• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โศก : สัญลักษณ์ของความรักจากตะวันออก

"น้ำค้างพรมลมชายระบายโบก
หอมดอกโศกเศร้าสร้อยละห้อยหวน
เหมือนโศกร้างห่างเหเสน่ห์นวล
มาถึงสวนโศกช้ำระกำทรวง"Ž
(นิราศพระประธม-สุนทรภู่)


ผู้เขียนขอยกเอาบทกลอนข้างบนนี้มาขึ้นต้นคอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้าตอนนี้ ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๒ ประการ คือ ประการแรกเนื่องจากเดือนกุมภาพันธ์นับได้ว่าเป็นเดือนแห่งความรักของคนไทยรุ่นใหม่ ที่นิยมแสดงออกในวันวาเลนไทน์ (๑๔ กุมภาพันธ์) บทกลอนที่ยกมาเกี่ยวข้องกับความรักโดยตรง เพราะถ้าผู้แต่งนิราศไม่มีความรักก็คงไม่ "โศกช้ำระกำทรวง" เป็นแน่ ประการที่ ๒ ผู้เขียนลงมือเขียนคอลัมน์ตอนนี้ เป็นช่วงหลัง จากเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami) พัดถล่มภาคใต้ของไทย และชายฝั่งของอีกหลายประเทศ ทำให้มีผู้เสียชีวิตนับแสนคน ความเสียหายทั้งด้านทรัพย์สินและจิตใจมีมากจนประเมินไม่ได้ ความรู้สึกของผู้เขียนในขณะนี้ก็คือความเศร้าใจ และเห็นใจผู้สูญเสียสิ่งอันเป็นที่รัก ซึ่งกำลังประสบกับความโศกเศร้าและทุกข์ใจอย่างแสนสาหัส เมื่อจำเป็นต้องเขียนคอลัมน์ "ต้นไม้ใบหญ้า" ตามหน้าที่ จึงนึกถึง "ดอกโศก" ขึ้นมาทันที เนื่องจากสำนวน "ต้นรักดอกโศก" เป็นสำนวนที่คนไทยสมัยก่อนคุ้นเคยกันดี และสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างยิ่ง เพราะความโศกเศร้าที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ อาจนับได้ว่าเป็น "ดอก" ที่เกิดจาก "ต้น" คือความรักนั่นเอง

                                                                    

โศก : หลายชนิดจากหลายถิ่นกำเนิด
ต้นไม้ที่ชาวไทยเรียกชื่อว่าโศกนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด จาก ๓ สกุล คือ สกุล Saraca สกุล Amherstia และสกุล Brownea มีทั้งถิ่นกำเนิดดั้งเดิมในประเทศไทย จากอินเดีย พม่า และทวีปอเมริกาใต้ แต่โศกชนิดที่รู้จักกันกว้างขวางที่สุด ตั้งแต่อดีตก็คือ โศกอันมีกำเนิด จากประเทศอินเดียที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Saraca indica linn,. ซึ่ง คนไทยเรียกว่าโศก หรือโศกน้ำนั่นเอง

โศก อยู่ในวงศ์ CAESALPINIACEAE เช่นเดียว กับคูนและมะขาม เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงประมาณ ๑๐-๑๒ เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มใหญ่หนาทึบ ใบออกเป็นช่อ แต่ละใบมีใบย่อยเรียงสลับกันเป็นคู่ ช่อละ ๒-๓ คู่ ใบย่อยแต่ละใบรูปร่างคล้ายหอก ปลายใบเรียวแหลม ยาวประมาณ ๒.๕ เซนติเมตร กว้างประมาณ ๘ เซนติเมตร ใบอ่อนมีสีขาว ห้อยปลายใบลงดิน ดอกออกเป็นพวงสีเหลืองแสด ดอกย่อยลักษณะเป็นหลอดคล้ายดอกเข็ม มีกลีบ ๔ กลีบ เกสรตัวผู้โผล่ยาวออกมา ๖-๘ อัน ผลลักษณะเป็นฝักแบน ขอบขนาน ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร

โศกชนิดนี้ชอบขึ้นบริเวณชายน้ำ ตามริมแม่น้ำลำธารทั่วไป จึงมักเรียกว่าโศกน้ำ กำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย เห็นได้จากชื่อวิทยาศาสตร์ว่า indica คนอินเดียเรียกว่าอโศก เมื่อนำมาเมืองไทย คนไทยเรียกสั้นลงเป็นโศก ทำให้ความหมายเปลี่ยนไปเป็นตรงข้ามคือ จากไม่มีโศก (อโศก) เป็นโศกเศร้า เช่นเดียวกับต้นอรัก (ไม่รัก) เมื่อมาถึงไทยกลายเป็นต้นรักนั่นเอง

ดังนั้น สำนวน "ต้นรัก ดอกโศก" ของไทย หากเป็นชื่อดั้งเดิมในประเทศอินเดียต้องใช้ "ต้นอรัก ดอกอโศก" หรือไม่มีรักก็ไม่โศกเศร้า สอด คล้องกับคติของไทยว่า "ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์" เช่นกัน

ทั้งต้นและดอกอโศกเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในศาสนาฮินดู อโศกจะออกดอกในอินเดียช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม ชาวฮินดูมักนำดอกไป ประดับเทวาลัย หรือวิหารต่างๆ เพื่อบูชาพระผู้เป็นเจ้า นอกจากนั้นยังถือว่า อโศกเป็นสัญลักษณ์ ของความรักอีกด้วย เพราะเชื่อว่า กามเทพ หรือเทพแห่งความรักมีศรอยู่ ๕ เล่ม (ปัญจศร) เล่มหนึ่งทำจากดอกอโศกนี้เอง ต้นและดอกอโศกจึงถือเป็นไม้มงคลในประเทศอินเดีย ซึ่งต่างจากประเทศไทยที่ถือว่าไม่เป็นมงคล ห้ามปลูกในบริเวณบ้าน เนื่องจากมีชื่อเกี่ยวกับความโศกเศร้า

