• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ไข้หวัดสำหรับเด็ก

ยาแก้ไข้หวัดสำหรับเด็ก


"ตั้งแต่ลูกเข้าโรงเรียนมา ๓ เดือน ป่วยเป็นไข้หวัด ต้องคอยหาหมอ กินยามาตลอด หมอให้ยามาทีละ ๓-๔ อย่าง กินมากๆจะมีอันตรายอะไรหรือไม่คะ?"

"มีบางคนแนะนำว่า ให้เด็กที่เป็นไข้หวัดกินยาลดไข้ กับจิบน้ำผึ้งผสมมะนาว กินแก้ไอ ไม่ทราบว่าดีหรือไม่ครับ?"


ในช่วงเปิดเรียนใหม่ๆ พ่อแม่  ที่เพิ่งมีลูกเข้าโรงเรียนอนุบาล มักจะมีความเดือดเนื้อร้อนใจที่ลูกเดี๋ยว ๓ วันดี ๔ วันไข้ ต้องคอยหาหมอ ได้ยามากินอยู่ไม่ขาด หมอมักจะบอกว่า "เป็นไข้หวัด เพราะติดเชื้อจากเพื่อนในห้อง" คุณอาจสงสัยว่าทำไมจึงติดเชื้อหวัดกันถี่นักเล่า? ทั้งๆที่ตอนก่อนเข้าโรงเรียน อยู่บ้านลูกก็แข็งแรงดี นานๆจึงจะไม่สบายสักครั้ง

ก่อนอื่นก็ต้องบอกให้ทราบก่อนว่า เชื้อโรคที่ทำให้เป็นไข้หวัดนั้นเป็นเชื้อไวรัส ซึ่งมีอยู่กว่า ๒๐๐ ชนิดด้วยกัน เมื่อเป็นไข้หวัดจากเชื้อหวัดชนิดที่ ๑ รักษาจนหายดีแล้ว ร่าง-กายก็จะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อชนิดนั้นๆเพียงชนิดเดียว แต่จะไม่สามารถต้านทานเชื้อหวัดชนิดอื่นๆ อีก ๒๐๐ ชนิด ดังนั้น ถ้าไปติดเชื้อหวัดชนิดที่ ๒, ๓, ๔,... ก็จะเป็นไข้หวัดทุกครั้งไปเรื่อยๆ (ชั่วชีวิตของคนเราจึงอาจเป็นไข้หวัดถึงกว่า ๒๐๐ ครั้ง) ตอนเล็กๆอยู่แต่ในบ้าน เด็กมีโอกาสสัมผัสเชื้อค่อนข้างน้อย (นอกจากมีพี่หรือเด็กข้างบ้านมาคลุกคลีแล้วนำเชื้อหวัดมาแพร่ให้) ดังนั้นนานๆจึงจะเป็นไข้หวัดสักทีหนึ่ง แต่พอนำเด็กไปอยู่ร่วมกับเด็กหมู่มากในห้องเดียวกัน (เช่น สถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน) เด็กแต่ละคนก็จะมีเชื้อหวัดคนละชนิดมาแพร่ให้แก่กัน สมมติเด็กในห้อง ๒๐ คน อาจมีเชื้อหวัด ๑๐-๒๐ ชนิด ก็จะมาแลกกันทำให้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นไข้หวัด จนเมื่อรับเชื้อ ๑๐-๒๐ ชนิด ที่มีอยู่ในเด็กกลุ่มนั้นจนครบแล้ว โรคหวัดก็จะเป็นห่างขึ้น ดังนั้นแทบจะพูดได้ว่า เด็กที่เข้าโรงเรียนเทอมแรก จะต้องเผชิญกับโรคหวัดทั้งเทอม พอขึ้นเทอมที่สองจึงจะห่างๆไป

หากเข้าใจเหตุผลข้างต้น พ่อแม่ก็จะได้เบาใจลง มิเช่นนั้นจะเป็นทุกข์ใจว่าสุขภาพของลูกเป็นอะไรไป ถ้ายังไม่คลายใจจริงๆ ก็ลองถามคุณครูประจำชั้นและผู้ปกครอง เด็กนักเรียนคนอื่นๆดูซิครับ จะพบว่าเด็กคนอื่นๆก็เผชิญกับโรคหวัดแบบเดียวกับลูกคุณเช่นกัน เมื่อลูกตัวร้อนเป็นหวัด พ่อแม่ก็มักจะหาซื้อยามากินหรือไม่ก็พาไปหาหมอ ปัญหาที่พบบ่อย ก็คือ มักจะได้ยาเกินความจำเป็น เช่น ยาแก้หวัด แก้ไอ ยาปฏิชีวนะ ซึ่งบางครั้งอาจมีโทษมากกว่าประโยชน์ จริงๆแล้ว ไข้หวัดซึ่งเกิดจากเชื้อไวรัสนั้นไม่มียารักษาโดยเฉพาะ เพียงแต่ให้ยาบรรเทาอาการตัวร้อน (เช่น พาราเซตามอล) เช็ดตัว และบำรุงอาหาร (นม น้ำหวาน ข้าวต้ม) ก็เพียงพอ อาการตัวร้อน มักจะหายเองภายใน ๒-๓ วัน น้ำมูกจะเป็นอยู่เพียง ๑-๒ วัน ก็มักจะแห้งหายไปได้เอง ส่วนอาการไอจะเป็นอยู่ชั่วไม่กี่วัน ก็อาจให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (ได้วิตามินและน้ำตาลเสริมร่างกาย) ดีกว่ากินยาแก้หวัดแก้ไอสำเร็จรูป

การกินยาแก้หวัดแก้ไอนานๆ นอกจากทำให้เด็กง่วงซึม เบื่ออาหารแล้วยังอาจทำให้มีเสมหะเหนียว ไอมากขึ้นไปอีก บางคนอาจไอจนอาเจียน ทำให้เลอะที่นอน ขาด อาหาร น้ำหนักลดไปอีก ขอย้ำว่า เด็กที่เป็นไข้หวัดควรใช้ยาแต่น้อยเท่าที่จำเป็น และหาทางบำรุงอาหาร อย่าให้น้ำหนักตัวลด เมื่อเด็กได้อาหารพอเพียงก็จะมีภูมิต้านทานโรคได้มากขึ้น ก็จะค่อยๆห่างจากการถูกไข้หวัดเล่นงานงอมแงมไปได้

ข้อควรรู้ : ยาแก้ไข้หวัดสำหรับเด็ก

๑. อาการของไข้หวัด
เด็กที่เป็นไข้หวัด จะมีอาการตัวร้อน น้ำมูกไหลใสๆ ไอแห้งๆ หรือมีเสมหะเล็กน้อย ลักษณะใสๆ หรือมีสีขาวๆ อาการตัวร้อนมักเป็นอยู่ ๒-๓ วัน(เต็มที่ไม่เกิน ๔ วัน ถ้าเป็นเกิน ๔ วัน มักเป็นไข้หวัดที่มีภาวะแทรกซ้อน หรืออาจเป็นโรคอื่นๆ ควรปรึกษาหมอ)

๒. อาการที่ควรพาเด็กไปหาหมอ 
ถ้าเด็กที่เป็นไข้หวัดมีอาการต่อไปนี้เพียงข้อใด ข้อหนึ่งร่วมด้วย ควรพาไปหาหมอ

 ๒.๑ มีอาการหายใจหอบ โดยการนับการหายใจ (ดูการกระเพื่อมของหน้าท้องและหน้าอก)
  - เด็กแรกเกิดถึงอายุ ๒ เดือน หายใจมากกว่านาทีละ ๖๐ ครั้ง
  - เด็กอายุ ๒ เดือนถึง ๑ ขวบ หายใจมากกว่านาทีละ ๕๐ ครั้ง
  - เด็กอายุ ๑ ถึง ๕ ขวบ หายใจมากกว่านาทีละ ๔๐ ครั้ง
ควรพาไปพบแพทย์ทันที อาจเป็นปอดอักเสบ (ปอดบวมแทรก)

 ๒.๒ มีอาการปวดหู หูอื้อร่วมด้วย

 ๒.๓ มีน้ำมูกหรือเสมหะข้นเหลืองหรือเขียวตลอดทั้งวัน

 ๒.๔ มีอาการตัวร้อนทุกวัน นานเกิน ๔ วัน

๓. การรักษาเด็กเป็นไข้หวัด

 ๓.๑ ห้ามอาบน้ำเย็น ให้เด็กจิบน้ำบ่อยๆ ถ้า เบื่ออาหาร ให้ดื่มน้ำหวาน ดื่มนม น้ำผลไม้ น้ำข้าวต้ม ทีละน้อยแต่บ่อยๆ

 ๓.๒ เวลามีไข้กินยาพาราเซตามอล และใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวบ่อยๆ 

 ๓.๓ ถ้ามีน้ำมูกมาก ใช้ลูกยางเบอร์ ๒ ดูดเอาน้ำมูกออก หรือใช้ไม้พันสำลี (หรือกระดาษทิชชูพันเป็นแท่ง) สอดเข้าไปเช็ดน้ำมูก ถ้าน้ำมูกข้นเหนียว ควรชุบน้ำสุกพอชุ่มเสียก่อน

 ๓.๔ ถ้ามีอาการไอ ให้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง ๔ ส่วน + น้ำมะนาว ๑ ส่วน)

๔. ยาที่ไม่จำเป็นต้องให้

 ๔.๑ ยาแก้หวัด มักเป็นกลุ่มยาแก้แพ้(แอนติฮิสตามีน) เช่น คลอร์เฟนิรามีน, บรอมเฟนิรามีน ฯลฯ นอกจากไม่มีประโยชน์เท่าที่ควรแล้ว ยังอาจทำให้เด็กง่วงซึม เบื่ออาหาร เสมหะเหนียวขับออกยาก (อาจอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือทำให้ไอมากขึ้นได้) 

 ๔.๒ ยาแก้หวัดแก้ไอสำเร็จรูป (ทั้งชนิดเม็ดและน้ำเชื่อม) มักมีการผสมของยาแก้แพ้ แก้หวัด และยาลดการไอ หรือยาชนิดอื่นๆ ซึ่งไม่มีประโยชน์ต่อการรักษา ไข้หวัด แต่อาจทำให้มีผลข้างเคียงจากยาต่างๆได้

๔.๓ ยาปฏิชีวนะ (มักเรียกกันว่า ยาแก้อักเสบหรือยาฆ่าเชื้อ) เช่น อะม็อกซีซิลลิน, อีริโทรไมซิน, โคไตรม็อกซาโซล ฯลฯ มักทำเป็นผงผสมน้ำ หรือทำเป็นน้ำเชื่อม จะมีประโยชน์เมื่อมีภาวะติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เช่น หูอักเสบ(ปวดหู หูอื้อ) หลอดลมอักเสบ(ไอมีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว) หรือมีอาการน้ำมูกออกข้นเหลืองหรือเขียวเกิน ๒๔ ชั่วโมง

อาการไข้หวัดธรรมดา (น้ำมูกใสๆ ไอมีเสมหะใสหรือสีขาว) ไม่จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะ เพราะยานี้นอกจากไม่ได้ช่วยฆ่าเชื้อหวัดที่เป็นไวรัส (ทำให้โรคหายเร็วขึ้น) แล้ว การกินยานี้พร่ำเพรื่อยังทำให้เกิดปัญหาเชื้อโรคดื้อยา รวมทั้งทำลายเชื้อจุลินทรีย์ในลำไส้และระบบนิเวศภายในร่างกายที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย

ข้อมูลสื่อ

241-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 241
พฤษภาคม 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