• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก


มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับแรกของกลุ่มโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย พบมากในช่วงอายุ ๓๕-๕๐ ปี โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงที่แต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว ในปี ๒๕๔๑ พบว่า มีผู้หญิงไทยตายด้วยโรคมะเร็งปากมดลูกกว่า ๔,๐๐๐ คน คนไข้ส่วนใหญ่มักจะปล่อยให้มีอาการมากแล้ว จึงค่อยมาพบแพทย์ ซึ่งจะตรวจพบว่าเป็นมะเร็งในระยะท้ายๆ ทำให้การรักษามีความยุ่งยาก ทุกข์ทรมาน สิ้นเปลืองและไม่ได้ผลเท่าที่ควร ความจริงแล้วมะเร็งชนิดนี้สามารถตรวจพบตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม (ก่อนมีอาการผิดปกติ) และสามารถรักษาได้ผลดี มีชีวิตยืนยาวได้ ตอนนี้จึงขอเชิญชวนมาเรียนรู้เรื่องมะเร็งปากมดลูกกันเถอะ

ชื่อภาษาไทย  มะเร็งปากมดลูก
ชื่อภาษาอังกฤษ  Cancer of cervix

สาเหตุ   มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่เกิดจากเซลล์บริเวณปากมดลูก (ตั้งอยู่ตรงส่วนในสุดของช่องคลอด แต่เป็นส่วนที่อยู่ล่างสุดหรือปลายสุดของตัวมดลูก ดูภาพประกอบ) มีการเปลี่ยนแปลง (กลายพันธุ์) อย่างช้าๆ นานหลายปี จนเกิดเป็นก้อนมะเร็งลุกลามให้เกิดอาการและอันตรายต่างๆ ตามมา

 มะเร็งปากมดลูกแบ่งเป็น ๒ ชนิด ได้แก่

๑. มะเร็งปากมดลูกชนิดเยื่อบุพื้นผิว (squamous cell carcinoma) ซึ่งอยู่ตรงพื้นผิวด้านนอกของปากมดลูก เป็นชนิดที่พบได้เป็นส่วนใหญ่ เวลาพูดถึงมะเร็งปากมดลูกก็มักจะหมายถึงมะเร็งชนิดนี้ สาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดนี้มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า human papilloma virus (HPV) ซึ่งเป็นไวรัสในตระกูลเดียวกันที่ทำให้เกิดโรคหูดและหงอนไก่ แต่เป็นคนละสายพันธุ์ย่อย ไวรัสชนิดนี้ติดต่อโดยทางเพศสัมพันธ์ ผู้หญิงที่จะเป็นมะเร็งชนิดนี้จะมีประวัติการแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์แล้วติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจากคู่สัมพันธ์โดยไม่รู้ตัว เชื้อไวรัสจะเข้าไปทำให้เซลล์เยื่อบุพื้นผิวปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง จนค่อยๆ กลายพันธุ์เป็นมะเร็ง โดยใช้เวลานานเป็นสิบๆ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีปัจจัยเสริมอื่นๆ เช่น การสูบบุหรี่ ภาวะทุพโภชนาการ การติดเชื้ออื่นๆ ร่วมด้วย ภูมิต้านทานต่ำ (เช่น ติดเชื้อเอชไอวี) การกินยาเม็ดคุมกำเนิดติดต่อกันนานๆ เป็นต้น มะเร็งชนิดนี้มักพบในผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์หรือแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย (ต่ำกว่า ๑๘ ปี), มีคู่นอนหลายคน (เช่น หญิงบริการ, แต่งงานหลายครั้ง), มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่ก็อาจพบในผู้หญิงที่มีสามีคนเดียว ถ้าหากสามีเคยมีเพศสัมพันธ์กับหญิงอื่นและติดเชื้อไวรัส HPV มาแพร่ให้ภรรยา

