• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

๗ ปัจจัยเสี่ยงบาดเจ็บจากการทำงาน

การบาดเจ็บจากการทำงานแบ่งได้เป็น ๒ แบบ คือ แบบเฉียบพลันและแบบค่อยเป็นค่อยไป

๑. แบบเฉียบพลัน
เช่น ยกวัตถุแล้วมีอาการบาดเจ็บของหลังทันที การบาดเจ็บแบบนี้ บอกได้ง่ายว่าเกิดจากการทำงานเพราะเกิดอาการทันทีในขณะที่ทำงาน
๒. แบบค่อยเป็นค่อยไป การบาดเจ็บแบบนี้ มักหาสาเหตุไม่ได้ คนทำงานจะบอกไม่ได้ว่าเกิดอาการขึ้นเมื่อใด อาการเจ็บป่วยเช่นนี้ทำให้มีปัญหามาก โดยเฉพาะการตัดสินว่าเกิดจากการทำงานหรือไม่ เพราะคนทำงานอาจไปทำงานอดิเรกหรือเล่น กีฬา การใช้สิทธิ์ในการลาพักงานเนื่องจากความเจ็บป่วยในการทำงานจะยุ่งยากยิ่งขึ้น
การบาดเจ็บทั้ง ๒ แบบนี้ สามารถป้องกันได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำงาน ๗ ประการ คือ

๑. งานที่หนักเกินกำลัง
จะรู้ได้อย่างไรว่างานนั้นหนักเกินไป การกำหนดน้ำหนักของวัตถุ เช่น กล่อง กระสอบ ให้ต่ำกว่าความสามารถสูงสุด เป็นวิธีการหนึ่งที่ป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นแต่เป็นแบบโดยทั่วไปในระดับประชากร บ้านเราเพิ่งมีกฎกระทรวงแรงงานประกาศใช้ ห้ามคนทำงานยก แบก หาม ทูน น้ำหนักเกิน ๕๐ กิโลกรัม ใช้บังคับเมื่อเดือนธันวาคมปี พ.ศ. ๒๕๔๗

การกำหนดน้ำหนักเป็นการกำหนดทั่วไปสำหรับประชากร ความแตกต่างในแต่ละตัวบุคคล เช่น ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น ความอดทน มีผลต่ออัตราการบาดเจ็บในคนทำงาน ดังนั้นคนทำงานต้องถามตัวเองอยู่เสมอในขณะทำงานว่างานนั้นหนักเกินกำลังตัวเองหรือไม่ โดยต้องประเมินว่า ในการทำงานในวันหนึ่งๆ งานที่ต้องทำหนักเกินไปหรือไม่

๒. งานซ้ำซาก
งานบางอย่างแม้ไม่ต้องใช้แรงมากแต่ถ้าต้องทำงานนั้น ซ้ำไป ซ้ำมา หลายครั้ง ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้ ถ้าจะเปรียบเทียบเนื้อเยื่อของร่างกายกับยางยืด เมื่อถูกดึงด้วยแรงน้อยๆ ซ้ำกันหลายครั้งยางยืดจะเปื่อย หรือขาดได้จากการยืดซ้ำหลายๆ ครั้ง อาการบาดเจ็บแบบนี้พบบ่อยที่นิ้ว มือ และข้อมือ โดยเฉพาะคนทำงานคอมพิวเตอร์ คนงานตัดและเย็บเสื้อผ้า

หลักการง่ายๆ ที่จะบอกว่างานนั้นมีปัญหาหรือไม่ ต้องใช้ปัจจัยเรื่องของความแข็งแรงเป็นหลัก ถ้างานใดก็ตามที่ต้องทำซ้ำซากและหนักเกิน ๓๐ เปอร์เซ็นต์ของความสามารถสูงสุด โอกาสที่จะบาดเจ็บจากการทำงานจะมีสูง
ในทางปฏิบัติให้ใช้ความล้าและความปวดเมื่อยเป็นตัวเตือนคนทำงาน ถ้ารู้สึกล้าขณะทำงานอย่าฝืน ให้เปลี่ยนไปทำงานอื่นบ้าง ลองสังเกตดูว่าในวันรุ่งขึ้นก่อนทำงานอาการล้าและปวดเมื่อยหายไปหรือไม่ ถ้ายังรู้สึกอยู่แสดงว่างานที่ทำอยู่ซ้ำซากเกินไป ต้องหาวิธีการผ่อนแรงและจัดให้มีช่วงพักมากขึ้น

๓. ท่าทางที่ไม่เหมาะสม (awkward postures)
ลองยืนตรง แขนอยู่ข้างลำตัว ฝ่ามือหันไปทางด้านหน้า นี่คือท่าทางปกติที่ข้อต่อของร่างกายอยู่ในท่าที่เหมาะสม เมื่อมุมของข้อใดเบนออกจากท่าปกติประมาณ ๑๕ องศา ข้อต่อด้านในจะถูกกด ขณะที่เอ็นและกล้ามเนื้อด้านตรงข้ามจะถูกยืด
ทดลองง่ายๆ ด้วยการนั่งหลังตรงและก้มคอลงประมาณครึ่งหนึ่งของการเคลื่อนไหวที่เป็นไปได้ (คางจรดอก) ค้างไว้สักระยะหนึ่งจะเริ่มมีอาการปวดเมื่อยโดยเฉพาะบริเวณด้านหลังของกระดูกต้นคอ

ตัวอย่างท่าทางที่ไม่เหมาะสมในข้ออื่นๆ เช่น การยกหรือกางแขนเกิน ๑๕ องศา การคว่ำมือ การกระดกข้อมือเกิน ๑๐ องศา การก้มหรือบิดหลังเกิน ๒๐ องศา เป็นต้น
การจัดสถานที่ทำงานจะป้องกันท่าทางที่ไม่เหมาะสมได้ เช่น การปรับความสูงของจอคอมพิวเตอร์ให้อยู่ในระดับพอดี ไม่ต่ำเกินไปจนต้องก้มคอ

๔. อยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป
แม้ว่าจะจัดท่าทางให้เหมาะสมตามข้อ ๓ แล้ว แต่การอยู่ในท่าทางใดท่าหนึ่ง แม้เป็นท่าทางที่ถูกต้อง แต่ต้องอยู่ในท่านั้นนานๆ จะเกิดการบาดเจ็บแก่เนื้อเยื่อ ของร่างกายได้เช่นกัน ตัวอย่างที่ชัดเจนคือการนั่ง แม้ว่าคนทำงานจะนั่งในท่าทางที่เหมาะสมแล้ว แต่การอยู่นิ่งนานเกินไป จะทำให้เลือดมาเลี้ยงบริเวณหลังลดลง กล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อต่างๆ ขาดความยืดหยุ่นมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย

คนทำงานพึงหลีกเลี่ยงการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป เช่น ไม่ควรนั่ง หรือยืนนานเกิน ๒ ชั่วโมง ควรเปลี่ยนอิริยาบถเมื่อทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ทุกครึ่งชั่วโมง ด้วยการเงย-ก้ม เอียงและหมุนคอซ้าย-ขวา

๕. แรงกด
แรงกดเกิดจากน้ำหนักของร่างกาย เครื่องมือ อุปกรณ์ในสถานที่ทำงาน แรงกดมีผลต่อเนื้อเยื่อ ได้แก่ ผิวหนัง กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นเลือด และเส้นประสาท ทำให้บริเวณที่ถูกกดขาดเลือดไปเลี้ยงทำให้เนื้อเยื่อมีความเสียหายและบาดเจ็บได้ แรงกดจะขึ้นกับ ๒ ปัจจัย คือน้ำหนักหรือแรงที่กดและพื้นที่แรงนั้นมากระทำ ตัวอย่างเช่น แรงกดที่เท้าจะขึ้นกับน้ำหนักตัวและพื้นที่ของฝ่าเท้า ถ้าน้ำหนักตัวมาก พื้นที่ฝ่าเท้าน้อย (เท้าเล็ก) แรงกดที่ฝ่าเท้าจะมาก แรงกดที่ฝ่ามือบริเวณฐานนิ้วโป้งจากการทำงานด้วยคีมที่มีด้ามจับตรงและแข็ง ทำให้เส้นประสาทบริเวณฝ่ามือถูกกดและมี อาการชาที่ฝ่ามือและปลายนิ้วได้

การลดแรงกดทำได้ง่ายด้วยการเพิ่มพื้นที่สัมผัส เช่น การใส่รองเท้าที่มีพื้นนิ่ม ทำให้มีการกระจายแรงกดไปทั่วฝ่าเท้า การออกแบบเครื่องมือให้แนบไปกับฝ่ามือและนิ้วมือเพื่อลดแรงกด

๖. แรงสั่นสะเทือน
เครื่องมือบางชนิดที่มีแรงสั่นสะเทือนสูง เช่น เครื่องขุดเจาะถนน มีแรงสั่นสะเทือนที่ความถี่ ๑๒๐-๒๐๐ รอบ/วินาที มีผลต่อหลอดเลือดเส้นประสาท ในมือ อาจทำให้ปลายนิ้วขาดเลือดมาเลี้ยงจนกระทั่งนิ้วตาย ความถี่ ๒๐ รอบ/วินาทีจากเครื่องยนต์ มีผลทำ ให้กระดูกสันหลังเสื่อมได้ พบในคนขับรถบรรทุกและแทร็กเตอร์
เครื่องยนต์ของรถบรรทุกจะติดตั้งอยู่ใต้ที่นั่งคนขับ ดังนั้นแรงสั่นสะเทือนจะถูกส่งผ่านจากที่นั่งมาสู่ตัวผู้ขับขี่ โชคไม่ดีที่กำทอนของกระดูกสันหลังจะมีค่าประมาณ ๒๐ รอบ/นาที เมื่อความถี่ตรงกันกระดูกสันหลังจะได้รับผลจากแรงสั่นสะเทือนมากกว่าส่วนอื่น ทำให้น้ำในเนื้อเยื่อที่ประกอบเป็นกระดูกสันหลังถูกขับออก เสียความยืดหยุ่น และเสื่อมสภาพ มีโอกาสปวดหลังได้ง่ายกว่าคนทั่วไป

วิธีการลดแรงสั่นสะเทือนทำได้ง่าย ด้วยการหาอุปกรณ์นิ่มๆ มาช่วยลดแรง เช่นถุงมือหนาในกรณีของเครื่องขุดเจาะถนน เบาะรองนั่งที่นิ่มและหนามีผลลดแรงสั่นสะเทือนที่มาสู่กระดูกสันหลังได้ในคนขับรถบรรทุก

๗. อุณหภูมิที่ร้อนเกินไป
การทำงานอยู่ในที่ร้อน เช่นกลางแจ้ง หรือในเหมือง มีผล ๒ ประการต่อร่างกาย คือทำให้กล้ามเนื้อที่ใช้ในการทำงานล้าได้ง่าย และทำให้มีอาการเป็นลม หมดสติ จากการที่อุณหภูมิของร่างกายสูงเกินไป

การป้องกันอาการดังกล่าวทำได้โดยการหาอุปกรณ์มาป้องกันการมิให้ ความร้อนส่งผ่านมาถึงตัวโดยตรง เช่นการใส่หมวกที่สามารถระบายความร้อนได้ดี ช่วยกันมิให้แสงอาทิตย์ถ่ายเทรังสีความร้อนมาสู่ร่างกายโดยตรง การดื่มน้ำ ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีในขณะทำงานจะช่วยถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกายขณะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้

อย่าลืมว่าปัจจัยเสี่ยงทั้ง ๗ ประการนี้ สามารถป้องกันได้ทั้งสิ้น การป้องกันไว้ก่อนย่อมดีกว่าการแก้ไข คนทำงานจะไม่บาดเจ็บจากการทำงาน มีคุณภาพชีวิตที่ดี
 

ข้อมูลสื่อ

311-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 311
มีนาคม 2548
คนกับงาน
ผศ.ดร.วรรธนะ ชลายนเดชะ