• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรคสิว

ถาม ถ้าเป็นสิวหัวหนอง ควรกินยาแก้อักเสบหรือไม่
สิวเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่พบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่น พบในเพศชายมากกว่าในเพศหญิง ในบางคนที่เป็นรุนแรงหรือมีการแกะ เกา หรือบีบสิว ก็อาจเกิดการอักเสบหรือเป็นหนองได้ ในกรณีที่อักเสบรุนแรงก็ควร ใช้ยาต้านจุลชีพชนิดกิน เพื่อลดการอักเสบโดยเริ่มต้นในขนาดปกติเพื่อลดการติดเชื้อและอักเสบจนสามารถควบคุมอาการอักเสบได้ดี จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยในขนาดต่ำสุดที่ควบคุมได้อยู่นานสัก ๒-๓ เดือนแล้วก็ควรหยุดยาสักระยะหนึ่งจึงเริ่มต้นใช้ใหม่
ยาต้านจุลชีพที่นิยมใช้ได้แก่ เตตราไซคลีน (tetracycline) อีริโทรไมซิน (erythromycin) คลินดาไมซิน (clindamycin) แอมพิซิลลิน (ampicillin) โคไตรม็อกซาโซล (cotrimoxazole) เป็นต้น นอกจากมีฤทธิ์ลดการอักเสบของ สิวแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยป้องกันการเกิดโคมิโดนได้ดีอีกด้วย

สิวเป็นเรื่องธรรมชาติ
สิวเกิดจากการอักเสบของต่อมไขมันในรูขุมขน ที่พบได้บ่อยในบริเวณใบหน้า คอ หน้าอก ไหล่ และแผ่นหลัง เป็นปัญหาหนึ่งที่พบได้บ่อยเมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่น ทุกคน แต่พบได้บ่อยในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง ในบางคนอาจจะไม่มีอาการหรือมีเพียงเล็กน้อย แต่ในบางคนอาจจะเป็นมากและรุนแรงได้

สาเหตุของการเกิดสิว
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิว คือฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (androgen) ไปกระตุ้นการทำงานของต่อมไขมันในบริเวณ ผิวหนังให้สร้างไขมันและขับออกมามากขึ้น ฮอร์โมนชนิดนี้ถึงแม้ว่าจะจัดเป็นฮอร์โมนที่พบได้ในเพศชาย แต่ก็พบได้บ้างในเพศหญิง ทำให้ในเพศหญิงมีโอกาสเกิดสิวได้เช่นกันแต่น้อยกว่า
เมื่อต่อมไขมันสร้างไขมันมากยิ่งขึ้น ประกอบกับท่อรูขุมขนได้มีการสร้างเซลล์บุของรูขุมขนมากขึ้นเช่นกัน จึงเกิดการรวมตัวกันเป็นเม็ดสิว หรือคอมิโดน (comedone) อยู่ในท่อของต่อมไขมัน

ถ้าท่อต่อมไขมันไม่เปิดออกสู่อากาศ คอมิโดนก็จะ ไม่สัมผัสอากาศและมีลักษณะเป็นเม็ดไขมันสีขาว จึงเรียกคอมิโดนชนิดนี้ว่า สิวหัวขาว หรือสิวหัวปิด (white or closed comedone) แต่ถ้าคอมิโดนมีรูเปิดและออกมาสัมผัสกับอากาศ ออกซิเจนในอากาศจะเปลี่ยนแปลงเม็ดสิวนี้ให้เป็นสีเข้มขึ้นจนดำ และเรียกว่าสิวหัวดำ หรือสิวหัวเปิด (black or open comedone)

อีกปัจจัยหนึ่ง คือเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งชื่อ Propionibacterium acne ที่อยู่ในรูของต่อมไขมัน เชื้อชนิดนี้เป็นชนิดที่ไม่ต้องการออกซิเจน จะคอยย่อยไขมันให้เป็นอาหาร และสร้างกรดไขมันขึ้น ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองและเกิดการอักเสบหรือเป็นหนองขึ้นได้

ชนิดของสิว
เราจัดสิวเป็น ๒ ชนิดใหญ่ๆ คือ
๑. สิวไม่อักเสบ อันได้แก่ สิวหัวขาว และสิวหัวดำ
๒. สิวอักเสบ ซึ่งจะเป็นตุ่มแดง และ/หรือ ตุ่มหนอง ซึ่งมีการดูแลรักษาที่แตกต่างกัน

การดูแลรักษาสิว
ในการดูแลรักษาสิว ควรปฏิบัติดังนี้
๑. ความสะอาด ในเรื่องนี้ควรรักษาความสะอาดตามปกติ คือล้างหน้าตามปกติด้วยสบู่ธรรมดา วันละ ๒ ครั้ง ก็เพียงพอแล้ว และไม่ควรใช้สบู่ยา เพราะตัวยาในสบู่มักมีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ และในการล้างหน้าทุกครั้งควรฟอกถูตามปกติ ไม่ควรฟอกหรือถูอย่างรุนแรง เพราะอาจส่งผลระคายเคืองต่อผิวหนังได้ ยกเว้นในรายที่ผิวหน้ามัน อาจต้องล้างหน้าบ่อยกว่านี้
อนึ่งสิวถือว่าเกิดตามธรรมชาติ ไม่ได้เกิดจากความสกปรก แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วควรดูแลสุขอนามัยและความสะอาดตามปกติ
๒. หลีกเลี่ยงการบีบและแกะสิว ประเด็นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญเพราะการแกะและบีบสิวจะทำให้สิวลุกลามและรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบและทิ้งรอยแผลเป็นของสิวเมื่อหายดีแล้วอีกด้วย ดังนั้นจึงไม่ควรแกะหรือบีบหัวสิวเป็นอันขาด เพราะเมื่อแกะหรือบีบแล้ว ด้วยมือหรืออุปกรณ์ที่ไม่สะอาด จะเป็นการทำลายเนื้อเยื่อผิวหน้าและเกิดการติดเชื้อได้โดยง่าย
๓. อื่นๆ เช่น เรื่องอาหาร ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องอาหารสำหรับสิว เรื่องอารมณ์ เชื่อว่าอารมณ์เครียดส่งผลต่อสิว จึงควรออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ และเรื่องเครื่องสำอาง ควรเลือกเครื่องสำอางชนิดที่ละลายได้ดีในน้ำ เพื่อชะล้างออกได้ง่าย และไม่หลงเหลือ อุดตันตามรูขุมขน

