• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินอย่างไรเมื่อเป็นโรคเกาต์

อาหารการกินเกี่ยวข้องกับสุขภาพอย่างยิ่ง ดังคำกล่าว
you are what you eat
หรือคุณกินอย่างไรย่อมเป็นอย่างนั้น


ทุกวันนี้คนจำนวนมากจึงหันมาสนใจและใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากขึ้น เพราะรู้ว่ากินไม่ดีมีโอกาสเกิดโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ถ้ากินดีกินให้เหมาะสม นอกจากห่างไกลโรคแล้ว โรคที่เป็นอยู่หลายโรคยังทุเลาเบาบางได้ด้วย ดังเช่น การกินอาหารกับโรคเกาต์ ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังในฉบับนี้

รู้จักโรคเกาต์
โรคเกาต์ คือโรคปวดตามข้อชนิดหนึ่ง ซึ่งสังเกตได้ง่ายๆ ว่าคุณกำลังเป็นโรคนี้หรือไม่ โดยดูได้จากอยู่ดีๆ ก็มีอาการปวดและร้อนที่ข้อเท้า ข้อนิ้วเท้า หรือข้อเข่าอย่างเฉียบพลันและรุนแรง เจ็บมากจนเดินไม่ไหว และจะปวดข้ออื่นๆ ตามมา อาจมีไข้หนาวสั่นร่วมด้วย และมักจะเป็นเวลากลางคืน แต่อาการอาจจะดีขึ้นเองใน ๒-๓ วัน ใครที่เป็นแบบนี้ก็คงสงสัยว่า ทำไมเจ็บข้อโดยไม่มีสาเหตุมาก่อนเลย

ถ้าบอกว่าอาการที่ไม่รู้อีโน่อีเหน่นั้น มีความเกี่ยว เนื่องกับเรื่องอาหารการกินอย่างมาก คุณอาจไม่เชื่อ แต่ถ้าคุณสังเกตพฤติกรรมการกินในอดีตของคุณ ก็จะ พบว่าอาการปวดข้อนี้จะเกิดขึ้นหลังจากกินอาหาร บางอย่างมาก หรือดื่มเหล้ามากๆ จนทำให้ร่างกายไม่สามารถสลายกรดยูริก หรือทำให้มีกรดยูริกมากเกินไป จึงเข้าไปสะสมในข้อกระดูก

โดยปกติร่างกายคนเราได้กรดยูริกมาจาก ๒ แหล่ง คือ
๑. ร่างกายสังเคราะห์ขึ้นเอง โดยการสลายตัวของเซลล์ตามอวัยวะต่างๆ แต่ในบางคนที่ป่วยเป็นโรค เช่น โรคทาลัสซีเมีย มะเร็งในเม็ดเลือดขาว หรือการใช้ยารักษามะเร็งหรือการฉายรังสีบางชนิด จะทำให้มีการสลายตัวของเซลล์ในร่างกายที่มากผิดปกติ
๒. จากการกินอาหารบางชนิดที่มีสารพิวรีนสูง ซึ่งสารชนิดนี้เมื่อกินเข้าไปแล้วจะย่อยสลายกลายเป็น
กรดยูริก ซึ่งสารพิวรีนพบมากในเนื้อสัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ ถั่วต่างๆ พืชผักยอดอ่อน ในคนปกติทั่วไปถึงแม้ว่า จะได้รับสารพิวรีนมากหรือร่างกายมีการสร้างกรดยูริกมาก แต่ไตของเราก็สามารถขับกรดยูริกส่วนเกินออกมาได้ ร่างกายจึงรักษาสมดุลของกรดยูริกไว้ได้ แต่สำหรับคนที่มีความบกพร่องหรือไตขับกรดยูริกได้น้อยลง ก็จะทำให้มีกรดยูริกคั่งอยู่ในร่างกายมากผิดปกติ จึงเกิดการตกผลึกสะสมอยู่ตามข้อ ผิวหนัง ไตและอวัยวะอื่นๆ ได้จนเกิดเป็นโรคเกาต์นั่นเอง

