• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

อาหารจานตำลึง

บางทีคุณอาจจะยังนึกไม่ถึงว่า ผักริมรั้วอย่าง “ตำลึง” จะเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และสามารถใช้ประกอบอาหารได้หลายอย่าง ไม่ใช่จืดๆ แบบแกงจืดเท่านั้น ตำรับแซ่บก็มี เช่น แกงแค แกงโฮ๊ะ (ภาคเหนือ) ก๋วยเตี๋ยวต้มยำตำลึง

ที่คุณนึกไม่ถึงก็คือ ยอดตำลึงนำมานึ่งรวมกับผักกวางตุ้งดอก จิ้มกับน้ำพริกหนุ่ม กินกับข้าวเหนียว (แซ่บหลายเด้อ) ถ้าภาคกลางก็ใช้ยอดตำลึงผัดน้ำมัน กินกับน้ำพริกกะปิก็อร่อย

ถ้าเป็นแกงที่เห็นกันชัดๆก็จะเป็นแกงเลียง บางคนอาจว่าเพี้ยนหรือเปล่า อากาศร้อนตับแทบแล๊บออกมายังบอกให้กินแกงเลียง ยังค่ะ ยังไม่เพี้ยน ที่บอกให้กินแกงเลียง เพราะแกงเลียงสามารถประยุกต์กินได้ทั้งอากาศร้อนและอากาศหนาว (ปรับตัวได้ว่างั้นเถอะ)
 

ที่ว่าอากาศร้อนกินแกงเลียงได้เพราะเราจะปรุงแกงเลียงค่อนไปทางเย็น (ไม่ใช่เอาไปใส่ตู้เย็นนะคะ) คือใส่ผักจำพวกบวบ ตำลึง น้ำเต้า หัวปลีให้มากหน่อย
แต่ถ้าอากาศเย็น ก็เติมผักที่มีคุณสมบัติร้อน เช่น ใบแมงลัก พริกไทย หอมแดงให้มากหน่อย ซดน้ำขณะยังร้อนๆ (แหมน้ำลายหกเชียว)

ทีนี้เราจะมาดูกันว่า เจ้าตำลึงหนวดยาวๆนี้ มีสารอาหารอะไรกันบ้าง
ยอดตำลึง ๑๐๐ กรัม ให้พลังงาน ๒๘ กิโลแคลอรี มีวิตามินเอถึง ๑๘,๐๗๕ หน่วยสากล มีแคลเซียม ๑๒๘ มิลลิกรัม นอกจากนั้นยังมี วิตามินบี ๑, วิตามิน บี ๒, วิตามินซี, แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, ไนอาซิน และเหล็กอีกด้วย

แถมอีกอย่าง เนื่องจากตำลึงมีเส้นใยอาหารค่อนข้างมาก ดังนั้น ตำลึงจึงมีประโยชน์กับเรื่องค่อนข้างสำคัญอีกเรื่องคือเรื่องของระบบขับถ่าย ทีนี้คุณนึกออกหรือยังคะ ว่าเย็นนี้จะเอาตำลึงไปทำอะไรกินดี

มุมน่ารู้
ตำลึงตัวผู้-ตัวเมีย

หลายคนรู้จักตำลึง แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าตำลึงมีทั้งตัวผู้ ตัวเมีย ตำลึงนั้น นอกจากจะนำมาทำเป็นอาหารได้ แล้ว ยังเป็นสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น
ใบ : รสเย็น แก้ปวดแสบปวดร้อน แก้คัน ดับพิษร้อน ถอนพิษ แก้เจ็บตา ตาแดง ตาแฉะ
เถา : รสจืดเย็น แก้ตาเจ็บ ตาช้ำ ปวดตา
ทั้งต้น : แก้โรคผิวหนัง และช่วยลดน้ำตาลในเลือด

ตำลึงที่นิยมใช้เป็นยานั้น ใช้ตำลึงตัวผู้ ซึ่งจะแตกต่างจากตำลึงที่มีขายในท้องตลาดที่เราใช้กิน เป็นอาหารตรงที่ตำลึงตัวผู้ ใบจะเป็นยักเว้าเข้าไปถึงโคนใบ
ส่วนตำลึงที่ใช้เป็นอาหารเป็นตำลึงตัวเมีย จะมีลักษณะใบกว้างเต็มใบ หรือเว้าเพียงเล็กน้อย

                                                                         

อาหารจานตำลึง
ตำลึงผัดน้ำมัน-น้ำพริกกะปิ
เครื่องปรุง : ตำลึงเด็ดยอดยาว น้ำมันพืช น้ำปลา
วิธีทำ : ตั้งกระทะ ใช้ไฟแรง เอาตำลึงลงผัดในน้ำมัน ใส่น้ำปลานิดหน่อย คนเร็วๆ แล้วรีบตักขึ้น

แกงจืดตำลึง
เครื่องปรุง : ตำลึงเด็ดเอาแต่ยอดอ่อนและใบอ่อน หมูสับผสมกระเทียมพริกไทยรากผักชี กระเทียมเจียว
วิธีทำ : ตั้งน้ำเดือดแล้วใส่หมูสับลงไป ตักฟองทิ้ง พอเดือดอีกทีใส่ตำลึง แล้วปรุงรส พอสุกโรยด้วยพริกไทย กระเทียมเจียว
 
ผัดตำลึงหมูสับ
เครื่องปรุง :
ตำลึงเด็ดเอาแต่ยอดอ่อนและใบอ่อน หมูสับ กระเทียม น้ำมันพืช น้ำปลา ซีอิ๊วขาว น้ำตาลทราย พริกไทยป่น
วิธีทำ : ตั้งกระทะ เจียวกระเทียมจนหอม ใส่ตำลึง ใช้ไฟแรงผัด ปรุงรส พอสุกแล้วโรยพริกไทย ยกเสิร์ฟขณะร้อนๆ

แกงเลียง
เครื่องปรุง : ฟักทอง น้ำเต้า ข้าวโพดอ่อน ใบตำลึงและยอดอ่อน ใบแมงลัก บวบ หัวหอม กะปิ กุ้งแห้ง พริกไทยดำ
วิธีทำ : โขลกพริกไทย หัวหอม กะปิ กุ้งแห้ง เข้าด้วยกัน
- ตั้งน้ำแกงให้เดือด ละลายเครื่องแกงลงไป ชิมรสดูถ้าไม่เค็มเติมน้ำปลาได้
-เดือดอีกทีใส่ผัก ต้มจนสุก
-ถ้าชอบกินเผ็ดใส่พริกขี้หนูลงตำไปในเครื่องแกงก็ได้

ข้อมูลสื่อ

230-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 230
มิถุนายน 2541
เข้าครัว
นาตยา