• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ปราณยามะ (6) ประโยชน์ของปราณยามะ

ปราณยามะ (6) ประโยชน์ของปราณยามะ


จากที่ได้คุยกันว่า ปราณยามะ ไม่ใช่การฝึกเพิ่มออกซิเจนให้กับร่างกาย แต่เป็นการทำให้หายใจช้าลง หายใจน้อยลง จึงอาจมีคนสงสัยว่า ถ้าไม่ใช่เพื่อออกซิเจน งั้นเราจะฝึกปราณยามะไปทำไม หรือเราได้ประโยชน์อะไรจากการฝึก ตำรา Pranyama เขียนโดย สวามีกุลวัลยนันท์ ของสถาบัน ไกวัลยธรรม อธิบายไว้ว่า ประโยชน์ทางด้านกายภาพที่ได้จากการฝึกควบคุมลมหายใจ คือ เพิ่มความยืดหยุ่นของปอด และพัฒนากล้ามเนื้อ ระบบหายใจ ให้มีความแข็งแรง ไม่เพียงเท่านั้น ตำรายังได้อธิบายประโยชน์ของปราณยามะต่อร่างกายในระบบอื่นๆ ได้แก่

1. ระบบขับถ่าย
- เป็นการนวดไต (ปัสสาวะ)
- เป็นการนวดลำไส้ (อุจจาระ) คล้ายอาการท้องผูก
- เสริมประสาทที่กระตุ้นกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องในการขับถ่าย

2. ระบบย่อยอาหาร
- เป็นการนวดกระเพาะ
- นวดคลายปัญหาของระบบ เช่น ความผิดปกติของกรดในกระเพาะ gastric disorder
- เป็นการนวดตับอ่อน
- เป็นการนวดตับ

3. ระบบหัวใจ
- ช่วยนวดหัวใจให้แข็งแรง
- ทำให้เลือดไหลเวียน หล่อเลี้ยงได้เพิ่มขึ้น

4. ระบบต่อมไร้ท่อ
เมื่อเลือดไหลเวียนดีขึ้น ระบบต่อมไร้ท่อก็จะสามารถทำงานได้ดีขึ้นตามไปด้วย

5. ระบบประสาท
- ปราณยามะช่วยให้รากของ spinal nerve แข็งแรง
- ปราณยามะช่วยพัฒนาประสาท sympathetic

6. จิตวิทยา
เมื่อระบบต่อมไร้ท่อ และระบบประสาทดี ก็ย่อมส่งผลให้จิดและอารมณ์ดีขึ้น

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะการฝึกปราณยามะเกี่ยวเนื่องกับการทำงานของกล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งส่งผลทางด้านการกดนวด อวัยวะต่างๆภายใน ทั้งช่องทรวงอกและช่องท้อง ทำให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย การฝึกปราณยามะตอนเช้าเพียง 10 นาที จะส่งผลดีต่อสุขภาพไปตลอดทั้งวัน ตำราถึงกับสรุปว่า การฝึกปราณยามะนั้น ให้ประโยชน์กว่าการออกกำลังกายอื่นๆ ถึงร้อยเท่าทีเดียว

เทคนิคการฝึกปราณยามะ ครั้งนี้ กะปาละบาติ
คำว่า “กะปาละ” มาจากคำว่า กบาล หมายถึง ศีรษะ ส่วนบาติ หมายถึง ส่องสว่าง เป็นประกาย กะปาละบาติ จึงหมายถึง ความโปร่งโล่งทั่วบริเวณศีรษะ ซึ่งเป็นผลที่ได้จากการฝึกหายใจแบบนี้ กะปาละบาติ ไม่ใช่ปราณยามะซะทีเดียว ตามตำรามันเป็นเทคนิคเพื่อชำระล้างระบบหายใจให้บริสุทธิ์ (เรียกว่า กริยา) เป็นการเตรียมร่างกายเพื่อไปฝึกปราณยามะ

หลักการฝึก
เป็นการหายใจด้วยหน้าท้องเท่านั้น ไม่ใช้กล้ามเนื้อซี่ดครงแต่อย่างใด ผู้ฝึกทำการหายใจออกโดยเร็ว ทำต่อเนื่องเป็นจังหวะ ทำสม่ำเสมอ ไม่สนใจกับลมหายใจเข้า ลมหายใจเข้าจะเป็นไปเอง โดยอัตโนมัติ โดยเราไม่ต้องตั้งใจหายใจเข้า

วิธีทำ

  • ฝึกจากท่านั่งสมาธิ ท่าใดก็ได้ แต่หายฝึกจากท่า วัชระอาสนะ หรือท่าปทุมอาสนะ ได้ก็ยิ่งดี
  • หายใจออกหน้าท้องยุบแล้วพัก (ลมหายใจเช้าเกิดขึ้นเอง) ใช้เวลาประมาณ 1 วินาที
  • เน้นเฉพาะการหายใจออก รู้สึกเหมือนว่าเราระเบิดลมหายใจออก

 

 

ข้อมูลสื่อ

294-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 294
ตุลาคม 2547
โยคะ
กวี คงภักดีพงษ์