• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รก บำรุงเลือด พลัง ยิน-หยาง บำรุงภาวะร่างกายเสื่อมพร่อง

          รก
             บำรุงเลือด พลัง ยิน-หยาง
             บำรุงภาวะร่างกายเสื่อมพร่อง

     
     
มีความเชื่อบางอย่างเกี่ยวกับรก  ว่าเป็นอาหารชั้นดี นานทีปีหนที่จะได้กินกันสักครั้ง  (มีเฉพาะตอนออกลูกอ่อน) โดยเฉพาะรกวัว รกควาย ราคาอยู่ประมาณกิโลกรัมละ ๑๕๐-๒๐๐  บาท  เป็นที่นิยมในภาคอีสานโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ  บางครั้งได้รกมาจะต้องเก็บเอาไว้แช่ในตู้เย็นหลาย ๆ  วันรอลูกหลานหรือคนที่ชอบพอมาเยี่ยมเยียน จะได้ทำฉลองกินกัน
ทางเหนือ ทางอีสาน บางแห่งจะมีรกวัว รกควายต้มยำขาย ราคาถือว่าแพงเมื่อเทียบกับเนื้อวัว  หรือเนื้อควาย
“พวกวัว ควาย  หลังจากตกลูก ถ้าคนไม่รีบแย่งรกของมันมา มันจะกินรกตัวเอง  การศึกษาวิจัยสมัยใหม่พบว่า การที่สัตว์กินรกของมันเองจะทำให้สุขภาพฟื้นตัวเร็วขึ้น สามารถมีน้ำนมปริมาณมากแก่ลูกอ่อน”
ตำราสมุนไพรจีน  มีการบันทึกสรรพคุณรกของมนุษย์ เชื่อว่าเป็นยาบำรุงชั้นเลิศ  บำรุงยิน-หยาง  เลือด  พลัง  และทำให้ไม่แก่  
๒,๒๐๐  ปีก่อน  จักรพรรดิ  จิ๋นซีฮ่องเต้  ผู้แสวงหายาอายุวัฒนะ “รกคน”  ถือเป็นยาบำรุงสุขภาพที่ใช้ในราชสำนัก หลี่สื่อเจิน แพทย์จีนผู้ยิ่งใหญ่แห่งราชวงศ์หมิง  ได้เขียนถึง  “รกแห้ง” ในตำราสมุนไพรจีนไว้ว่า  “ในผู้ป่วยที่วิกฤติ”  ถ้าได้กินรก ๒-๓  ลูก  จะช่วยให้มีชีวิตรอดได้ 
เป็นความเชื่อตั้งแต่โบราณว่า  รกสามารถทำให้ผมดกดำ  อายุยืนยาว  ความเชื่อนี้ได้แพร่เข้าไปในเกาหลีและญี่ปุ่นด้วย
ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๓ นักวิทยาศาสตร์ชาวสวิตเซอร์แลนด์  ศาสตราจารย์ คาร์ลพบว่า
รกของคนสามารถให้สารที่มีชีวิตเกือบทั้งหมดแก่มนุษย์และสามารถป้องกันภาวะเสื่อมชรา ทำให้ร่างกายแข็งแรงและกลับมาหนุ่มได้อีกครั้ง                
วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ในปัจจุบันและอนาคต  มีการนำรกมาสกัดแยกแยะ ทั้งชนิด ทา กิน ฉีด  เพื่อสุขภาพและความสวยงาม  และยังมีการนำเอาเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ที่แยกได้จากรก หรือเลือดจากรกไปใช้รักษาโรคต่างๆ ทางการแพทย์

