• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เผยผลวิจัยล่าสุด!!ฮอร์โมนวัยทอง....ก่อมะเร็งแน่นอน

วันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕ คงเป็นวันประวัติศาสตร์ทางการแพทย์อีกวันหนึ่ง (ในอนาคต) เมื่อราชวิทยาลัยสูติและนรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (American's College of Obstetricians & Gynecologists หรือ ACOG) ได้ออกมา แถลงข้อมูลการวิจัยล่าสุดว่า ฮอร์โมนทดแทนวัยทองชนิดสูตรผสม (เอสโตรเจน รวมกับโปรเจสเตอโรน) เมื่อใช้ติดต่อกันนาน ๕.๒ ปี ก่อให้เกิดมะเร็งในกลุ่มทดลอง อย่างมีนัยสำคัญ จึงสั่งให้หยุดการใช้ฮอร์โมนสูตรนี้ทันที...

เมื่อพูดถึงฮอร์โมนทดแทนวัยทอง คนทั่วไปอาจนึกว่าเป็นชนิดเดียว กับยาคุมกำเนิด ซึ่งความจริงเป็นคนละประเภท (แม้สูตรยาจะใกล้ เคียงกัน)

ฮอร์โมนที่ใช้สำหรับคุมกำเนิด จะเป็นฮอร์โมนกลุ่มหนึ่ง เช่น  เอสโตรเจน (estrogen) โปรเจสเตอโรน (progesterone) หรือโปรเจสติน (progestin) ส่วนฮอร์โมนทดแทนวัยทองเป็น ฮอร์โมนเอสโตรเจนอีกกลุ่ม หนึ่ง ซึ่งมีประมาณ ๓๐-๔๐ ชนิด ที่แตก ต่างกันทางโครงสร้างทางเคมี แต่โดยราก (พื้นฐาน) ก็จะคล้ายๆ กัน

ฮอร์โมนชนิดต่างๆ
คนส่วนใหญ่มักคิด ว่ายา (ฮอร์โมน) มีแต่ชนิด กินเท่านั้น แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านการแพทย์ทำให้มีฮอร์โมนทดแทนวัยทองในรูปลักษณะหลากหลาย ตั้งแต่ยากิน ยาฉีด (เข้าหลอดเลือดหรือกล้ามเนื้อ) ยาอมใต้ลิ้น ยาพ่นจมูก ยาสอดช่องคลอด หรือเป็นชนิดปลาสเตอร์แปะผิวหนัง เพื่อให้แพทย์นำไปใช้กับคนไข้ได้ตามความเหมาะสม หรือตามความต้องการของผู้ใช้

ตัวอย่างเช่น ผู้ที่จำเป็นต้องได้รับฮอร์โมนอย่างรวดเร็วก็ต้องใช้ชนิดฉีด คนที่ไม่ชอบเจ็บตัวหรือ ต้องมาฉีดยาบ่อยๆอาจเลือกใช้ ยาชนิดกิน ผู้ที่มีปัญหากินยายาก หรือกลัวเกิดผลข้างเคียงของยา อาจเลือกเป็นปลาสเตอร์แปะผิวหนัง หรือคนที่ไม่ชอบวิธีแปะผิวหนังเพราะรำคาญหรือรู้สึกระคายเคือง ผิว ก็อาจใช้เป็นแบบยาอมใต้ลิ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ก็จะแตกต่างกันด้วย

ยากินและยาฉีด ๒ ชนิดนี้จะต้องผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลง หรือการสังเคราะห์ที่ตับก่อน จึงจะถูกดูดซึมไปใช้ได้ ส่วนชนิดสอดช่องคลอดหรือปลาสเตอร์แปะผิวหนัง ร่างกายสามารถดูดซึมไปใช้ได้ทันที โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการย่อยที่ตับ ทำให้ตับไม่ต้องทำงานมากขึ้น ซึ่งเหมาะกับผู้หญิงวัยทองที่เป็นโรคตับหรือ โรคความดันเลือดสูง มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูง หรือผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนจากการใช้ฮอร์โมนชนิดกิน และแน่นอนเมื่อมีความแตกต่างหลากหลายรูป แบบแล้ว เรื่องของราคาก็แตกต่าง กันด้วยเช่นกัน

ปัจจุบันชนิดของ ฮอร์โมนทดแทนที่ราคาแพงที่สุด คือ ยากิน เพราะยากินจะต้องผ่านอวัยวะสำคัญคือ ตับก่อน และกว่า ที่จะมาเป็นยาที่ต้องปลอดภัยต่อผู้ใช้มากที่สุดนั้น ก็จะต้องผ่านการวิจัยที่ใช้ต้นทุนค่อน ข้างสูง รวมถึงความบริสุทธิ์ ของตัวยาที่นำมาใช้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมยากินถึงแพงกว่า

ย้อนรอยอดีต
ประเด็นเรื่องการใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทอง (หรือวัยที่ย่างเข้าสู่ความเสื่อม) ดูจะเป็น talk  of the town หรือเรื่องที่พูดกันสนั่นเมืองในแวดวงการแพทย์ ใน ช่วง ๔-๕ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ ทางด้านสูตินรีเวช ซึ่งมีความเห็น ต่อเรื่องการใช้ฮอร์โมนเป็น ๒ ฝ่าย คือฝ่ายสนับสนุนให้ใช้กับฝ่ายไม่สนับสนุนให้ใช้ฮอร์โมนในผู้หญิง ที่มีอาการอันไม่พึงประสงค์ต่างๆ โดยฝ่ายที่ไม่สนับสนุนการใช้ฮอร์โมน ก็เนื่องจากเกรงอันตรายข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะมะเร็งเต้านม ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการ    " ฟันธง " อย่างชัดเจน เป็นเพียง "อาจจะเป็น " ถ้าใช้นานเกิน ๑๐ ปี

ในสหรัฐอเมริกาเองมีการ ใช้ฮอร์โมนเสริม ในกรณีของผู้ที่เข้าสู่วัยทองก่อน อายุ ๔๙ ปี (อันเนื่อง มาจากการถูกตัดมดลูก รังไข่ หรือรังไข่เสื่อม สภาพก่อนวัยอันควร) มานานกว่า ๖๐ ปีแล้ว แต่ที่นำมาใช้ทดแทนในกรณีของผู้ที่ เข้าสู่วัยทองจริงๆ ยังไม่ถึง ๒๐ ปี ส่วนในประเทศไทยการใช้ฮอร์โมน เริ่มมาไม่เกิน ๑๐ ปีนี่เอง ต้องนับว่ายังเป็นสิ่งใหม่อยู่
ราชวิทยาลัยสูติแพทย์และ   นรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา (ACOG) เป็นราชวิทยาลัยใหญ่ที่มีสมาชิก ๔๐,๐๐๐ คน ที่เป็นแพทย์ เฉพาะทางสูตินรีเวช เป็นองค์กรที่มีบทบาทชี้นำ และกำหนดการรักษาโรคทางด้านสูตินรีเวช อันเป็นที่ยอมรับและเชื่อถือของสูตินรีแพทย์ทั่วโลก

เมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว ACOG ได้ตั้งทีมนักวิจัยมีผู้เชี่ยวชาญ   เพื่อศึกษาเรื่องของวัยทองด้วยฮอร์โมนโดยเฉพาะ ก็คือ ทีม WHI (Women  and Health Initiatives) โดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก NIH (National Institute of Health) โดยการนำยา (ฮอร์โมน ทดแทน) มาใช้กับคนไข้ที่อายุ ๕๐-๗๙ ปี และกำหนดเอาไว้ว่าจะวิจัย ๘ ปี

การวิจัยแบ่งกลุ่มทดลองเป็นหลายกลุ่ม และมีการใช้ยาหลายแบบ เช่น เป็นเอสโตรเจน (estrogen) ตัวเดียว หรือใช้เอสโตรเจนร่วมกับโปรเจสเตอโรน (progesterone) หรือใช้ฮอร์โมน อื่นๆ อีกหลายชนิด การวิจัยครั้งนี้ใช้รูปแบบและวิธีการหลากหลาย เพื่อดูว่าสิ่งใดหรือฮอร์โมนตัวไหน ที่มีผลกระทบต่อคนไข้ ปรากฏว่าวิจัยไปได้ ๕ ปี ๒ เดือน (นับ ถึงต้นปี ๒๕๔๕) คณะนักวิจัยพบว่า มีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นจริง   จึงได้ทำการวิเคราะห์อย่างละเอียด จนกระทั่งสรุปผลออกมาว่าฮอร์โมน ทดแทนมีความเสี่ยงต่อคนไข้แน่นอน (โดยเฉพาะสูตรผสม) และ แถลงข่าวเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๕

ส่วนสาเหตุที่ต้อง มี "สูตรเดี่ยว" และ "สูตรผสม" ก็เพราะ แต่เดิมนักวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์เชื่อว่า การ ให้ฮอร์โมนเดี่ยวๆ ตัวเดียวจะทำให้เป็น มะเร็ง เพราะโดยธรรมชาติของร่างกายฮอร์โมนเอสโตรเจนกับฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนจะทำงานร่วมกัน คู่กันตลอดเวลา  ในผู้หญิงปกติ เมื่อเข้าสู่วัยทอง ถ้าเสริมฮอร์โมนเอสโตรเจนเพียงตัวเดียวก็เชื่อกันว่าอาจทำให้เป็น มะเร็งจากเอสโตรเจน เพราะว่ามีการกระตุ้นฝ่ายเดียว ก็เลยเสริมโปรเจสเตอโรนเข้าไปเพื่อให้เกิดความสมดุล เพื่อลดโอกาสเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งมดลูก และมะเร็งเต้านม

ปรากฏว่าผลการวิจัยกลับตรงข้ามโดยสิ้นเชิง ความจริงที่ พบนี้ทำให้นักวิจัยตกใจกันมาก เพราะการให้ฮอร์โมน ๒ ชนิดร่วมกัน ทำให้เป็นมะเร็งมากกว่าการใช้ฮอร์โมนเดี่ยวเสียอีก ความ ผิดปกติทางด้านร่างกาย ๔ อย่าง ที่เกิดขึ้นในกลุ่มทดลองของการวิจัย ครั้งนี้ (จากคนจำนวน ๑๖,๖๐๘ คน) สรุปออกมาเป็นข้อมูลว่า ใน   ๑๐,๐๐๐ คนจะเป็นมะเร็งเต้านม ๘ คน หลอดเลือดสมองตีบตัน  ๘ คน หลอดเลือดหัวใจตีบตัน ๗ คน หลอดเลือดที่ไปเลี้ยง ปอดอุดตัน ๘ คน เมื่อ ใช้ฮอร์โมนติดต่อกันนาน ๕ ปี ๒ เดือน

จากกรณีดังกล่าว ทำให้การวิจัยที่ผ่านมาก่อนหน้านั้น (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๔๕) ต้องถูก ยกเลิก เพราะทำให้ผู้ใช้ เกิดความเสี่ยงกว่า เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้ให้ฮอร์โมนเสริม และ ฮอร์โมนทดแทนที่ทาง ACOG ได้ ประกาศให้งดใช้นั้น ก็คือฮอร์โมน ทดแทนสูตรผสมทุกรูปแบบ

ใช้ฮอร์โมนอย่างไรจึงจะปลอดภัย
ฮอร์โมนก็เหมือนสรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ที่มีทั้งด้านมืดและด้านสว่าง คือมีทั้งประโยชน์และโทษอยู่ในตัวเอง แต่สำหรับผู้หญิง วัยทองที่จำเป็นต้องใช้ฮอร์โมนทดแทน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงต่อ สุขภาพ เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายแพทย์ สมชัย โกวิทเจริญกุล อาจารย์พิเศษประจำภาควิชาสูติศาสตร์นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัย มหิดล ได้ให้ความรู้และแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจหลายประเด็น 

"เหตุผลสำคัญ ๒ ประการที่หมอต้องให้ฮอร์โมนกับผู้หญิงวัยทองคือ เขามีอาการไม่ปกติหลายอย่าง เช่น ปวดหัว ร้อนวูบวาบ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ผิวแห้ง ผมร่วง หงุดหงิด ปัสสาวะบ่อย ท้องอืด แน่นท้อง เป็นต้น เรียกว่ามีอาการมากจนรบกวนวิถีการดำเนินชีวิตประจำวัน กับอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีภาวะกระดูกเปราะ บาง หรือกระดูกพรุน ที่อาจทำให้ กระดูกหักได้ง่าย

ปัจจุบันนี้แพทย์จะแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรกคือเลือกใช้ฮอร์โมนเป็นหลักในการรักษาคนไข้ กลุ่มที่สองคือจะให้ฮอร์โมนบ้าง  ไม่ให้บ้าง เพราะไม่อยากให้คนไข้เสี่ยงกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้น  กับกลุ่มที่ ๓ คือไม่ให้ฮอร์โมนกับ คนไข้เลย ซึ่งหมอกลุ่มนี้มีจำนวนน้อย ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่าจะไปเจอหมอกลุ่มไหน ถ้าไปเจอหมอที่ชอบ ให้ยา คนไข้ก็จะได้ยาเต็มที่เลย

การใช้ฮอร์โมนที่จะไม่ให้เกิด อันตรายคือ
๑. ต้องดูว่าคนไข้ไม่มีความเสี่ยง
๒. ตรวจร่างกายแล้วไม่มีอะไรที่เป็นข้อห้าม
๓.
ต้องเลือกยา ซึ่ง หมอต้องรู้ว่าสูตรไหนเสี่ยง สูตรไหนไม่เสี่ยง

ความจริงแล้ว อาการต่างๆ ที่ทำให้รู้สึกไม่ สบายในวัยทอง จะเป็น อยู่ไม่เกิน ๑ ปี หรือ ๒ ปี เพราะฉะนั้นถ้าคนไข้มีความจำเป็นต้องกินยา ก็จะให้กิน ในระยะเวลาสั้นที่สุด โดยอาจจะลองให้สัก ๖ เดือน หรือ ๑ ปีก่อน จนกระทั่งคนไข้รู้สึกว่าอาการเขาสบายขึ้น ปรับตัวได้ ก็จะพิจารณา ว่าหยุดยาได้ไหม ส่วนใหญ่ผมจะ พยายามไม่ใช้ยาเกิน ๑-๒ ปี เพื่อ ความปลอดภัยของคนไข้ และเมื่อ หยุดยาแล้วก็หยุดเลย ไม่มีความจำเป็นจะต้องกินไปตลอด

ที่สำคัญหมอจะต้องให้ความรู้ ให้ข้อมูลที่แท้จริงทุกอย่างกับคนไข้ ว่าเขาพร้อมที่จะเสี่ยงกับการใช้ยาหรือไม่ แล้วคุ้มไหม เพราะบทสรุป ของราชวิทยาลัยสูติแพทย์และ นรีแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๔๕ ก็ออกมา บอกแล้วว่า การให้ฮอร์โมนมีผลเสีย มากกว่าผลดี และเตือนสูติแพทย์ ทั้งหลายว่า ถ้าจะให้ฮอร์โมนกับคนไข้ ต้องคิดให้ดี คิดให้รอบคอบ และให้คนไข้ช่วยตัดสินใจด้วย"

ถ้าไม่กินฮอร์โมน จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร
ด้วยข้อมูลที่รับรู้กันว่าการกิน ฮอร์โมนทดแทนวัยทอง ทำให้มีโอกาสเสี่ยงกับการเป็นโรคมะเร็ง จึงมีคนกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะไม่ใช้ฮอร์โมน แม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มที่ควร จะใช้ฮอร์โมนก็ตาม กรณีเช่นนี้จะ เกิดอันตรายอะไรหรือไม่ และคน กลุ่มนี้จะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร จึง จะผ่านพ้นวัยทองไปได้อย่างไม่มีปัญหาสุขภาพ เรื่องนี้ นพ.สมชัย โกวิทเจริญกุล ได้ให้ความรู้และคำแนะนำว่า

"ถ้าจะรักษาคน ๒ กลุ่มนี้โดยไม่ให้ฮอร์โมน ก็ต้องหาวิธีอื่น แทน ซึ่งผมคิดมาตลอดเวลาว่าจะทำอย่างไร เมื่อคนไข้กินฮอร์โมน แล้วมีรายงานว่าเป็นมะเร็งประปราย ในบ้านเราก็มีแต่ไม่มีการรายงาน เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถหาสิ่งทดแทนมารักษาคน ๒ กลุ่มนี้ได้ ให้เขาผ่านพ้นช่วงสั้นๆ นี้ไปได้ ก็ไม่จำเป็นต้องกินฮอร์โมน

สำหรับกลุ่มที่กระดูกเปราะ กระดูกพรุน ผมเปิดอินเตอร์เน็ตได้พบข้อมูลที่น่าสนใจ เรื่องการค้น พบความจริงของนักวิทยาศาสตร์ ของนาซา จุดนี้ทำให้ผมมีความมั่นใจสูงมาก คือเรื่องที่องค์การนาซายิงจรวดส่งนักบินอวกาศและสัตว์ทดลองไปในอวกาศ เขาค้นพบว่าหนูทดลองที่แบ่งเป็นหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ให้ฮอร์โมน กลุ่มที่ให้แคลเซียม และกลุ่มที่ให้ยาอื่นๆ อีกหลายตัว โดยเฉพาะ กลุ่มที่ให้ฮอร์โมนและแคลเซียมจะแบ่งเป็น ๒ กลุ่มใหญ่

คือกลุ่มหนึ่งอยู่ในภาวะที่ไม่มี แรงดึงดูดของโลก อีกกลุ่มหนึ่งมี แรงดึงดูดของโลกตลอดเวลา และ กลุ่มที่มีแรงดึงดูดของโลกแต่ไม่ได้ ให้อะไรเลย แต่ทำตัวเหมือนกับหนูที่อยู่บนโลกคือถีบจักร แล้วก็กินข้าวเปลือก โดยไม่มีฮอร์โมนทดแทน และเมื่อหนูทั้ง ๒ กลุ่มกลับมาบนโลก ไปตรวจความหนา แน่นของกระดูก พบว่ากระดูกที่หนาแน่นที่สุดคือกลุ่มหนูที่ถีบจักร อยู่บนอวกาศ ส่วนกลุ่มที่ไม่ได้ถีบ จักรแต่ให้ฮอร์โมน หรือให้สิ่งต่างๆ ที่จะช่วยเรื่องกระดูกพรุน ปรากฏ ว่ากระดูกเปราะทุกตัว

การทดลองและการค้นพบนี้ ทำให้เรามั่นใจว่าการลงน้ำหนักที่กระดูก จะทำให้กระดูกแน่น ในทางทฤษฎี เรารู้ว่าฮอร์โมนเอส-โตรเจนทำให้กระดูกแน่น พอถึงวัยทองถ้าไม่มีฮอร์โมนตัวนี้กระดูก จะเริ่มพรุน เริ่มเปราะ เพราะมีการสลายตัวเร็วขึ้น แต่ถ้ามีการลง น้ำหนักที่กระดูก (bone loading) ก็จะทำให้กระดูกแน่นได้

ในอดีตเราจะเห็นคนเฒ่าคน แก่ ใช้วิธีเอามือทุบที่ขาบ้าง ทุบที่มือบ้าง ผมรู้สึกว่านี่คือ bone loading ดีๆ นี่เอง เป็นภูมิปัญญา ของมนุษย์เราที่มีมานานแล้ว คือทำให้กระดูกมีการกระแทกกระทั้น ลงน้ำหนัก ทำให้กระดูกมีการเคลื่อนไหว ซึ่งจะกระตุ้นทำให้เซลล์กระดูกมีการงอกออกมา มีการปรับตัว ทำให้กระดูกแน่นได้อีกทางหนึ่ง

แต่คนสมัยใหม่ไม่เคยคิด ไม่เคยเอามาใช้ คอยแต่จะพึ่งหรือ ตามเทคโนโลยีต่างชาติอย่างเดียว ซึ่งตรงนั้นจะเป็นการปรับตัวตามธรรมชาติของคนเราอยู่แล้ว สังเกต ไหม! คนชนบทแม้จะแก่เฒ่ารูปร่าง ผอมบาง เขาก็ยังทำไร่ทำนา ไม่ค่อย เจ็บป่วยเป็นอะไรมากมาย วิถีชีวิต ก็กินแต่ผัก ไม่เคยดื่มนม ไม่กิน ฮอร์โมนเหมือนคนสมัยใหม่ ที่กลัว ว่าจะต้องเจออาการอย่างโน้นอย่างนี้

ถามว่าสถิติเรื่องกระดูกหักตัวเลขสูงไหม? ก็ไม่ได้สูงเท่าไหร่ คือผู้ป่วยที่กระดูกหักน่ะมี อาจจะเพราะอุบัติเหตุหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ตัวเลขที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ชาวอเมริกันที่ตัวใหญ่ดื่มนมวันละ หลายลิตร แต่มีสถิติกระดูกหักสูงกว่าคนเอเชีย เพราะกินโปรตีน มากเกินไป

ผมพูดได้เลยว่าร้อยละ ๙๙ ของคนไทยไม่ได้ใช้ฮอร์โมนหรอก และบอกได้เลยว่าประชากรกลุ่มใหญ่ของเอเชียร้อยละ ๙๙ ก็ไม่ได้ใช้ ก็ถ้าเผื่อว่าฮอร์โมนทดแทนนี้จำเป็นชนิดไม่กินไม่ได้ คนเอเชีย คงขาหัก กระดูกหัก ไปเกินครึ่งแล้ว
ผมให้ฮอร์โมนกับคนไข้บางคนที่เขาต้องการ แต่อีกกลุ่มหนึ่งที่คนไข้ไม่ยอมรับ ผมก็ไม่ให้ และจากประสบการณ์กว่า ๑๐ ปีที่ผ่านมา ที่มีการใช้ฮอร์โมนในบ้านเรา ผมก็ยังติดตามคนไข้ทั้ง ๒ กลุ่ม ตั้งแต่ต้นจนปัจจุบัน แล้ว สรุปในใจลึกๆ จากประสบการณ์จริงว่า ไม่มีความแตกต่างกันเท่าไหร่ในเรื่องความเจ็บป่วยจากโรคหัวใจ หรือกระดูกหักระหว่าง กลุ่มที่ใช้กับไม่ใช้ฮอร์โมน

สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ต้องเน้นคือ การออกกำลังกายเป็นประจำ เพราะ จะทำให้ความหนาแน่นของกระดูก กลับมาได้ ตรงนี้มีงานวิจัยชัดเจน

ในเรื่องฮอร์โมนทดแทน ณ เวลานี้ฮอร์โมนทดแทนที่ปลอดภัย ต่อผู้ใช้มากที่สุดคือ กลุ่มที่สกัดจาก ถั่วเหลือง ซึ่งเป็นสารธรรมชาติและ ขายดีที่สุด (องค์การเภสัชกรรมก็ทำออกมาจำหน่าย) ถั่วเหลืองเป็นพืชที่มีคนทำวิจัยกันมากมายทั่วโลก และได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า ฮอร์โมนจากถั่วเหลืองสามารถบรรเทาอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นในช่วงวัยทองได้"

ฝากให้คิด
ฮอร์โมนทดแทนวัยทอง เริ่มใช้กันอย่างจริงจังในสหรัฐอเมริกายังไม่ถึง ๒๐ ปี และในประเทศไทยเองก็ใช้กันมายังไม่ถึง ๑๐ ปี แต่ไฉนบางคนจึงมีความรู้เหมือนว่า ฮอร์โมนทดแทนเป็นสิ่งสำคัญที่ชีวิตขาดไม่ได้ ทั้งๆ ที่เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็สืบทอดกันมายาวนาน นับหมื่นนับพันปี ทางเลือกในชีวิต คนเราไม่ได้มีเพียงทางเดียว เช่นกัน! ฮอร์โมนทดแทนก็ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการมีคุณภาพชีวิต ที่ดีในบั้นปลาย

ในฐานะของสูติแพทย์ที่ทำการรักษาคนไข้วัยทองมาเป็นจำนวนมาก นพ.สมชัย โกวิทเจริญกุล มีทรรศนะต่อเรื่องนี้ว่า

"ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยทอง สิ่งสำคัญที่สุดคือ เรื่องจิตใจ ถ้าคนไข้ มีความมั่นคง มีจิตใจที่ดี จะไม่ ค่อยมีปัญหา เพราะร่างกายทุกคน ก็ต้องเสื่อมตามธรรมชาติอยู่แล้ว ถ้าหากเข้าใจชีวิต ชอบช่วยเหลือผู้อื่น จิตวิญญาณที่เข้มแข็ง จะทำให้ร่างกายเข้มแข็งตามไปด้วย ยิ่งเป็นคนที่ดูแลสุขภาพมาตั้งแต่วัยหนุ่มสาว จะมีปัญหาน้อยมาก

ผมเชื่อว่าผู้หญิงที่ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนมากมาย คนกลุ่มนี้มีความ สุขมากกว่าคนที่ใช้ฮอร์โมนเสียอีก
ผมเจอคนไข้มามากต่อ มาก เห็นคนที่มีฐานะดีที่ใช้ฮอร์โมน คนที่ใช้ เงินซื้อความสะดวกสบายทุกอย่างให้ตัวเอง แต่ไม่เคยใส่ใจดูแลสุขภาพ ไม่ชอบออกกำลังกาย มีความสุขน้อยกว่าคนที่ ไม่กินฮอร์โมน แต่ออกกำลัง กาย รู้จักชีวิต สนใจปฏิบัติ ธรรม คนกลุ่มนี้กลับ มีความสุขและมีความปลอดภัยทางร่างกายมากกว่าด้วยซ้ำ

การปรับ วิถีชีวิตให้เหมาะสมตาม ธรรมชาติ เลือกกินแต่อาหารที่มีประโยชน์ที่ร่างกายต้องการ ออกกำลังกาย พอสมควรเป็น ประจำ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักวิธีผ่อนคลายความเครียด เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ร่างกายปรับสมดุลของฮอร์โมน ได้ดีขึ้น"

เอกสารอ้างอิง :
๑. Fletcher SW, Colditz GA. Failure of estrogen plus pro-gestin therapy for prevention. JAMA ๒๐๐๒;๒๘๘:๓๖๖-๘.
๒. The Womenžs Health Intiative. Risks and benefits of estro-gen plus progestin in healthy postmenopausal women. JAMA ๒๐๐๒;๒๘๘:๓๒๑-๓๓.

ขอบคุณข้อมูล :
๑. สมาคมรูมาติสซั่มแห่งประเทศไทย
๒. สมุนไพรสำหรับวัยทอง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
๓. นิตยสารครัว เมษายน ๒๕๔๓


แหล่งแคลเซียมและฮอร์โมนจากธรรมชาติ
แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำให้กระดูกแข็งแรง และกระบวนการที่จะทำให้แคลเซียมถูกดูดซึมเข้าไปในกระดูก ต้องอาศัยฮอร์โมนเอสโตรเจน แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง ปริมาณเอสโตรเจนจะลดน้อยลงมาก จนอาจทำให้เกิดภาวะกระดูกเปราะบาง หรือกระดูกพรุนในบางคน
สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการพึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนสังเคราะห์ ปัจจุบันมีผลวิจัยทั้งในและต่างประเทศพบว่า พืชหลายชนิด มีสารฮอร์โมนที่คล้ายกับฮอร์โมนเอสโตรเจนในคน เรียกว่า ไฟโตเอสโตรเจน (Phyto-estrogen) หมายถึงเอสโตรเจนจากพืช  ซึ่งมีประสิทธิภาพและความปลอดภัย ในการช่วยบรรเทาอาการต่างๆ อันเนื่องมาจากการขาดฮอร์โมนวัยทองได้

ไฟโตเอสโตรเจนมีอยู่ในสารอาหาร ๒ ชนิด คือ ไอโซฟลาโวนส์ (isoflavones) และลิกนัน (lignan)

อาหารที่มีไอโซฟลาโวนส์มาก ได้แก่  ถั่วเหลือง แอปเปิล บร็อกโคลี กะหล่ำปลี แครอต ส้ม แตงกวา มะเขือต่างๆ กระเทียม ผักสลัด ผักชีฝรั่ง พริกหวาน มะเขือเทศ สตรอเบอร์รี มันพื้นบ้าน

อาหารที่มีลิกนันสูง ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง (ถั่วเหลือง เมล็ดทานตะวัน) ถั่วฝัก (ถั่วแขก ถั่วแดง ถั่วอัลฟาลฟา) จมูกข้าว (จมูกข้าวโอต จมูกข้าวโพด จมูกข้าวสาลี จมูกข้าวบาร์เลย์ จมูกข้าวเจ้า) ธัญพืช เต็มรูป (ข้าวสาลี ข้าวโอต ข้าวฟ่าง ข้าวโพด) ผัก (กระเทียม แตง หน่อไม้ฝรั่ง แครอต มันเทศ บร็อกโคลี ต้นกระเทียม พริกหวาน กะหล่ำดอก หัวหอม) ผลไม้ (ลูกแพร์ ลูกพลัม)

แหล่งอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากนม (นมสด เนยแข็ง โยเกิร์ต ไอศกรีม) ไข่ กุ้งฝอย ปลาเล็กปลาน้อย ปลาร้า กะปิ ผักใบเขียว เช่น บร็อกโคลี คะน้า ผักโขม ผักกาดเขียว ผักกวางตุ้ง ใบชะพลู ใบยอ ใบโหระพา ยอดแค ยอดสะเดา ยอดกระถิน ใบมะกรูด ฝักมะขามสด ผักกระเฉด สาหร่ายทะเล ถั่วและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น ถั่วเหลือง ถั่วแดงหลวง อัลมอนด์ ถั่วลิสง งาดำ เป็นต้น

ถึงแม้ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมจากพืชไปใช้ได้น้อยกว่าแคลเซียมจากเนื้อสัตว์ เพราะถูกขัดขวางโดยสารไฟเทตและออกซาเลตในพืช แต่ก็สามารถลดปริมาณสารดังกล่าวได้ในขั้นตอน การปรุงอาหาร ด้วยการต้ม นึ่ง หรือทอด ส่วนถั่วชนิดต่างๆ ก็ให้ นำไปแช่น้ำ ให้เมล็ดงอกก่อนนำมาปรุงอาหาร เพราะสารเหล่านี้จะมีอยู่มากที่เปลือกด้านนอก

อาหารที่แสลงต่อภาวะกระดูกพรุนคือ เกลือ (อาหารรสเค็ม) กาแฟ (กาเฟอีน) และแอลกอฮอล์ ซึ่งจะเป็นตัวเร่งให้มีการขับแคลเซียมออกจากร่างกายเร็วขึ้น
อาการผิดปกติหลายอาการที่เกิดขึ้นในวัยทองสามารถบรรเทาได้ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์

ถั่วเหลือง เต้าหู้ หรือน้ำเต้าหู้ ช่วยให้มวลกระดูกหนาแน่นขึ้น ลดการสลายตัวของแคลเซียม ลดอาการร้อนวูบวาบ อาการช่องคลอดแห้ง

ตังกุย สมุนไพรจีนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่า มีสรรพคุณรักษาอาการหมดประจำเดือน และบำรุงเลือด

โสม ใบบัวบก ใบกะเพรา ใบแปะก๊วย เมล็ดทานตะวัน ผลมะกอก ผลหล่อฮั่งก๊วย ช่วยคลายความเครียด

กระเทียม ช่วยลดโคเลสเตอรอล ลดความดันเลือด ยับยั้งการเกิดสารก่อมะเร็ง และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย

ผลฝรั่ง รากโสม หมาก ช่วยคลายอาการวิตกกังวล

ใบอ่อนของขี้เหล็ก ช่วยระบบประสาทและทำให้นอนหลับดีขึ้น

ถั่วเหลือง กระเทียม หอมใหญ่ น้ำมันทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ถั่วลันเตา ทับทิม แตงกวา มะพร้าวอ่อน ช่วยเสริมฮอร์โมนเพศหญิง

ข้อมูลสื่อ

287-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 287
มีนาคม 2546
ธารดาว ทองแก้ว