• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ใช้ยาแก้ไอผิดเพิ่มโรคให้ตัวเอง

ใช้ยาแก้ไอผิดเพิ่มโรคให้ตัวเอง


เนื่องจากดิฉันอ่านคอลัมน์ "พูดจาภาษายา" เห็นคุณหมอตอบคำถามเรื่อง "ยาแอสไพริน" ได้กระจ่างมากค่ะ เลยถือโอกาสเขียนมาเรียนถามเรื่อง "ยาแก้ไอ" บ้าง เพราะที่บ้านดิฉันมีหลายคนที่ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องการกินยา และเวลาไปหาหมอ (ตามคลินิกหรือโรงพยาบาล) ก็ไม่ค่อยได้รับความกระจ่างเท่าใดนัก ดิฉันขอเรียนถามเกี่ยวกับยาแก้ไอว่า ทำไมมียาแก้ไอหลายแบบทั้งที่เวลาไปหาหมอคนเดียวกัน แต่ละครั้งก็จะได้ยามาไม่เหมือนกัน เช่น บางทีได้ยาเม็ด บางทีได้ยาน้ำ บางทีได้ยาอม หรือลูกอมบางประเภทก็มีเขียนว่าบรรเทาอาการไอได้ด้วยจริงหรือเปล่าคะ ดิฉันอยากให้คุณหมอแนะนำและช่วยอธิบายด้วยค่ะ รวมทั้งยาแก้ไอของเด็กด้วยนะคะ มียาแก้ไอพวกที่เรียกกันว่า ยาแก้ไอน้ำดำ ที่ซื้อตามร้านขายยา (รู้สึกจะเป็นที่นิยมในหมู่ผู้ใหญ่ หรือคนเฒ่าคนแก่เสียด้วย) แบบนี้ดีกว่ายาแก้ไอน้ำข้นหวานๆที่โรงพยาบาลจ่ายให้หรือเปล่าคะ เพราะสังเกตว่าตามคลินิกหรือโรงพยาบาลมักไม่จ่ายยาแก้ไอประเภทน้ำดำเลย

รบกวนคุณหมอช่วยให้ความกระจ่างด้วยค่ะ
              สุวรรณา/กรุงเทพฯ


ผมขอไขข้อข้องใจของคุณสุวรรณา โดยลำดับความเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ

๑. ก่อนอื่นต้องขออธิบายให้เข้าใจกันก่อนว่า ไอเป็นเพียงอาการแสดงของโรค ซึ่งมีสาเหตุได้ต่างๆนานา โดยทั่วไปมักแบ่งอาการไอ ออกเป็น ๒ แบบ

แบบที่ ๑ ไอแห้ง หมายถึง อาการไอแบบไม่มีเสมหะ อาจเกิดจากการแพ้ฝุ่น แพ้ควันบุหรี่ หรือควันไอเสียรถยนต์ ระคายคอ แพ้อากาศ เป็นหวัด หรือเกิดจากการใช้ยาบางประเภท (เช่น ยาลดความดันเลือดที่มีชื่อว่า อีนาลาพริล)

แบบที่ ๒ ไอมีเสมหะ (ไอ เปียก) หมายถึงอาการไอมีเสมหะหรือเสลด ซึ่งมักจะออกมาจากหลอดลม หรือเนื้อปอด(ถุงลมปอด) อาจเกิดจากโรคหลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ (ปอดบวม) วัณโรคปอด เป็นต้น คนไข้กลุ่มนี้มักมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น ไข้สูง หายใจหอบ เจ็บหน้าอก เบื่ออาหาร น้ำหนักลด  ไอเป็นเลือด เป็นต้น

ดังนั้นทุกครั้งที่มีอาการไอจะต้องสังเกตดูว่าไอแห้งหรือไอเปียก มีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยหรือไม่ มีสาเหตุจากอะไร หรือสงสัยว่าน่าจะเกิดจากโรคอะไร

๒. ยาแก้ไอ เป็นเพียงยาบรรเทาอาการ มิใช่ยาที่ใช้รักษาโรคที่เป็นต้นเหตุของอาการไอ จึงไม่ใช่ยาที่จำเป็น จะกินหรือไม่กิน ก็ไม่มีผลต่อโรคที่เป็น มีประโยชน์เพียงบรรเทาอาการเพื่อลดความรำคาญเท่านั้น การรักษาที่ถูกต้อง พึงมุ่งไปแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าเกิดจากการแพ้ก็ต้องหลีกเลี่ยงสิ่งที่แพ้ (เช่น ฝุ่น ควัน) หรือกินยาแก้แพ้   ถ้าเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย (ไอ มีเสมหะข้นเหลืองหรือเขียว) เช่น หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบ ก็ต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ หากรักษาที่ต้นเหตุได้ถูกต้อง อาการไอก็จะค่อยๆ ทุเลาไปได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยยาแก้ไอ

อย่างไรก็ตาม อาการไอมักเป็นสิ่งน่ารำคาญ บางครั้งก็อาจไอรุนแรงจนทำให้เจ็บหน้าอก เจ็บหลัง เพราะแรงกระเทือน หรืออาจทำให้นอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ในเด็กเล็กบางครั้งอาจไอจนอาเจียนบ่อย คนทั่วไปจึงนิยมกินยาแก้ไอทันทีที่มีอาการ

๓. ทีนี้มาทำความรู้จักกับยาแก้ไอสักนิด (อย่างไรก็อย่าเพิ่งนึกว่าเอามะพร้าวห้าวมาขายสวนนะครับ) แม้ว่ายาแก้ไอมีมากมายหลายชนิด ดังคำถามที่เขียนมา แต่จริงๆแล้วสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆเพียง ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยาระงับการไอ กลุ่มยาขับเสมหะ และกลุ่มยาละลายเสมหะ แต่ละกลุ่มก็มียาย่อยๆ เป็นหลายชนิด นอกจากนี้ยังมีสูตรยาผสมระหว่างยาแก้ไอกับยาแก้ไอต่างชนิด ยาแก้ไอกับยาแก้หวัด แก้แพ้ (ยาแก้หวัด แก้แพ้ก็ยังแบ่งย่อยเป็นหลายชนิด) ดังนั้นจึงมียาแก้ไอนับสิบ นับร้อยสูตรตามแต่บริษัท ผู้ผลิตจะทำออกมาแข่งขันในท้องตลาด ตรงนี้ผู้บริโภคจะต้องฝึก อ่านฉลากยาให้เป็น จะได้ทราบว่าเป็นยาแก้ไอกลุ่มใด (ใน ๓ กลุ่มดังกล่าว) เพราะการเลือกใช้ยาแก้ไอให้ถูกกับลักษณะอาการไอ จะมีความสำคัญอย่างมาก หากเลือกใช้ผิดบางครั้งก็อาจเกิดผลข้างเคียงหรืออันตรายได้ครับ

๔. หลักง่ายๆในการเลือกใช้ยาแก้ไอ ก็คือ ถ้าไอแห้ง ให้ใช้กลุ่มยาระงับการไอ ซึ่งจะมีฤทธิ์กดการไอได้ดีพอควร แต่ถ้าไอเปียก (ไอมีเสมหะ) ให้หลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มยาระงับการไอ เนื่องจากร่างกายต้องการขับเอาเสมหะหรือเสลดที่เกิดจาก การอักเสบของหลอดลมหรือเนื้อปอดออกมา (ในเสลดจะมีเชื้อโรคต้นเหตุปนเปื้อนอยู่ด้วย) ยิ่งขับออกได้มากเท่าไรก็ยิ่งดี จะช่วยให้ทางเดินหายใจโล่ง และโรคทุเลาเร็วขึ้น ในการขับเสมหะออกมา วิธีที่ปลอดภัยและราคาถูกที่สุด ก็คือ การดื่มน้ำอุ่นมากๆ (วันละ ๑๐-๑๕ แก้ว) และการเคาะปอด โดยการใช้ฝ่ามือเคาะหรือตบเบาๆ ที่บริเวณสะบัก เพื่อให้เสมหะมีการรวมตัวและระบายออกได้ดีขึ้น ขอแนะนำให้ถามหมอช่วยสอนวิธีเคาะปอดให้ จะได้ปฏิบัติได้ถูกต้อง

ส่วนยาขับเสมหะและยาละลาย เสมหะที่นิยมใช้ขับเสมหะกันนั้น ทางการแพทย์พบว่าตัวยาเหล่านี้มีฤทธิ์ในการระบายเสมหะไม่มากนัก จะใช้หรือไม่ใช้ก็ไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าไรนัก ข้อสำคัญอยู่ที่การดื่มน้ำอุ่นมากๆ และการเคาะปอด ถ้าไอมีเสมหะหรือเสลด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าออกมากและมีลักษณะข้นเหลืองหรือเขียว แล้ว ไปกินยาระงับการไอเข้า ก็อาจทำให้เสลดถูกกักอยู่ในปอดมากขึ้น บางครั้งอาจทำให้ปอดอักเสบ(ปอดบวม) หรือไม่ถ้าหากเสลดไปอุดตันอยู่ในหลอดลมแขนงฝอยๆเข้า ก็อาจทำ ให้เนื้อปอดที่อยู่ส่วนปลายแฟบได้ ทำให้สูญเสียหน้าที่ในการหายใจเพื่อแลกเปลี่ยนอากาศได้ เกิดผลเสียมากกว่าผลดี นี่คือเหตุผลที่ไม่ควรใช้ยาระงับการไอในผู้ที่มีอาการไอเปียก

๕. คำถามที่ว่าจะเลือกใช้ยาเม็ด ยาน้ำ หรือยาอมดีนั้น ขอตอบว่า ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคน สำหรับยาเม็ดมักจะเป็นยาแก้ไอตัวเดี่ยวๆ ไม่ได้ผสมกับยาอื่น อาจเป็นยาระงับการไอ (เช่น โคเดอีน, เดกโทรเมทอร์แฟน) หรืออาจมียาละลายเสมหะ (เช่น บรอมเฮกซีน) ก็ได้ ควรอ่านฉลากให้แน่ใจ ส่วนยาน้ำ อาจเป็นยาแก้ไอเดี่ยวๆ (ทั้งชนิดระงับการไอ ขับเสมหะ หรือละลายเสมหะก็ได้) หรือ เป็นสูตรผสมกับยาอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สูตรยาแก้หวัดแก้ไอ มักจะมียาแก้ไอผสมกับยาแก้แพ้ (แอนติ-  ฮิสตามีน) การใช้ยาน้ำจึงต้องศึกษาให้เข้าใจว่าเป็นยาอะไร เหมาะกับอาการอะไร ส่วนยาอมมักจะมีตัวยาที่ทำให้ ชุ่มคอ แก้อาการคันคอ ระคายคอ มีผลทางอ้อมในการทำให้ไอห่างขึ้น ถ้าชอบก็ขอแนะนำให้ใช้ "ยาอมมะแว้ง" ขององค์การเภสัชกรรม ไม่แนะนำให้ใช้ยาอมที่ไม่ทราบสูตรผสม เพราะบางครั้งอาจมีการผสมยาอันตราย (เช่น สตีรอยด์) ก็ได้ นอกจากนี้ยังมียาละลายเสมหะชนิดซอง (เช่น ยาอะเซทิลซิสเตอีน) ต้องผสมน้ำดื่ม สำหรับผู้ที่ไอมีเสมหะ ตัวยาอาจไม่มีสรรพคุณละลายเสมหะ โดยตรง แต่กระตุ้นให้มีการดื่มน้ำ จึงได้น้ำมากขึ้นในการละลายเสมหะ (ขอให้กลับไปอ่านข้อ ๔ อีกครั้งครับ)

