• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

พริกไทย ความเผ็ดร้อนที่ครองใจชาวโลก

เมื่อกล่าวถึงความเผ็ดร้อน ชาวไทยส่วนใหญ่จะพากันคิดถึงพริก เพราะชาวไทยเป็นนักบริโภคพริกชั้นแนวหน้าของโลก จนมีคำกล่าวกันว่า อาหารไทยจะขาดพริกเสียมิได้ ดังปรากฏเรื่องเล่ามากมายเกี่ยวกับคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศยุคแรกๆพากันนำเอาพริกติดตัวไปด้วยเสมอ เพราะหาซื้อพริกในต่างประเทศไม่ได้เหมือนในสมัยนี้

แต่สำหรับชาวโลกส่วนใหญ่แล้ว เมื่อกล่าวถึงรสเผ็ดร้อนก็จะพากันนึกถึงพืชอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า pepper หรือ “พริกไทย” ในภาษาไทย ทั้งนี้เพราะพริกไทยเป็นเครื่องปรุงอาหารที่แพร่หลายที่สุด ดังจะเห็นได้ง่ายๆ เช่น เมื่อโดยสารเครื่องบินเดินทางทั้งในประเทศหรือระหว่างประเทศ อาหารที่นำมาบริการจะมีซองเล็กๆเพื่อใช้ปรุงรสอย่างน้อย ๒ ซอง คือเกลือเพื่อเพิ่มรสเค็ม และพริกไทยเพื่อรสเผ็ดร้อน และบนโต๊ะอาหารของภัตตาคารในต่างประเทศ ก็จะมีขวดเกลือและพริกไทยอยู่เสมอ

พริกไทย : พริกพื้นบ้านจากถิ่นไทย
พริกไทยเป็นพืชในวงศ์ Piperaceae มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Piper nigrum Linn. เป็นไม้เถาค้างปี มีกิ่งก้านสาขามาก มีข้อตามลำต้นและรากงอกออกจากข้อ ช่วยจับยึดพยุงลำต้น ลักษณะคล้ายพลู และดีปลีมาก เพราะอยู่ในวงศ์และสกุลเดียวกัน ใบค่อนข้างหนา แข็ง ดอกมีขนาดเล็ก สีเขียว ออกเป็นช่อ ช่อละประมาณ ๗๐-๘๐ ดอก ผลขนาดเล็กเป็นพวง เมื่ออ่อนเปลือกสีเขียว เปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแสดแดงเมื่อสุก เมล็ดตากแห้งแล้วผิวเปลี่ยนเป็นสีดำ เหี่ยวย่น เรียกว่าพริกไทยดำ หากนำเปลือกออกจะมีสีขาวเรียกว่า พริกไทยขาวหรือพริกไทยล่อน

                                                                            

พริกไทยมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมแถบอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย การที่ได้ชื่อว่า “พริกไทย” จึงนับว่าเหมาะสม เพราะเป็นพริกที่มีกำเนิดดั้งเดิมบนแผ่นดินไทย ส่วนพริกชนิดต่างๆที่คนไทยนิยมกันมากในปัจจุบัน เช่น พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกหยวก พริกแห้ง(ใช้แกง) ฯลฯ นั้นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาใต้และเพิ่งมาถึงเมืองไทยไม่กี่ร้อยปีมานี้เอง

บันทึกเกี่ยวกับพริกไทยบ่งว่าพริกไทยแพร่หลายเป็นที่นิยมของชาวยุโรปตั้งแต่ครั้งอาณาจักรกรีกโบราณ แล้วได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งชาวยุโรปประสบความสำเร็จในการเดินเรือมายังประเทศอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงเกิดการค้าขายพริกไทยและเครื่องเทศอื่นๆมากขึ้น ทำให้พริกไทยเป็นเครื่องเทศที่มีปริมาณค้าขายมากที่สุดในโลกมาจนปัจจุบัน พริกไทยจึงถูกขนานนามว่า “ราชาแห่งเครื่องเทศ” ของโลก และในปัจจุบันการผลิตพริกไทยก็ยังคงมีศูนย์กลางอยู่ที่อินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่อย่างเดิม

