• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามป่วยฉุกเฉิน

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามป่วยฉุกเฉิน

คนที่หายใจไม่ออกทันทีหยุดหรือกำลังจะหยุดหายใจ

คนที่หายใจไม่ออกทันที มักเกิดจากการถูกบีบคอ รัดคอ หรือมีสิ่งแปลกปลอม (เช่น อาหาร ขนม) ก้อนโตอุดกั้นทางหายใจโดยเฉพาะ ภายในคอหอย หรือหลอดลมทันที ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ลึกเกินกว่าที่นิ้วมือ จะล้วงถึง

๑. คนที่ถูกบีบคอหรือรัดคอ จะต้องตั้งสติให้ดีก่อน อย่าดิ้นรนหรือ พยายามส่งเสียงร้อง เพราะจะทำให้ เสียแรงโดยใช่เหตุ และจะทำให้ถูกบีบคอหรือรัดคอแน่นขึ้น รีบหาและทำร้ายจุดอ่อนของศัตรู (เช่น ตา หรือ รูจมูก โดยใช้นิ้วทิ่มแทงเข้าไปให้เต็มแรง อวัยวะเพศชายโดยเข่า เตะหรือถีบให้เต็มแรง เป็นต้น) จะทำให้ศัตรูคลายมือที่บีบหรือรัดคอออกได้ ในกรณีที่ไม่สามารถหาและทำร้ายจุดอ่อนของศัตรูได้ ให้รีบสอดนิ้วมือของตนเข้าไประหว่างนิ้วมือของศัตรูกับลำคอของตน หรือระหว่างเชือกที่รัดคออยู่กับคอของตนจะช่วยให้ผ่อนคลายการบีบรัดลงได้ แล้วจึงหาทางรอดต่อไป ซึ่งคงต้องหาอ่านจากตำรา หรือคู่มือการป้องกันตนเองจากการถูกทำร้าย และพยายามฝึกปฏิบัติให้เคยชินด้วย