เรื่องของรก ( Placenta)
ชื่อเภสัชวิทยา   Placenta Hominis
ฤทธิ์ อุ่น  รส  หวาน เค็ม   เข้าเส้นลมปราณ  ปอด ตับ ไต
สรรพคุณ
๑. เสริมสร้างพลังชี่ สร้างจิง (สารจำเป็น=ฮอร์โมน) และเสริมสร้างเลือด
๒. กระตุ้นการเจริญเติบโตต่อมน้ำนม รังไข่ อวัยวะเพศ
๓. เสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย
๔. ต้านภูมิแพ้
๕. ใช้ในคนที่จิงของไตพร่อง เช่น มีบุตรยาก เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ ฝันเปียก เมื่อยเอว มึนงง เสียงดังในหู
๖. เลือดและพลังพร่อง โรคที่เกิดจากการอ่อนเพลียเรื้อรัง  เสียพลังต่อเนื่อง  แก่เร็วเสื่อมถอย  ลักษณะใบหน้าซีด ดำ ไม่มีประกาย
๗. พลังปอดและไตพร่องในผู้ป่วยถุงลมโป่งพองหรือวัณโรค
๘. เลือดและพลังพร่อง  ลมบ้าหมูชักบ่อย ๆ
๙. ขาดน้ำนมหลังคลอด
๑๐. กระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดขาวที่เกิดจากการฉายแสงและให้เคมีบำบัด

วิธีใช้
      - ๑.๕-๓  กรัม  ใช้รกแห้งบดเป็นผงใส่แคปซูล  กินวันละ  ๒-๓  ครั้ง  ถ้ามีอาการมากเพิ่มขนาดเป็น  ๒  เท่า
      - รกสดให้ทำการต้มกินปริมาณครึ่งถึงหนึ่งรก
๑. ยาบำรุงยิน-หยาง  ทำให้กลับสู่สภาพดังเดิม
๒. สามารถบำรุงพลัง  ยังสามารถบำรุงเลือด  บำรุงหยางและก็บำรุงยิน มีฤทธิ์บำรุงแบบกลางๆ  ทั้งเลือด พลัง ยิน-หยาง
๓. สามารถรักษาบุรุษหรือสตรีที่มีภาวะเสื่อมถอยสุด ๆ  (เปิ่นเฉ่ากังมู่)
๔. คนที่ไตหยางพร่อง เลือดและจิงน้อย เลือดพลังพร่อง  ใช้เดี่ยวๆ  บดใส่แคปซูลกิน
๕. รกประกอบด้วย Enzymes หลายระบบเพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย  และรักษาภาวะภูมิไวเกิน
๖. การใช้งานกว้างขวาง  คนที่ร่างกายซูบผอม  ไม่มีชีวิตชีวา  สีหน้าไม่ผ่องใส สมองเสื่อม เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ หลอดลมอักเสบหอบหืด ประจำเดือนไม่ปกติ ไม่ตั้งครรภ์ เกล็ดเลือดต่ำ เม็ดเลือดขาวต่ำ เลือดจาง ใจสั่นหายใจสั้น หลังคลอดร่างกายอ่อนแอ
๗. รกเป็นที่เก็บกักเลือดพลังของแม่  สามารถแก้หอบหืด  บำรุงพลังปอด  และเสริมจิงของไต  มีฤทธิ์บำรุงที่ไม่รุนแรง  เป็นแบบกลางๆ  สามารถใช้ร่วมกับ  
     ๑. เหยินเซิน 
     ๒. ตุ๊กแกจีน      
     - กินครั้งละ ๒-๔  กรัม กินบำรุงระยะนานจะได้ผล
     - รกสด ๑/๒ -๑  รก  สัปดาห์ละ  ๒-๓  ครั้ง

ตำรายาจีนเกี่ยวกับรก
- เหอ-เซอ-ต้า-จ้าว-หวาน
- รก+ตั่งเซิน แก้โลหิตจาง
- รก+ฝู่เซิน เหนื่อยล้า นอนไม่หลับ
- รก + ตั่งเซิน  + หวงฉี พลังพร่อง เหงื่อออกมาก หายใจสั้น อ่อนเพลีย
- รก + สูตี้ + ตังกุย เลือดพร่อง ซีด สมองล้า ใจสั่น มึนศีรษะ
- รก + ตั่งเซิน + อู่เหว่ยจื่อ ไอหอบเหนื่อยจากพลังปอดพร่อง
- รก + หวงจิง + หู่จั้ง เม็ดเลือดขาวต่ำ (Leukopenia)
- รก + กุยปั่น + หวงป๋อ มึน เสียงดังในหู ปวดเมื่อยเอว ปวดศีรษะ ไข้ตอนเย็น ไฟจากภาวะพร่อง
- รก + ซานหยูโย่ว + เก้ากี้ + ซานเอี้ยว จิงของไตพร่อง