คนที่เป็นโรคเกาต์ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการจะค่อยๆ กำเริบขึ้น โดยเจ็บปวดที่ข้อเดิมก่อน แล้วจะเป็นที่ข้ออื่นๆ ตามมา จนกระทั่งเป็นเกือบทุกข้อทั่วร่างกาย อาการปวดก็จะถี่ขึ้นและนานขึ้น จนเกิดอาการปวดตลอดเวลา ถ้าควบคุมโรคเกาต์ไม่ได้อาจพบว่าข้อที่เคยอักเสบบ่อยๆ เป็นปุ่มก้อนขึ้นมา เนื่องจากมีการสะสมของกรดยูริกจำนวนมาก จนบางครั้งข้อที่ปวดนั้นเกิดการแตกออกและมีสารขาวๆ คล้ายชอล์ก หรือยาสีฟันไหลออกมา กลายเป็นแผลเรื้อรัง ในที่สุดข้อต่างๆ จะค่อยๆ พิการและใช้งานไม่ได้ นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดนิ่วในไต ภาวะหลอดเลือด แข็งตัวและตีบตันตามมา เพราะเกิดการสะสมของกรดยูริกในอวัยวะเหล่านั้น

ปฏิบัติตนอย่างไรเมื่อเป็นโรคเกาต์
เมื่อเข้าใจดีแล้วว่า คนเป็นโรคเกาต์เพราะมีการสะสมของกรดยูริกมากผิดปกติขณะที่มีการขับออกได้น้อย ดังนั้นการระวังไม่ให้มีกรดยูริกเข้าสู่ร่างกายมากจึงเป็นวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งสามารถทำได้ง่ายๆ โดยการระวังไม่กินอาหารที่มีพิวรีนสูงนั่นเอง การกินอาหารที่มีพิวรีนสูงลดลงจึงทำให้ร่างกายได้รับกรดยูริกลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่ยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ดี หรือมีอาการปวดข้ออย่างรุนแรง ควรงดอาหารที่มีพิวรีนสูงอย่างเด็ดขาด ซึ่งได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ปีก ปลาซาร์ดีน ไข่ปลา น้ำต้มกระดูก น้ำสกัดเนื้อ ผักยอดอ่อน เป็นต้น

     

สำหรับคนที่เป็นโรคเกาต์ที่มีอาการอักเสบของข้อบ่อยๆ และมีอาการปวดอย่างรุนแรง ควรไปพบแพทย์เพื่อได้รับยาลดการอักเสบของข้อ และยาช่วยลดปริมาณ หรือการสร้างของกรดยูริกร่วมด้วย ถึงแม้ว่าการได้ยาดังกล่าวจะทำให้อาการของโรคเกาต์ดีขึ้น การรู้จักการกินอาหารที่ถูกต้องและการเปลี่ยนแปลง บริโภคนิสัยก็ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการควบคุมโรคเกาต์ เพื่อป้องกันการอักเสบของข้อซ้ำๆ หรือผลแทรกซ้อนที่มีต่ออวัยวะอื่นๆ ด้วย

นอกจากอาหารที่มีพิวรีนสูงที่คนเป็นโรคเกาต์ควรระวังไม่บริโภคมากจนเกินไปแล้ว ผู้ที่เป็นโรคเกาต์ควรกินอาหารประเภทข้าว-แป้งให้มากพอ (โดยทั่วไปวันละ ๘-๑๒ ทัพพี) เพื่อให้ร่างกายได้รับพลังงานเพียงพอในการทำกิจกรรมต่างๆ โดยไม่ต้องเผาผลาญโปรตีนที่มีอยู่ในกล้ามเนื้อเพื่อใช้เป็นพลังงาน เพราะการเผาผลาญโปรตีนลักษณะนี้จะทำให้มีการสลายกรดยูริกออกมาในกระแสเลือดมากขึ้น ขณะเดียวกันคน เป็นโรคเกาต์ควรระวังไม่กินอาหารจำพวกเนื้อสัตว์มากเกินไป เพราะอาจทำให้อาการของโรคกำเริบได้ โดยทั่วไปควรกินอาหารเนื้อสัตว์ต่างๆ ประมาณ ๑๐-๑๒ ช้อนกินข้าวต่อวัน ดังนั้นเราจึงควรระวังไม่บริโภคอาหาร ประเภทบุฟเฟต์หมูกระทะ (ราคาเดียวกินไม่อั้น) ที่เป็นอาหารยอดฮิตในปัจจุบันเป็นประจำ

