• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บานไม่รู้โรย ความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา

บานไม่รู้โรย : ความงามที่ยั่งยืนฝืนกาลเวลา

เดือนเมษายนเวียนมาถึงอีกครั้งหนึ่งหมายถึงการมาของเทศกาลสำคัญ ยิ่งสำหรับชาวไทยด้วย นั่นคือ สงกรานต์ หรือปีใหม่ของชาวไทยแต่เดิมตามปฏิทินทางจันทรคติ ซึ่งจะเปลี่ยนจากปีมะเมียไปเป็นปีมะแมเมื่อผ่านวันเพ็ญเดือนห้า

เมื่อตอนผู้เขียนยังเป็นเด็กอยู่ในชนบท จำได้ว่าสงกรานต์เป็นช่วงที่สนุกสนานที่สุดในรอบปี เพราะเป็น ช่วงโรงเรียนปิดภาคเรียนประจำปีนานหลายเดือนและมีงานฉลองสงกรานต์ กันทุกหมู่บ้านและทุกวัด มีประเพณี สรงน้ำพระแล้วตามมาด้วยสาดน้ำกันเองระหว่างคนที่ไปร่วมสรงน้ำพระอย่างสนุกสนานและเย็นสดชื่น เพราะ เป็นช่วงที่อากาศร้อนที่สุดในรอบปี แต่ละวัดแต่ละหมู่บ้านที่อยู่ใกล้ๆ กัน มักจะจัดงานสรงน้ำพระให้เหลื่อมวันกัน เพื่อเปิดโอกาสให้หมู่บ้านอื่นๆได้มาร่วมสรงน้ำพระกันได้ทั่วถึงและหลายครั้ง นอกจากการสรงน้ำพระและเล่นสาดน้ำกันแล้ว ในชนบทสมัยโน้นยังมีการเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวร่วมเล่นเกมส์พื้นบ้านที่ทำให้ได้ใกล้ชิดสนิทสนมและถูกเนื้อต้องตัวกันได้บ้าง เช่น มอญซ่อนผ้า และโยนลูกช่วง เป็นต้น ในหมู่ชาวไทยเชื้อสายมอญก็จะมีการเล่นลูกสะบ้า ซึ่งยังอนุรักษ์เอาไว้ได้จนถึงปัจจุบัน

กาลเวลาที่เปลี่ยนไปทำให้สงกรานต์เปลี่ยนรูปแบบไปมาก จากศูนย์รวมที่วัดกลายเป็นแหล่งชุมชนที่ ไม่เกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนาและ กลายเป็นของนานาชาติ เช่น ที่ตรอกข้าวสาร ซึ่งโด่งดังไปทั่วโลก มีผู้คนจากชาติต่างๆ เดินทางมาร่วมงานสงกรานต์มากขึ้นทุกปี ความเปลี่ยน แปลงของเทศกาลสงกรานต์เป็นไปตามสัจธรรมของพุทธศาสนา นั่นคือ อนิจจัง หรือความไม่เที่ยงจากกฎธรรมชาติ (ธรรมะ) ข้อนี้ทำให้นึกถึง ดอกไม้ธรรมดาสามัญชนิดหนึ่งซึ่งคนไทยรู้จักกันดี เป็นดอกไม้ที่ดู เหมือนจะพยายามฝืนกาลเวลาเพื่อรักษาความงดงามเอาไว้ให้นานที่สุด และดูเหมือนจะรักษาเอาไว้ได้เป็นอย่างดีและยาวนานจนคนไทยเรียกว่าดอกบานไม่รู้โรย
 

บานไม่รู้โรย : จากแดนไกลมาเป็นดอกไม้มงคล
บานไม่รู้โรยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gomphrena globosa Linn. อยู่ ในวงศ์ Amaranthaceae เช่นเดียว กับหงอนไก่ สร้อยไก่ และผักโขม เป็นต้น

บานไม่รู้โรยเป็นไม้ล้มลุก เนื้อ อ่อน พุ่มเตี้ย สูงประมาณ ๓๐-๖๐ เซนติเมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก ตามลำต้นกิ่งก้านและใบปกคลุมด้วย ขนละเอียดสั้นๆ ใบออกเป็นคู่ ตรงข้ามสลับเวียนไปตามข้อต้น ขอบใบเรียบ ปลายใบค่อนข้างแหลม กว้าง ประมาณ ๒-๓ เซนติเมตร ยาวประมาณ ๕-๗ เซนติเมตร ดอกออกตรงส่วนปลายของกิ่งแขนง ออก พร้อมกันทีละมากๆ ทรงดอกค่อน ข้างกลม ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประ-มาณ ๑-๑.๕ เซนติเมตร แต่ละดอก ประกอบด้วยดอกย่อยจำนวนมาก ดอกย่อยแต่ละดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศ เมื่อติดเมล็ดแล้วกลีบดอกยังคงติดอยู่กับก้านดอกไม่ร่วงหล่นเหี่ยวเฉาหรือเปลี่ยนสีเหมือนดอกไม้ชนิดอื่น เป็นลักษณะเด่นของดอกไม้ชนิด นี้จึงได้ชื่อว่าดอกบานไม่รู้โรย

ดอกบานไม่รู้โรยในประเทศไทยพบอยู่ ๓ สี คือ สีขาว สีม่วงแดง และสีชมพู ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นลูกผสมระหว่างสีขาวกับสีม่วงแดง

