• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มะยม : ความเปรี้ยวที่เป็นมงคลของชาวไทย

มะยม : ความเปรี้ยวที่เป็นมงคลของชาวไทย


ในบรรดาต้นไม้ที่มีความผูกพันจนทำให้ประทับใจมาตั้งแต่เด็ก สำหรับผู้เขียนนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายชนิด บางชนิดเป็น ความรู้สึกเฉพาะตัว แต่บางชนิดก็เป็นความรู้สึกร่วมกันกับผู้คนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน ในบริเวณที่มีสภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมเดียวกัน เช่น เป็นเด็กในชนบทภาคกลาง เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อนโน้น เด็กสมัยนั้นใกล้ชิดกับธรรมชาติและต้นไม้มากกว่าเด็กสมัยนี้หลายเท่า ต้นไม้บางชนิดเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตเด็กๆมากเป็นพิเศษ ทั้งด้านที่ชอบและไม่ชอบ รวมทั้งเกี่ยวข้องกับผู้ใหญ่ทั้งในชีวิตประจำวันและโอกาสพิเศษ ตัวอย่างหนึ่งของต้นไม้ ชนิดพิเศษดังกล่าวนี้ก็คือ มะยม

มะยม : พืชพันธุ์ดั้งเดิมถิ่นแหลมทอง
มะยมเป็นพืชยืนต้นขนาดกลางมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Phyllanthus acidus (Linn.) Skeels. อยู่ในวงศ์ Euphorbiaceae ชื่อภาษาอังกฤษคือ star gooseberry ลำต้นสูงประมาณ ๔ ถึง ๗ เมตร แตกกิ่งก้านสาขามาก เปลือกเป็นปุ่มปมอันเกิดจากแผลเป็นของก้านใบที่ร่วงหล่นไปแล้ว ใบเรียงสลับกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบเป็นประเภทขนนก คือมีใบย่อยเรียงอยู่ ๒ ด้านของก้านใบรวมขนาดใหญ่ ยาวประมาณ ๓๐ เซนติเมตร ใบย่อยเป็นรูปไข่เบี้ยว ปลายใบแหลม ก้นใบค่อนข้างกลม ด้านบนใบสีเขียวอ่อน ด้านล่างสีขาวนวลอมเขียว ดอกออกเป็นช่อตามลำต้นและกิ่งก้านที่ไม่มีใบ เป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ ดอกตัวผู้มีมากกว่าดอกตัวเมีย บางครั้งมีเฉพาะดอกตัวผู้ทั้งต้น จึงไม่ติดผลเลย เรียกกันว่า มะยมตัวผู้

กลีบดอกขนาดเล็กสีชมพู เมื่อติดผลมักอยู่รวมเป็นพวง ผลค่อนข้างกลม ก้นแบน จุกด้านบนบริเวณก้านผลบุ๋มลงไป ด้านข้างผลมีลักษณะเป็นพูมนๆ ๖ ถึง ๘ พู ผิวของผลดิบจะมีสีเขียวอ่อนบาง มีน้ำในผลมากเช่นเดียวกับตะลิงปลิงและมะเฟือง ผลสุกผิวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองน้ำตาลอ่อน เนื้ออ่อนนุ่มและไม่ฉ่ำน้ำมากเหมือนตอนดิบ เมล็ดในผลมีลักษณะเป็นพูๆ เช่นเดียวกับผล มีสีน้ำตาล ผลละหนึ่งเมล็ด หากสังเกตชื่อวิทยาศาสตร์ของมะยม จะพบว่าชื่อชนิดคือ acidus หมายถึง กรด คงมาจากลักษณะผลฉ่ำน้ำของมะยมนั่นเอง เพราะมะยมดิบมีน้ำมาก น้ำมะยมนั้นมีกรดอยู่มากจึงมีรสเปรี้ยวจัด เป็นลักษณะเด่นของมะยม ปกติมะยมจะมีรสเปรี้ยว แต่มะยมบางต้นผลจะมีรสจืด เพราะมีกรดน้อย เรียกกันว่ามะยมหวาน ความจริงไม่มีรสหวานเลย น่าจะเรียกว่ามะยมจืดมากกว่า เชื่อว่าถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของมะยมอยู่ในบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือที่คนไทยเคยเรียกว่าถิ่นแหลมทองนี้เอง จึงนับว่ามะยมเป็นพืชคู่บ้านคู่เมืองของคนไทยมาตั้งแต่เดิม คนไทยจึงมีความผูกพันกับมะยมมาเนิ่นนานและลึกซึ้งในหลายๆด้าน

มะยมในฐานะผักและอาหาร
คนไทยใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนของมะยมเป็นผัก เช่น ผักจิ้ม หรือที่นิยมมากคือเป็นเหมือดกินกับขนมจีน หากสังเกตการจัดวางเส้นขนมจีนในชนบทภาคกลาง จะเห็นใบมะยมวางรองเส้นขนมจีนเป็นชั้นๆ นอกจากนี้ยังใช้ทำลาบและยำบางตำรับอีกด้วย ผลดิบของมะยมใช้ทำส้มตำได้ เรียกว่าตำมะยม ดูเหมือนคนไทยจะรู้จักมะยมในฐานะผลไม้มากกว่าผัก เพราะผลมะยมนำมากินได้หลากหลายรูปแบบ แม้แต่นำมาจิ้มเกลือกินเล่นก็ได้รสชาติจัดจ้าน ทำให้หูตาสว่างหายง่วงได้ดี หากไม่ชอบเปรี้ยวจัดก็ใช้ผลมะยมสุกที่นำผลดิบมาตากแดดให้เหี่ยวและเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนแล้วกินแทน ผลมะยมดองก็เป็นของว่างยอดนิยมอย่างหนึ่งในบรรดาผลไม้เมืองไทย ดังจะเห็นปรากฏอยู่ตามรถเข็นทั่วไปในกรุงเทพฯ และเมืองใหญ่ๆ สำหรับผู้ที่ไม่ชอบรสเปรี้ยว ก็อาจเลือกทำแยมหรือเชื่อม เป็นการถนอมอาหารอย่างง่ายที่ทำได้ทุกครัวเรือน และขายเป็นรายได้เสริมของครอบครัวและชุมชนก็ดี สำหรับผู้ชอบดื่มน้ำผลไม้ น้ำมะยมที่เตรียมจากผลมะยมดิบ นับว่าเป็นน้ำผลไม้ที่มีรสชาติดีเป็นที่นิยมในระดับแนวหน้าเลยทีเดียว

จากน้ำผลไม้พัฒนาไปสู่กระบวนการหมัก เพื่อให้ได้เครื่องดื่มประเภทไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ระดับต่ำ ไวน์มะยมก็เป็นไวน์จากผลไม้พื้นบ้านอีกชนิดหนึ่งที่มีชื่อเสียงมานานในเมืองไทย เพราะหาวัตถุดิบได้ง่าย รสชาติดี สีสวย และคุณค่าทางด้านสุขภาพคงไม่ด้อยกว่าไวน์นำเข้าราคาแพงจากต่างประเทศแต่อย่างใด น่าเสียดายที่การพัฒนาไวน์น้ำผลไม้ของไทยถูกจำกัดด้วยกฎหมายผูกขาด และริดรอนสิทธิของประชาชนในการผลิตเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งประเภทไม่กลั่น(เช่น ไวน์ สาโทกระแช่ อุ ฯลฯ) และประเภทกลั่น (เหล้าพื้นบ้านจากข้าว ข้าวโพด ฯลฯ) ทำให้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมาในแต่ละท้องถิ่นหยุดชะงัก ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา หรือสังคมนิยม ต่างก็ไม่มีกฎหมายจำกัดสิทธิประชาชนดังกล่าว ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนอย่างกว้างขวาง มีแนวโน้มว่าการจำกัดสิทธิประชาชนด้านต่างๆจะได้รับการปรับปรุงแก้ไขในไม่ช้า เมื่อถึงตอนนั้นมะยมอาจจะกลายเป็นเครื่องดื่มส่งออกไปทั่วโลกก็ได้
 
ประโยชน์ด้านอื่นๆ ของมะยม
มะยมมีสรรพคุณทางสมุนไพรหลายประการ ดังปรากฏในตำราสรรพคุณสมุนไพรไทย ดังนี้

ราก : แก้โรคผิวหนัง ประดง เม็ดผื่นคัน ขับน้ำเหลืองให้แห้ง

ใบ :
ปรุงเป็นยาเขียว ใช้ดับพิษไข้ หรือใช้ต้มน้ำอาบแก้พิษคัน พิษไข้หัดดำแดง สุกใส ฝีดาษ

มะยมเป็นต้นไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล เพราะคำว่า มะยม ใกล้กับคำว่า นิยม จึงถือว่ามะยมเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ในตำราพรหมชาติกำหนดให้ปลูกต้นมะยมไว้ในบริเวณ บ้านด้านทิศตะวันตก ร่วมกับมะขาม และพุทรา

ในด้านไสยศาสตร์ คนไทยแต่ก่อนมีวิธีการเลี้ยงผีไว้เป็นบริวาร หรือใช้งาน เช่น ขุนแผน มีโหงพรายและกุมารทอง เป็นต้น สำหรับคนทั่วไปนิยมเลี้ยงรัก-ยม โดยนำไม้จากต้นมะยมและต้นรัก (ที่ให้ยางสีดำใช้ลงรัก) มาแกะเป็นรูปเด็กชายตัวเล็กๆ แล้วแช่ไว้ในน้ำมันจันทน์ ใส่ขวดติดตัวไปในที่ต่างๆ เชื่อกันว่ารัก-ยมจะช่วยคุ้มกันอันตรายและนำความสำเร็จด้านต่างๆมาให้

นอกจากคนไทยจะเชื่อว่ามะยมเป็นพืชมงคล มีผลทางด้านโชคลาภ เมตตามหานิยมแล้ว ยังเชื่อว่าช่วยป้องกันและขจัดสิ่งชั่วร้ายได้ด้วย จึงนำมาใช้ในพิธีปัดรังควาน และใช้สำหรับพระสงฆ์ประพรมน้ำมนต์แทนหญ้าคา โดยนิยมใช้ใบมะยม(ทั้งก้าน) ๗ ใบ มัดรวมกัน เมื่อกล่าวถึงใบมะยม ก็ต้องพูดถึงก้านใบมะยมที่เอาใบออกหมดแล้ว เรียกสั้นๆว่าก้านมะยม ก้านมะยมจะมีความยาวราว ๑ ฟุต โคนก้านโตกว่าด้านปลายที่เรียวแหลม ก้านมะยมมีความเหนียวเพราะมีแกนเป็นเนื้อไม้ แต่ยืดหยุ่นได้ดีเพราะหุ้มด้วยเปลือกสดสีเขียว ผิวเรียบ มีปุ่มปมเล็กน้อย เป็นรอยแผลของใบที่เด็ดออกไป ก้านมะยมนับเป็นเครื่องมือที่ผู้ปกครองใช้ลงโทษเด็กและแพร่หลายที่สุดเมื่อ ๔๐ ปีก่อนโน้น เนื่องจากหาง่าย ไม่ทำให้เด็กฟกช้ำ จึงอาจกล่าวได้ว่า ก้านมะยมได้ช่วยสร้างอนาคตให้กับเด็กไทยในอดีตอย่างมากมาย(รวมทั้งผู้เขียนด้วย) น่าที่จะช่วยกันปลูกต้นมะยมไว้ในบ้านเพื่อตอบแทนคุณความดี หรือเป็นกตเวทีคุณแก่ต้นมะยม นอกเหนือไปจากเพื่อใช้ประโยชน์ด้านต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว

ข้อมูลสื่อ

241-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 241
พฤษภาคม 2542
พืช-ผัก-ผลไม้
เดชา ศิริภัทร