๖. ยาแก้ไอน้ำดำ เป็นยาระงับการไอที่มีใช้กันมานานนม เหมาะสำหรับอาการไอแห้ง เป็นยาน้ำประกอบด้วยตัวยาหลายชนิด ตัวยาที่สำคัญ คือ ฝิ่นกับชะเอม ฝิ่นมีฤทธิ์ระงับการไอ ส่วนชะเอมมีฤทธิ์ขับเสมหะและทำให้ชุ่มคอ นิยมใช้จิบครั้งละ ๑-๒ ช้อนชาเวลาไอ ยานี้ถือเป็นยาสามัญประจำบ้าน ราคาถูก และใช้ได้ดีพอควร เด็กอาจไม่ชอบรสชาติของยาแก้ไอน้ำดำเท่าไรนัก จึงมีสูตรยาคล้ายกันแต่แต่งรสหวาน เรียกว่า ยาแก้ไอน้ำเชื่อม ทั้งยาแก้ไอน้ำดำและยาแก้ไอน้ำเชื่อม จะมีฉลากเตือนห้ามใช้สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า ๖ ปีและคนชรา ทั้งนี้เนื่องจากตัวยามีฝิ่นผสม กลัวว่า ถ้าใช้ขนาดมากเกินไป อาจมีผลข้างเคียง เช่น ท้องผูก ง่วงนอน คลื่นไส้ อาเจียน หรือกดการหายใจ (ในกรณีหลังนี้ต้องใช้ยาเกินขนาดมากๆ ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมาก)

โดยสรุปก็คือ ยาทั้ง ๒ ตัวนี้ คือ ยาระงับการไอที่ยังใช้ได้ดีพอควร และถ้าใช้ตามคำแนะนำในฉลากยา ก็นับว่าปลอดภัยมาก จนจัดให้เป็นยาสามัญประจำบ้าน
แพทย์รุ่นใหม่ ไม่นิยมสั่งยาแก้ไอน้ำดำให้คนไข้ เพราะคิดว่าสู้ยาระงับการไอใหม่ๆ เช่น โคเดอีน และเดกโทรเมทอร์แฟนไม่ได้ อีกทั้งเป็นยาน้ำ พกพาสู้ยาเม็ดไม่ได้

๗. ยาแก้ไอสำหรับเด็ก ถ้าเป็นเด็กโตก็ให้เลือกใช้แบบเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ควรลดขนาดของยาลงตามส่วน ส่วนเด็กต่ำกว่า ๖ ปี ขอแนะนำว่า ให้ตรวจหาโรคที่เป็นต้นเหตุและ ให้การรักษาตรงที่ต้นเหตุ ไม่จำเป็น ต้องใช้ยาแก้ไอ แต่หันมาใช้วิธีธรรมชาติ ได้แก่ ให้ดื่มน้ำอุ่นบ่อยๆ ถ้าอยากใช้ยาแก้ไอ ขอแนะนำให้ใช้น้ำผึ้งผสมมะนาว (น้ำผึ้ง ๓-๔ ส่วน + น้ำมะนาว ๑ ส่วน) ซึ่งเด็กกินได้ง่ายและได้สารอาหารที่เป็นประโยชน์ไปในตัว หรือไม่ก็อาจใช้ยาหอม(ที่มีตัวยาชะเอมประกอบ) บีบมะนาวใส่ ใช้กวาดคอแก้ไอก็ได้ ที่ไม่แนะนำให้ใช้ยาแก้ไอนั้น เหตุผลประการหนึ่งก็เพราะว่าการบรรเทาอาการไอมิใช่เรื่องสำคัญเท่ากับการรักษาโรคที่เป็นต้นเหตุ อีกประการหนึ่งก็เพราะว่าอาการไอมิได้ก่อความเดือนร้อนแก่เด็กเล็กเท่าในผู้ใหญ่ และประการสำคัญ คือ ยาแก้ไอหลายๆตัวอาจมีผลข้างเคียงต่อเด็กเล็กมากกว่าผู้ใหญ่ เช่น ยาที่เข้าฝิ่น หรือสารโคเดอีน ถ้าใช้ขนาดมากไป ก็อาจกดการหายใจได้ หรืออาจใช้ยาผิด เช่น ใช้ยาระงับการไอในเด็กที่ไอมีเสมหะ ก็อาจทำให้ปอดอักเสบหรือปอดแฟบ (ดังกล่าวในข้อ ๔)ได้