๒. คนที่สำลักอาหารเข้าไปอุดกั้นทางเดินหายใจ มักจะเกิดกับคนที่กำลังกินอาหารโดยเฉพาะอาหารชิ้น โตๆ อยู่ แล้วพูดคุยหรือหัวเราะหรือ กลืนเร็วเกินไปจนเกิดอาการสำลัก ทำให้อาหารหลุดไปติดอยู่ในคอหอย (กลืนก็กลืนไม่ลง ไอก็ไอไม่ออก) พูดก็ไม่มีเสียง พยายามเอานิ้วมือล้วงก็ล้วงไม่ถึง เอามือกุมคอพยายามจะไอก็ไอไม่ออก เมื่อผู้ป่วยหายใจไม่ได้อยู่ ๒-๓ นาทีก็จะหมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) ล้มฟุบลง และถ้าไม่ได้รับการช่วยหายใจ หัวใจก็จะหยุดเต้นภายใน ๖-๗ นาที
ผู้ที่อยู่ใกล้ โดยเฉพาะผู้ที่ร่วม โต๊ะอาหารด้วย จะต้องรีบ "อัดยอดอก" (Heimlich maneuver) ทันทีถ้าผู้ช่วยตัวใหญ่กว่าหรือพอๆ กันกับผู้ป่วย ให้ยืนทางด้านหลังผู้ป่วย ใช้มือทั้ง ๒ ข้าง โอบรอบตัวของ ผู้ป่วย โดยให้กำปั้นของมือข้างที่ไม่ถนัดซุกอยู่ตรงหน้าท้องส่วนบนใต้ลิ้นปี่ลงมาเล็กน้อยหรือระหว่างลิ้นปี่กับสะดือ (ดูรูปที่ ๕) ใช้มืออีกข้างหนึ่งกุมด้านหลังของกำปั้นนั้นให้มั่น แล้วออกแรงยก (รัด) และดัน กำปั้นนั้นเข้าไปในท้องของผู้ป่วย โดย ให้ทิศทางของกำปั้นที่ยุบเข้าไปในท้องนั้นพุ่งตรงไปทางศีรษะของผู้ป่วยด้วย
การกระทำเช่นนี้จะเป็นการกระแทกกะบังลมให้เคลื่อนที่เข้าไปในทรวงอกอย่างรวดเร็ว ทำให้ปอดทั้ง ๒ ข้างถูกดันให้แฟบลง เกิดแรง ดันลมออกไปทางคอหอย ผลักให้อาหารที่อุดอยู่กระเด็นออกได้ ถ้าทำครั้งแรกไม่สำเร็จ ให้ทำซ้ำติดๆ กันจน กว่าอาหารจะหลุดออก หรือเปลี่ยน เป็นวิธีอื่นถ้าผู้ช่วยกู้ชีพตัวเล็กกว่าผู้ป่วยมาก ควรให้ผู้ป่วยนอนหงายราบลงกับพื้น แล้วนั่งคร่อมหรือนั่งทับต้นขา ของผู้ป่วย แล้วใช้กำปั้นของมือทั้งสองที่จับกันแน่นวางไว้ตรงหน้าท้องส่วนบน แล้วจึงออกแรงเต็มที่ เพื่อดันกำปั้นเข้าไปในท้องขึ้นไปทางศีรษะทันที เพื่อผลักกะบังลมเข้าไปดันปอด เพื่ออัดลมในปอดให้พุ่งออกไปผลักก้อนอาหารที่ติดอยู่ให้หลุดออกไป (ดูรูปที่ ๖) ถ้าทำครั้งแรกไม่สำเร็จให้ ทำซ้ำติดๆ กันจนกว่าจะสำเร็จ
ในกรณีที่อยู่คนเดียวหรือไม่มี คนช่วย อาจช่วยตนเองได้โดยคว่ำตัวลงกับพื้นแรงๆ เพื่อให้กำปั้นของ ตัวเองที่ซุกอยู่ตรงหน้าท้องส่วนบนกระแทกเข้าไปในท้อง หรือแทนที่จะ คว่ำตัวลงกับพื้น อาจคว่ำตัวเองลงให้ มุมของพนักพิงหรือของที่เท้าแขนของโซฟากระแทกเข้าไปในท้องก็ได้ (ดูรูปที่ ๗)
ถ้าผู้ป่วยเป็นเด็ก อาจจับนอนคว่ำให้หน้า ท้องพาดอยู่บนหัวเข่า แล้วตบหลังเด็กแรงๆ ติดๆ กัน ๕-๖ ครั้ง (ดูรูปที่ ๘) หัวเข่า จะกระแทกท้องไปดันกะบังลม ทำให้ลมในปอดพุ่งออกไปดันก้อนอาหารให้หลุดได้ เป็นต้น
๓. คนที่หยุดหายใจหรือกำลังจะหยุดหายใจ ให้รีบเรียกและกระตุ้นให้ผู้ป่วยหายใจ ถ้าไม่สำเร็จ ต้องรีบ ช่วยหายใจด้วยการ "เป่าปาก" หรือ "เป่าจมูก" ตามวิธีการในขั้นตอนที่ ๕ และ ๖ (นิตยสารหมอชาวบ้านฉบับที่ ๒๗๗ ประจำเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๕) จนกว่าผู้ป่วยจะหายใจได้พอ หรือจนกว่า "ทีมกู้ชีพฉุกเฉิน" จากโรงพยาบาลมาถึง

