• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามป่วยฉุกเฉิน

การช่วยตนเองและช่วยกันเองในยามป่วยฉุกเฉิน

คนที่หมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) หรือซึมมาก
ถ้าไม่ค่อยหายใจ ให้ช่วยหายใจไปก่อนตามขั้นตอนที่ ๕ ถึง ๖ (นิตยสารหมอชาวบ้านฉบับที่ ๒๗๗ พฤษภาคม ๒๕๔๕)
ถ้าหายใจไม่ดี และไม่มีวี่แววของ อุบัติเหตุหรือการบาดเจ็บ ให้ทำดังนี้
ถ้ามีประวัติเป็นโรคเบาหวานหรือใช้ยาเบาหวานอยู่ หรือเป็นโรค ตับ โรคมะเร็ง เมาสุรา หรือภาวะขาดอาหาร ควรให้ผู้ป่วยดื่มน้ำหวาน ทันทีถ้าผู้ป่วยยังดื่มได้โดยไม่สำลัก
ถ้าผู้ป่วยกินไม่ได้เอง ห้ามให้ อาหารและน้ำทุกชนิด คลายเสื้อผ้าและเข็มขัดที่รัดรึงออก แล้วจับผู้ป่วย นอนตะแคงคว่ำ (ดูรูปที่ ๙) เพื่อป้องกันการสำลักน้ำลายหรือเศษ
อาหารที่ ผู้ป่วยอาจสำรอกออกมา แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาล
 

คนที่แขนหรือขาอ่อนแรงเฉียบพลัน(อัมพาต/อัมพฤกษ์)
ถ้ายังรู้ตัว ปลอบและให้กำลังใจ ผู้ป่วยเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยตื่นเต้นตกใจ และให้ผู้ป่วยนอนพักในท่าที่สบายที่สุด แล้วจึงนำส่งโรงพยาบาล
ถ้าไม่รู้ตัว ทำเช่นเดียวกับหัวข้อ คนที่หมดสติ (ไม่รู้สึกตัว) หรือซึมมาก

คนที่คลุ้มคลั่ง สับสน และ/หรือประสาทหลอน
ถ้าเคยเป็นมาก่อน หรือรู้สาเหตุ ให้พยายามกำจัดหรือบรรเทาสาเหตุนั้นๆ เช่น การดื่มสุรา การใช้"ยาบ้า" เป็นต้น พูดคุยให้ผู้ป่วยสงบ ลงด้วยน้ำเสียงและกิริยาท่าทางอัน เป็นมิตร ถ้าผู้ป่วยมียาที่แพทย์เคยให้ไว้เพื่อระงับอาการเหล่านี้ รีบให้ผู้ป่วยกินยาทันที
อย่าแสดงอาการตื่นเต้นตกใจ หรือไม่พอใจ เพราะอาจจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการกำเริบมากขึ้น
ถ้าไม่เคยเป็นมาก่อนหรือไม่รู้ สาเหตุ ให้พยายามพูดคุยกับผู้ป่วยด้วยกิริยาท่าทางอันเป็นมิตร ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องมัดตรึงผู้ป่วยไว้ เพื่อ ไม่ให้เป็นอันตรายแก่ตัวผู้ป่วยเองและผู้อื่น แล้วนำส่งโรงพยาบาล

