• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้หวัดนกระลอกใหม่

ไวรัสไข้หวัดนกระลอกแรก
การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก (avian influenza virus) ที่แพร่ระบาดในกลุุ่มสัตว์ปีกอย่างรวดเร็ว และสามารถติดต่อถึงคนได้นั้น รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้สูงอายุและเด็ก
มีรายงานขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่จากสัตว์ปีก หรือไข้หวัดนก ชนิด H5N1 ครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ที่ฮ่องกง โดยแพร่ระบาดจากไก่มาสู่คนมีจำนวนผู้ป่วย ๑๘ ราย (ชาย ๘ หญิง ๑๐) เสียชีวิต ๖ ราย
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ มีการระบาดของไวรัสไข้หวัดนกในฮ่องกง สาธารณรัฐประชาชนจีน และเนเธอแลนด์
จนกระทั่งปลายปี พ.ศ. ๒๕๔๖ จนถึงต้นปี พ.ศ. ๒๕๔๗ เริ่มมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกอีกหลายประเทศในทวีปเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย
สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงสาธารณสุขยืนยันการติดเชื้อไข้หวัดนกในคนวันที่ ๒๓ มกราคม
พ.ศ. ๒๕๔๗ ผลสรุปได้ว่ามีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไวรัสไข้หวัดจำนวน ๑๒ ราย เสียชีวิต ๘ ราย
ผู้ป่วยจำนวน ๑๒ รายนี้ เป็นชาย ๘ ราย และหญิง ๔ ราย กระจายอยู่ใน  ๙ จังหวัด
ได้แก่ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สุโขทัย อุตรดิตถ์ ลพบุรี ชัยภูมิ ขอนแก่น นครราชสีมา และปทุมธานี
ผู้ป่วยกลุุ่มนี้เป็นเด็กและผู้สูงอายุ ระยะฟักตัวของโรคเฉลี่ย ๔ วันเท่านั้น
ผู้ป่วยทั้ง ๑๒ รายมีประวัติเกี่ยวข้องกับไก่ดังนี้คือ สัมผัสไก่ และเชือดไก่ที่ป่วย รวมทั้งเก็บเนื้อไก่จากไก่ที่ป่วยตายไว้ในบ้านด้วย
สรุปได้ว่า โรคไข้หวัดนกที่เกิดขึ้นในคนพบได้ในพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกเท่านั้น และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคทั้งหมดมาจากการสัมผัสสัตว์ปีกมากที่สุดคือ ไก่ที่ป่วยหรือตายโดยตรง

ไวรัสไข้หวัดนกระลอกใหม่
กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ตรวจพบไก่ติดเชื้อไข้หวัดนกระลอกใหม่ครั้งแรกเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
จากการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกระลอกใหม่นี้ มีการเกรงกันว่าเชื้อจะกลายพันธุ์และแพร่กระจายจากสัตว์ปีก
สู่หมู นก ไก่ สุนัข แมว รวมทั้งเสือ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เรื่อง การนำเข้า ขาย และใช้วัคซีนไข้หวัดนกมีความผิดตามกฎหมาย
การระวัง ป้องกันไข้หวัดนก เป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติ แต่ไม่ควรตระหนกจนเกินเหตุ นั่นคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่มีเชื้อไข้หวัดนกโดยตรง

สถานการณ์
โรคไข้หวัดนกในคน
สิ้นสุด ณ วันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗
ตั้งแต่วันที่ ๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ จนถึงวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้รับรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่หรือปอดบวม และผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการกรมวิทยาศาสตร์ ปรากฏดังนี้
๑. ชาย อายุ ๑๘ ปี จังหวัดปราจีนบุรี  ยืนยันเป็นไข้หวัดนก-เสียชีวิต
๒. หญิง อายุ ๒๖ ปี จังหวัดกำแพงเพชร ยืนยันเป็นไข้หวัดนก-เสียชีวิต
๓. หญิง อายุ ๓๒ ปี จังหวัดกำแพงเพชร ยืนยันเป็นไข้หวัดนก-รักษาหาย
๔. หญิง อายุ ๙ ขวบ จังหวัดเพชรบูรณ์ ยืนยันเป็นไข้หวัดนก-เสียชีวิต
๕. หญิง อายุ ๑๑ ขวบ จังหวัดกำแพงเพชร เสียชีวิต น่าจะเป็นไข้หวัดนก
๖. ชาย อายุ ๑๓ ปี จังหวัดกำแพงเพชร เสียชีวิต สงสัยเป็นไข้หวัดนก
๗. หญิง อายุ ๑๔ ปี จังหวัดสุโขทัย  กำลังรักษา สงสัยเป็นไข้หวัดนก

การระบาดของเชื้อไวรัสไข้หวัดนกระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในเมืองไทย สาธารณชนได้รับรู้ข่าวคราวต่างๆ และก่อให้เกิดความสงสัยใคร่รู้ในหลายๆ ประเด็น เช่น
* เชื้อไข้หวัดนก สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้หรือไม่
* เชื้อไข้หวัดนก แพร่กระจายไปติดสัตว์เลี้ยงที่ใกล้ชิดกับคนจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น สุนัข แมว ไก่ชน เป็ดไล่ทุ่ง นกกระจอกเทศ เสือ
* การใช้วัคซีนในไก่จะทำให้เชื้อดื้อยาจนก่อกลายพันธุ์
จากข้อสงสัยต่างๆ เหล่านี้ "หมอชาวบ้าน" ได้รับความกรุณาจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญไวรัสวิทยา ให้ความกระจ่างกับผู้อ่าน
ทุกวันนี้คงจะได้ยินข่าวทั้งทางหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ และมีการพูดถึงกล่าวถึงกันมาก โดยเฉพาะ ไข้หวัดนกรอบ ๒ ที่จริงแล้วไม่อยากจะเรียก ไข้หวัดนกรอบ ๒ เพราะเชื้อไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ที่พบอยู่ยังคงเป็นตัวเดิม ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง กลายพันธุ์อย่างสิ้นเชิง แล้วกลับมาเยือนใหม่
จึงน่าจะเรียกว่า ไข้หวัดนกคงค้างมากกว่าเพราะเชื้อยังไม่ได้หายไปอย่างสิ้นเชิง แล้วกลับมาเยือนใหม่

โรคซาร์สและไข้หวัดนก เหตุใดแพร่ระบาดในช่วงอากาศเย็น
ไม่ว่าเป็นไข้หวัดนก โรคทางระบบทางเดินหายใจ  เช่น  SARS  จะพบได้บ่อยและมีความชุกชุม ในช่วงปลายฝนต้นหนาว  ทั้งนี้เพราะเชื้อไวรัสดังกล่าวจะคงค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศชื้นและหนาวเย็นได้นานมากกว่าบรรยากาศแห้งและร้อน
ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าโรคซาร์ส (SARS) ได้เริ่มมีการระบาดในสาธารณรัฐประชาชนจีนปลายเดือนพฤศจิกายนต่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และนำเข้าไปแพร่กระจายสู่ฮ่องกงปลายเดือนมกราคมต่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้สร้างความสูญเสีย อย่างใหญ่หลวงต่อทั้งชีวิตมนุษย์และเศรษฐกิจของเอเชีย แต่ยังโชคดีที่โรค SARS  ติดต่อได้ไม่ง่ายนัก ต้องสัมผัสใกล้ชิดจึงจะแพร่กระจายออกไปได้
ในทำนองเดียวกัน ไข้หวัดนกก็ยังไม่สามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนในระบบทางเดินหายใจในอากาศแบบไข้หวัดใหญ่ ผู้ป่วยทุกรายจะติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์ปีกที่ป่วยตายหรือคนที่เป็นโรคเท่านั้น

การแพร่ระบาดของไข้หวัดนกและซาร์ส
กล่าวกันว่าการติดต่อของ  SARS  จากผู้ป่วย ๑ คนจะมีอำนาจการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่นใกล้ชิดได้ ๓ คน โดยใช้เวลา ๑๐ วัน แสดงว่าผู้ป่วย ๑ ราย ๑๐ วันต่อมาจะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่ม ๓ คน อีก  ๑๐ วันต่อมา (หรือ ๒๐ วันจากเริ่มระบาด) จะมีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มอีก  ๙ คน และ ๑ เดือนหลังการระบาด (๓๐ วันต่อมา) จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอีก ๒๗ คน
ดูเรื่องไข้หวัดใหญ่ของคนที่สามารถแพร่กระจายไปในผู้ใกล้ชิดได้ถึง ๙ คน ในเวลา ๓ วัน อีก  ๓ วันต่อมา (๖ วันหลังการระบาดรายแรก) จะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็น  ๘๑ คน และอีก ๓ วันต่อมา จะมีผู้ป่วยเป็น ๗๒๙ คน และจะเพิ่มยกกำลังไปทุก ๓ วัน จึงทำให้พบผู้ป่วยได้มากและทำให้เห็นการติดต่อได้ง่ายกว่ากันมาก
ในขณะเดียวกันไข้หวัดนกยังไม่สามารถติดจากคนสู่คนได้ อำนาจการกระจายโรคจึงเป็นศูนย์ดังแสดงในรูป จะมีผู้ป่วยได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยสัมผัสกับสัตว์ปีกหรือคนที่ป่วยโดยตรงเท่านั้น การระบาดของโรคจึงยังไม่เกิดขึ้น และนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกจึงเกรงกลัวการกลายพันธุ์ของไวรัสที่จะทำให้ติดจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น ดังนั้นจึงต้องมีการเฝ้าระวังและตรวจวินิจฉัยทางพันธุกรรมของไข้หวัดนกได้อย่างรวดเร็ว

 

 ไข้หวัดนกระลอกใหม่แนวโน้มจะรุนแรงกว่ารอบที่แล้วหรือไม่อย่างไร
ในปัจจุบันไข้หวัดนกยังไม่มีการกลายพันธุ์ จากการตรวจสอบถอดรหัสพันธุกรรม โดยคณะผู้วิจัยจากศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสตับอักเสบ คณะแพทยศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้เฝ้าตรวจติดตามโดยได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์เป็นอย่างดี ยังไม่พบการกลายพันธุ์เกิดขึ้น
โดยปกติในส่วนของ Hemaglutinin จะมีส่วนหนึ่งบนผิวของไวรัสไว้เกาะติดกับเซลล์ของสัตว์เพื่อเพิ่มการติดเชื้อ ในปัจจุบันในส่วนเกาะติดของไวรัสจะ เกาะติดเพื่อการติดเชื้อเกิดโรคได้ดีมากในสัตว์ปีกเท่านั้น โดยใช้ส่วนเกาะติดที่เรียกว่า ๒, ๓ receptor สำหรับไข้หวัดใหญ่จะต้องใช้ส่วนในการเกาะติดที่เรียกว่า ๒, ๖ receptor  ดังนั้นทำให้ไข้หวัดนกไม่สามารถติดเชื้อในคนได้ง่ายนัก การติดเชื้อเกิดขึ้นได้ จะต้องใช้เชื้อจำนวนมากหรือบุคคลผู้นั้นมีจุดบกพร่องในเด็ก การเกิดการติดเชื้อเป็นการเกิดแบบบังเอิญที่ไปสัมผัสมากกว่าที่จะติดเชื้อจากผู้อื่น และไข้หวัดใหญ่ในคน การดูแลสุขอนามัย ความสะอาด ล้างมือ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการป้องกัน
การติดเชื้อไข้หวัดนกที่พบในรอบใหม่นี้ไม่ได้รุนแรงขึ้นแต่อย่างใด ยังคงเป็นไข้หวัดนก  H5N1 ตั้งแต่เดิมที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลง แต่ทำให้เกิดความรุนแรงมากในสัตว์ปีกเพราะมีอัตราตายสูงมากในสัตว์ปีก และในคนถ้าได้รับการติดเชื้อโดยเฉพาะในเด็กก็จะมีอัตราเสียชีวิตสูง

ทุกวันนี้พบการระบาดของไข้หวัดนกจากสัตว์ปีกสู่สัตว์ปีกมีโอกาสระบาดจากสัตว์ปีก  ไปหมู ไปสุนัข และแมวหรือไม่อย่างไร
ไข้หวัดนก H5N1 สามารถติดต่อเข้าสู่คนและสัตว์ในกลุ่มเสือและแมวได้ นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าไวรัสตัวนี้สามารถติดต่อเข้าสู่หมูได้ด้วยโดยมีรายงาน ในประเทศจีน แต่ในสุนัขยังไม่มีข้อมูลยืนยันที่ชัดเจน
ข้อมูลการติดในเสือเกิดขึ้นในช่วงที่มีการระบาด ครั้งแรกตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ ถึงเดือนมกราคม พ.ศ. ๒๕๔๗ มีเสือป่วยและตายจากการกินซากสัตว์ปีก (ไก่) ที่เป็นโรคและมีการตรวจยืนยันที่แน่นอน
ในแมวก็เช่นเดียวกัน มีการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนก
จากการศึกษาที่น่าสนใจโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเนเธอร์แลนด์ ได้เอาเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ของคนที่ป่วยไปใส่ในหลอดลมของแมว ปรากฏว่าแมวป่วยและเสียชีวิต ต่อมาจึงได้ใช้เชื้อไข้หวัดนก  H5N1 ไปติดเชื้อในไก่ก่อน แล้วเอาไก่ให้แมวกิน  ๒ วันต่อมาได้นำแมวที่ไม่ได้ป่วยอีก ๒ ตัวไปขังรวมกรงเดียวกับแมวที่กินไก่ติดเชื้อ ผลปรากฏว่า ทั้งแมวที่กินไก่ติดเชื้อ และแมวที่ไม่ได้กินไก่ แต่อยู่ในกรงเดียวกัน ป่วยเป็นไข้หวัดนกทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าเชื้อไข้หวัดนกสามารถติดจากสัตว์ปีกเข้าสู่สัตว์ในตระกูลแมวได้อย่างแน่นอน และมีการแพร่กระจายจากแมว สู่ แมว โดยการสัมผัสอย่างใกล้ชิด (อยู่ในกรงเดียวกัน) ระหว่างสัตว์ในตระกูลเลี้ยงลูกด้วยนม  ยังเกิดจากการสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับใน  คน การติดต่อยังไม่ได้ติดต่อแบบโรคทางเดินหายใจ
ดังนั้น ประชาชนทั่วไปจึงยังไม่จำเป็นที่จะต้องวิตกกังวลมากจนเกินเหตุ

ไข้หวัดนกสามารถกลายพันธุ์ติดต่อจากคนไปสู่คนได้หรือไม่อย่างไร
ดังได้กล่าวมาแล้ว ไข้หวัดนก  H5N1 ที่ได้ตรวจติดตามมาโดยตลอด จากการถอดรหัสพันธุกรรมที่ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสตับอักเสบ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นจำนวนมากกว่า ๓๐ สายพันธ์ุเป็นระยะมาโดยตลอด ยังไม่พบการกลายพันธุ์แต่อย่างใด และไม่สามารถติดต่อจากคนสู่คนแบบโรคไข้หวัดใหญ่ในคน
การติดจากคนสู่คนจะเกิดขึ้นได้จะต้องมีการสัมผัสอย่างใกล้ชิด โดยสัมผัสน้ำลาย เสมหะ ของ ผู้ป่วย เช่น แม่ดูแลลูก แล้วไม่รู้ว่าลูกป่วยเป็นไข้หวัดนก ก็สามารถทำให้ติดต่อได้

ปัจจุบันมีวัคซีนฉีดป้องกันและรักษาไข้หวัดนกหรือยัง
ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกในคน มีเฉพาะวัคซีนไข้หวัดใหญ่ชนิด A  และ B  ในคนเท่านั้น แต่สายพันธุ์ของวัคซีนในคนจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงทุกปี
ในอนาคตถ้ามีการกลายพันธุ์ของไข้หวัดนก แล้วเกิดการกระจายโรคอย่างรุนแรง วัคซีนไข้หวัดนกก็จำเป็นต้องนำมาใช้ในคน
ในปัจจุบัน วัคซีนไข้หวัดนกมีเฉพาะใช้ในสัตว์ปีกเท่านั้น แต่การใช้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ผู้ใช้จะต้อง ตระหนักและชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีและข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้น

การห้ามฉีดวัคซีนในไก่ ป้องกันการกลายพันธุ์ได้อย่างไร
วัคซีนไข้หวัดนกในสัตว์ปีก สามารถป้องกันการป่วยในสัตว์ปีกได้ถ้าใช้วัคซีนตรงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาด
ในทางวิทยาศาสตร์ ความเหมือนของสายพันธุ์ ถ้าเกินกว่าร้อยละ ๙๐ ในส่วนของยีน  Hemagglutinin  ก็จะสามารถป้องกันการป่วยและตายในสัตว์ปีกได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่าง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือสัตว์ปีกที่ได้รับวัคซีนยังสามารถ ติดเชื้อและมีการปล่อยเชื้อเข้าสู่สิ่งแวดล้อมได้ถึงแม้จะมีปริมาณน้อยกว่า โดยที่สัตว์ไม่ได้ป่วย
ดังนั้นการปล่อยเชื้อในสัตว์ที่ไม่ได้ป่วย ถ้าผู้ดูแล สัตว์ไม่ระวังก็อาจจะได้รับการรับเชื้อได้ และในขณะ เดียวกันการศึกษาในประเทศเม็กซิโก  ที่ใช้วัคซีนร่วม  ๑๐ ปีพบว่า ยังไม่สามารถปราบไข้หวัดนกให้หมดไป จากประเทศเม็กซิโก และยังพบว่าการใช้วัคซีนทำให้ เพิ่มอัตราการกลายพันธุ์ของไวรัสไข้หวัดนกเร็วกว่าปกติ

การกลายพันธุ์ของไข้หวัดนก
โดยทั่วไปไข้หวัดนกเป็นไข้หวัดใหญ่ชนิด A  สามารถกลายพันธุ์เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว โดยที่การกลายพันธุ์เป็นได้ ๒ แบบ
แบบแรกคือ ค่อยเป็นค่อยไปทีละเล็กทีละน้อย อาจใช้เวลาประมาณ  ๑๐ ปี จึงจะเปลี่ยนสายพันธุ์
ุ์หลบหลีกระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ แล้วจึงเกิดการระบาดใหญ่เกิดขึ้น
แบบที่ ๒ เป็นการกลายพันธุ์แบบเฉียบพลัน การกลายพันธุ์แบบเฉียบพลันจะเกิดขึ้นได้เพราะมีการแลกส่วนพันธุกรรมของไข้หวัดนกต่างสายพันธุ์กันในสื่อกลาง เช่น หมู เมื่อหมูได้รับเชื้อไข้หวัดใหญ่ ของคนและไข้หวัดนกในเวลาเดียวกันอาจจะมีการแลกชิ้นส่วนพันธุกรรม เกิดเป็นสายพันธุ์ใหม่ สายพันธุ์ใหม่ที่เกิดขึ้นอาจจะรับความรุนแรงของไข้หวัดนกมาร่วมกับการติดต่อง่ายของไข้หวัดใหญ่คนมาอยู่ ในตัวลูกผสมสายพันธุ์ใหม่ ก็จะสร้างความหายนะ อย่างมากให้แก่มวลมนุษย์ได้ ในทำนองกลับกันการ กลายพันธุ์อาจจะลดความรุนแรงของโรคลงก็ได้
เชื้อ H5N1 มีสายพันธุกรรมทั้งหมด ๘ เส้น  พบว่าเชื้อไข้หวัดนกของไทยมีความคล้ายคลึงกับเชื้อไข้หวัดนกที่พบในเวียดนาม และจากการตรวจเชื้อไวรัสไข้หวัดนกร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสัตว์ปีกมากกว่า ๓๐ ตัวอย่างทั่วประเทศ ยังไม่พบการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ไทย
ถ้าหากมีการกลายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนกเกิดขึ้นจริง ห้องปฏิบัติการในไทยสามารถตรวจพบได้เช่นกัน นอกจากนี้ยังได้พัฒนาชุดตรวจสอบไข้หวัดนกสายพันธุ์ไทยที่มีความแม่นยำสูง จะทำให้ทราบว่าเชื้อที่ระบาดอยู่เป็นเชื้อกลายพันธุ์หรือไม่

การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ ช่วยป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดนกได้หรือไม่
ในปัจจุบันมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่ของคนป้องกันไข้หวัดใหญ่คนแต่ไม่สามารถป้องกันไข้หวัดใหญ่นกได้
ในทางปฏิบัติจะแนะนำให้กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคปอดเรื้อรังหรือผู้สูงอายุ (อายุเกิน ๖๕ ปีขึ้นไป) ควรได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทั้งนี้เพราะบุคคลดังกล่าวเมื่อเป็นไข้หวัดใหญ่จะมีความรุนแรงของโรคได้มาก ยังไม่แนะนำให้กับคนทุกคนในประเทศไทย

ประชาชนจะดูแลตนเองให้รอดพ้นจากไข้หวัดนกได้อย่างไร
การดูแลให้พ้นจากไข้หวัดนกดังได้กล่าวมาแล้ว โรคไข้หวัดนกไม่ได้ติดต่อกันง่ายจะต้องสัมผัสกับเชื้อโดยตรง เช่นสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย หรือผู้ป่วย
ดังนั้น แนวทางการป้องกันตัวเองสำหรับ ประชาชน ก็คือหลีกเลี่ยงจากการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย
เมื่อพบสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตายควรใช้ถุงมือหรือ ถุงพลาสติกนำสัตว์ดังกล่าวไปฝัง หรือแจ้งหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องนำไปตรวจสอบ การดูแลอนามัยส่วนบุคคล เช่น ล้างมือรักษาความสะอาดไม่ถมน้ำลายหรือเสมหะ รวมทั้งการป้องกันเช่นเดียวกับโรคระบบทางเดินหายใจก็จะเป็นวิธีการในการป้องกันโรคไข้หวัดนกได้เป็นอย่างดียิ่ง
อาหารจำพวกสัตว์ปีก ควรกินที่มีการปรุงสุกและสะอาด ก็จะปลอดเชื้อจากไข้หวัดนกได้

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ
๑. ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสตับอักเสบ  ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
๒. สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
๓. ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาไข้หวัดนก  ทำเนียบรัฐบาล
๔. หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
๕. หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

ข้อมูลสื่อ

307-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 307
พฤศจิกายน 2547
พญ.เพ็ญพรรณ วัฒนไกร
กองบรรณาธิการ