• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปวดหัวไหล่สกัดจุดที่หน้าแข้ง

ปวดหัวไหล่สกัดจุดที่หน้าแข้ง

เรื่องพลังบนเส้นลมปราณ การฝังเข็มหรือกดจุด (ซึ่งต้องกดให้ลึกพอ) นอกจากจะสามารถทะลวงให้พลังไหลเวียนคล่องเพื่อรักษาโรคต่างๆ ตามแนวทางเดินของเส้นแล้วยังมีปรากฏการณ์แปลกๆคือการรักษาพลังลมปราณข้ามเส้น ตัวอย่างเช่นผู้ป่วยปวดเอว สามารถใช้การฝังเข็มหรือกดจุดที่บริเวณเหนือข้อมือทำให้อาการปวดเคล็ดเอวทุเลาลงได้

ผู้ป่วยปวดต้นคอ สามารถฝังเข็มหรือสกัดจุดที่บริเวณมือ ทำให้หายคอเคล็ดได้
ผู้ป่วยปวดหัวไหล่ ฝังเข็มสกัดจุดบนหน้าแข้ง ทำให้หายปวดหัวไหล่ได้
ผู้ป่วยหญิงมีอาการปวดหัวไหล่ซ้าย ยกแขนไม่ถนัด มีอาการปวดตึง มือไขว้หลังไม่ได้ เป็นมาประมาณ ๒-๓ วัน กินยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ค่อยทุเลา แพทย์ให้การวินิจฉัยว่า เนื้อเยื่อรอบหัวไหล่อักเสบ ไปหาหมอฝังเข็ม หมอฝังเข็มตรวจคลำจุดบริเวณหน้าแข้งซ้ายและขวา พบว่ามีจุดกดเจ็บบริเวณหน้า แข้งขวามากกว่าซ้าย กดแล้วผู้ป่วยจะเจ็บมาก หมอฝังเข็มใช้ เข็มยาวประมาณ ๓ นิ้ว แทงลงบนจุดนั้นลึกประมาณ ๑.๕ นิ้ว กระตุ้นเข็มขึ้นลงและหมุนอย่างแรง จนผู้ป่วยเกิดความรู้สึกหนักๆ หน่วงๆ เสียวๆ (ความรู้สึกว่าพลังลมปราณเคลื่อน) กระตุ้น ๓ นาที คาเข็มไว้ ๒๐ นาที ระหว่าง ๒๐ นาทีกระตุ้นเป็นระยะ ๒-๓ ครั้ง ระหว่างกระตุ้นให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวแขนไปด้วย

หลังจากการฝังเข็ม จะพบว่ามีผู้ป่วยหายปวดและเคลื่อน ไหวหัวไหล่ได้คล่องทันที (บางรายที่เป็นมากอาจต้องใช้การฝังเข็มแบบนี้หลายครั้ง หรือต้องเสริมการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ เพิ่ม)
ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น การปวดหัวไหล่สามารถทุเลาหรือ บำบัดอาการปวดหัวไหล่ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการทะลวงจุดบน กล้ามเนื้อข้างหน้าแข้ง นับเป็นสิ่งมหัศจรรย์และเป็นที่ประหลาด ใจของคนไข้ หรือผู้ที่พบเห็นอยู่ไม่น้อย

จุด "เถียวโข่ว" รักษาปวดหัวไหล่
เถียว แปลว่า แท่ง หรือแนว
โข่ว แปลว่า ปาก เป็นร่องบุ๋ม เป็นแอ่ง
เวลากระดกปลายนิ้วเท้าหัวแม่โป้ง จะพบว่ามีแนวเส้นตรงของกล้าม เนื้อขนานกับหน้าแข้งเป็นเหมือนแนว ทางแคบๆ ถ้าไล่ขึ้นไปจะพบแอ่งเล็กๆ (จุดนี้เรียกว่า เถียวโข่ว = แอ่งบนแนว ซึ่งอยู่บริเวณกลางหน้าแข้ง)

ทำไมจุด "เถียวโข่ว" จึงสามารถรักษาอาการปวดหัวไหล่ได้



๑. จุด "เถียวโข่ว" เป็นจุดบน เส้นลมปราณหยางหมิงของเท้า (กระเพาะอาหาร) ซึ่งมีความเชื่อมสัมพันธ์ กับเส้นลมปราณหยางหมิงของมือ (ลำไส้ใหญ่)

