อย ทั้งยังออกฤทธิ์ได้นาน จึงใช้เพียงวันละ ๑-๒ครั้ง ก็เพียงพอต่อการออกฤทธิ์ของยาทั้งวัน
ยาคอร์ติโคสตีรอยด์ ยาชนิดนี้บางครั้งเรียกสั้นๆ ว่า สตีรอยด์ มีทั้งชนิดฉีด ชนิดเม็ด ชนิดพ่นจมูก ชนิดสูดเข้าปอด ชนิดครีมทาผิวหนัง เป็นต้น เป็นยาที่ได้ผลดีในการรักษา แต่เมื่อมีการใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้เกิดผลเสียอย่างรุนแรงต่อร่างกายได้ โดยเฉพาะชนิดฉีดและชนิดเม็ด เมื่อมีการใช้นานๆ จะไปกดการทำงานของไต ระบบภูมิคุ้มกันและอื่นๆ ทำให้ร่างกายมีการสะสมของน้ำเป็นปริมาณมาก ทำให้ตัวบวมน้ำ ความดันเลือดสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย น้ำตาลในเลือดสูง เป็นต้น ในทางการแพทย์จึงไม่ใช้ยาสตีรอยด์ ในกรณีทั่วไป จะเก็บไว้ใช้ในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น และควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์
ส่วนยาสตีรอยด์ในรูปแบบชนิดพ่นจมูก ชนิดสูดเข้าปอด และชนิดครีมทาผิวหนังเป็นรูปแบบที่ได้ผลดีที่ยา ไปออกฤทธิ์ ณ จุดออกฤทธิ์ของยาได้เลย ซึ่งอาจมีการดูดซึมเข้ากระแสเลือดไปออกฤทธิ์ทั่วร่างกายเหมือนดั่งยาฉีดและยาเม็ด แต่ถูกดูดซึมได้ในปริมาณที่น้อยมาก จึงใช้ ได้อย่างปลอดภัย (ยกเว้นยาทาสตีรอยด์ ซึ่งถ้ามีการใช้ติดต่อกันนาน ก็อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผิวหนังได้)

๓. การรักษาด้วยวัคซีนสารก่อภูมิแพ้ (immunotherapy)

การรักษาด้วยวัคซีนสารก่อภูมิแพ้ เป็นอีกทางเลือก หนึ่งของผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ แต่นิยมเป็นทางเลือกสุดท้าย เมื่อใช้วิธีการรักษาทั้ง ๒ วิธีแรกแล้วไม่ได้ผล หรือในราย ที่มีอาการรุนแรงมาก โดยการทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ดังที่ได้กล่าวไปแล้วในข้อแรก เมื่อพบสารนี้แล้วก็ค่อยๆ ฉีดสารก่อภูมิแพ้นี้ครั้งละน้อย และค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ในระดับที่ผู้ป่วยสามารถทนได้และสร้าง ภูมิคุ้มกันต่อสารนี้ได้เป็นอย่างดี จนถึงระดับหนึ่ง ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้เวลามากกว่า ๖ เดือน จึงจะมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอที่จะต่อต้านสารที่ก่อภูมิแพ้ในธรรมชาติได้

ดังนั้น วิธีนี้จึงใช้เวลานาน จึงจะเริ่มได้ผล ทั้งยังต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ป่วยต้องเจ็บตัว จึงนำมาใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย

อย่างไรก็ตาม การส่งเสริมสุขภาพร่างกาย และการค้นหาและหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้เป็นสิ่งที่ดีที่สุด ทั้งประหยัด ปลอดภัยและได้ผลดี โดยไม่ต้องพึ่งยาและหมอ เมื่อใดที่อาการเปลี่ยนแปลงจึงควรระมัดระวังตัว หลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ และรักษาร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรงเพียงพอต่อสู้กับโรคที่คอยฉวยโอกาสมาทำลายเรา

สุดท้ายนี้ หากมีข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพ เภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาใกล้ๆ บ้านของท่าน ก็ยินดีให้บริการแก่ทุกท่าน

ข้อมูลสื่อ

309-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 309
มกราคม 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด