• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แบกอย่างไรไม่ให้เจ็บ

แบกเป็นกิจกรรมที่ทำกันอยู่ทุกวัน
แบกในที่นี้มาจากคำภาษาอังกฤษว่า carrying ซึ่งรวมถึง การเคลื่อนย้ายวัตถุในแนวราบด้วยการเดิน ไม่ว่าจะเป็นการถือวัตถุด้วยมือ หรือแบกด้วยบ่า คอ ไหล่ การหาบ ทูนวัตถุด้วยศีรษะ เป็นต้น
การแบกสามารถก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะทำงานและเป็นสาเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสะสมได้ เช่นเดียวกับการยก การดึงและดันวัตถุ แต่ที่สำคัญ การแบกมักเป็นกิจกรรมที่ต้องทำอยู่นานและใช้พลังงานมากทำให้เกิดความเมื่อยล้าได้ ในทางอุตสาหกรรมใช้การแบกน้อยลง เนื่องจากมีการใช้ รถเข็น ล้อเลื่อนและรางเลื่อนมาช่วยเคลื่อนย้ายวัตถุมากขึ้น แต่ในทางเกษตรกรรมยังมีการแบกวัตถุกันอยู่มากเพราะสภาพพื้นที่ไม่อำนวยในการใช้รถเข็น เช่น การแบกกระสอบ แบกถุงปุ๋ย การหาบน้ำ
ฉบับนี้ขอเสนอวิธีการป้องกันการบาดเจ็บจากการแบก และข้อดีข้อเสียของการแบกแต่ละชนิด เพื่อให้เป็นแนวคิดแก่ผู้ใช้แรงงานที่จะต้องแบกวัตถุบ่อยๆ

แบกไม่เหมือนยก

แบกต่างจากยกตรงที่ว่าแบกเป็นการเคลื่อนย้ายวัตถุในแนวราบ ในขณะที่ยกเป็นการเคลื่อนย้ายวัตถุในแนวดิ่งต้านกับแรงโน้มถ่วงของโลก
การยกต้องใช้ความแข็งแรงอย่างมากในการเอาชนะแรงโน้มถ่วงของน้ำหนักนั้น และต้องอาศัยการทำงานที่ประสานกันของกล้ามเนื้อแขนขาและลำตัว ซึ่งจะทำให้เกิดแรงกดที่หมอนรองกระดูก- สันหลังได้มากกว่าการแบก เนื่องจากการยกมีการเคลื่อนไหวของหลังและกล้ามเนื้อหลังต้องทำงานหนักกว่า

โดยทั่วไปแล้วคนทำงานสามารถแบกของได้หนักกว่ายก ยกตัวอย่างในคนแบกกระสอบข้าวสารสามารถแบกข้าวสารหนัก ๑๐๐ กิโลกรัมได้ แต่ไม่สามารถยกกระสอบข้าวใส่บ่าตัวเองได้ จะต้องมีคนช่วยยกใส่บ่าให้เนื่องจากการจะยกน้ำหนัก ๑๐๐ กิโลกรัมไม่ใช่เรื่องง่าย

การแบกวัตถุด้วยมือ
การแบกวัตถุด้วยมือ มี ๒ แบบคือ
- การถือของด้านหน้าลำตัวด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง การแบกแบบนี้มีข้อดีคือสามารถวางและปล่อยวัตถุได้ง่าย เหมาะสำหรับการแบกของหนักในระยะเวลาสั้นๆ ส่วนที่จะมีอาการล้าคือกล้ามเนื้อของแขนและมือที่ถือวัตถุนั้นอยู่ การถือของด้วยการงอข้อศอกจะทำให้ถือได้น้อยลงลงประมาณ ๒-๓ กิโลกรัม แต่ช่วยในแง่ของการเดิน เนื่องจากการงอศอกจะช่วยไม่ให้วัตถุไปกีดขวางการเคลื่อนไหวของขาขณะเดิน แต่อุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น คือการลื่น สะดุด ล้ม เนื่องจากมองไม่เห็นพื้น การ ขึ้น-ลงบันไดต้องทำด้วยความระมัดระวังมากเป็นพิเศษ 
- การหิ้ว เช่น การหิ้วกระเป๋า มีข้อดีเช่นเดียวกัน กับการถือของทางด้านหน้า เพราะสามารถวางและ ยกวัตถุได้ง่าย แต่ข้อเสียคือลำตัวจะเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่งและต้องใช้พลังงานอย่างมากในการหดเกร็งแบบคงที่ของกล้ามเนื้อที่ใช้ในการทรงตัว ดังนั้น ถ้าจะต้องเดินมากกว่า ๑๐๐ เมตรไม่ควรหิ้วของหนักเกิน ๕ กิโลกรัม