การดื่มน้ำสะอาดมากๆ
(อย่างน้อยวันละ ๒-๓ ลิตร) เป็นสิ่งที่คนเป็นโรคเกาต์และเราทุกคนควรปฏิบัติ เพราะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการสะสมของผลึกกรดยูริก เป็นการป้องกันการเกิดโรคนิ่วในไตได้ นอกจากนี้ การ กินผักและผลไม้ต่างๆ ให้มากขึ้น ก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะช่วย ให้ปัสสาวะมีภาวะเป็นด่าง ทำให้การขับกรดยูริกออกจากร่างกายดีขึ้น อย่างไรก็ตาม คนเป็นโรคเกาต์ควรหลีกเลี่ยงไม่กินผักยอดอ่อนจำพวก กระถิน ชะอม สะเดา เพราะผักเหล่านี้มีสารพิวรีนสูงดังที่กล่าวมาแล้ว
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่คนเป็นโรคเกาต์ควรถือปฏิบัติคือ การงดหรือลดการดื่มเหล้า และเบียร์ลง เพราะเมื่อร่างกายเผาผลาญแอลกอฮอล์ จะทำให้มีการเพิ่มสารแล็กเทสในเลือด สารนี้จะไปยับยั้งการขับกรดยูริกออกจากไต
สำหรับคนเป็นโรคเกาต์ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ควรที่จะลดน้ำหนักลง เพราะความอ้วนทำให้โรคเกาต์รุนแรงขึ้น

การลดน้ำหนักควรเป็นไปอย่างช้าๆ ค่อยเป็นค่อย ไปทีละน้อย ไม่ควรเกินครึ่งกิโลกรัมต่อสัปดาห์ อย่าลดฮวบฮาบ เพราะการลดน้ำหนักมากๆ ในระยะเวลาสั้นๆ อาจมีผลทำให้เกิดภาวะคีโตนในเลือดสูง ส่งผลให้การขับกรดยูริกออกจากร่างกายลดลง และที่สำคัญไม่ควรลดน้ำหนักโดยการอดอาหารอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้มีการสลายตัวของเซลล์ในร่างกายรวดเร็วผิดปกติ ทำให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงมากขึ้นและเกิดข้ออักเสบกำเริบได้

การหลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลมากและไขมันมาก ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเป็นวิธีควบคุม น้ำหนักที่ถูกต้องและเหมาะสม เพราะอาหารเหล่านี้นอก จากจะให้พลังงานสูงแล้วยังทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงได้ ซึ่งจะไปขัดขวางการขับกรดยูริกออกจากร่างกายเช่นกัน

การเป็นโรคเกาต์เรื้อรังเชื่อว่าคงทำให้ผู้ที่เป็นมีความทุกข์ทรมาน คงไม่มีใครอยากเป็นเช่นนั้น ดังนั้นการหันมาปฏิบัติตนให้ถูกต้องดังกล่าวข้างต้นในเรื่องอาหารการกินจะช่วยทำให้การควบคุมโรคเกาต์ไม่ให้กำเริบ หรืออาจจะป้องกันไม่ให้เป็นโรคเกาต์ได้

 

ข้อมูลสื่อ

310-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 310
กุมภาพันธ์ 2548
เรื่องน่ารู้
ผศ.ดร.วันทนีย์ เกรียงสินยศ