๘. เด็กเล็กส่วนใหญ่จะมีอาการไอจากไข้หวัด จึงขอสรุปในแง่ปฏิบัติว่า ยาที่จำเป็นสำหรับเด็กเป็นไข้หวัด ก็คือ ยาพาราเซตามอลบรรเทาอาการไข้เพียงชนิดเดียว ยาแก้น้ำมูก (เช่น คลอร์เฟนิรามีน) ไม่ต้องให้เพราะอาจทำให้เสลดเหนียว ขากออกยาก น้ำมูกจะแห้งหายไปได้เองภายใน ๒-๓ วัน ถ้ามีน้ำมูกมาก ให้ใช้กระดาษชำระ, ผ้าเช็ดหน้าเช็ดหรือใช้ลูกยางดูด ส่วนยาแก้ไอให้ใช้จิบน้ำผึ้งผสมมะนาว

๙. กล่าวโดยสรุป ก็คือ ทุกครั้งที่มีอาการไอ ควรค้นหาโรคที่เป็นต้นเหตุ แล้วให้การรักษาตรงต้นเหตุเป็นสำคัญ ส่วนอาการไอ ถ้าเป็นไม่รุนแรง ก็ปล่อยให้หายเองตามธรรมชาติ ถ้าเป็นมากก็ต้องรู้จักเลือกใช้กลุ่มยาแก้ไอให้ถูกกับลักษณะโรค ข้อสำคัญ ถ้าไอมีเสลดมาก ควรหลีกเลี่ยงการใช้กลุ่มยาระงับการไอ เพราะอาจก่อโทษมากกว่าคุณครับ

ตั ว อ ย่ า ง ย า แ ก้ ไ อ

๑. กลุ่มยาระงับการไอ เหมาะสำหรับอาการไอแห้ง ไม่ควรใช้ในคนที่ไอมีเสมหะ

  •  ยาแก้ไอน้ำดำ (ยาสามัญประจำบ้าน)
  •  ยาแก้ไอน้ำเชื่อม (ยาสามัญประจำบ้าน)
  •  ยาที่เข้าสารโคเดอีน (มีทั้งชนิดเม็ดและน้ำ)

โคเดอีนเป็นสารประเภทฝิ่น ถ้ากินนานๆ อาจเสพย์ติด ถ้าเกินขนาดมากๆ อาจกดการหายใจได้

  • ยาที่เข้าสารเดกโทรเมทอร์แฟน (มีทั้งชนิดเม็ดและน้ำ)

เป็นยาระงับการไอที่ใช้ได้ค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย ไม่เสพย์ติด ไม่กดการหายใจ

๒. กลุ่มยาขับเสมหะ

  • มิสต์สกิลแอมมอน (ยาน้ำ รสเฝื่อน) เป็นยาสามัญประจำบ้าน

๓. กลุ่มยาละลายเสมหะ

  • ยาที่เข้าสารบรอมเฮกซีน (มีทั้งชนิดเม็ดและน้ำ)
  • ยาที่เข้าสารอะเซทิลซีสเตอีน (ชนิดผงบรรจุซอง)

๔. กลุ่มยาสมุนไพร/ยาพื้นบ้าน

  • ยาอมมะแว้ง ขององค์การเภสัชกรรม
  • ยาหอมที่มีตัวยาชะเอม (บีบมะนาวใส่ใช้กวาดคอ)
  • น้ำผึ้ง (๓-๔ ส่วน) ผสมน้ำมะนาว (๑ ส่วน)

ข้อมูลสื่อ

246-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 246
ตุลาคม 2542
พูดจาภาษายา
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