คนที่ชัก
ถ้าผู้ป่วยไม่รู้ตัวในขณะชัก (รู้ ว่าผู้ป่วยไม่รู้ตัวเพราะล้มฟาดลงกับพื้น มีบาดแผลหรือรอยฟกช้ำตามร่างกายจากการชัก อุจจาระ ปัสสาวะ ราด เป็นต้น) ให้ปฐมพยาบาลตามขั้นตอน คนที่ชักตลอดเวลา หรือชักจนเขียว (ฉบับที่ ๒๗๘ มิถุนายน ๒๕๔๕ และตามอาการดังต่อไปนี้
๑. ตัวร้อนจัด โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งจะชักเพราะไข้ (ตัวร้อน) ได้ง่าย ต้องรีบใช้ผ้าชุบน้ำเย็นๆ เช็ด ตัวทันที และอาจใช้พัดลมโกรกด้วย เพื่อให้ตัวเย็นลงโดยเร็ว แต่ไม่ถึงกับ เกิดอาการหนาวสั่นหรือขนลุก
สำหรับเด็กที่เคยชักเวลามีไข้มาก่อน ต้องรีบเช็ดตัว ให้ยาลดไข้ และให้ยากันชักทันทีเมื่อไข้ขึ้น
๒. มือจีบเกร็งและเหน็บชา (ดู รูปที่ ๑๐) และถ้าร่วมกับอาการหายใจ เร็วและแรง(ในกรณีนี้ผู้ป่วยมักจะรู้ ตัว แต่ถ้าเป็นมาก อาจ ไม่รู้ตัวก็ได้) ให้รีบเอาถุงกระดาษใหญ่ๆ หรือ ใช้หนังสือพิมพ์แผ่นใหญ่ พับเป็นรูปกรวยครอบหน้า ของผู้ป่วย และพยายามให้ปากถุงหรือปากกรวยแนบสนิทกับหน้าให้มากที่สุดเพื่อให้ลมหายใจของ ผู้ป่วยสะสมอยู่ในถุง และบอกให้ผู้ป่วยหายใจช้าๆ ลึกๆ (สำคัญที่ช้ามากกว่าลึก) เข้าๆ ออกๆ จากถุงสัก ๑๐-๒๐ นาที แล้วอาการชักและอาการมือจีบเกร็งจะหายไปได้
ส่วนใหญ่เกิดจากความเครียด ความตกใจว่าจะหายใจไม่ได้ ผู้ป่วย จึงหายใจเร็วและแรง จนเกิดอาการมือเท้าและริมฝีปากชา ต่อมามือจะจีบเกร็ง แล้วจึงจะเกิดอาการชักขึ้น
ถ้าไม่มีอาการหายใจเร็วและแรง ให้การปฐมพยาบาลตามขั้นตอน คนที่ชักตลอดเวลา หรือชักจนเขียว (ฉบับที่ ๒๗๘ มิถุนายน ๒๕๔๕) แล้วส่งโรงพยาบาล
ถ้าผู้ป่วยรู้ตัวในขณะชัก (ในกรณีที่ผู้ป่วยแกล้งทำเป็นไม่รู้ตัว จะ รู้ว่าผู้ป่วยแกล้งโดยผู้ป่วยจะไม่ชัก ถ้า รู้ว่าไม่มีคนเห็น เวลาชักไม่เคยเจ็บตัว และไม่มีบาดแผลหรือรอยฟกช้ำจาก การชัก แม้จะทำเป็นนอนหลับอยู่ แต่ จะสังเกตเห็นการเคลื่อนไหวของลูก ตาไปมาและเปลือกตาอาจจะกะพริบ บ่อยๆ เป็นต้น) ให้ปลอบใจ และให้ กำลังใจผู้ป่วย ถ้ามีความผิดปกติตาม ข้อ ๑ และข้อ ๒ ก็ให้รักษาตามนั้น
๓. ในกรณีอื่นๆ ให้ปฐมพยาบาลตามขั้นตอน คนที่ชักตลอดเวลา หรือชักจนเขียว (ฉบับที่ ๒๗๘ มิถุนายน ๒๕๔๕) แล้วส่งโรงพยาบาล

