• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ขี้เหล็ก สมุนไพรคลายเครียด

ขี้เหล็ก สมุนไพรคลายเครียด


ปีหนึ่งๆ ประเทศไทยเราต้องเสียเงินจำนวนมากมายมหาศาล ในการสั่งซื้อยาจากต่างประเทศ เพื่อใช้รักษาโรคต่างๆ และหนึ่งในจำนวนนั้นที่เป็นยาขายดีติดอันดับ ก็คือ ยากล่อมประสาทหรือยาคลายเครียด เพราะวิถีชีวิตในปัจจุบันมีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ผู้คนเครียดกันมากทั้งโดยรู้ตัว และไม่รู้ตัว ซึ่งมีผลต่อร่างกายและจิตใจ ทำให้กินไม่ได้ นอนไม่หลับ สุขภาพทรุดโทรม การกินยากล่อมประสาท เป็นวิธีสำเร็จรูปที่หลายคนเลือกใช้ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด แต่ในที่สุดยาที่ว่านี้ก็ทำให้เกิดปัญหาเพิ่มขึ้น เพราะยิ่งกิน ยิ่งเสพติด และมีผลข้างเคียงต่อร่างกาย

และในยุคที่สมุนไพรกำลังเป็นที่นิยม ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาขององค์การเภสัชกรรม ก็ได้ทำการวิจัยและผลิตยาเม็ดขี้เหล็กสำหรับคลายเครียดออกสู่ท้องตลาด เพื่อลดการนำเข้าของยาต่างประเทศ และเพื่อเป็นการยกย่องภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ วันนี้สมุนไพรขี้เหล็กที่ช่วยคลายเครียด ยาไทยแท้ๆ ขายดิบขายดีจนแทบจะผลิตไม่ทัน เป็นที่ต้องการทั้งภายในและนอกประเทศ ก็เลยถือโอกาสนี้นำเสนอเรื่องราวและคุณประโยชน์ของขี้เหล็กให้ได้ทราบกันอีกครั้ง

ขี้เหล็ก มีชื่อเรียกในทาง พฤกษศาสตร์ว่า Cassia siamea Lamk. ซึ่งคำว่า siamea ที่เป็นชื่อชนิดของขี้เหล็กนั้น มาจากคำว่า Siam หรือสยาม ทั้งนี้ เพราะผู้ตั้งชื่อทางพฤกษศาสตร์และภาษาอังกฤษให้เกียรติประเทศสยาม (ในขณะนั้น) ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของต้นขี้เหล็กบ้าน ความจริงต้นขี้เหล็กบ้านพบขึ้นอยู่ตามธรรมชาติในหลายประเทศ เช่น ศรีลังกา อินเดีย มาเลเซีย ฯลฯ แต่ไม่เหมือนประเทศไทยที่พบได้ทั่วไป ทั้งในป่าและตามริมรั้ว รวมทั้งพลเมืองของประเทศเหล่านั้นก็ไม่นิยมกินขี้เหล็กเหมือนคนไทยด้วย

ขี้เหล็กเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทุกๆส่วนของขี้เหล็ก มีสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคได้หลายอย่าง แต่ที่นำมาผลิตเป็นยาคลายเครียด คือ ส่วนของใบอ่อน และดอกตูม ซึ่งจะมีมากในช่วงปลายฤดูฝน (กรกฎาคม-สิงหาคม) แต่เดิมภูมิปัญญาชาวบ้านหรือ ผู้เฒ่าผู้แก่มักจะแนะนำคนที่นอนไม่ค่อยหลับว่า ให้กินแกงขี้เหล็ก ซึ่งจะช่วยให้หลับดีขึ้น แต่ในความเป็นจริง สารเคมีที่มีอยู่ในขี้เหล็กที่มีสรรพคุณช่วยคลายเครียดตัวที่ชื่อว่า แอนไฮโดรบาราคอล (anhydrobarakol) จะสลายไปเกือบหมดเมื่อนำมาปรุงเป็นอาหาร ส่วนที่เหลืออยู่ก็คือไฟเบอร์ที่ช่วยในการระบายขับถ่ายเท่านั้น และเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ระหว่างสมุนไพรสดกับเมื่อถูกแปรรูปแล้ว แน่นอนของสดย่อมมีคุณค่ามากกว่า แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถกินขี้เหล็กสดๆได้อย่างไม่ผะอืดผะอม

ดังนั้นการที่องค์การเภสัชกรรม (โดยการวิจัยของ ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ และคณะ) ได้ทำการผลิตยาเม็ดสมุนไพรขี้เหล็กคลายเครียดขึ้น จึงเป็นความสะดวกสบายในการบริโภคสำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งปัจจุบันจะมีจำหน่ายทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำเชื่อม(สำหรับผู้สูงอายุที่กลืนยาเม็ดไม่ได้) ส่วนผู้ที่อยากลองกินขี้เหล็กสดๆ แก้อาการเครียด นอนไม่หลับเป็นครั้งคราว ก็สามารถทำได้โดยวิธีง่ายๆ คือ ใช้ใบอ่อน(สด)ประมาณ ๕๐ กรัม ต้มกับน้ำใช้ดื่มก่อนนอน หรือที่คนโบราณใช้กัน คือ จะนำใบอ่อนขี้เหล็กมาดองเหล้าไว้ ๗ วัน ซึ่งตัวแอลกอฮอล์ในเหล้าจะสกัดเอาสารที่มีอยู่ในขี้เหล็กออกมา ก็นำเอาน้ำดองเหล้านั้นมาดื่ม

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งที่ควรทราบ ก็คือ ยาทุกชนิดที่เรากินกันอยู่ มันจะมีปฏิกิริยาหรือออกฤทธิ์ต่อร่างกายของทุกคนไม่เท่ากัน ยาเม็ดขี้เหล็กคลายเครียดเองก็หนี ไม่พ้นความจริงเรื่องนี้ แต่อย่างน้อยก็สบายใจ ได้ว่ายาสมุนไพรมีความปลอดภัยสูง ไม่มีอันตรายต่อร่างกายใครที่ใช้แล้วได้ผลก็อาจจะใช้ต่อไปจนกว่าสภาพร่างกายจิตใจจะดีขึ้น ถ้าหากใช้แล้วไม่ได้ผลก็สามารถเลิกใช้ได้ทันที ก็ต้องขอขอบคุณคณะนักวิจัยและองค์การเภสัชกรรม ที่ได้มุ่งมั่นนำเอาสมุนไพรต่างๆที่มีอยู่ในบ้านเรามาผลิตเป็นยา เพื่อให้คนไทยได้ใช้ยาที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และราคาถูก

ข้อมูลสื่อ

241-010
นิตยสารหมอชาวบ้าน 241
พฤษภาคม 2542
เรื่องน่ารู้
ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์