คนที่ชักตลอดเวลาหรือชักจนเขียว
ให้วางผู้ป่วยลงบนพื้นราบ ไม่หนุนหมอน เคลื่อนย้ายโต๊ะเก้าอี้และสิ่งของต่างๆ ให้ออกห่างจาก ผู้ป่วย อย่าไปจับตัวหรือ ถูกตัวผู้ป่วย เพราะอาจทำให้ผู้ป่วยชักมากขึ้นอย่าไปงัดปากเพื่อสอดใส่ด้ามช้อนหรืออื่นๆ เข้าไปในปากผู้ป่วย เพื่อป้องกันการกัดลิ้นหรือปากในขณะชัก (ถ้าจะสอดใส่อะไรไว้ในปาก ควรจะทำในขณะที่หยุดชักแล้วและกลัวว่าจะชักอีก) มิฉะนั้นอาจทำให้ฟันหัก เหงือก ลิ้น และส่วนอื่นๆ  ในปากและคอได้รับอันตราย และทำให้สำลักฟันที่หักหรือเลือดที่ออก ในปากเข้าไปในปอด เป็นอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างมากมายได้ แล้วยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ป่วยชักมากขึ้นได้ด้วย
กันผู้คนให้ออกห่างจากผู้ป่วย และพยายามให้สิ่งแวดล้อมรอบตัว ผู้ป่วยเงียบสงบให้มากที่สุดเท่าที่จะ ทำได้ จะทำให้ผู้ป่วยหยุดชักได้เร็วขึ้น
ในขณะที่ผู้ป่วยชัก การช่วยหายใจด้วยการ "เป่าปาก"หรือ"เป่าจมูก" จะทำได้ยากและไม่ได้ผลดี ปล่อยให้ผู้ป่วยชักโดยไม่ไปรบกวนหรือแตะต้องผู้ป่วย จะทำให้ ผู้ป่วยหยุดชักได้เร็วขึ้น จะได้หายใจ เองหลังหยุดชักแล้ว
ถ้ามีออกซิเจนอยู่ อาจให้ผู้ป่วย ดมออกซิเจน ถ้ามียาฉีดกันชักอยู่ ต้องรีบฉีดยาให้ผู้ป่วยทันทีถ้าเคยเป็นโรคลมชักอยู่ อาจต้องเพิ่มยาป้องกันอาการชัก โดยเฉพาะถ้าขาดยาหรือกินยาไม่สม่ำเสมอควรปรึกษาแพทย์ถ้าไม่แน่ใจว่าชักจากสาเหตุอะไร โดยเฉพาะถ้า ไม่เคยชักมาก่อน ควรจะไปตรวจที่โรงพยาบาล

คนที่เลือดออกรุนแรงตลอดเวลา (เลือดไหลไม่หยุด)
ในกรณีที่เลือดออกจากบาดแผลภายนอก ให้ใช้นิ้วหัวแม่มือ หรือ ส้นมือกดลงจุดที่เลือดออกจนเลือดหยุดไหล แล้วกดไว้เช่นนั้นเป็นเวลา อย่างน้อย ๑๐-๑๕ นาที ถ้าปล่อย มือแล้วเลือดออกอีก อาจต้องกดไว้อย่างนั้นจนกว่าจะพบหมอหรือไปถึง โรงพยาบาลแล้ว (รายละเอียดอื่นๆ ให้ดูในบทที่ว่าด้วยการบาดเจ็บและภาวะเลือดออก)
ในกรณีที่เลือดออกภายใน เช่น ออกในกระเพาะลำไส้ (อาเจียนเป็น เลือด อุจจาระเป็นเลือดหรือเป็นสีดำ) ออกในบริเวณกระดูกหัก (เนื้อ บริเวณนั้นบวมเป่งและปวดมาก และ อาจมีจ้ำหรือรอยเลือดซึมเห็นเป็นสีเขียวหรือแดงได้) ออกในช่องท้อง (ท้องโตมากและปวด) ในช่องปอด(หอบเหนื่อย) หรืออื่นๆ รีบให้ผู้ป่วย นอนหงาย ไม่หนุนหมอน (ยกเว้นผู้ป่วยที่หอบเหนื่อย ควรให้อยู่ในท่า นั่งพิง) ปลอบขวัญและให้กำลังใจ ให้ผู้ป่วยนอน (หรือนั่ง) พักอย่างสงบให้มากที่สุด ถ้าไม่ได้อาเจียนเป็น เลือดและไม่คลื่นไส้อาเจียน ควรให้ดื่มน้ำเกลือแร่เป็นระยะๆ โดยเฉพาะ เมื่อกระหายน้ำ หรือเริ่มมีอาการเวียน ศีรษะหน้ามืดเมื่อลุกขึ้นยืน แล้วรีบไปโรงพยาบาล
(ยังมีต่อ)

ข้อมูลสื่อ

278-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 278
มิถุนายน 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์