• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อผมปวดข้อเท้า

ผมมีโอกาสไปแข่งฟุตบอลของผู้บริหารในกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวง อธิบดี และคนอื่นๆ ที่อาวุโสมาแข่งฟุตบอลกัน และได้ลงแข่งด้วย
ขณะนั้นรองอธิบดีกำลังเลี้ยงลูกฟุตบอลตรงเข้าจะยิงประตูฝ่ายผม ผมทำหน้าที่เป็นแบ็กซ้าย จึงวิ่งเข้า ไปหา อย่างไรก็ไม่ยอมให้ผ่านผมไปง่ายๆ ด้วยอดีตเคย เป็นนักฟุตบอล แต่อนิจจา ตอนนี้อายุ ๕๐+ ปีแล้ว

ผมวิ่งเข้าไปขวางทางแล้วกดเท้าซ้ายจิกลงบนพื้น พร้อมกับปล่อยเท้าขวา กะสวนเต็มเหนี่ยว กะว่าจะรวบทั้งฟุตบอลและคนเล่นฟุตบอลให้หยุดชะงัก ทันทีทันใดนั้น รองอธิบดีไหวตัวทัน เพราะเขาอายุน้อยกว่าผม จึงเขี่ยฟุตบอลหลบไปพร้อมกับใช้เท้าขวา ของเขา ซึ่งมีปุ่มสตั๊ด ที่ปุ่มๆ รับหลังเท้าขวาของผม หลังเท้าผม เจอกับกับปุ่มสตั๊ดเต็มเปา ขณะชุลมุนผม ยังไม่ทันรู้สึกอะไร

หลังจากเลิกแข่งฟุตบอลมีงานเลี้ยงต่อสนุกสนาน มาก แต่พอวันรุ่งขึ้นผมต้องไปประชุมและนอนค้างที่โรงแรม พอตอนกลางคืน ปวดข้อเท้าขวามาก เดินลำบาก อยู่โรงแรมไม่มียาติดตัวเลย ปวดขาจนนอนไม่ หลับผมจะทำอย่างไรดี ค้นๆ กระเป๋ามีพาราเซตามอล อยู่ จึงกินพาราเซตามอล ๒ เม็ด ก็ยังไม่หายปวดท่าทางอีกวันคงเข้าประชุมไม่มีประสิทธิภาพแน่

นึกขึ้นได้ว่า ครั้งหนึ่งไปต่างประเทศและมีโอกาส เผชิญกับปัญหาคล้ายๆ แบบนี้ คือไปที่สหรัฐอเมริกา ช่วงหิมะตก หนาวมาก เดินลื่นหกล้มปวดเข่ามาก เพื่อนผมใช้น้ำแข็งห่อผ้ามาประคบให้ พอนึกขึ้นได้จึงไปเปิดตู้เย็นในโรงแรม โชคดีที่มีน้ำแข็งเหลืออยู่ในเครื่องทำน้ำแข็ง จึงเอาผ้ามาห่อบางๆ แล้ววางประคบ ที่ข้อเท้าขวา อาการปวดค่อยทุเลาลง และรีบหาอะไรมาทำน้ำแข็งใส่ในช่องทำน้ำแข็งต่อ

เชื่อไหมครับว่า คืนนั้นนอนหลับด้วยความสบาย และพยายามเดินแบบประคับประคองไม่ให้เกิดการกระทบกระเทือนมากขึ้น ข้อเท้าเจ็บ เขาต้องการพัก เราก็ให้เขาพัก
บทเรียนครั้งนี้ทำให้ต้องการจะสื่อสารว่าเพียงแค่ ความเย็นกับความร้อน สามารถรักษาโรคได้มากมาย โดยเฉพาะโรคเกี่ยวกับการอักเสบของกระดูก ข้อ เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ
หลักการมีดังนี้
๑. ถ้าเกิดใหม่ๆ ให้ใช้ความเย็น
๒. ถ้าเกิดแบบเรื้อรังมานานแล้ว ให้ใช้ความร้อน
ถ้าถูกเตะ ใช้น้ำแข็งประคบ
ถ้าปวดสะบักคอหันไม่ค่อยได้ ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นๆ มาวางบริเวณที่ปวดให้ร้อนๆ
ถ้าปวดหัวเข่า ถ้าปวดทันทีทันใด เช่น หกล้ม กระแทก ใช้ความเย็นประคบ แต่ถ้าปวดมานานและปวดไม่มาก ใช้ความร้อนประคบ

สรุป ภายใน ๔๘ ชั่วโมงแรก ใช้ความเย็น หลังจากนั้นใช้ความร้อน

ทดลองดูได้ ถ้าใช้ความเย็นแล้วยิ่งปวด ก็เปลี่ยนมาใช้ความร้อนได้ สังเกตอาการของตนเอง และตรงไหนเขาเจ็บ เขาต้องการ พัก ให้เขาพักหน่อย และอย่าพยายามทดสอบความเจ็บอยู่บ่อยๆ เราอยากรู้ว่าหายหรือยัง อย่ารีบร้อน ใจเย็นๆ

ตัวเราเองสามารถเพิ่มการหายจากอาการปวดเร็วขึ้น โดยการนวดเบาๆ เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงได้ดีขึ้น ก็ไม่แปลก ทำได้แต่อย่าให้แรงเกินไป อย่าใจร้อน เวลานวดต้องตั้งสติดีๆ นึกวาดภาพในเนื้อเยื่อเรามีการอักเสบ จะมีการคั่งของกรดในเนื้อเยื่อ พอเรานวดจะไล่เลือดที่มีกรดออก และมีเลือดใหม่เข้ามาแทนที่คล้ายล้างสิ่งสกปรกออกไป ต้องค่อยๆ ล้าง มิใช่ล้าง ทีเดียว

จริงๆ แล้วการนวดมีวิธีการมากกว่าที่ผมพูด คนที่มีพลังมากมือจะเป็นช่องทางของการถ่ายทอดพลังงาน การนวดให้คนอื่น บวกด้วยความรักความหวังดี พร้อมกับการเป็นคนมีคุณธรรม จะมีพลังมาก เพียงจับเบาๆ บีบเบาๆ อาการจะดีขึ้นทันที
เวลาลูกหกล้ม จะวิ่งเข้ามาหาพ่อแม่ พ่อแม่จะเป่าเพี้ยงหาย
การเป่าคือการเพิ่มพลังอีกทางหนึ่ง เอามือลูบเบาๆ ลูกก็จะดีขึ้น เพราะมือ ลมปากเราเป็นสื่อนำความรักความห่วงใย
การดูแลตนเองแบบง่ายๆ การเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาต่อยอด ด้วยความรู้สมัยใหม่ น่าจะเป็น คำตอบของการแก้ปัญหาแบบยั่งยืน โดยไม่ลืมสิ่งที่ดีๆ ของเราในอดีต

อย่าลืมกำพืดของตัวเองนะครับ เราเป็นคนไทย ต้องไทยนิยม ของดีๆ เรามีอยู่มากมาย...

 

ข้อมูลสื่อ

309-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 309
มกราคม 2548
นพ.วิวัฒน์ วิริยกิจจา