การแบกวัตถุด้วยบ่าและหลัง
การแบกวัตถุด้วยบ่าและหลัง เช่น การแบกกระสอบข้าวสาร ถุงปูน การแบกแบบนี้จะสามารถแบก น้ำหนักได้มากที่สุด เพราะน้ำหนักของวัตถุจะตกผ่านลำตัวไปสู่พื้นโดยไม่ต้องใช้แรงของแขนในการถือวัตถุนั้น

ข้อเสียของการแบกแบบนี้คือ
๑) ผู้แบกต้องทรงตัวให้ดี ยิ่งถ้าแบกขึ้นลงทาง ลาด เช่น บันได หรือทางเดินแคบ ผู้แบกจะเสียการทรงตัว ตกบันไดหรือล้มได้ง่าย
๒) ถ้าผู้แบกไม่มีความชำนาญ จะต้องใช้กล้ามเนื้อ หลังอย่างมากในการแบก อาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของ หลังได้ง่าย
๓) จะมีแรงกดอย่างมากบริเวณจุดที่รับน้ำหนัก เช่น คอหรือบ่า ทำให้การไหลเวียนเลือดบริเวณนั้นลดลง
๔) จะทำให้ข้อกระดูกสันหลังบริเวณคอและหลังผิดรูป หรือเสียความยืดหยุ่นไป ถ้าต้องทำงานแบกลักษณะนี้ไปนานๆ

การหาบ
การหาบมีหลายชนิด การหาบของขายของแม่ค้า การหาบสินแร่ในงานเหมือง การแบกชนิดนี้มีข้อดีคือ แบกน้ำหนักได้มาก ผู้แบกสามารถยกวัตถุได้เอง และใช้ พลังงานน้อยกว่าการถือด้วยมือ อีกทั้งยังสามารถใช้มือช่วยป้องกันไม่ให้ล้มได้ขณะแบก
แต่การหาบมีข้อเสียคือ จะเสียการทรงตัวได้ง่ายถ้าไม่ชำนาญ มีแรงกดบนบ่าถ้าน้ำหนักมากเกินไป การหาบโดยใช้คอนของแม่ค้านับว่าเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่น่าทึ่ง เนื่องจากไม้คานนั้นมีความยืดหยุ่น เคลื่อนไหวขึ้นลงขณะเดิน ทำให้แรงกดบนบ่าลดลงเป็นช่วงๆ

การสะพายด้วยเป้
การสะพายโดยใช้เป้นับเป็นการแบกที่มีประสิทธิ-ภาพดีที่สุดเพราะใช้พลังงานน้อยที่สุด เหมาะสำหรับการแบกของที่มีน้ำหนักมากถึงปานกลาง และต้องแบกเป็นระยะเวลานาน
การบรรจุของลงในเป้ ควรให้ของหนักอยู่ใกล้เอว (ก้นเป้) มากที่สุด กระจายน้ำหนักไปทางด้านหน้าของเป้มากที่สุด และกระจายน้ำหนักทางด้านข้างให้เท่ากัน ทั้งนี้เพื่อให้ทรงตัวได้ง่าย และกล้ามเนื้อหลังทำงานน้อยที่สุด

ข้อเสียของการแบกแบบนี้คือแรงกดของสายสะพายบนบ่า และหน้าอก การวางและยกเป้มาสะพาย ทำได้ยาก การระบายความร้อนของร่างกายทำได้ไม่ดี เนื่องจากการที่เป้แนบกับส่วนหลัง ถ้าของหนักมากจะต้องก้มหลัง ทำให้เสียบุคลิกและมีการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังได้โดยเฉพาะในนักเรียนที่สะพายเป้ทุกวัน ไม่ควรให้เป้หนักเกินร้อยละ ๑๐-๒๐ ของน้ำหนักตัว

การทูนของด้วยศีรษะ
เป็นวิธีการแบกที่ใช้พลังงานค่อนข้างน้อย แต่ ผู้แบกต้องอาศัยความชำนาญอย่างมากในการทรงท่า การเคลื่อนไหวของตัวในทิศทางต่างๆ เช่น การหมุนตัว การเดินขึ้นลงทางลาดทำได้ยาก เพื่อลดแรงกดที่ศีรษะผู้แบกต้องหาวัสดุนิ่มมารองระหว่างศีรษะกับวัตถุ

๘ ปัจจัยที่ควรคำนึงถึงขณะแบก
๑. วิธีการแบกวัตถุ มีหลายแบบ ตั้งแต่ หิ้ว ถือ สะพาย ทูน หาบ แบกโดยใช้บ่า คอ หลัง และสะโพก การแบกแต่ละแบบจะใช้พลังงานและมีข้อดีข้อเสีย ต่างกัน
๒. การใช้พลังงาน การแบกจะเหมือนกับการเพิ่มน้ำหนักตัว ซึ่งจะทำให้ต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
๓. น้ำหนักวัตถุ เป็นปัจจัยหลักที่มีผลถึงพลังงาน ที่ใช้ การบาดเจ็บที่อาจจะเกิดขึ้นจากการที่มีแรงกดไปที่หมอนรองกระดูกมากเกินไปและการลื่นล้มเนื่องจากการเสียการทรงตัว
๔. ระยะห่างของวัตถุกับลำตัว ถ้าจุดศูนย์ถ่วงของวัตถุอยู่ห่างจากตัวทางด้านหน้า จะต้องใช้กล้ามเนื้อหลังมากในการดึงไม่ให้ตัวล้มไปข้างหน้า ในทางกลับกันถ้าแบกของไว้บนหลังจำเป็นต้องก้มเพื่อให้จุดศูนย์ถ่วงตกลงระหว่างเท้าทั้ง ๒ ข้าง
๕. ระยะทางและความเร็วในการเดินแบกวัตถุ ระยะทางการแบกวัตถุที่ไกล มีความเร็วในการเดิน สูง จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้น ปัจจัยนี้มีความสัมพันธ์กับ น้ำหนักของวัตถุ กล่าวคือถ้าวัตถุหนักมากระยะทางที่สามารถแบกได้และความเร็วในการเดินจะน้อยลง
๖. แรงกดระหว่างวัตถุกับร่างกาย เช่น การหาบของจะมีแรงกดที่บริเวณไม้คาน หรือการสะพายเป้ทางด้านหน้า จะขัดขวางการหายใจ
๗. การระบายความร้อน เช่น การสะพายเป้หลัง เป็นระยะเวลานานๆ จะขัดขวางการระบายความร้อนโดยผิวหนังบริเวณหลัง
๘. ที่จับหรือมือจับที่จับได้สะดวกและมั่นคง จะช่วยให้แบกน้ำหนักได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ ๑๐-๒๐

๘ ข้อแนะนำทั่วไปสำหรับการแบกวัตถุ
- เลือกชนิดของการแบกให้เหมาะสมกับงาน เช่น การแบกกระสอบข้าวสาร ควรแบกด้วยบ่า เพราะสามารถจะวางกระสอบลงพื้นได้ง่าย 
- การเดินแบกวัตถุแม้ในทางราบจะใช้พลังงานมาก ถ้างานส่วนใหญ่เป็นการแบกหาม ต้องกินอาหารที่ให้พลังงานสูง ดื่มน้ำให้เพียงพอ และพยายามนอนในระหว่างช่วงพัก เพื่อช่วยลดแรงกดที่กระดูกสันหลัง และลดการล้าของกล้ามเนื้อ
- ไม่ควรแบกของที่หนักเกินกำลัง ขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศกฎกระทรวงว่าด้วยกำหนดอัตราน้ำหนักที่นายจ้างให้ลูกจ้างทำงาน ยก แบก หาม หาบ ทูน ลาก หรือเข็นของหนักได้ไม่เกิน ๕๕ กิโลกรัมในชาย และ ๒๕ กิโลกรัมในหญิงไทย
- ควรแบกวัตถุให้ชิดตัวมากที่สุดเพื่อที่จะใช้พลังงานน้อยที่สุดในการทรงตัว
- ขณะแบก มือและขาควรเคลื่อนไหวได้สะดวก โดยเฉพาะการเดินไม่ควรให้วัตถุที่แบกขัดขวางการเดิน เช่นการแบกของไว้ด้านหน้าด้วยมือทั้ง ๒ ข้าง จะทำให้เดินไม่สะดวก
- บริเวณที่มีแรงกดจากการแบกควรใช้วัสดุที่นิ่มรอง ยกตัวอย่างเช่น บริเวณคอหรือบ่าควรหาผ้าหรือวัสดุนิ่มมารอง เพื่อป้องกันการกดทับ
- ในการแบกวัตถุในระยะทางไกลโดยเฉพาะการใช้เป้หลัง ควรมีการพักวางเป็นระยะๆ เพื่อให้แผ่นหลังได้ระบายความร้อน และเป็นการลดแรงกดบริเวณบ่า
- การแบกกล่องควรมีที่จับข้างกล่องที่มั่นคง

จะเห็นได้ว่าจะแบกวัตถุให้ปลอดภัย ต้องไม่ให้น้ำหนักวัตถุมากเกินไป ควรเลือกวิธีการแบกที่เหมาะสม แบกให้ชิดลำตัวมากที่สุด ของที่แบกไม่ควรขัดขวางการใช้มือหรือการเดิน ระวังพื้นลื่น ทางลาดและบันได เนื่องจากขณะแบกจะทรงตัวได้ไม่ดี ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานแบกหามทั้งวัน ควรต้องกินอาหารที่ให้พลังงาน และดื่มน้ำให้เพียงพอ เพียงเท่า นี้ตัวท่านจะปลอดภัยจากการบาดเจ็บจากการแบก
 

ข้อมูลสื่อ

309-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 309
มกราคม 2548
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