ข้อควรระวัง
คนที่ยินพร่องมีไฟกำเริบห้ามใช้เดี่ยวๆ  ต้องใช้ยาอื่นร่วมโดยตั้งตำรับยาที่เหมาะสม

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา
๑. ต้านการติดเชื้อ
 - มี gamma- Globulin  และแอนติบอดีในรกที่มีคุณสมบัติต้านการติดเชื้อ เช่น หัด ไข้หวัดใหญ่  ฯลฯ
 - มี อินเทอร์ฟีรอน (Interferon)
 - มีไลโซโซม์  สลาย  เอนโดท็อกซิน  พิษที่เอนไซม์  ผลิตโดยแบคทีเรีย  เช่น Salmonella และ B.Dysenteriae
๒. เพิ่มภูมิต้านทานแก่ร่างกาย
 - ลดการขยายตัวของวัณโรค
 - ลดการสะสมและระดับของโคเลสเตอรอล
 - รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
 - เพิ่มเวลาในการว่ายน้ำของหนูทดลอง
๓. ผลต่อระบบฮอร์โมน
 - มีฮอร์โมนหลายชนิด  เช่น
 -  Chorionic  gonadotropin
 -  Estrogen 
 -  Progestin
ทำให้มีการทำงานของอวัยวะต่างๆ เกี่ยวกับการเจริญเติบโตมากขึ้น  เช่น  ม้าม มดลูก อวัยวะสืบพันธุ์ต่อมน้ำนม ไทรอยด์ อัณฑะ ฯลฯ
 - กระตุ้นการหดตัวของมดลูก
 - ใช้รักษาภาวะมดลูกไม่เจริญเติบโต  มดลูกฝ่อลีบ ประจำเดือนไม่ปกติ  เลือดออกจากมดลูก  ซีด  ภาวะไม่มีน้ำนม
๔. ช่วยในการหยุดเลือด
 - มี  Urokinase Inhibitoy กระตุ้นการจับตัวของ
 - มี Coaggulation  Factor XIII ทำให้เกิดการเกาะตัวของลิ่มเลือด กระตุ้นการหายของแผล  และมีสารต้านการแพ้ (Antihistamine)

ส่วนประกอบในรกคน
๑. ฮอร์โมน
 Ovarian  Homone   Luteiniging  Homone
 Steroid  Homone   Adermal  cortical  Homone
 Aldostreone  Homone
๒. เอนไซม์ (Enzymes)
 Lysosome   Kininase
 Histaminase   Oxytocinase
๓. Polysaccarides, Aminoacid
๔. Stem call  เป็นเซลล์ต้นกำเนิด  จะสามารถซ่อมแซมอวัยวะที่เสื่อมสภาพ
๕. อื่นๆ  Phospho-lipid protein
              Prostaglandin E1
              Interferons
              Cytokinase
 
ปัจจุบันพบว่า ในรก มีสารตั้งต้นที่สำคัญเกี่ยวกับชีวิตมากกว่า  ๘,๐๐๐  ชนิด  ที่ทำให้เกิดการพัฒนาเจริญเติบโต  ซึ่งสารเหล่านี้จะพบน้อยลงเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะในวัยชรา  ความหวังในการทำให้ร่างกายฟื้นฟูสภาพกลับมาหนุ่มสาวอีกครั้งหนึ่งรวมถึงการนำไปประยุกต์ในการรักษาโรคต่างๆ  ซึ่งเริ่มต้นจากการใช้รกคนทำการแยกเอาสารที่มีประโยชน์  รวมถึงฮอร์โมนและเซลล์ต้นกำเนิด  ด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงบนภูมิปัญญาดั้งเดิม  จึงนับว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจชวนติดตาม

 

ข้อมูลสื่อ

323-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 323
มีนาคม 2549
แพทย์แผนจีน
นพ.วิทวัส (ภาสกิจ) วัณนาวิบูล