๒. มะเร็งปากมดลูกชนิดต่อมเมือก (adenocarcinoma)
เป็นมะเร็งที่กลายพันธุ์มาจากเซลล์ต่อมเมือก ซึ่งอยู่บนพื้นผิวด้านในของปากมดลูก ตรงบริเวร ๒ ข้างของช่องทางเข้าของปากมดลูก มะเร็งชนิดนี้พบได้ค่อนข้างน้อย สาเหตุของการเกิดมะเร็งชนิดนี้ยังไม่ทราบ จะพบในหญิงอายุน้อย (ประมาณ ๓๐ ปี) และพบในคนที่ไม่ได้แต่งงาน

อาการ   ระยะแรกเริ่มจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ ให้สังเกตเห็น แต่เมื่อมะเร็งลุกลามมากขึ้น จะพบว่ามีอาการเลือดออกจากช่องคลอด (บางครั้งคิดว่ามีประจำเดือนออกมาก หรือกะปริดกะปรอย) หรือสังเกตเห็นมีเลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์ บางคนอาจมีอาการตกขาวมีกลิ่นเหม็น หรือมีตกขาวปริมาณมาก หรือมีเลือดปน ผู้ที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือน อาจสังเกตว่าหลังหมดประจำเดือนนาน ๖ เดือน หรือเป็นปี กลับมีเลือดประจำเดือนมาใหม่ และออกมากและนานผิดปกติ

การแยกโรค  อาการเลือดออกทางช่องคลอด อาจเกิดจากเนื้องอกมดลูก (myoma uteri) หรือเยื่อบุผิวมดลูกงอกผิดที่ (endometriosis) ซึ่งมักจะมีอาการปวดประจำเดือนรุนแรงร่วมกับมีเลือดออกมาก ส่วนอาการตกขาว อาจเกิดจากช่องคลอดอักเสบจากเชื้อราหรือพยาธิ, มดลูกอักเสบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกต้องแต่เนิ่นๆ ดังนั้น ถ้าหากพบว่ามีเลือดออกทางช่องคลอด หรือตกขาว ก็พึงอย่านิ่งนอนใจว่าเป็นเพียงเรื่องปกติธรรมดา ควรจะรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และให้การรักษาที่เหมาะสม

การวินิจฉัย  แพทย์สามารถวินิจฉัยมะเร็งปากมดลูกตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม (ระยะไม่มีอาการ) โดยการขูดเอาเซลล์เยื่อบุปากมดลูกไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดังที่เรียกว่า แพ็ปสเมียร์ (Pap smear) ถ้าพบว่ามีความผิดปกติ แพทย์จะตรวจโดยการใช้กล้องส่องปากมดลูก (colposcopy) และตัดเอาชิ้นเนื้อปากมดลูกไปตรวจพิสูจน์ หากพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูกจริง ก็จะตรวจเพิ่มเติมเพื่อดูว่ามะเร็งอยู่ในระยะใด หรือมีการแพร่กระจายไปมากน้อยเพียงใด แพทย์จะทำการตรวจเลือด ดูว่ามีภาวะซีด (จากการตรวจเลือด) หรือไม่ เกล็ดเลือดปกติหรือไม่ ไตเริ่มวายหรือไม่ (มะเร็งอาจไปอุดทางเดินปัสสาวะ) ตับทำงานปกติหรือไม่ (มะเร็งอาจแพร่ไปที่ตับ) นอกจากนี้อาจทำการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น ส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (proctosigmoidoscopy) ตรวจอัลตราซาวนด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เป็นต้น