เชื่อกันว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของ บานไม่รู้โรยอยู่ในเขตร้อนของทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ บาน-ไม่รู้โรยคงเข้ามาในประเทศไทย ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เพราะพบในตำรายาพื้นบ้านดั้งเดิมของไทยหลายตำรับ รวมทั้งในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล ปี พ.ศ.๒๔๑๖ ได้บรรยายเอาไว้ว่า " บานมิรู้โรย ; ดอกไม้อย่างหนึ่ง บานแล้วไม่โรยไม่เหี่ยวเลย ดอกไม้อย่างอื่นบานแล้ว โรยเหี่ยวแห้งไป " แสดงว่าคนไทยเมื่อ ๑๓๐ ปีก่อนโน้นรู้จักบานไม่รู้โรยกันเป็นอย่างดีแล้ว

ชื่อบานไม่รู้โรยเป็นชื่อที่เรียกกันทั่วไปในภาคกลาง ภาคเหนือเรียกว่า ตะล่อม หรือกะล่อม ภาคใต้เรียกว่า ดอกสามเดือน ภาคอีสาน เรียกว่า ดอกสามปีไม่เหี่ยว ในภาษา อังกฤษเรียก Globe Amaranth หรือ Bachelor s Buttons.
 

ประโยชน์ของบานไม่รู้โรย
แพทย์แผนไทยนำบานไม่รู้โรยมาใช้รักษาโรคได้หลายชนิด ดังปรากฏในตำราสรรพคุณสมุนไพรดังนี้

*ต้น : รสขื่นเล็กน้อย ขับ  ปัสสาวะ แก้หนองใน กามโรค แก้กระษัย ขับระดูขาว แก้กล่อนปัตตะคาด

*บานไม่รู้โรยขาวทั้งห้า : แก้ ไอหรือรากเป็นเลือด เลือดออกจากทวารทั้งเก้า

*ดอกบานไม่รู้โรยขาว : แก้นิ่ว

ตามตำราให้ใช้แต่บานไม่รู้โรยดอกสีขาวเท่านั้น สีอื่นไม่ใช้ เช่นเดียวกับบานเย็นและอัญชัน

ประโยชน์หลักอย่างหนึ่งของดอกบานไม่รู้โรยที่คน ไทยรู้จักกันดีก็คือ การนำมาตกแต่งในงานพิธีต่างๆ เพราะ นอกจากงดงามคงทนได้นานแล้ว ยังถือเป็นดอกไม้มงคลชนิดหนึ่งด้วย เพราะหมายถึงความยั่งยืนนานไม่ร่วงโรย จึงมักใช้ร้อยเป็นพวงมาลัย หรือร้อยเป็นอุบะประดับในงาน หรือจัดเป็นพานพุ่มสำหรับบูชาพระ ไหว้ครู หรือประดับ ในงานต่างๆ เด็กนักเรียนในอดีตจะคุ้นเคยกับการจัดพาน พุ่มจากดอกบานไม่รู้โรยเป็นอย่างดี เพราะถูกเกณฑ์ให้เก็บดอกบานไม่รู้โรยมาเสียบกับไม้กลัดที่ทำจากไม้ไผ่ แล้วปักลงบนดินเหนียวที่พูนเอาไว้บนพานเป็นรูปทรงที่ต้องการ สลับสีเป็นลวดลายต่างๆ ตามที่เห็นว่าสวยงาม พานพุ่มดังกล่าวปัจจุบันปรับเปลี่ยนจากไม้กลัดเป็นเข็มหมุด จากดินเหนียวเป็นโฟมหรือพลาสติก แต่ก็ยังคงใช้ดอกบานไม่รู้โรยอยู่อย่างเดิม

ต้นบานไม่รู้โรยนับเป็นพืชที่ปลูกขยายพันธุ์ง่าย และแข็งแรงทนทาน จึงพบเห็นขึ้นอยู่ทั่วไป บานไม่รู้โรย ต้องการแสงแดดจัดจึงเหมาะสำหรับปลูกกลางแจ้ง ต้องการความชื้นบ้าง และทนทานความแห้งแล้งได้ดีพอสมควร เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับเป็นแปลงหรือตามขอบทางเดิน บานไม่รู้โรยออกดอกได้ตลอดทั้งปี การปลูกก็เพียงแต่พรวนดินแล้วโรยเมล็ดลงไปก็พอแล้ว เมื่อได้ความชื้นจากฝนหรือน้ำที่รดให้ก็จะงอกงามขึ้นมาได้เองเหมือนกับที่เพลงสำหรับเด็กเพลงหนึ่งมีเนื้อร้องว่า

"วันนี้เป็นวันจันทร์ฉันจะปลูกทานตะวันไว้รอบๆ บ้าน พรุ่งนี้วันอังคารบานไม่รู้โรยฉันจะโปรยริมรั้ว..."

หากท่านผู้อ่านมีที่ว่างกลางแจ้งสักเล็กน้อย ก็อาจ โปรยเมล็ดบานไม่รู้โรยลงไปได้โดยไม่ต้องรอเฉพาะวันอังคารแต่อย่างใด ขอเพียงพรวนดินและรดน้ำให้บ้าง อีกไม่นานท่านก็จะได้ชื่นชมดอกบานไม่รู้โรยที่จะรักษาความงามเอาไว้ให้ท่านได้ยาวนานกว่าเวลาที่ท่านใช้ปลูกและดูแลรักษามากมายหลายสิบหลายร้อยเท่าเลยทีเดียว
 

ข้อมูลสื่อ

288-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 288
เมษายน 2546
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร