• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กินไข่อย่างปลอดภัย

กินไข่อย่างปลอดภัย


"การกินไข่ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและอัมพาต"

นี่คือข้อสรุปจากรายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารสมาคมแพทย์อเมริกันเมื่อเร็วๆนี้ โดยคณะวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้ทำการศึกษาในกลุ่มพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน ที่มีระดับไขมันโคเลสเตอรอลปกติอยู่แต่เดิมที พบว่า การกินไข่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและอัมพาต (ยกเว้นผู้ที่เป็นเบาหวาน) ถึงแม้ไข่แดงจะมีปริมาณโคเลสเตอรอลสูงถึง ๒๑๕ มิลลิกรัมต่อฟอง แต่นักวิจัยค้นพบว่า การกินไข่มีส่วนเพิ่มปริมาณโคเลสเตอรอลในเลือดค่อนข้างน้อย งานวิจัยชิ้นนี้ นับว่าเป็นข่าวดีที่สร้างความอุ่นใจแก่ผู้ที่นิยมกินไข่เป็นอย่างมาก เนื่องเพราะในอดีตมีการพูดถึงโทษของไขมันในไข่ จนผู้คนจำนวนมากขยาดที่จะกินไข่ ซึ่งเป็นอาหารราคาถูก กินง่าย และมีสารอาหารสมบูรณ์ทั้งโปรตีน วิตามิน และเกลือแร่

กระแสการกลัวไข่เริ่มต้นเกิดขึ้นในประเทศตะวันตกที่มีการบริโภคไขมันในปริมาณสูง ทั้งจากนม เนย และเนื้อสัตว์ ซึ่งเป็นอาหารประจำวันของเขา จึงก่อให้เกิดโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคอัมพาตขึ้นมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อค้นพบว่า ระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคหัวใจและอัมพาต ก็ได้มีกระแสการรณรงค์ลดการบริโภคไขมัน รวมทั้งไข่

ความจริงคนไทยเราส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท) ยังมีปัญหาขาดสารอาหาร และบริโภคไขมันในปริมาณไม่มากเกินอยู่แล้ว (อย่าลืมว่าไขมันมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่อย่าให้มากเกิน) ไข่จึงเป็นแหล่งอาหารที่ดีและราคาถูกสำหรับคนไทย ยิ่งเมื่อมีข้อมูลใหม่จากงานวิจัยข้างต้น ก็ยิ่งควรลดกระแสการกลัวไข่ลงได้ อย่างไรก็ตามในการบริโภคอาหาร ก็ควรพิจารณาถึงปริมาณอาหารแต่ละวัน โดยรวมให้เหมาะสม ถ้าจะบริโภคไข่วันละฟองก็อาจต้องลดปริมาณนม เนย และเนื้อสัตว์ ควรกินผักผลไม้ และเมล็ดธัญพืชในรูปแบบธรรมชาติ (ปรุงแต่งน้อย) ให้มากๆ ส่วนผู้ที่มีกรรมพันธุ์เป็นโรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ อัมพาต หรือผู้ที่เคยตรวจเลือดพบว่ามีไขมันในเลือดสูง ก็ควรจะระมัดระวังในการกินไข่ให้มากกว่าคนปกติทั่วไป

ข้อมูลสื่อ

242-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 242
มิถุนายน 2542
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