พริกไทยในฐานะผักและอาหาร
คนไทยใช้พริกไทยเป็นผักเฉพาะฝักอ่อนของพริกไทย ซึ่งยังมีสีเขียว ผู้เขียนเคยเห็นช่อผลพริกไทยอ่อนวางขายในตลาดสดเมืองอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ มีป้ายติดไว้ว่ามาจากประเทศไทย ช่อพริกไทยอ่อนก็มีรสชาติเผ็ดร้อนมากพอสมควร จึงมีข้อจำกัดในการนำมาประกอบอาหาร ทำให้พบว่ามีนำมาประกอบอาหารไม่มากนัก เช่น แกงไตปลา ข้าวยำพริกไทย และแกงไก่กับพริกไทยอ่อน เป็นต้น

บทบาทของพริกไทยในตำรับอาหารไทยอยู่ที่การใช้เป็นเครื่องปรุงรสเช่นเดียวกับพริก โดยเฉพาะอาหารจำพวกแกง มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบของแกงหลายชนิด เช่น แกงเผ็ดต่างๆ แกงฉู่ฉี่ แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ แกงจืด แกงร้อน แกงเลียง แกงเขียวหวาน แกงบอน แกงหอง ต้ม(ซี่โครงหมู) ตุ๋น(เป็ด) บะช่อ ทอดมัน ผัดต่างๆ โจ๊ก ข้าวผัด ข้าวต้มเครื่อง ล่าเตียง หรุ่ม ซุป(หางวัว , ผัก) ฯลฯ

อาหารประเภทเครื่องจิ้มหลายชนิดมีพริกไทยเป็นส่วนประกอบ เช่น มันกุ้งปรุง เคยคั่ว เคยปลา น้ำชุบไคร กะปิพล่า ฯลฯ อาหารที่มีรสจัด(อาหารแซบ)หลายชนิดมีพริกไทยเป็นเครื่องปรุง เช่น เมี่ยงสด ไก่นาย่าง งบปลา หัวเป็ดทาดีย่าง เนื้อทุบ คอหมูย่าง ปลาช่อนแดดเดียว หมูแดดเดียว เนื้อแดดเดียว ฯลฯ
พริกไทยมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิดจึงนิยมใช้ในการถนอมอาหารโดยเฉพาะจำพวกเนื้อสัตว์ เช่น ไส้กรอก(หมู เนื้อ ปลา) กุนเชียง(หมู ปลาหมึก) แฮม หมูแผ่น ปลาทูดอง กุ้งดอง หมูยอ ฯลฯ

ในการถนอมอาหารจำพวกพืชบางชนิดก็ใช้พริกไทย เช่น ข้าวเกรียบถั่วแดง ข้าวตังพิมพ์ ซอส กระเจี๊ยบ ซอสมะเขือเทศ ฯลฯ
แต่สิ่งที่โดดเด่นที่สุดเกี่ยวกับพริกไทยคือ ในฐานะเครื่องปรุงรสที่เราได้พบคู่กับเกลือบนเครื่องบินนและตามภัตตาคารนั่นเอง

พริกไทยในฐานะสมุนไพร
เนื่องจากพริกไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบอินเดีย-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นประชาชนในถิ่นนี้จึงมีความรู้มากมายเกี่ยวกับการนำพริกไทยมาใช้ประโยชน์ เช่น ใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค เป็นต้น ในตำราสมุนไพรไทย มีคำบรรยายสรรพคุณของพริกไทย ดังนี้
รากพริกไทย : รสร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ปวดท้อง แก้ลมวิงเวียน ช่วยย่อยอาหาร
เถาพริกไทย : รสร้อน ขับลมในท้อง ช่วยย่อยอาหาร แก้ลมพรรดึก (ก้อนอุจจาระที่แข็งกลม) แก้อติสาร (โรคลงแดง)
ใบพริกไทย : รสร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้แน่น ปวดมวนในท้อง
เมล็ดพริกไทย : รสร้อน แก้ลม แก้เสมหะ บำรุงธาตุ ช่วยย่อยอาหาร ขับผายลม