ในวรรณคดีที่เกิดจากประเทศอินเดีย มักมีเรื่องราวเกี่ยวกับต้นอโศกอยู่เสมอ เช่น เรื่องรามเกียรติ์ นางสีดาคิดจะผูกคอตายกับกิ่งโศก (อโศก) เพราะทศกัณฐ์ลักพานางสีดาไปไว้ในสวน อโศก เคราะห์ดีที่หนุมานมาช่วยไว้ทัน ในเรื่องกามนิตและพระนล ก็มีกล่าวถึงนางวาสิฏฐีและนางทมยันตี อ้อนวอนถามข่าวกามนิตและพระนล จากต้นอโศก แม้แต่ในศาสนาพุทธ ก็มีเรื่องเล่าว่าหญิงผู้หนึ่งเก็บดอกอโศกมาบูชาพระพุทธเจ้า เมื่อตายไปแล้วได้เกิดบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกุศลกรรมนั้น

ในวรรณคดีไทยมีกล่าวถึงต้นโศกมากมาย ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความโศกเศร้าตามชื่อต้นไม้ (ในภาษาไทย) ดังเช่นนิราศของสุนทรภู่ที่ยกมาขึ้นต้น จึงไม่แปลกที่ต้นโศกจะพบขึ้นเองตามธรรมชาติ และปลูกตามวัดวาอารามเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมีทรงพุ่ม ใบ และดอกงดงาม คนไทยก็ไม่นิยมนำมาปลูกในบริเวณที่อยู่อาศัย
นอกจากโศกจากอินเดียแล้ว ยังมีโศกอีกหลายชนิดที่มีกำเนิด อยู่ในประเทศไทยมาแต่เดิม เช่น โศกเขา Saraca triandra Baker ที่ดอกงดงามมาก โศกน้ำหรือโศกวัด Saraca bijuga Prain. ซึ่งพบทั่วไปในป่าของไทย และนิยมปลูกตามวัดมากที่สุด โศกใหญ่ Saraca declinata (Jack) Mig. ดอกมีช่อใหญ่มาก และโศกเหลือง Saraca thaipingensis Cantley ex Prain ดอกสีเหลืองอมน้ำตาล

นอกจากนี้ยังมีโศกจากต่างประเทศ เช่น โศกระย้า หรือโศกฝรั่ง Amherstia nobilis พบที่เมืองมะละแหม่ง ประเทศพม่า ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ Lady Amherst ภรรยาของข้าหลวงอังกฤษที่ส่งมาปกครอง พม่าในขณะนั้น นับเป็นโศกที่มีดอกขนาดใหญ่และงดงามที่สุด โศกระย้าถูกนำเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่ราว พ.ศ.๒๔๑๕ สมัยรัชกาลที่ ๕

ประโยชน์ของโศก
ในประเทศไทยไม่ปรากฏสรรพคุณทางสมุนไพรของโศกชนิดต่างๆ ในตำราแพทย์แผนไทย แต่แพทย์พื้นบ้านในอินเดียนิยมนำเปลือกและรากโศกมาปรุงเป็นยาบำรุงเลือด คงจะเป็นโศกชนิด Saraca indica Linn. นั่นเอง

ประโยชน์หลักของโศกน่าจะเป็นดอกที่มีรูปทรงสีสันงดงาม กลิ่นหอม และนำมากินได้ คนไทยนิยมนำมาแกงส้ม นอกจากนั้น ทรงพุ่มและใบอันงดงามแปลกตา โดยเฉพาะใบอ่อนที่ไม่เหมือนต้นไม้ ชนิดอื่น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับอาคารสถานที่ เป็นร่มเงา และปรับปรุงสภาพแวดล้อม

จากความเชื่อในระบบวัฒนธรรมตะวันออก อันมีรากหยั่งลึกหลายพันปี สืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน โศกมีบทบาทสำคัญเกี่ยวกับความ เชื่อและศาสนา จึงควรจะได้รับการสืบทอดความหมายอันสูงส่งดังกล่าวไว้ในสังคมไทย โดยไม่ยึดติดกับชื่อที่คนไทยเรียกผิดไปจากชื่อดั้งเดิมในแหล่งอารยธรรมต้นกำเนิดศาสนาฮินดูและพุทธ

ดังนั้น โศกก็คืออโศก หมายถึง ความไม่มีโศกเศร้า เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่โศกเศร้า เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งทางพุทธศาสนาเรียกว่า ความเมตตา
เดือนแห่งความรักปี ๒๕๔๘ นี้ ขอให้เราลืมความโศกเศร้าจากความรักที่มีต่อสิ่งอันเป็นที่รัก ซึ่งจากไปด้วยภัยธรรมชาติครั้ง ยิ่งใหญ่นี้ ขอให้เราเปลี่ยนความโศกเป็นอโศก และเปลี่ยนความรักที่มีทุกข์ เป็นความเมตตาอันไร้ทุกข์ เป็นความเมตตาอันงดงาม หอมหวน ไม่มีโทษ ดังเช่นดอกของต้นไม้ที่มีชื่อเดิมว่าอโศกนั้น
 

ข้อมูลสื่อ

310-020
นิตยสารหมอชาวบ้าน 310
กุมภาพันธ์ 2548
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร