• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โยคะสำหรับโรคทั่วๆ ไป : ปวดหลัง (ต่อ)

โยคะสำหรับโรคทั่วๆ ไป : ปวดหลัง (ต่อ)

"เรา" เป็นผลจากการประกอบกันเข้าของกาย ลมหายใจ จิต หากองค์ประกอบทั้ง ๓ ส่วนนี้ทำงานไปได้ตามหน้าที่ของมัน ทำงานไปได้ตามปกติ "เรา" ก็เป็น ปกติ ร่างกาย ลมหายใจ และจิตนั้น มีความสัมพันธ์กัน อย่างแยกไม่ออก เมื่อส่วนหนึ่งเกิดปัญหา ย่อมกระทบกับส่วนที่เหลือ และในทำนองกลับกัน หากส่วนหนึ่งมีความสมบูรณ์มาก ก็สามารถไปช่วยแก้ปัญหาให้ส่วนที่ เหลือได้ เช่นกัน

ผู้มีอาการปวดหลัง นอกจากต้องคอยดูแล เอาใจ ใส่กับหลังของตนแล้ว การดูแลเอาใจใส่ลมหายใจ และจิตของตน จะช่วยได้เป็นอย่างดี คราวที่แล้วเราแนะนำ เทคนิคในการหายใจ คราวนี้ เรามาดูเทคนิคในการดูแลจิต ที่เรียกกันว่า "สมาธิ"

สมาธิมีหลายระดับ ระดับแรกนั้นมีติดมากับจิตอยู่แล้ว เมื่อฝึกมากขึ้นระดับของสมาธิก็สูงขึ้นๆ ดังนั้น ทุก คนสามารถฝึกสมาธิได้ การฝึกสมาธิก็คือการฝึกจิตของ เราจากระดับที่มีอยู่ให้สูงขึ้นไปนั่นเอง

ทราบหรือไม่ว่าหัวใจของโยคะ คือ สมาธิ (ไม่ใช่ร่างกายอย่างที่หลายคนเข้าใจ) โยคะถือว่าสมาธิคือ การ ผลิดอกออกผลของจิตอันนำมาซึ่งความสงบ ความสว่าง ความสมดุล และความสดชื่นแจ่มใส



วิธีฝึกสมาธิที่ง่ายๆ แบบโยคะคือ ให้เลือกคำมาคำ หนึ่ง คำอะไรก็ได้  เช่น"ยุบหนอ-พองหนอ" ฯลฯ เอ่ย "คำ" นั้นในใจเรา ไม่เปล่งเสียง ไม่ขยับริมฝีปาก ในเบื้องต้นเอ่ย"คำ" นั้นในใจซ้ำๆ ในแต่ละลมหายใจ ปล่อยให้ความคิดต่างๆ ที่ฟุ้งซ่านไหลเคลื่อนผ่านไปโดย ไม่ใส่ใจ จนกระทั่งเป็นจังหวะ เมื่อจิตสงบลงก็เอ่ย "คำ"ช้าลง หากจิตฟุ้งก็เอ่ย "คำ" เร็วขึ้น พอจิตสงบลงใหม่ก็เอ่ย "คำ" ช้าลง

เริ่มเอ่ย "คำ" ในใจเบาๆ ต่อมา"คำ" จะปรากฏ ชัดลึกในใจ จากนั้น"คำ" จะยาวไปตามลมหายใจใน ที่สุดคำนั้นก็จางไปสู่ความสงบ เพียงแต่เฝ้าสังเกตความ คิดที่ฟุ้งขึ้นสงบลง โดยไม่ใส่ใจ หากเผลอไปติดอยู่ในความคิดก็ให้เอ่ย "คำ" ใหม่ จนกระทั่งหลุดจากความคิด จิตเข้าสู่ความสงบอีกครั้งหนึ่ง

ควรฝึกสมาธิหลังจากฝึกลมหายใจ (ฝึกลมหายใจ หลังฝึกท่าอาสนะ) ฝึกเพียงครั้งละ ๕ นาทีก็พอ ใครที่ชอบอาจฝึกได้ถึงครั้งละ ๑๕ นาที  ที่สำคัญคือ ความสม่ำเสมอในการฝึกอาสนะสำหรับฝึกสมาธิ

ทราบหรือไม่ว่า การนั่งขัดสมาธิที่เรานั่งกันตอนเด็กๆ ล้วนเป็นท่าโยคะอาสนะทั้งนั้น หากคุณนั่งขัดสมาธิ ตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ นั่นหมายถึงว่าคุณฝึกโยคะมาตั้งแต่อายุ ๕ ขวบแล้ว (โดยที่คุณไม่รู้ว่าตนกำลังทำโยคะ)

 

ข้อมูลสื่อ

279-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 279
กรกฎาคม 2545
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์