คนที่หอบเหนื่อย
ในกรณีที่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้พยายามกำจัดหรือบรรเทา สาเหตุนั้น และถ้ามียาที่เคยใช้แล้วสามารถบรรเทาอาการหอบเหนื่อยได้ รีบใช้ยานั้นทันที อย่าปล่อยให้อาการกำเริบมากแล้วจึงใช้ จะไม่ได้ ผล เช่น
ผู้ป่วยโรคหอบหืด เมื่อเริ่มมีอาการไอติดๆ กัน หรือเริ่มแน่นในอก หายใจไม่สะดวก หรือหายใจออก มีเสียงวี้ดๆ ต้องรีบพ่นยาขยายหลอด ลมทันที มักจะหยุดยั้งอาการหอบหืดได้
ผู้ป่วยโรคหัวใจ ถ้าหอบเหนื่อย ควรอมยาใต้ลิ้นที่ใช้แก้อาการเจ็บหัวใจ และ/หรือกินยาขับปัสสาวะที่มี อยู่เพิ่มขึ้นทันที มักจะทำให้อาการดีขึ้นได้ เป็นต้น
ในกรณีที่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรให้นั่งพักในท่าที่สบายที่สุด เช่น นั่ง พิง หรือนั่งก้มไปข้างหน้า (ใช้แขนวางบนโต๊ะรับศีรษะไว้) เป็นต้น เปิด พัดลมโกรก ทำใจให้สบายและเยือก เย็นลง จนอาการตื่นเต้นตกใจดีขึ้นจึงไปโรงพยาบาล
ความตื่นเต้นตกใจ หรือการรีบร้อนเดินทางไปโรงพยาบาล อาจ ทำให้หอบเหนื่อยมากขึ้น จนหายใจ ไม่ทันได้

คนที่เจ็บ/แน่นในอก
ในกรณีที่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้พยายามกำจัดหรือบรรเทา สาเหตุนั้น และถ้ามียาที่เคยใช้แล้วสามารถบรรเทาอาการลงได้ รีบใช้ยานั้นทันที อย่าปล่อยให้อาการกำเริบมากแล้วจึงใช้ จะไม่ได้ผล เช่น
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือเคยมีกล้ามเนื้อหัวใจตายมาก่อน ถ้ามีอาการเจ็บ/แน่นในอกในลักษณะ ของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องรีบ นั่งพักแล้วอมยาหรือพ่นยาที่ใช้แก้ อาการเจ็บหัวใจทันที ถ้าภายใน ๕นาทียังไม่ดีขึ้น ต้องอมหรือพ่นยาซ้ำอีก ถ้าทำซ้ำติดๆ กัน ๓-๔ ครั้ง แล้วไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปโรงพยาบาล
ผู้ป่วยโรคปอด/หลอดลม และ เคยมีอาการแน่นอกเมื่อจะหอบเหนื่อย ซึ่งเมื่อพ่นยาขยายหลอดลมแล้วจะดีขึ้น เวลามีอาการเช่นนั้นต้องรีบพ่น ยาทันที ถ้าไม่ดีขึ้นให้ไปโรงพยาบาล เป็นต้น
ในกรณีที่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรให้นั่งหรือนอนพักในท่าที่สบายที่สุด เปิดพัดลมโกรก ทำใจให้สบาย พอหายตื่นเต้นตกใจแล้ว ให้ไปโรง พยาบาล