๒. เส้นลมปราณหยางหมิงไม่ว่า จะเป็นเส้นลมปราณลำไส้ใหญ่หรือเส้นลมปราณกระเพาะอาหารทางทฤษฎีแพทย์แผนจีนเป็นเส้นลมปราณ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยการไหลเวียนเลือด และพลังมากที่สุดในจำนวนเส้นลมปราณทั้งหมด การกระตุ้นจุด "เถียวโข่ว" บนเส้นลมปราณหยางหมิงกระเพาะอาหารอย่างรุนแรง จะทำให้มีการไหลเวียนเลือด และพลัง วิ่งผ่านระบบเส้นลมปราณหยางหมิง กระเพาะอาหาร (ส่วนขา) และทะลวง ไปถึงเส้นลมปราณหยางหมิงลำไส้ใหญ่ (ซึ่งเชื่อมสัมพันธ์กัน) ทำให้มีการทะลวงการอุดกั้นของพลัง และเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของการเจ็บปวด และการเคลื่อนไหวติดขัดบริเวณหัวไหล่ได้

๓. การค้นหาจุด "เถียวโข่ว" ให้รู้ตำแหน่งคร่าวๆ แล้วใช้การคลำ หาจุดด้วยการกดดูจุดที่มีการสะท้อน เจ็บที่สุด ซึ่งมักอยู่บริเวณนั้น อาจสูงหรือต่ำกว่าจุด "เถียวโข่ว" ๑ นิ้ว และจำเป็นต้องดูทั้ง ๒ หน้าแข้ง เลือก ข้างที่มีจุดที่เจ็บก่อน ถ้าผลการรักษา จุดแรกไม่ค่อยดี ให้แทงหรือกดอีกข้างร่วมด้วยก็ได้ พลังลมปราณของ เส้นมักจะสมมาตรกัน สามารถปรับพลังด้วยกันได้ เป็นโรคข้างซ้ายบางทีรักษาข้าง
ขวาเป็นโรคข้างขวาบางทีรักษาข้างซ้าย

๔. ขณะกระตุ้นจุด "เถียวโข่ว" ผู้ป่วยต้องเคลื่อนไหวหัวไหล่ด้านที่ติดขัดไปด้วยช้าๆ ในทิศทางต่างๆเพื่อช่วยให้การทะลวงของเลือดและ พลังดีขึ้น




การรักษาโรคด้วยศาสตร์การ ฝังเข็ม มีหลักสำคัญคือ"พลังและเลือดไหลไม่สะดวก จึงเกิดความเจ็บปวด" ถ้า "พลังและเลือดไหลสะดวก ก็จะไม่มีการเจ็บปวด"

ความเจ็บปวดมีสาเหตุหลายอย่าง อาจมาจากกระทบความเย็นการใช้งานหนักเรื้อรัง (ทำให้มีการเกร็งตัว) อุบัติเหตุกระทบกระแทกเป็นต้น ซึ่งผลที่เกิดขึ้นคือ เส้นลมปราณถูกกระทบเลือดและพลังไหล เวียนติดขัดไม่คล่องไม่สะดวก จึงต้องทะลวงให้เลือดและพลังไหลเวียน คล่อง ก็จะไม่เจ็บปวด

อย่างไรก็ตาม การอักเสบของเนื้อเยื่อรอบหัวไหล่บางครั้งก็มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน ซึ่งเป็นผลของสภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น เลือดและพลังในร่างกายพร่อง พลังความร้อนไม่เพียงพอ หรือการอักเสบที่เรื้อรังทำให้มีภาวะพังผืดยึดเกาะมีหินปูนพอกซึ่งการรักษาให้หายดีจำเป็นต้องใช้วิธีการและการรักษา
หลายๆ วิธีร่วมกันจึงจะได้ผลดี

การใช้หลักทะลวงเส้นลมปราณด้วยเข็ม หรือการนวดการถ่ายพลังเป็นอีกแนวคิดหนึ่งในการรักษาโรค ซึ่งใช้การกระตุ้นกลไกพลังของร่างกายให้รักษาตนเอง เป็นการรักษาที่เป็นทางเลือกที่ไม่สลับซับซ้อน ลดการใช้ยาเคมี ลดผลแทรกซ้อนจากยาแก้ปวดเป็นการรักษาด้วยการใช้เส้น (ลมปราณ) ขอย้ำว่า เส้นเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ นะครับ

ข้อมูลสื่อ

278-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 278
มิถุนายน 2545
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล