• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก

ระดับความรุนแรงของแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก
ผู้ได้รับอุบัติเหตุไฟไหม้ น้ำร้อนลวก เป็นอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรง ก่อให้เกิดความพิการและเสียชีวิตของประชาชนเป็นจำนวนมาก มีสาเหตุใหญ่ๆ ๒ ประเภท คือจากความประมาทขาดความระมัดระวัง และจากการขาดความรู้เรื่องการใช้ไฟฟ้า หรือแก๊สหุงต้ม อาการและความรุนแรงขึ้นอยู่กับอวัยวะที่ได้รับบาดเจ็บ ความกว้างและความลึกของบาดแผล สามารถแบ่งระดับความรุนแรงแบบง่ายๆ ได้ ๓ ระดับ คือ

ระดับที่ ๑ ระดับตื้น รุนแรงน้อย ผิวหนังเป็นสีแดง ปวดแสบร้อนเล็กน้อย



ระดับที่ ๒ รุนแรงปานกลาง ผิวหนังเป็นสีแดง ผิวหนังพองมีน้ำใสๆ อยู่ข้างใน ปวดแสบร้อนมาก ถ้าตุ่มพองไม่ใหญ่แผลจะหายและแห้ง หลุดล่อนไปเองภายใน ๓-๗ วัน


ระดับที่ ๓ รุนแรงมาก หนังกำพร้าหลุดไปจนเห็นเนื้อซีดขาว ถ้าอาการุนแรง แผลอาจลึกถึงกล้ามเนื้อและกระดูก ผู้บาดเจ็บจะเจ็บปวดมาก ร่างกายอาจเสียน้ำและเกลือแร่จำนวนมาก กระหายน้ำ หมดสติ และเสียชีวิตในที่สุด



คนที่ถูกไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า คอ หน้าอก และอวัยวะเพศจะมีความรุนแรงมากกว่าบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย

แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวกบริเวณใบหน้า ปากและคอ
การบาดเจ็บบริเวณใบหน้า ปากและคอ เป็นการบาดเจ็บที่อันตราย ต้องช่วยเหลือทันที เพราะผู้บาดเจ็บอาจหายใจไม่ได้

การปฐมพยาบาล
 ๑. ตะโกนขอความช่วยเหลือทันที
 ๒. ให้ผู้บาดเจ็บนอนราบ
 ๓. ใช้น้ำสะอาดจำนวนมาก หรือใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำวางบริเวณบาดแผลเพื่อลดความร้อนนานๆ อย่างน้อย ๑๐ นาที หรือจนกว่าอาการปวดแสบปวดร้อนจะลดลง
 ๔. คลายเสื้อผ้าที่อยู่บริเวณรอบคอและหน้าอก เพื่อให้ผู้บาดเจ็บหายใจสะดวก
 ๕. ป้องกันอาการช็อกโดยห่มผ้าให้ร่างกายอบอุ่น และยกปลายเท้าสูงเล็กน้อย
 ๖. รีบนำส่งโรงพยาบาล

ตรวจสอบการหายใจของชีพจรตลอดเวลา ถ้าไม่หายใจและไม่มีชีพจรให้ทำการเป่าปากและนวดหัวใจ
 

ข้อมูลสื่อ

323-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549