แพทย์จะแบ่งระยะของมะเร็งออกเป็น ๔ ระยะได้แก่

๑. ระยะที่ ๑ เซลล์มะเร็งจำกัดอยู่เฉพาะในบริเวณปากมดลูก
๒. ระยะที่ ๒ เซลล์มะเร็งลุกลามไปบริเวณโดยรอบ เช่น ช่องคลอดส่วนบน, เนื้อเยื่อที่อยู่ติดกับปากมดลูก
๓. ระยะที่ ๓ เซลล์มะเร็งแพร่ไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง เช่น ช่องคลอดส่วนล่าง ต่อมน้ำเหลือง เนื้อเยื่อภายในอุ้งเชิงกราน
๔. ระยะที่ ๔ เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้ หรือออกนอกอุ้งเชิงกราน รวมทั้งปอด ตับ กระดูก
การแบ่งระยะของมะเร็งจะช่วยกำหนดวิธีการรักษาและพยากรณ์ผลการรักษา

การดูแลตนเอง  

๑. ผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ทุกคน แม้ว่ารู้สึกสบายดี ก็ควรได้รับการตรวจหามะเร็งระยะแรกเริ่ม (แพ็ปสเมียร์) สามารถตรวจได้ตั้งแต่อายุ ๑๘ ปีขึ้นไป ควรตรวจอย่างน้อยปีละครั้ง ติดต่อกันอย่างน้อย ๓ ครั้ง เมื่อพบว่าปกติก็เว้นไปตรวจทุก ๓ ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์

๒. ผู้หญิงที่มีอาการเลือดออกทางช่องคลอด หรือตกขาวแน่ชัด ควรรีบไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุให้

๓. หากตรวจพบว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก ควรปฏิบัติตัวดังนี้

(๑) ติดตามรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างจริงจังและต่อเนื่องตามนัด อย่าหนีหมอ หนีโรงพยาบาล

(๒) ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์

(๓) ควรหาทางเสริมสร้างกำลังใจด้วยการยอมรับความจริง, ทำใจให้อยู่กับปัจจุบัน และใช้เวลาปัจจุบันให้มีคุณค่ามากที่สุด หาเวลาว่างทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ, หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ, ทำสมาธิ เจริญสติ หรือสวดมนต์ภาวนา, หาโอกาสช่วยเหลือผู้อื่น หรือทำงานอาสาสมัคร, หาทางเข้ากลุ่มคนไข้มะเร็ง (กลุ่มเพื่อนมะเร็ง) เพื่อพูดคุยปรับทุกข์ ให้กำลังใจแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์กัน

(๔) อย่าลองรักษาตามวิธีที่ยังไม่ได้ผ่านการพิสูจน์ว่าได้ผลจริง หรือทำตามคำเล่าลือ ควรยึดวิธีการรักษาตามแผนปัจจุบันเป็นหลัก ส่วนจะใช้วิธีการรักษาแบบการแพทย์ทางเลือก (เช่น โยคะ รำมวยจีน ชีกง พลังจักรวาล ชีวจิต ฝังเข็ม สมุนไพร เป็นต้น) ขอให้ใช้วิจารณญาณ หากเห็นว่าไม่มีอันตราย หรือราคาไม่แพง จะใช้รักษาร่วมกับแผนปัจจุบัน ก็อาจช่วยเสริมสร้างกำลังใจและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้

การรักษา   แพทย์จะให้การดูแลรักษาตามลักษณะ และระยะของโรคที่ตรวจพบ ถ้าตรวจแพ็ปสเมียร์พบว่าเป็นเพียงเซลล์เยื่อบุปากมดลูกผิดปกติ ซึ่งยังไม่เป็นมะเร็ง แต่หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นมะเร็ง (เรียกว่า "ระยะก่อนเป็นมะเร็ง") แพทย์อาจทำการตัดชิ้นเนื้อบริเวณปากมดลูกออกไป และนัดตรวจเป็นระยะๆ ถ้าตรวจพบมะเร็งปากมดลูกระยะแรกเริ่ม ก็จะรักษาโดยวิธีผ่าตัด ถ้ามะเร็งจำกัดเฉพาะปากมดลูก อาจจะตัดเฉพาะบริเวณปากมดลูก แต่ถ้ามะเร็งแพร่กระจายมาก อาจจะตัดมดลูก รังไข่ ท่อรังไข่ และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง และอาจจำเป็นต้องให้การรักษาทางรังสีบำบัด และเคมีบำบัดร่วมด้วย รังสีบำบัด (ชาวบ้านเรียกว่า "การฉายแสง") จะใช้ในกรณีที่คนไข้หลังผ่าตัดมะเร็งปากมดลูก ที่คิดว่าอาจมีการแพร่กระจายออกนอกปากมดลูก หรือในกรณีที่เป็นมากจนผ่าตัดไม่ได้ รังสีบำบัดทำได้ ๒ วิธี คือ การฉายเครื่องฉายรังสี และการฝังแร่อาบรังสีบริเวณปากมดลูก ผลข้างเคียง อาจทำให้มีอาการซีด เพลีย ไม่มีแรง เบื่ออาหาร ผมร่วง ผิวบริเวณสัมผัสรังสีอาจมีสีน้ำตาล อาการต่างๆ จะหายไปหลังหยุดการรักษา ในบางคนที่รับรังสีบำบัด และมีชีวิตยืนยาวอาจมีผลข้างเคียงจากที่เกิดขึ้นในระยะยาว เช่น ลำไส้อักเสบ (ท้องเดินหรือถ่ายเป็นมูกเลือดเรื้อรัง), ท่อไตตีบตัน, ลำไส้ตีบตัน, ช่องคลอดตีบ, เท้าบวม เป็นต้น ส่วนเคมีบำบัดเพื่อช่วยฆ่าเซลล์มะเร็ง แพทย์อาจเลือกใช้ก่อนการผ่าตัดหรือร่วมกับรังสีบำบัด หรือใช้ในระยะที่โรคกำเริบมาก เพื่อทำให้ก้อนมะเร็งฝ่อตัว สะดวกแก่การผ่าตัด หรือลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ แต่อาจมีผลข้างเคียง เช่น ซีด เพลีย คลื่นไส้อาเจียน ผมร่วง แผลเปื่อยในปาก เป็นต้น

ภาวะแทรกซ้อน  อาจตกเลือดมาก จนเกิดภาวะซีด อาจมีอาการปวด หากมะเร็งลุกลามไปที่กระดูกหลัง ก้อนมะเร็ง ถ้ามีขนาดใหญ่ อาจอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดินอาหาร ถ้าแพร่กระจายไปยังปอด ตับ ก็อาจทำให้หายใจลำบาก หรือตับวายได้

การดำเนินโรค  ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างจริงจัง มะเร็งจะแพร่กระจายจนเกิดอันตราย ภายในเวลาไม่กี่ปีได้ ถ้าได้รับการรักษา ผลการรักษาขึ้นกับระยะของโรค ความแข็งแรงของคนไข้ และการตอบสนองต่อการรักษา หากรักษาตั้งแต่ระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งระยะแรกเริ่ม ก็มักจะรักษาให้หายขาดได้ด้วยการผ่าตัด และสามารถดำเนินชีวิตเช่นคนปกติ รวมทั้งการมีเพศสัมพันธ์ตามปกติ แต่ถ้าเป็นระยะท้ายๆ (ระยะที่ ๓ และ ๔) การรักษาอย่างจริงจัง อาจช่วยยืดอายุให้ยืนยาวและมีคุณภาพชีวิตดีกว่า...ไม่รักษา

การป้องกัน  นอกจากเสริมสร้างภูมิต้านทานโรคด้วยการออกกำลังกาย และกินอาหารสุขภาพแล้วควรปฏิบัติตัว ดังนี้

 ๑. ไม่สูบบุหรี่

 ๒. มีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย เช่น ใช้ถุงยางอนามัยป้องกันการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์

 ๓. ตรวจ "แพ็ปสเมียร์" เป็นประจำ

ข้อมูลสื่อ

293-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 293
กันยายน 2547
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