• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารอันตราย!ปนเปื้อนสารพิษไดออกซิน ทำปั่นป่วนทั่วโลก

อาหารอันตราย!ปนเปื้อนสารพิษไดออกซิน ทำปั่นป่วนทั่วโลก


จากการตรวจพบ สารไดออกซิน (dioxin) ในผลิตภัณฑ์ในไก่จากเบลเยียม ได้ส่งผลให้นาย Kerel Pinxton รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และ นาย Marcel Colla รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเบลเยียม ยื่นใบลาออกต่อรัฐบาล เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ เพราะมีรายงานข่าวว่าทางการของเบลเยียมทราบเรื่องนี้มาตั้งแต่วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๒ แต่มิได้มีการดำเนินการใดๆ ถือเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยมีการปกปิดข่าวสารเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

เมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ หน่วยงาน Standing Veterinary Committee (SVC) ซึ่งเป็นหน่วยงานให้คำปรึกษา (consultative body) ของคณะกรรมาธิการยุโรป ประกอบด้วย สัตวแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ๑๕ ประเทศ ได้ออกประกาศมาตรการฉุกเฉินในเรื่องนี้ และมีการดำเนินการ คำสั่งดังกล่าวตั้งแต่เช้าวันที่ ๓ มิถุนายน ๒๕๔๒ โดยสรุปได้ดังนี้

  • ห้ามการวางจำหน่าย ผลิตภัณฑ์จากไก่และไข่ทั้งหมด ที่ผลิตในฟาร์มของเบลเยียมในช่วงตั้งแต่วันที่ ๑๕ มกราคม - ๑ มิถุนายน ๒๕๔๒
     
  • ให้ทำลายผลิตภัณฑ์ไก่และไข่เพื่อการฟัก ที่ผลิตในเขตเบลเยียมทั้งหมด
     
  • ให้ทำลายผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนผสมจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อาทิ ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่ ผลิตภัณฑ์จากไข่ และมีส่วนผสมของไข่เกินกว่าร้อยละ ๒ เช่น มายองเนส พาสต้า เป็นต้น
     
  • ให้มีการแจ้งให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบการดำเนินการดังกล่าวโดยด่วนที่สุด
     
  • ให้ทางการเบลเยียมมีการตรวจตราควบคุมโดยใกล้ชิดเกี่ยวกับระดับของสารไดออกซินในผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ และให้รายงานแผนการควบคุมดังกล่าว ให้คณะกรรมาธิการยุโรปทราบโดยด่วน
     
  • ให้มีการเวียนแจ้งข้อมูลเรื่องการสอบสวนของทางการเบลเยียมในเรื่องนี้ให้คณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศสมาชิกทราบโดยด่วนที่สุด
     

นอกจากนี้ ในด้านการค้า SVC ได้กำหนดให้มีการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่จะวางจำหน่ายในท้องตลาดว่า ต้องมีผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากสารไดออกซิน (dioxin free) โดยมีการออกใบรับรองจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ

วันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๒ ได้มีคำสั่งจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายเนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเนื้อสัตว์ นม ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่มีเนื้อสัตว์ นม หรือ  ไข่ เป็นส่วนประกอบจากประเทศเบลเยียม เนื่องจากในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ มีการปนเปื้อนของสารไดออกซิน ซึ่งสารดังกล่าวเป็นพิษต่อร่างกายและอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในผู้บริโภค

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเนื่องจากตรวจพบว่า บริษัทเวอร์เคสต์ (Verkest) ของประเทศเบลเยียม ผู้ผลิตไขมันสัตว์ที่ส่งให้บริษัทผลิตอาหารสัตว์นั้น มีการปนเปื้อนสารไดออกซินในไขมันสัตว์ที่จำหน่ายออกไปเกินกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้หลายเท่าตัว มีหลักฐานบ่งชี้ว่า บริษัทเวอร์เคสต์ ได้ขายส่วนผสมของไขมันดังกล่าวให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเบลเยียม ๑๐ แห่ง ฝรั่งเศส ๑ แห่ง และเนเธอร์แลนด์ ๑ แห่ง และโรงงานทั้ง ๑๒ แห่ง ได้ส่งต่อไปยังฟาร์มเลี้ยงสัตว์ต่างๆ จนกระทั่งถึงขณะที่เขียนบทความนี้ การพบสารไดออกซินในผลิตภัณฑ์อาหารจากเบลเยียมยังไม่พบสาเหตุที่แน่ชัด และอยู่ในระหว่างการตรวจสอบจากข่าวเรื่องสารพิษไดออกซิน เราคงจะคุ้นหูคำนี้ดีในกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อหลายปีก่อน ที่โรงงานกระดาษได้ปล่อยน้ำเสียลงในเขื่อนน้ำพองและได้พบว่า มีสารพิษไดออกซินอยู่ด้วย และเร็วๆนี้ กรณีฝนเหลืองที่บ่อฝ้าย หัวหิน เราจะพบว่า เจ้าหน้าที่ของเราเองไม่มีความรู้พอว่าสารนี้มีพิษภัยอย่างไร จึงมองเป็นเรื่องปกติ



ประเทศไทยของเราพยายามพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม แต่เราขาดการเตรียมพร้อมในเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคตว่าจะ มีภัยร้ายแรงอย่างไร เมื่อพูดถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่มักมองแต่เรื่องป่าไม้ แม่น้ำ ลำคลอง แต่ไม่มองให้ลึกถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เราได้นำเข้ามา เราจะเห็นว่าในสหรัฐอเมริกาเองจะมีการเฝ้าระวังสารพิษอยู่ตลอดเวลา ว่าจะมีผลกระทบต่อสุขภาพของคน อย่างไรบ้าง เฉพาะสารพิษไดออกซิน เขาตรวจพบว่ามีในอาหารมากมาย ถึงแม้ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ก็มีการเก็บตัวอย่างเพื่อมาวิเคราะห์ตลอดเวลา บทเรียนจากเบลเยียมนี้ หากรัฐไม่ศึกษาและไม่เตรียมพร้อมที่จะเตรียมรับกับสถานการณ์ใหม่ๆ ประเทศจะพบกับความยากลำบากมากขึ้น ไม่เพียงแต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องสุขภาพของประชาชนจะเสื่อมโทรมลงและต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม ประชาชนทุกคนคงต้องหาความรู้ และรวมตัวกันเพื่อเกื้อกูลกัน เพื่อประโยชน์ส่วนรวมและความปลอดภัย

อันตรายของกลุ่มสารไดออกซินต่อสุขภาพ
กลุ่มสารไดออกซินเมื่อสะสมในร่างกายในปริมาณมาก อาจก่อให้เกิดโทษต่อร่างกาย ดังนี้
 - ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
 - ทำลายระบบฮอร์โมน
 - ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน
 - ทำให้เป็นโรคติดเชื้อง่าย
 - ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ตัวเอง (ออโตอิมมูน)
 - มีผลต่อทารกในครรภ์
 - ทำให้ทารกพิการ ปัญญาอ่อน
 - ทำให้ทารกตายในครรภ์
 - ทำให้เป็นหมัน อวัยวะสืบพันธุ์ผิดปกติ
 - มีพิษต่อตับ ม้าม ผิวหนัง

บทเรียนสารพิษไดออกซินที่แม่น้ำพองในประเทศไทย
กรณีที่ตอกย้ำอันตรายของกากพิษ ก็คือ กรณีที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งโรงงานผลิตกระดาษของต่างประเทศถูกกล่าวหาว่าทิ้งของเสียที่มีไดออกซินลงในแม่น้ำพอง ใกล้กับจังหวัดขอนแก่น มาเป็นเวลาหลายปี บริษัทฟีนิกซ์พัลพ์แอนด์เพเพอร์ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหานี้ แต่ผู้เชี่ยวชาญผู้หนึ่งอธิบายว่า กระบวนการผลิตกระดาษนั้นประกอบด้วยการฟอกกระดาษให้ขาวด้วยการใช้คลอรีน ซึ่งจะก่อให้เกิดไดออกซินซึ่งเป็นสารพิษที่ทำให้เกิดมะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ส่งตัวอย่างน้ำจากแม่น้ำพองไปทำการวิเคราะห์ที่สถาบันหลุยส์-ปาสเตอร์ พบว่า น้ำจากแม่น้ำพองมีปริมาณไดออกซิน สูงกว่ามาตรฐานความปลอดภัยที่องค์การอนามัยโลกกำหนด แต่ทางบริษัทได้ค้านผลวิเคราะห์อันนี้ โดยการส่งตัวอย่างน้ำไปวิเคราะห์ที่สถาบันแห่งหนึ่งในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งผลออกมาว่าปริมาณน้อยกว่าการวิเคราะห์ข้างต้นมาก อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญตั้งข้อสังเกตว่า "ปัญหาก็คือไม่ว่าบริษัทจะทิ้งไดออกซินลงในแม่น้ำในปริมาณเท่าใดก็ตาม ก็เป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย เพราะประเทศไทยไม่มีการกำหนดปริมาณไดออกซินว่าจำนวนเท่าใดจึงจะผิดกฎหมาย" อย่างไรก็ตาม บริษัทได้เปลี่ยนจากการใช้คลอรีนในการฟอกขาวมาใช้ออกซิเจนแทน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่ก่อให้เกิดไดออกซิน นักสังเกตการณ์บางคนมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าไดออกซินเป็นอันตราย

ไดออกซินในเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์
จากข่าวสหภาพยุโรปสั่งระงับการจำหน่ายเนื้อสัตว์และหมู พร้อมกันนั้นสั่งทำลายซากเนื้อสัตว์ เนื่องจากบริษัทเวอร์เคสต์ของเบลเยียม ผู้ผลิตไขมันสัตว์ ที่ส่งสินค้าให้บริษัทผลิตอาหารสัตว์นั้น พบการปนเปื้อนของสารไดออกซิน (dioxin) ในไขมันสัตว์ดังกล่าว เกินมาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ สำนักงานพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ อีพีเอ (US Environmental Protection Agency EPA) ในเดือนกันยายน ๒๕๓๗ ระบุชัดว่า ไดออกซิน เป็นสารพิษที่คุกคามสุขภาพของมนุษย์อย่างรุนแรง นอกจากนั้น จากรายงานของสำนักงานเพื่อการวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ (The International Agency for Research on Cancer-IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานขององค์การอนามัยโลก จัดลำดับไดออกซินให้อยู่ในสารก่อมะเร็งอันดับหนึ่ง (Class 1 carcinogen)

ไดออกซิน คืออะไร
ไดออกซิน เป็นสารประกอบทางเคมีของคลอรีน เป็นสารเคมีสังเคราะห์ที่เกิดจากระหว่างปฏิกิริยาการผลิตสารตัวอื่น แล้วเกิดสารไดออกซินขึ้นมา ไดออกซินที่เกิดขึ้นมีถึง ๗๕ ชนิด ตัวที่มีพิษร้ายแรงที่สุดคือ 2, 3, 7, 8, -tetrachlorodibenzo-p-dioxin (T C D D) ส่วนใหญ่แล้วไดออกซินปนเปื้อน ในกระบวนการผลิตที่เกี่ยวเนื่องกับคลอรีนโดยไม่ตั้งใจ เช่น โรงงานผลิตสาร PCB โรงงานผลิตยากำจัดวัชพืช โรงงานฟอกย้อมกระดาษ ไดออกซินได้ใช้เป็นสารกำจัดวัชพืช เป็นสารทำลายพืชที่มักเป็นพิษต่อสัตว์เลือดอุ่น สหรัฐอเมริกาเอามาใช้เป็นหนึ่งในสารทำลายพืชสามชนิดที่สหรัฐอเมริกาเลือกไว้พ่นใส่พืชไร่ในสมัยสงครามปราบคอมมิวนิสต์ที่เวียตนาม

ผลกระทบต่อสุขภาพ
๑. จำนวนเชื้ออสุจิ (Sperm) ลดลงในผู้ชาย
๒. ทำให้เกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก
๓. เยื่อบุมดลูกอักเสบ
๔. มะเร็งผิวหนัง
๕. มะเร็งตับและท่อน้ำดี
๖. แผลในกระเพาะอาหาร
๗. ทำให้มะเร็งเต้านมขยายใหญ่ขึ้น

คนสัมผัสสารไดออกซินได้โดย

  • สารนี้สามารถผ่านรกและน้ำนมจากแม่สู่ทารกได้
  • ทางอาหาร เพราะเป็นสารละลายในไขมัน (fat soluble) พบในอาหารเนื้อสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์นม ไก่ ไข่ เนื้อหมู เนื้อวัว

ไดออกซิน ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไป คนอาจได้รับจากการกินและการสูดดม และมีการปนเปื้อนอยู่ในน้ำและดิน

 

 

ข้อมูลสื่อ

243-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 243
กรกฎาคม 2542