นอกจากนี้บางตำรายังระบุสรรพคุณว่า แก้ลมทั้งปวง แก้เสลด เสมหะ หอบ ไอ สะอึก บำรุงธาตุ เจริญอาหาร ช่วยย่อย ขับเหงื่อ ลดความร้อนในร่างกาย ขับปัสสาวะ ฯลฯ

พริกไทยนับเป็นสมุนไพรประเภทรสเผ็ดร้อนที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของสมุนไพรไทย จึงถูกจัดไว้ในพิกัดที่เรียกว่า ตรีกฏุก อันประกอบด้วย เหง้าขิงแห้ง เมล็ดพริกไทย และผลดีปลี เป็นพิกัดยารสเผ็ดร้อน ช่วยขับตรีสมุฏฐาน อันได้แก่ น้ำดี เสมหะ ลม

นอกจากนี้ยังมีอีกพิกัดหนึ่งคือ ตรีวาตผล เป็นพิกัดของยาที่มีสรรพคุณแก้ลม ประกอบด้วย ลูกสะค้าน เหง้าข่า และรากพริกไทย ใช้แก้ในกองลม แก้แน่นในทรวงอก แก้เสมหะ แก้เลือด บำรุงไฟธาตุ

สรรพคุณที่เด่นที่สุดของพริกไทยก็คือ เป็นยาอายุวัฒนะ ดังปรากฏอยู่ในตำรับยาอายุวัฒนะโบราณของไทยที่รู้จักกันแพร่หลาย เช่น ตำรับยาวิเศษ ที่มาแต่เมืองพิษณุโลกตอนหนึ่งว่า “ถ้าจะให้เจริญอายุ ให้เอาเหงือกปลาหมอ ๒ ส่วน พริกไทย ๑ ส่วน ตำเป็นผงละลายน้ำกินทุกวัน ถ้ากินได้ ๑ เดือนจะหมดโรค และมีสติปัญญานักแล...” อีกตำรับหนึ่งเป็นตำรายาพิเศษของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ พระมหาสมณเจ้า ชื่อยา “ไม่แก่เดินคล่อง” บอกสรรพคุณว่ากินแล้วไม่แก่เฒ่า อายุ ๗๕ ปี ยังเดินขึ้นเขาได้สบาย และยังมีบุตรได้ เป็นต้น ยาขนานนี้ประกอบด้วย ทิ้งถ่อน ตะโกนา บอระเพ็ด แห้วหมู เมล็ดข่อย พริกไทย และน้ำผึ้ง นับเป็นตำรับยาอายุวัฒนะที่รู้จักแพร่หลายที่สุดในประเทศไทยปัจจุบัน

ยังมีตำรับยาอายุวัฒนะของไทยอีกหลายขนานที่มีพริกไทยเป็นส่วนประกอบสำคัญ แสดงให้เห็นถึงความเชื่อถือในสรรพคุณของพริกไทยในหมู่ชาวไทยว่ามีมาเนิ่นนานและแน่นแฟ้นมาตราบจนทุกวันนี้

พริกไทยเป็นตัวอย่างที่ดีของพืชพื้นบ้านที่เป็นทั้งอาหารและยาที่สำคัญต่อชีวิตคนท้องถิ่นมาตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เป็นผลงานมหัศจรรย์ของความหลากหลายทางพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นอันทรงคุณค่าที่เป็นมรดกร่วมของคนไทยทุกคน

ข้อมูลสื่อ

229-026
นิตยสารหมอชาวบ้าน 229
พฤษภาคม 2541
ต้นไม้ใบหญ้า
เดชา ศิริภัทร