คนที่เวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม
ในกรณีที่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้พยายามกำจัดหรือบรรเทา สาเหตุนั้น ถ้าเคยเป็นบ่อยๆ แล้วรู้ว่าใช้วิธีช่วยตนเองแบบใดหรือใช้ยา อะไรแล้วอาการจะดีขึ้น ให้ใช้วิธีและ ยา (ที่เคยใช้แล้วได้ผล) ทันที
ในกรณีที่ไม่รู้ว่าเกิดจากอะไรให้นอนหงายราบลงกับพื้นโดยไม่หนุนศีรษะ และควรหาหมอนหนุนเท้าและขาให้สูงกว่าระดับสะโพก หรือ จะพาดเท้าและขาไว้บนเก้าอี้ก็ได้ หายใจเข้า-ออกลึกๆ คลายเสื้อผ้าที่ รัดรึงออก ดมยาดม (ถ้ามี) ถ้ามีคน บีบนวดแขนขาและพัดลมให้ก็ยิ่งดี นอนจนอาการดีขึ้น แล้วจึงขยับและ ออกกำลังแขนและขาจนรู้สึกว่ามีกำลังเต็มที่แล้ว จึงลุกขึ้นนั่ง ถ้านั่งแล้วไม่เวียนศีรษะหรือหน้ามืดเป็นลมอีก จึงค่อยๆ ลุกขึ้นยืนโดยใช้มือ เกาะโต๊ะหรือผนังห้องไว้ก่อน ถ้ายืน สักพัก แล้วไม่เวียนศีรษะหรือหน้ามืด จึงค่อยเดิน ถ้าเมื่อใดเวียนศีรษะหน้า มืดอีก ให้นอนลงทันที
ถ้ามีอาการท้องเสีย (อุจจาระ) หรือเสียเลือด (ประจำเดือนมาก) หรือ ขาดน้ำขาดอาหาร ควรดื่มน้ำเกลือแร่ หรือน้ำข้าวใส่เกลือ หรือน้ำหวานใส่ เกลือเป็นระยะๆ จนหายจากอาการ หิวน้ำ อ่อนเพลีย และหน้ามืด
ถ้ามีอาการบ้านหมุน โดยเฉพาะ เวลาหันศีรษะ (เอี้ยวคอ) หรือเปลี่ยน ท่า (จากนั่งเป็นนอนหรืออื่นๆ) ให้พยายามบังคับตนเองให้คออยู่นิ่งๆนั่นคือ ไม่ก้มหรือเงยศีรษะและไม่หัน หน้าไปทางซ้ายหรือขวาเร็วๆ เป็นต้น และกินยาไดเมนไฮดริเนต (dimen-hydrinate) ๑ เม็ดแล้วนอนพักสัก๑-๒ ชั่วโมง อาการจะดีขึ้นได้
ในกรณีที่ช่วยตนเองแล้วไม่ดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงควรไปโรง พยาบาล

คนที่ใจสั่น ใจหวิว หรือหัวใจเต้นเร็วหรือแรง
ในกรณีที่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้พยายามกำจัดหรือบรรเทา สาเหตุนั้น ถ้ามียาที่เคยใช้แล้วสามารถบรรเทาอาการลงได้ รีบใช้ยานั้นทันที
ในกรณีที่ไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้นั่งพักในท่าที่สบายที่สุด แล้ว ใช้นิ้วมือคลำชีพจรที่คอ (ดูรูปที่ ๑๑) หรือที่ข้อมือ (ดูรูปที่ ๑๒) ของตนเอง และนับดูว่าชีพจรเต้นกี่ครั้งต่อนาทีถ้าชีพจรเต้นอยู่ระหว่าง ๕๐-๑๐๐ ครั้งต่อนาทีในผู้ใหญ่ แสดงว่าไม่มีอะไรรุนแรง ทำใจให้สบายสักพัก อาจดมยา ฟังเพลง หรือปล่อย ใจให้สงบสักพัก อาการใจสั่น ใจหวิว หรือใจเต้นแรงจะหายไป
ในกรณีที่ชีพจรเต้นช้ากว่า ๔๐ ครั้งต่อนาที หรือมากกว่า ๑๒๐ ครั้งต่อนาที หรือนั่งพักนอนพักแล้ว อาการไม่ดีขึ้น ควรไปโรงพยาบาล
 

คนที่มีอาการป่วยฉุกเฉินอื่นๆ
ในกรณีที่เกิดจากการบาดเจ็บหรือได้รับสารพิษให้ดูในเรื่อง"การเจ็บฉุกเฉิน" (ฉบับที่ ๒๗๖ เมษายน ๒๕๔๕)ในกรณี"การป่วยฉุกเฉิน" อื่นๆ ถ้ารู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้พยายาม กำจัดหรือบรรเทาสาเหตุนั้น ถ้ามียา หรือวิธีการที่เคยใช้แล้วได้ผล ให้ใช้ยาหรือวิธีการนั้นทันที

ถ้าไม่รู้ว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ให้พยายามหาว่า
๑. ท่าไหน (ท่านอน นั่ง ยืนเดิน ก้ม งอเข่า ฯลฯ) สบายที่สุด แล้วอยู่ในท่านั้น
๒. ทำอย่างไรแล้ว สบายขึ้น เช่น ถ้ากลั้นหายใจแล้วสบายขึ้น ก็ ควรกลั้นหายใจเป็นพักๆ ถ้านอนพัก และหลับได้ แล้วจะสบายขึ้นก็ควรหลับเสีย ฟังเพลงแล้วสบายขึ้นก็ควรฟัง เพลง ดื่มน้ำร้อนแล้วสบายขึ้นก็ควรดื่มน้ำร้อน เป็นต้น
๓. ผู้ใดมีความรู้เกี่ยวกับอาการ ของตน จะได้ขอความรู้จากเขาเพื่อบรรเทาอาการของตนเอง
แล้วถ้าอาการไม่ดีขึ้นหรือ ไม่แน่ใจ ควรไปหาหมอหรือไปโรง พยาบาล

สรุป
อาการป่วยฉุกเฉินต่างๆ ควรจะได้รับการดูแลรักษาทันทีในระยะแรก โดยผู้ที่มีอาการแต่ยังช่วยตนเอง ได้ และ/หรือผู้ใกล้ชิดหรือพบเห็นเหตุการณ์ในทันที เพื่อจะลดอัตราตาย อัตราพิการ และความทุกข์ทรมานลงโดยเร็วที่สุด ประชาชนทั่วไปจึงควรศึกษาวิธีปฐมพยาบาลต่างๆ เพื่อ ช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นที่เจ็บป่วยฉุกเฉินได้ เพราะการเจ็บป่วยฉุกเฉิน อาจเกิดได้ทุกขณะ ถ้าไม่เตรียมตัวไว้ก่อน เวลาเกิดเหตุฉุกเฉินจะไม่  สามารถช่วยตนเอง ช่วยครอบครัวช่วยญาติมิตร และ/หรือชุมชนของ ตนได้

คู่มือหมอชาวบ้าน
คอลัมน์นี้เป็นคู่มือแนะนำให้ท่านรู้วิธีดูแลรักษาตนเอง เมื่อ ประสบอุบัติเหตุหรือเจ็บป่วยกะทันหันได้

ชักในโรคลมบ้าหมู
๑. จับนอนตะแคงคว่ำ ระวัง ไม่ให้ตกเตียงหรือกระแทกสิ่งของ ต่างๆ
๒. ใช้ด้ามช้อนพันผ้า ค่อยๆ สอดเข้าไปในปากระหว่างฟันกราม ข้างใดข้างหนึ่งเพื่อป้องกันการกัด ปากหรือลิ้น
๓. ถ้าหยุดชัก รู้สึกตัวดีและ กลืนได้ ให้กินยากันชักที่เคยกินอยู่ อีก ๒-๓ เม็ดทันที แล้วไปหาหมอ
๔. ถ้าชักไม่หยุด ให้พาไปหาหมอที่ใกล้ที่สุดเพื่อฉีดยากันชัก โดยด่วน
๕. ป้องกันได้โดยไม่อดนอน หรือดื่มสุรา ไม่ไปในที่มีไฟวับๆ แวมๆ หรือมีเสียงดังอึกทึก ไม่ทำ งานที่อาจเกิดอุบัติเหตุ และกินยา กันชักตามคำแนะนำของหมอ

หัวโน ห้อเลือด ฟกช้ำ
มีเลือดออกใต้ผิวหนังโดยไม่มีบาดแผล
๑. ในระยะ ๔๘ชั่วโมงแรกใช้น้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบวันละ ๒-๓ ครั้งครั้งละ ๑๕-๓๐นาทีแล้วใช้ดินสอพองผสมมะนาวพอก
๒. ในระยะหลัง(หลัง ๔๘ชั่วโมง)ประคบและคลึงด้วยผ้าชุบ น้ำร้อน วันละ ๒-๓ ครั้ง ครั้งละ๑๕-๓๐ นาที ก้อนจะค่อยๆ ยุบลง
 

ข้อมูลสื่อ

279-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 279
กรกฎาคม 2545
ศ.นพ.สันต์ หัตถีรัตน์