• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาคือดาบสองคม

เรื่องอันตรายของฮอร์โมนวัยทองชนิดสูตรผสมที่นำเสนอในฉบับนี้ นับว่าเป็นการพลิกโฉมการดูแลสุขภาพหญิงวัยทองที่เน้นการพึ่งยาฮอร์โมนดังที่ปฏิบัติ กันมานานนับทศวรรษ มาเป็นการพึ่งวิถีดำเนินชีวิตแบบธรรมชาติ

เรื่องนี้เมื่อประกาศในสหรัฐอเมริกาเมื่อกลางปีที่แล้ว ได้สร้างความตระหนกตกใจแก่สตรีวัยทองจำนวน มากที่ใช้ยาฮอร์โมนชนิดสูตรผสม จนนักวิชาการของ เขาต้องออกมาชี้แจงว่า เมื่อหยุดกินฮอร์โมนดังกล่าว โอกาสเสี่ยงต่างๆ ก็จะลดลงไป

ขอแนะนำให้ท่านที่กินฮอร์โมนวัยทองอยู่ได้ปรึกษา แพทย์ผู้รักษาว่า จะหยุดกินได้หรือไม่ เนื่องเพราะใน บางภาวะการใช้ฮอร์โมนอาจมีประโยชน์มากกว่าโทษก็ได้

กรณีนี้นับว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่ตอกย้ำถึงหลักพื้นฐานที่ว่า" ยา คือ ดาบสองคม " คือมีทั้งคุณและโทษในตัวมันเองเสมอ

ยาใดๆ ก็ตาม จะพิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยสูงหรือ มีความเสี่ยงต่ำ ก็ต่อเมื่อได้ผ่านการใช้ในคนเป็นจำนวน มากติดต่อกันนานนับ ๒๐-๓๐ ปีขึ้นไปแล้วเท่านั้น

เนื่องเพราะขั้นตอนการทดลองยา แม้ว่าจะพบว่า ปลอดภัยในการใช้ในสัตว์ทดลอง แต่เมื่อนำมาใช้ในคนก็ไม่แน่ว่าจะปลอดภัยตามไปด้วย เพราะคนกับสัตว์มีโครงสร้างของร่างกายที่ต่างกัน จำเป็นต้องมีการติดตามผลการใช้ในคนเป็นระยะยาวนานเสียก่อน จึงจะบอกได้เต็มปากเต็มคำว่าปลอดภัยจริง

ปีหนึ่งๆ องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีระบบการติดตามข้อมูลการใช้ยาในคนอย่างดี เยี่ยม ได้มีการประกาศยกเลิกยาใหม่ๆ (ที่มีใช้ไม่ถึง ๒๐ ปี) อยู่ประจำ เช่น ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วงและออกฤทธิ์ยาว ที่มีชื่อว่า เทอร์เฟนาดีน (terfenadine) และแอสตีมิโซล (astemizole) เมื่อผลิตออกมาใหม่ๆ มีผู้นิยมใช้กันมาก เพราะไม่ง่วง (เหมือนยาแก้แพ้ตัวเก่าแก่ ได้แก่ คลอร์เฟนิรามีน) และใช้สะดวก (กินวันละมื้อ) แต่ต่อมาพบว่า เมื่อกินยาพวกนี้ร่วมกับยาบางชนิด (เช่น ยาฆ่าเชื้อรา ยาปฏิชีวนะบางชนิด) ทำให้เกิดภาวะ หัวใจเต้นผิดปกติ จนมีรายงานว่ามีคนตายจากยานี้กว่า ๒๐ ราย องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา จึงได้ยกเลิกสูตรยาทั้ง ๒ ตัว

กรณีที่เล่าขานกันเป็นแบบฉบับ ก็คือ ยาเตตราไซคลีน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะชนิดครอบจักรวาล เมื่อผลิต ออกมาใช้ ๓๐-๔๐ ปีก่อนพบว่ามีความปลอดภัยกว่า ยาเพนิซิลลิน ในแง่ที่มีการแพ้น้อยกว่ากัน จึงนิยมใช้ กันอย่างแพร่หลายจนผ่านไปเกือบ ๒๐ ปี จึงพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี ที่ใช้ยานี้จะมีฟันกระดำกระด่าง ซึ่งกว่าจะรู้ต้องรอให้ฟันแท้ขึ้นเสียก่อน จึงได้มีการเพิ่มเติมข้อห้ามใช้ยานี้ในเด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี และหญิงตั้งครรภ์ (เพราะ ทารกที่เกิดมาอาจมีฟันแท้กระดำกระด่างได้เช่นกัน)

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ในบ้านเรามีการส่งเสริมการใช้ยาสมุนไพร ได้แก่ ขี้เหล็ก (ช่วยนอนหลับ) และบอระเพ็ด (ทดลองใช้รักษาเบาหวาน) ต่อมาพบว่าเมื่อ ใช้ทุกวันติดต่อกันนานเป็นแรมเดือน บางคนเกิดอาการดีซ่าน เนื่องจากยานี้ทำให้ตับอักเสบได้ จึงได้ระงับยาทั้ง ๒ ชนิดนี้ไปในที่สุด

บทเรียนดังกล่าวให้แง่คิดว่า ขึ้นชื่อว่ายาไม่ว่าจะเป็นแผนปัจจุบันหรือแผนโบราณ ถ้าจะใช้พึงต้องรู้เท่าทันว่ามีคุณและโทษอย่างไร

ข้อสำคัญ ควรใช้ยาเท่าที่จำเป็น และควรเลือก ใช้ยาที่ผ่านการพิสูจน์อย่างยาวนานแล้วว่า ได้ผลและปลอดภัยจริงแล้วเท่านั้น

ข้อมูลสื่อ

287-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 287
มีนาคม 2546
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