ยารักษาสิว
ยาที่ใช้รักษาสิวแบ่งได้เป็น ๒ ชนิดใหญ่ คือ
๑. ยาทาเฉพาะที่
๒. ยากิน
ยาทารักษาสิว มีจำหน่ายในท้องตลาด หลากหลายชนิด มีทั้งชนิดที่ละลายขุยเซลล์บุของรูต่อมไขมัน ชนิดที่ละลายคอมิโดน และชนิดต้านเชื้อแบคทีเรีย
ยาทารักษาสิวทั้ง ๒ ชนิดแรก คือชนิดที่ละลายขุยเซลล์บุของรูต่อมไขมัน และชนิดที่ละลายคอมิโดน เหมาะสำหรับสิวชนิดที่ไม่มีการอักเสบ เช่น สิวหัวขาว หรือสิวหัวดำ

ตัวอย่างยาทารักษาสิวที่มีฤทธิ์ละลายขุยเซลล์บุของรูต่อมไขมัน ได้แก่ กรด ซาลิไซลิก (salicylic acid) กำมะถัน และรีโซซินอล (resocinol)
ส่วนตัวอย่างของยาทารักษาสิวที่มีฤทธิ์ละลายคอมิโดน ได้แก่ กรดเทรทิโนอิก (tretinoic acid) อะแดปพาลีน (adapalene) ในการใช้ยากลุ่มนี้ควรระวังอาจทำให้เกิดผื่นแดงขึ้นได้ในตอนเริ่มต้นของการใช้ และในขณะที่ใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงแสงแดด

ยาทารักษาสิวประเภทสุดท้าย คือยาชนิดต้านเชื้อ แบคทีเรีย อันได้แก่ เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (benzoyl peroxide) เตตราไซคลีน (tetracycline) อีริโทรไมซิน (erythromycin) คลินดาไมซิน (clindamycin) กรดอะซิแลอิก (azelaic acid) ยากลุ่มนี้เหมาะสำหรับสิวอักเสบเบื้องต้น และถ้าใช้แล้วไม่ได้ผล ควรใช้ยาต้านแบคทีเรียชนิดกินแทน

อนึ่งควรระวังยาเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์เปื้อนเสื้อผ้าและผม เพราะอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนสีเสื้อผ้าและผมได้
ยากินที่นิยมใช้รักษาสิว มี ๓ กลุ่มย่อย ได้แก่ ยาต้านจุลชีพ ยาฮอร์โมน และยาที่เป็นอนุพันธ์ของกรดวิตามินเอ
ยาต้านจุลชีพ ที่ใช้กินเพื่อรักษาการอักเสบของสิว ได้แก่ เตตราไซคลีน (tetracycline) อีริโทรไมซิน (erythromycin) คลินดาไมซิน (clindamycin) แอมพิซิลลิน (ampicillin) โคไตร- ม็อกซาโซล (cotrimoxazole) เป็นต้น นอกจาก มีฤทธิ์ลดการอักเสบของสิวแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยป้องกันการเกิดคอมิโดนได้ดีอีกด้วย ในการใช้จะเริ่มต้นในขนาดปกติเพื่อลดการติดเชื้อและอักเสบจนสามารถควบคุมอาการอักเสบได้ดี จะค่อยๆ ลดลงเรื่อยในขนาดต่ำสุดที่ควบคุมได้อยู่นานสัก ๒_๓ เดือนแล้ว ก็ควรหยุดยาสักระยะหนึ่งจึง เริ่มต้นใช้ใหม่
ยาฮอร์โมน เป็นยาคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์ต้านฮอร์โมน- แอนโดรเจน จึงเหมาะสมเฉพาะในเพศหญิง และจะต้องใช้เวลานานหลายเดือนจนกว่าจะได้ผล
ส่วนยาที่เป็นอนุพันธ์ ของกรดวิตามินเอ เช่น ไอโซเทรทิโนอิน (isotretinoin) เป็นยาที่เหมาะสำหรับสิวอักเสบเรื้อรังและรุนแรง แต่ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยาชนิดนี้มีพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์

สุดท้ายนี้ หากมีข้อสงสัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาหรือสุขภาพ เภสัชกรชุมชนที่ประจำอยู่ที่ร้านยาใกล้ๆ บ้านของท่าน ก็ยินดีให้บริการแก่ทุกท่าน

 

ข้อมูลสื่อ

310-017
นิตยสารหมอชาวบ้าน 310
กุมภาพันธ์ 2548
ภก.ดร.วิรัตน์ ทองรอด